ย้อน 19 พฤษภา 53 ‘9 ปี แผลในใจ’ เผยความจริง ที่นี่มีคนตาย VS เผาบ้านเผาเมือง!

ผ่านไปแล้วกว่า 9ปี สำหรับเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ สลายการชุมนุม ในวันพุธ ที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเหตุการณ์นี้ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ การสลายการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้การบังคับบัญชาของ “ศอฉ.” หรือ “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น เป็นรองผู้อำนวยการ

วันที่ 19 พฤษภาคม ของหลายๆคน อาจจะเป็นวันธรรมดาทั่วไป เพราะมันก็ผ่านมาตั้ง9ปี รายละเอียดเหตุการณ์ต่างๆ หลายท่านก็คงลืมเลือนกันไปหมดแล้ว คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในช่วงหลัง อาจจะยังไม่ซึมซับถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงนั้น บางคนอาจจำได้เพียงลางๆ ตอน “บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ – ตึกถูกเผา – ควันเต็มเมือง ฯลฯ” หรืออาจจะจำแค่วาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ซึ่งพูดกันในหมู่คนการเมืองทั่วๆไป โดยอาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริงอีกมุมที่เกิดขึ้นในวันนั้น

ซึ่งหากรวมทั้งเหตุการณ์ 10 เมษายน และ ช่วง 13-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งสองเหตุการณ์ “ขอคืนพื้นที่-กระชับพื้นที่” นี้ จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 99 ศพ และบาดเจ็บมากว่า 2,000 คน (บางรายงานอาจจะมากหรือน้อยไปกว่านั้น)

วันนี้เราจะพาทุกท่าน ทบทวนความจำ กับสิ่งที่เกิดขึ้น ในช่วงนี้ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ไปด้วยกัน

หน้าปกของรายงานที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมเหตุการณ์ทั้งหมด ในช่วง เมษา-พฤษภา 2553 ซึ่งได้ตีพิมพ์เมื่อปี 2555 ได้รวบรวมตัวเลขของเหตุการณ์นี้ไว้ดังนี้

  • 3,000 คือกระสุนสำหรับการซุ่มยิงที่กองทัพเบิกไป (2,120 คือกระสุนที่ใช้ และ 880 คือกระสุนที่ส่งคืน)
  • 117,923 คือจำนวนนัดของกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม
  • 700,000,000 คืองบที่ตำรวจใช้กับกำลังพล 25,000 นาย
  • 3,000,000,0000 คืองบที่ทหารใช้กับกำลังพล 67,000 นาย
  • 1,283 คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด
  • 1,763 คือจำนวนคนที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี
  • 94 คือจำนวนคนเสียชีวิต
  • 88 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชาย
  • 6 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้หญิง
  • 10 คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นทหาร ในจำนวนนี้มีตำรวจ 3 นาย)
  • 2 คือสื่อมวลชนที่เสียชีวิต (สัญชาติญี่ปุ่นและอิตาลี)
  • 6 คืออาสากู้ชีพ/อาสาพยาบาลที่เสียชีวิต
  • 32 คือผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ
  • 12 คืออายุของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด

จุดเริ่มต้น “ขอแค่ยุบสภา”

การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 หลังได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค นำโดย พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากมีข้อสงสัยว่ามีการแทรกแซงทางการเมืองจนนำมาสู่การยุบพรรคพลังประชาชน (ปัจจุบันคือพรรคเพื่อไทย) แล้วจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา โดยมีข่าวลือว่า ผู้นำระดับสูงในกองทัพ ได้พานักการเมืองจำนวนหนึ่ง ทำการเจรจาพูดคุย เพื่อตั้งรัฐบาลในค่ายหทารแห่งหนึ่ง ย่านวิภาวดีรังสิต เมื่อช่วงปลายปี 2551

โดยในช่วงเมษายน ปี 2552 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็เคยชุมนุมใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.เปรม ลาออกจากประธานองคมนตรี เพราะผู้ชุมนุมในขณะนั้น เชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้แทรกแทรงทางการเมือง และ ให้นายอภิสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากถูกสลายการชุมนุม

 

แต่หลังจากถูกสลายการชุมนุมในรอบนั้น ก็ยังคงมีการชุมนุมต่อเนื่อง ทุกภูมิภาค ทั่วประเทศไทย และในปี 2553 กลุ่ม นปช. จึงได้ประกาศจัดการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม เป็นต้นไป การชุมนุมดังกล่าวมีเป้าหมายเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยจุดเริ่มต้นคือถนนราชดำเนิน โดยได้ยกระดับการชุมนุมทุกสัปดาห์ ตั้งแต่การไปหน้ากรมทหารราบที่ 11 บางเขน การไปหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หน้าบ้านพักนายอภิสิทธิ์ และ เคลื่อนพลกว่า 58 กิโลเมตร รอบกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับแสนคน

 

และในวันที่ 26 มีนาคม 2553 รัฐบาลอภิสิทธ์ ได้ส่งตัวแทนรัฐบาลเจรจา เรื่องข้อสรุปเรื่องการยุบสภากับตัวแทน นปช. โดยการเจรจาครั้งนี้ ถ่ายทอดสดทั่วประเทศ โดยใช้เวลากว่า 2 วัน แต่ได้ข้อสรุปไม่ตรงกัน เนื่องจากรัฐบาลกำหนดกรอบเวลายุบสภาภายใน 9 เดือน ในขณะที่ฝ่าย นปช. ยืนยันว่าจะต้องยุบสภาภายใน 15 วัน ทำให้ข้อตกลงในการเจรจาไม่บรรลุผล และทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น จากนั้น ในวันที่ 3 เมษายน 2553 กลุ่มคนเสื้อแดง ได้ดาวกระจายการชุมนุมไปยังถนนราชประสงค์ เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา

ต่อมา ในขณะที่รัฐบาลจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ขึ้นในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 และได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดฉุกเฉิน และมีการตั้งหน่วยงานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ และใช้ยุทธการ ‘ขอคืนพื้นที่’ หรือ การสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ในวันที่ 10 เมษายน 2553 และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

จากนั้น ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้แถลงแนวทางการปรองดอง ซึ่งแกนนำกลุ่ม นปช. ก็มีท่าทยอมรับแนวทางดังกล่าวของทางรัฐบาล เพียงแต่มีข้อเรียกร้อง เพื่อให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม พร้อมยื่นข้อเสนอว่า ถ้า สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยอมมอบตัวจากกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์เดือนเมษายน 2553 พร้อมกับให้คืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีเพิลแชแนล และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แกนนำ นปช. จะประกาศยุติการชุมนุมทันที

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกำหนดเส้นตายให้กลุ่ม นปช. ยุติการชุมนุมในวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 แต่เนื่องจากข้อเสนอของผู้ชมุนม ไม่ได้รับการตอบรับจากทางรัฐบาลในขณะนั้น จึงไม่ยุติการชุมนุม รัฐบาลกับทหารจึงใช้ยุทธการ “กระชับวงล้อม” และจบด้วยความรุนแรงอีกครั้ง โดยเริ่มยุทธการ “กระชับวงล้อม” ตั้งแต่ 12 พฤษภาคม 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 โดยมีการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมไว้ทุกด้าน เพื่อกดดันให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม กินเวลานานมากกว่า 1 สัปดาห์ กว่าจะมีการยุติการชุมนุม และลงเอยด้วยเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จำนวนมาก

หลัง ศอฉ. และรัฐบาลกำหนดเส้นตายให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 เค้าลางของความรุนแรงก็เริ่มเกิดขึ้นในวันถัดมา เนื่องจาก พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” หนึ่งในแนวร่วมการชุมนุม ถูกกระสุนปืนความเร็วสูงยิงเข้าที่กะโหลกศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์นักข่าวจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 และเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลันเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09.20 น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

ข้อมูลจาก ศปช. ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ยังมีส่วนที่ไม่ตรงกัน โดยตัวเลขแรกของผู้เสียชีวิตหลังเหตุการณ์สงบลงคือ 89 ราย ซึ่งมาจากเว็บไซต์สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เมื่อวันที 1 มิถุนายน 2553 ต่อมามีผู้เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ตัวเลขเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 มียอดรวมผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย

ในจำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เช่น ฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายชุมนุม ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ญาติต้องใช้เวลากว่า 3 ปี (29 พ.ค.56) หลัง ฟาบิโอเสียชีวิต จึงได้ผลการไต่สวนการตายจากศาลว่า เสียชีวิตจากกระสุนฝั่งทหาร

ใครทำให้มี “คนตาย?”

จากการรวบรวมผลคำวินิจฉัยของศาล ในการไต่สวนการตายของพลเรือน ระหว่าง 10 เมษายน -19 พฤษภาคม 2553 พบว่า ในคำวินิจฉัยของศาล มีอย่างน้อย 12 คำวินิจฉัยที่ระบุว่า ผู้ตาย “เสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร” ที่ปฏิบัติการอยู่ ซึ่งในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 4 คำวินิจฉัยที่ระบุว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือ “เสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่”

6 ศพ คนตาย ในวัดกลางเมืองหลวง?

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษาเมืิ่อวันที่ 6 ส.ค. 2556 โดยศาลอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการตายของ

  • นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้ตายที่ 1
  • นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ตายที่ 2
  • นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้ตายที่ 3
  • นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้ตายที่ 4
  • น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้ตายที่ 5
  • และนายอัครเดช ขันแก้ว อายุ 22 ปี อาชีพรับจ้าง ผู้ตายที่ 6

ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 น่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า

  • 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร
  • 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน
  • 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง
  • 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยศาลมีคำสั่งให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150′

ทั้งนี้ สำหรับเหตุการณ์การเสียชีวิต 6 ศพ วันดปทุมวนาราม เกิดขึ้นหลังการสลายชุมนุม และการยุติเวทีของแกนนำ นปช. โดยแกนนำบางส่วน ถูกควบคุมตัวไปยังค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี ส่วนผู้ชุมนุมบางส่วน ก็ออกจากพื้นที่ บางส่วนกลับบ้าน และบางส่วนหลบอยู่ในวัดปทุมวนาราม จนถึงเช้า โดยหลังจากการสลายการชุมนุม ในช่วงบ่ายนั้น ไม่มีผู้ชมนุมอยู่ในพื้นที่การชุมนุมเดิม

ชายชุดดำ เสื้อสีอะไร?

ภาพชายชุดดำที่มักปรากฏซ้ำๆ บนหน้าสื่อในช่วงที่หมอกควันเหตุการณ์ยังไม่จางนั้นอาจอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ต่อมาปี 2555 ข่าวสด เคยสัมภาษณ์บุคคลในภาพดังกล่าวว่าเป็นคนเก็บของเก่าที่เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช.ด้วย และ ไม่ได้เป็นชายชุดดำที่เปิดฉากตอบโต้ทหารแต่อย่างใด

ในด้านคดีความนั้น “คดีชายชุดดำ” ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คนหนึ่งในนั้นเป็นหญิง ผู้ต้องหาหลายรายมีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ระบุว่า พวกเขาถูกซ้อมในกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องคดีแรก คือ คดีครอบครองระเบิดเตรียมคาร์บอม

ส่วนคดีครอบครองอาวุธนั้น ศาลพิพากษาเมื่อเดือนมกราคม 2560 ยกฟ้อง 3 ราย อีก 2 รายมีความผิดฐานครอบครองอาวุธสงคราม ลงโทษจำคุกรายละ 10 ปี โดยศาลไม่เชื่อว่าผู้ต้องหารับสารภาพ ในชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าหน้าที่ซ้อม อย่างไรก็ตามศาลสั่งให้ขังจำเลยทั้งหมดไว้ระหว่างอุทธรณ์ โดยจำเลยทั้งหมดถูกจำคุกมาตั้งแต่กันยายน 2557

เผาบ้าน เผาเมือง ?

ข้อกล่าวหาสำคัญที่เกิดกับกลุ่มผู้ชุมนุมในปี 2553 คือ ‘เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง’ แต่จากข้อเท็จจริงในชั้นศาลกลับให้ข้อเท็จจริงที่ต่างออกไป เช่น กรณีเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ มี คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้อง สายชล แพบัว และ พินิจ จันทร์ณรงค์ ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลงมือวางเพลิงห้างดัง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤษาภาคม 2562 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อ่าน คำพิพากษาศาลฎีกา ให้ 6 บริษัทประกัน จ่ายเงินประกันค่าเสียหายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และโจทก์ร่วม เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท หลังถูกวางเพลิงวันสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 19 พ.ค. 53 ชี้พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้เป็นผลมาจากการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมือง


 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน