ทักษิณ คุกอีก 2 ปี ม.157 ออกสลากหวยบนดินไม่ชอบ ฝ่าฝืน กม.คล้ายหวยใต้ดิน ทำคนมัวเมา หลังเจอคุกเอ็มซิมแบงก์ 3 ปี

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง เมื่อเวลา 12.00 น. นายสบโชค สุขารมณ์ อดีตประธานศาลฎีกาและองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีออกโครงการสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือหวยบนดิน ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร คดีหมายเลขดํา อม.1/2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 152, 153, 154 ,157 ประกอบมาตรา 83, 84, 86, 90, 91 ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 8, 9, 10 ,11 กรณีถูกกล่าวหาร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ 2 ปี 2549 และอดีตผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน ดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.2546–16 ก.ย.2549 โดยมิชอบ

โดยเมื่อปี 2561 ป.ป.ช.โจทก์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีนี้ ซึ่งยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2551 แต่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเนื่องจากจำเลยหลบหนี โดยออกหมายจับแล้วยังไม่ได้ตัวมา จึงให้นำขึ้นมาพิจารณาใหม่ หลังจากปี 2560 มีการแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2560 ซึ่งเมื่อเริ่มพิจารณาคดีใหม่ นายทักษิณ ไม่มาศาลและไม่ตั้งทนายความเข้ามาไต่สวนพยานสู้คดี โดยศาลได้ไต่สวนพยานฝ่ายป.ป.ช. โจทก์แล้ว

ศาลพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า วัตถุประสงค์การออกสลากกินแบ่ง เพื่อหาเงินรายได้เข้ารัฐ โดยก่อนการจำหน่ายสลากหวยบนดินมีการศึกษาข้อกฎหมายและผลกระทบทางสังคมแล้ว ได้ทักท้วงจำเลยที่ 1 ให้ทราบว่าการออกสลากหวยบนดินอาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยับยั้งความเสี่ยง

ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้สั่งการให้จำเลยที่ 10 และผอ.กองสลาก (ขณะนั้น) จำเลยที่ 42 เร่งดำเนินการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว โดยไม่ต้องรอเครื่องพิมพ์สลาก แสดงว่าจำเลยที่ 1 ต้องการออกสลากหวยบนดินโดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกองสลาก และไม่แก้ไขข้อกฎหมายก่อน

เข้าลักษณะเป็นเจ้ามือรับกินใช้ ซึ่งมีเงื่อนไขเดียวกับหวยใต้ดิน เป็นการพนันขันต่อให้มัวเมาประชาชน ทั้งการนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ก็เข้าสู่วาระจร เป็นเหตุให้ครม.อนุมัติโดยเข้าใจว่าเป็นการกระทำโดยชอบตามกฎหมาย

แม้การออกสลากหวยบนดินจะมีรายได้ 123,339,890,730 บาท แต่มีผลขาดทุน 7 งวด จำนวน 1,668,192,060 บาท นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่ากองสลากยังได้เบิกงานเกินบัญชีจากธนาคารออมสินประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสำรอง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยง แต่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงเหมือนขั้นตอนการออกสลากอย่างที่เคยเป็นมา

การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการดำเนินโครงการออกสลากพิเศษฯ ที่ร่วมกับจำเลยที่ 10 และ 42 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอื่น ตามมาตรา 153, 147, 152

องค์คณะฯ มีมติเสียงข้างมาก พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี และให้ออกหมายจับจำเลยมาปฏิบัติตามคำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้นับเป็นคดีสำนวนที่ 2 ที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาตัดสินคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในปี 2562 และมีโทษให้จำคุก ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย ตามกฎหมายใหม่

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ศาลฎีกาให้จำคุกนายทักษิณ เป็นเวลา 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 กรณีอนุมัติให้กู้ยืมเงินเพิ่มเติมแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ประมาณ 1,000 ล้านบาท ผ่าน เอ็กซิมแบงก์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน นอกเหนือจากกรอบเจรจาปฏิญญาพุกาม เพื่อประโยชน์แก่ บมจ.ชิน แซทเทิลไลท์ ที่ตนเองและครอบครัวถือหุ้น ซึ่งให้ออกหมายจับจำเลยมาบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ต่อไป

ขณะที่คดีหวยบนดิน ป.ป.ช.ยื่นฟ้องจำเลยรวมทั้งสิ้น 47 ราย ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาฯ เคยมีคำพิพากษาในส่วนของกลุ่มคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.52 โดยตัดสินจำคุก นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 20,000 บาท

นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานบอร์ดกองสลากฯ จำเลยที่ 31 จำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท ตามป.อาญา ม.157 และ 83 และนายชัยวัฒน์ พสกภักดี ผอ.กองสลากฯ จำเลยที่ 42 กระทำผิด ป.อาญา 157 และ 86 , พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ ม.11 เป็นความผิดกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดฯ อันเป็นบทหนักสุดตาม ป.อาญา ม.90 ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท

แต่จำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ประกอบกับพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยอื่นในครม.นั้น ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน