เปิดคำสั่งศาลคดี 6 ศพ วัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 หลังดีเอสไอสั่งงดสอบ ด้วยเหตุผลหาคนยิงไม่เจอ ทั้งที่ศาลชี้ชัดๆ ใครยิง ยิงจากไหน มีตัวตนจริงๆ
6 ศพ วัดปทุม – กรณีที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า คดีสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา ปี 2553 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สั่งงดการสอบสวน เหตุผู้เสียชีวิต 6 ศพ ในวัดปทุมวนาราม กทม. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ด้วยเหตุผลที่ว่าหาตัวคนยิงไม่เจอ จึงแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้ ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษาเมืิ่อวันที่ 6 ส.ค. 2556 โดยศาลอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการตายของ
- นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้ตายที่ 1
- นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ตายที่ 2
- นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้ตายที่ 3
- นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้ตายที่ 4
- น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้ตายที่ 5
- และนายอัครเดช ขันแก้ว อายุ 22 ปี อาชีพรับจ้าง ผู้ตายที่ 6
ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 น่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติผู้ตายทั้ง 6 อันประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณี และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า
ผู้ตายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส
และผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประจำการอยู่บนถนนพระรามที่ 1
จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายที่ 1 คือนายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 2 คือนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 คือนายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 4 คือนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 คือน.ส.กมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 6 คือนายอัครเดช ขันแก้ว ถึงแก่ความตายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน
เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.
เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก ผู้ตายที่ 2 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ ตับ ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลกระสุนปืนทะเข้าใจช่องปาก โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยศาลมีคำสั่งให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์ประชาไท