ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับฟ้องกรณี “บิ๊กตู่” ใช้สื่อโซเชียล ไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าของกิจการ

ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับฟ้องกรณี “บิ๊กตู่” ใช้สื่อโซเชียล / เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 มิ.ย.ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้เพิกถอนมติของ กกต.ที่วินิจฉัยข้อร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดช่องทางสื่อสารกับสาธารณชนในรูปแบบ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ รวมถึง เว็บไซต์ส่วนตัว ไม่อาจถือว่าเข้าข่ายการเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนใด ๆ อันจะมีผลเป็นการเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่รับกรณีตามหนังสือของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวด้วยเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และมาตรา 210 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่ากรณีใดที่จะต้องส่งเรื่องใหh

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่รับกรณีตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดี อันเป็นกระบวนการและขั้นตอนที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญ ข้อพิพาทนี้จึงไม่ใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

นายเรืองไกร ซึ่งเดินทางมาฟังคำสั่งศาลฯกล่าวว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเช่นนี้ ว่าเป็นอำนาจของกกต .ที่จะส่งให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ ก็อยากจะเรียกร้อง ให้กกต เร่งพิจารณา กรณีที่ตนเอง ได้ร้องขอให้ตรวจสอบ ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองที่ถือครองหุ้นสื่อ ว่าเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งส.ส. หรือไม่และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อให้ศาลฯ พิจารณาวางบรรทัดฐานว่าคำว่า “สื่อ”นั้นมี ความหมาย ถึงอะไรบ้าง รวมถึง การมีชื่อเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก อินสตราแกรมด้วยหรือไม่ ซึ่งกกต. ไม่ควรเลือกที่จะส่งศาลฯพิจารณาเฉพาะ ในบางเรื่องอย่าง ส่งเฉพาะของกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แต่ควรทำกับส.ส.คนอื่นๆในมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้นายเรืองไกร ยังเห็นว่า ในวันนี้ที่ที่ประชุม สมาชิกรัฐสภาจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ทราบว่ามีญัตติของพรรคอนาคตใหม่ ที่จะเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาคุณสมบัติ ของพล.อ.ประยุทธ์ กรณีเป็นหัวหน้า คสช. ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการแจ้งต่อนพ. ชลน่าน ศรีแก้วส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า ไม่มีการบรรจุ ญัตติดังกล่าว ให้ที่ประชุมได้พิจารณา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็คือจะมีการข้ามไปประชุมสมาชิกรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีเลย

นายเรืองไกรกล่าวว่า ตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องซึ่งเคยมีกรณีของการโหวตพล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ เป็นกกต. และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าสตง. ที่เมื่อมีการทำผิดขั้นตอน การโหวตดังกล่าวก็ถือว่าเป็นโมฆะ ดังนั้น ถ้าที่ประชุมส.ส.ไม่มีการพิจารณาเรื่อง คุณสมบัติ ของพล.อ.ประยุทธ์ แล้วข้ามไป ประชุมสมาชิกรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีเลย ก็จะถือว่าเป็นการทำข้ามขั้นตอน ตนก็จะยื่นให้ป.ป.ช.พิจารณาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านี้จงใจใช้อำนาจ หน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 234(1)หรือไม่ หาก ป.ป.ช.ชี้มูลก็จะมีผลให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน