แบ่งเค้กลงตัว! ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย คว้าพรรคละ 6 เก้าอี้ ‘อนุทิน’ คว้า “คมนาคม-ท่องเที่ยวกีฬา” ปชป. ไม่น้อยหน้า! ได้ “พาณิชย์-เกษตรฯ”

วันที่ 26 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานเบื้องหลังความปั่นป่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก วันที่ 25 พ.ค.ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน มีการประเมินทั้งจากฝั่งพรรคที่เตรียมจับมือตั้งรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำ รวมทั้งจากฝั่งพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่วิเคราะห์ว่า การประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนฯ ที่มีความยืดเยื้อนั้น

เป็นเพราะการต่อรองของฝั่งพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เกี่ยวกับโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีที่ยังไม่ลงตัว โดยเบื้องต้นพรรคประชาธิปัตย์ยังอยู่ที่ 6 ตำแหน่ง คือ รองนายกรัฐมนตรี, รมว.พาณิชย์, รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รมช.ศึกษาธิการ และรมช.มหาดไทย

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เจรจาต่อรองตำแหน่งรมว.มหาดไทย โดยสลับกับกระทรวงอื่น จึงมีการประวิงเวลาในสภาฯ เพื่อเปิดทางให้แกนนำของทั้ง 2 พรรคเจรจาตกลงกันให้สะเด็ดน้ำ ก่อนจะกลับเข้ามาในห้องประชุมสภาฯ เพื่อมาลงมติว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนการประชุมออกไป ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงบางกระทรวงจนเกิดความพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรยากาศความสับสนในการลงคะแนนในญัตติขอให้เลื่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรออกไปเป็นวันอื่น อาจเป็นความตั้งใจที่ให้เสียงออกมาแพ้ เพราะมีการลงมติผิดถึง 5 คนในกลุ่มอักษร “อ.อ่าง” นำโดย นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำเจรจาร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยส.ส.ดังกล่าวอยู่ในกลุ่มสามมิตร กลุ่มปากน้ำ ในความดูแลของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ทั้งหมด

จนเมื่อปรากฏผลคะแนนออกมาว่า ที่ประชุมมีมติ “ไม่เห็นด้วย” ที่จะให้เลื่อนการประชุมเพื่อเลือกประธานสภาฯ ออกไปเป็นวันอื่น โดยให้จบภายในวันที่ 25 พ.ค. เพื่อสนับสนุนนายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ โดยผู้เสนอชื่อนายชวน คือ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำในการเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์ ตามที่มีการต่อรองตำแหน่งกันก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันที่ 25 พ.ค. ถือเป็นการเช็กกำลังครั้งแรกของผู้ที่จะมาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ว่าเป็นไปตามที่ได้พูดคุยตกลงกันหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าเสียงของทั้ง 2 ขั้วการเมืองใกล้เคียงกันก่อนจะไปประลองกำลังอีกครั้งในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) การต่อรองเก้าอี้ค่อนข้างลงตัว โดยจะได้ 6 ตำแหน่งเท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย รองนายกฯ, รมว.คมนาคม, รมว.สาธารณสุข, รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, รมช.เกษตรและสหกรณ์ และรมช.มหาดไทย

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เบื้องต้นยังอยู่ที่ 2 ตำแหน่ง คือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรมช.เกษตรและสหกรณ์

สำหรับกระทรวงที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 15 ตำแหน่ง จะเกลี่ยให้กับโควต้าของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคขนาดเล็ก เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย อาทิ รมว.มหาดไทย รมว.คลัง รมว.กลาโหม รมว.แรงงาน รมว.วัฒนธรรม รมว.อุตสาหกรรม รมว.ต่างประเทศ รมว.ยุติธรรม รมว.พลังงาน รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่วน 11 พรรคเล็ก อาจจัดสรรในส่วนของประธานคณะกรรมาธิการชุดสำคัญต่าง ๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน