วันที่ 1 มิถุนายน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.) ได้โพสต์ เฟชบุ๊ก ระบุว่ารัฐธรรมนูญจะต้องเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเป็นคุณลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ เขียนขึ้นใช้กับคนไทยทุกคนทั้งประเทศ ไม่ใช่มีขึ้นเพื่อทำให้พรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล และใช้ประโยชน์จากกฎหมาย การเลือกนายกรัฐมนตรีผู้ที่มาจากการยึดอำนาจ จะขัดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงเป็นคุณลักษณะต้องห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แม้มีบทบัญญัติที่หลายฝ่ายเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตยหลายประการ และต้องเป็นวาระที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น

แต่ที่เห็นว่าเป็นมหันตภัย คือ การที่นักการเมืองบางกลุ่ม เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติขึ้นเพื่อพรรคการเมืองใดหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจได้สืบทอดอำนาจต่อไป เพราะความจริง รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติขึ้นเพื่อใช้กับคนไทยทั้งประเทศทุกคน เพียงแต่ยังมีหลายส่วน ที่ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนด้อยต่ำและ ไม่เสมอภาค

ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ต้องใช้กับคนทุกคนอย่างเสมอภาค แต่กลับปรากฏว่า ผู้รับผิดชอบ ตัวแทนพรรคการเมืองบางพรรค และ ส.ว บางท่าน อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือเจตนาแอบแฝงอื่น

ในกรณี การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้ ผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ (ไม่ว่าจะเรียกชื่อคณะอะไร) เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ไว้ด้วย คือตาม มาตรา 160 เรื่องคุณลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี มาตรา 129 เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ใช้ มาตรฐานทางจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 บังคับแก่ผู้เป็น ส.ส. ส.ว.และคณะรัฐมนตรีด้วย

ซึ่งขัดข้อ 5 มาตรฐานจริยธรรม “ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” สำหรับ ส.ว. ยังต้องห้ามโหวต หัวหน้าคสช. ที่เป็นผู้คัดเลือก ส.ว.ทั้ง 250 คน เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และข้อ 11 มาตรฐานจริยธรรม “ไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

สรุปคือผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี “ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

กรณี จริยธรรมประชาธิปไตย ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นผู้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน หรือ หัวหน้า คสช.ไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยการใช้กำลังบังคับยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ใช้อยู่ ยึดอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ตุลาการและอำนาจจากประชาชนไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่ง รธน 50 มีบทบัญญัติ เรื่องห้ามการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้ ด้วย ตามมาตรา 68 ว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้”

พฤติกรรมยึดอำนาจการปกครองดังกล่าวได้ต่อเนื่องมาจนถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และถึงปัจจุบัน ซึ่งในด้านงบประมาณได้นำเงินภาษีอากรที่เก็บจากประชาชนไปใช้ปีละประมาณเกือบ 3 ล้านล้านบาทหรือมากกว่า เมื่อรวมเวลา 5 ปีที่ยึดอำนาจ ประมาณที่เป็นภาษีอากรของประชาชนไปประมาณ 14-15 ล้านล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบจากประชาชน

สำหรับ ส.ว. ยังมีห้ามเรื่องโดยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่กล่าวข้างต้นอีกด้วย

ประเด็นที่รัฐธรรมนูญห้ามเรื่อง “พฤติกรรม” เป็นเรื่องที่ก้าวหน้าในการปฏิรูปทางการเมือง เพราะพฤติกรรมหรือการแสดงออกไม่สามารถนิรโทษกรรมตามกฎหมายได้ ซึ่งพฤติกรรมในอดีตถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่าไม่มีการกระทำไม่เคยขึ้นย้อนไปในอดีตได้

ปัญหาจึงอยู่ที่ “คน” ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทางการเมืองจะต้องเป็นผู้ยึดมั่นปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช้กฎหมายตามอำเภอใจ ถ้าทุกคนตระหนักถึงหลักนิติธรรมที่บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน (rule of law) ความขัดแย้งจะลดลง ประชาชนจะมีความเชื่อมันต่อนักการเมือง

แต่ตามที่ปรากฏเป็นข่าว มีพรรคการเมืองหลายพรรค ส.ส.และ ส.ว.จำนวนมาก ได้แสดงเจตจำนงว่าจะโหวต หัวหน้า คสช.ที่เป็นผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่มีคุณลักษณะต้องห้าม ซึ่งเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเรื่องจริยธรรมนี้ นายกรัฐมนตรีจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ ตาม ม.168 ด้วย และกรณี ส.ว.ยังมีประเด็นเรื่อง การขัดกันแห่งผลประโยชน์ อีกด้วย!!!

รัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เป็นสมบัติส่วนตัวของกลุ่มคนใด


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน