ลือหึ่ง พรรคร่วม บีบ พลังประชารัฐ เปลี่ยนตัว “ผู้จัดการรัฐบาล” หวัง คาย กระทรวงเศรษฐกิจ คิดหนัก เสียงปริ่มน้ำ โหวตในสภาไม่ราบรื่น หวั่น กระแสต้าน สืบทอดอำนาจ เอาพี่น้องนั่ง ส.ว.

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ถึงวันนี้ยอมรับว่าแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บางส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ต้องการกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอไว้กับ พปชร.ทั้งหมด จึงเชื่อว่า การเจรจากับพรรคขนาดกลางและพรรคการเมืองต่างๆ ให้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะยังไม่ได้ข้อยุติง่ายๆ

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่มี 52 เสียง พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง และพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะท่าทีของนายสมคิด ที่ต้องการยึดกระทรวงเศรษฐกิจ ล็อกไว้ที่คนของตัวเองเพียงกลุ่มเดียว รวมทั้งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อน สินค้าเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านยากจนเพิ่มขึ้น และหาก 3 พรรคดังกล่าวยินยอม จะทำให้ไม่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของตัวเองที่หาเสียงไว้ได้

ดังนั้น จึงมีเสียงเรียกร้องอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เปลี่ยนตัวผู้จัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคต่างๆ ราบรื่นขึ้น หรือยอมปล่อยกระทรวงเศรษฐกิจ หรือ รมช.กระทรวงเศรษฐกิจออกไปบ้าง เพราะตำแหน่งนายกฯ และกระทรวงด้านความมั่นคง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ก็อยู่ในมือ พปชร.อยู่แล้ว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

“ก่อนหน้านี้พรรคขนาดกลางยังหวั่นกระแสสังคมที่มีต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช. และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่เป็น คสช. เข้ามาในครม.ชุดหน้าโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง แตกต่างจากพล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งท่ามกลางกระแสล่าสุดที่ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ จากการแต่งตั้งส.ว.สรรหา จำนวน 250 คน ที่เน้นระบบพี่น้องและการเข้ามาจากคนในแม่น้ำ 5 สาย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่” แหล่งข่าว พปชร.เผยเสียงสะท้อนจากพรรคขนาดกลาง

แหล่งข่าวจาก พปชร. กล่าวว่า นอกจากนี้จากการหารือกับส.ส.ใหม่ของพรรคขนาดกลางหลายคน ยังเป็นกังวล 2 ประเด็นใหญ่ คือ

  1. การเป็นรัฐบาลของ พปชร. เสียงปริ่มน้ำ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลมีส.ส.มากกว่าฝ่ายค้านเพียง 10 เสียง ไม่สามารถจะผ่านมติในสภาฯ ได้อย่างราบรื่น เพราะในความเป็นจริง รัฐมนตรีที่เป็นส.ส.จะต้องมาร่วมประชุมสภาฯและอยู่ลงมติทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ รวมทั้งคนเป็นประธานและรองประธานสภาฯ ปกติตามมารยาททางการเมืองจะไม่ลงมติ
  2. กระแสการต่อต้านจากสังคม และฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทยที่จะเกิดขึ้นทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ ตลอดเวลา อาทิ การสืบทอดอำนาจจาก คสช.ทั้งใน ครม. และการแต่งตั้ง ส.ว. ที่เอาแต่ญาติพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูง คนใกล้ชิด และมีปัญหาอื้อฉาว มาทำงานต่อโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งจะลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและทุกพรรคการเมืองที่ร่วมงานข้างหน้า

“เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็รู้ดี เพราะเป็นพรรคที่คร่ำหวอดกับการเมือง กรณีพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯด้วยคะแนนเสียงปริ่มน้ำ กระแสสังคมไม่ยอมรับ การบริหารประเทศติดขัด ต้องวุ่นอยู่กับปัญหาการเมืองแบบรายวัน ในที่สุดรัฐบาลประยุทธ์อาจไปไม่รอด

พรรคขนาดกลางจึงกำลังใคร่ครวญอย่างหนัก และพวกเขายอมรับว่าเครียดมากในการตัดสินใจ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะคุยเรื่องนี้ภายหลังเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเรียบร้อยในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป ขณะที่พรรคภูมิใจไทยขอเวลาหารือกับส.ส.ของพรรคในวันที่ 16 พ.ค.นี้ก่อนเช่นกัน” แหล่งข่าวจาก พปชร.ระบุ


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน