เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง ประธานชมรมไทยปลอดภัย และประธานกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เดินทางยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและมาตรการที่เข้มงวด มีเป้าหมายลดการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ได้มากที่สุด

พร้อมส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการ 10 จังหวัดเป้าหมาย เสนอว่า 1.สถานการณ์อุบัติเหตุปัจจุบัน มีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ 2559 จำนวน 442 คน เพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงสงกรานต์ 2558 ที่เสียชีวิต 364 (เพิ่มขึ้น 78 คน หรือ 21.43%) ส่วนในช่วงปีใหม่ 2560 มีผู้เสียชีวิต 478 คน เพิ่มจากปี 2559 ที่เสียชีวิต 380 คน (เพิ่มขึ้น 98 คน หรือ 25.79%)

2.ข้อเสนอสำหรับช่วงสงกรานต์ ให้รัฐบาลกำหนดนโยบาย “ลดสูญเสียมุ่งสู่ศูนย์” (Towards Zero Policy) ให้ทุกจังหวัดมีเป้าหมายลดการเสียชีวิตลงให้ได้มากที่สุด โดยเสนอมาตรการรองรับการเดินทางก่อนถึงช่วงเทศกาล 1 เดือน ก่อนเทศกาล 1 สัปดาห์ และมาตรการช่วงเทศกาล นอกจากนั้น ขอให้ลดเวลาจัดงานของจังหวัดต่างๆในช่วงหลังเที่ยงคืน เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุหลังเที่ยงคืนที่มีเพิ่มขึ้นในระยะหลัง พร้อมไปกับการประชาสัมพันธ์มาตรการต่างๆ ด้วย

3.ข้อเสนอเฉพาะ คือกำหนดจังหวัดเป้าหมายที่มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 4 ปี (2556-2559) เพิ่มในอัตราสูงขึ้นมาก 10 จังหวัด (Top 10) คือ 1) จังหวัดพิจิตร อัตราเพิ่ม 522.22% 2) จังหวัดชลบุรี อัตราเพิ่ม 186.51% 3) จังหวัดพิษณุโลกอัตราเพิ่ม 111.04% 4) จังหวัดสุรินทร์อัตราเพิ่ม 83.33% 5) จังหวัดอุดรธานีอัตราเพิ่ม 81.94% 6) กรุงเทพมหานคร อัตราเพิ่ม 71.67% 7) จังหวัดขอนแก่นอัตราเพิ่ม 58.33% 8) จังหวัดนครราชสีมาอัตราเพิ่ม 57.45% 9) จังหวัดบุรีรัมย์อัตราเพิ่ม 52.7% และ10) จังหวัดกาญจนบุรีอัตราเพิ่ม 48.48% พร้อมการกำหนดรางวัล ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนการเสียชีวิตสูง ให้ใช้นโยบายเดียวกันเพื่อลดจำนวนเสียชีวิตลงให้ได้มากที่สุด

4.ข้อเสนอช่วงเดินทางปกติ ให้นำรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน ที่ตนเองเป็นประธานและเสนอรัฐบาลไว้ก่อนแล้วไปพิจารณาจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน โดยระบุว่าหากไม่มีแผนฯ จะมีจำนวนเสียชีวิตปีละ 23,600 คน และตลอดระยะ 5 ปีจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวมถึง 117,976 คน แต่หากดำเนินการตามแผนที่ตนนำเสนอ โดยนำไปจัดทำเป็นแผนแม่บทฯ จะสามารถรักษาชีวิตประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนได้ถึง 17,693 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน