เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 28 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 80 เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือ จากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบ 20 เปอร์เซ็นต์ ว่า ที่ส่งมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีน.ส.ยิ่งลักษณ์คนเดียว ส่วนที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีคนที่เกี่ยวข้อง 2 กลุ่มคือ ฝ่ายปฏิบัติ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตั้งเป็นคดีแล้ว 853 คดี ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และเอกชนจำนวนมาก เช่น โรงสี พฤติกรรมเป็นการแจ้งว่าไม่มีข้าวในโกดัง แต่แจ้งว่ามีข้าว หรือการซื้อขายโดยรับ-จ่ายเงินไม่ถูกต้อง โดยเป็นข้อมูลการตรวจสอบมาจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่มีม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีการสอบเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ จนได้จำนวนคดีมา ครอบคลุม 33 จังหวัด แต่ที่น่าสังเกตจังหวัดที่มีคดีมากคือ กำแพงเพชร 100 คดี และนครสวรรค์ 200 คดี

กลุ่มนี้ต้องดำเนินการทางคดีอาญาต่อไป โดยป.ป.ท.ระบุว่าจะสามารถส่งฟ้องศาลได้ภายใน 6 เดือน และจะดำเนินเรียกรับผิดทางละเมิดต่อไป ซึ่งต้องประสานงานกับกระทรวงต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่นั้นๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ การดำเนินการเรียกรับผิดทางละเมิดกับส่วนที่เหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ นี้ ยังไม่ได้มีการนับอายุความ เพราะจะเริ่มเมื่อรู้ตัวและรู้การกระทำผิดคือ เมื่อผู้บังคับบัญชาของบุคคลนั้นๆ รับรู้

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ส่วนฝ่ายนโยบาย ที่วันนี้ได้ตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์มาแล้ว 1 คน ซึ่งอาจมีคนอื่นเพิ่มเข้ามา มีการเพ่งเล็งกันอยู่ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติมอบให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ไปตรวจสอบเพิ่มเติม ส่วนจะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในขณะนั้นด้วยหรือไม่นั้น ถือว่าอยู่ในข่าย แต่ใครจะต้องรับผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เหมารวมกขช.ทั้งหมด หากคนที่ถูกป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าไม่ผิด อาจไม่มีเหตุให้ไปรื้อ เพราะป.ป.ช.เคลียร์แล้ว แต่ถ้าหลุดไป เพราะป.ป.ช.ยังสอบไม่ถึง ถือเป็นหน้าที่ของศอตช. ต้องไปดูเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าเราไม่ได้บอกว่าคนให้นโยบายเป็นผู้ทุจริต จึงตั้งความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อย่างคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โทษทางอาญาไม่ได้หนักอะไร แต่สำหรับคนเป็นนักการเมือง โทษหนักเบาไม่ได้เท่ากับความเสียหาย เพราะเมื่อมาจากการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือชาวนาอย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำนโยบายนั้นให้มีกฎหมายรองรับและการปฏิบัติสุจริต ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิด

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน