กรธ.สรุป ส.ว.ชวดชงชื่อ แต่เบรกบัญชีนายกฯจากพรรคได้ หลังศาลรธน.ตีกลับ สั่งแก้รัฐธรรมนูญ 2 ข้อ ให้สอดคล้องประชามติ คำถามพ่วง ทั้งสิทธิส.ว.-วันเริ่มนับอายุสภาให้ชัด ทนาย”ปู”ยื่นค้าน สั่งฟ้องละเมิดคดีข้าว ทั้งที่ไม่รู้ตัวผู้ร่วมรับผิดชอบที่เหลือ “ศอตช.-ปปท.”รับลูกมติครม. จ่อตั้งอนุฯสอบหาคนชดใช้โครงการจำนำข้าวที่เหลืออีก 80% องค์กรต้านคอร์รัปชั่นจี้สางคดีลูกบิ๊กติ๊ก “วิษณุ”ชี้จดทะเบียนในค่าย แค่คำเหน็บแนม

“ตู่”ลั่นถึงลา-แต่คำสั่งม.44 ยังอยู่

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ตนเข้ามาไม่อยากแก้ตัวว่าบริหารประเทศในช่วงเศรษฐกิจถดถอย หากให้ตนเป็นนายกฯ ต่อตามที่มีคนพูดนั้นคงโดนถล่ม จึงขอทำวันนี้ให้ดีก่อน ทั้งนี้ รับฟังข้อมูลจากสื่อหลายช่องทางและทำให้หงุดหงิด หน้าตาเครียดมาตลอด เพราะยังมีความขัดแย้งอยู่ ซึ่งตนรังเกียจคนไม่ดี จึงทำให้อารมณ์ไม่ดี แม้จะไม่ปากหวานแต่เป็นคนมีเสน่ห์ และยืนยันว่าไม่เคยทำ 2 มาตรฐานและไม่รังแกใคร

เมื่อถามว่าหลังเลือกตั้งครั้งหน้าจะกลับมาเป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่ใช่เวลาที่จะตอบ จะกลายเป็นว่าอยากเป็นแล้วไม่ได้เป็น หรือไม่อยากเป็นแต่ได้เป็น เพราะเป็นเรื่องอนาคต ยืนยันว่าจะอยู่จนรัฐบาลใหม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตนจะไปทันที แต่อย่าลืมว่าแม้ตนจะไปแล้วก็ยังมีคำสั่งตามมาตรา 44 ร้อยกว่าฉบับที่ยังคงอยู่ อีกทั้งยังมีแนวทางปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลใหม่ไม่ทำไม่ได้เพราะมีกฎหมายลูกบัญญัติไว้

ทนายยื่นบิ๊กตู่-ทบทวนสั่งคดี”ปู”
ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายนพดล หลาวทอง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ผ่านนายพันศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เพื่อขอให้บุคคลทั้งสองทบทวนและวินิจฉัยสั่งการในการลงนามคำสั่งทางปกครองเพื่อให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้เงิน 3.57 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ตามที่คณะกรรมการความรับผิดทางแพ่งที่มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ได้สรุปตัวเลขความเสียหายเพราะถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายนพดลกล่าวว่า ตั้งแต่ผลสอบสวนของคณะกรรมการความผิดทางละเมิด ที่มีนาย จิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน ที่วินิจฉัยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดเพียงผู้เดียว ซึ่งไม่สอดคล้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย นอกจากนั้นในรายงานสรุปความเสียหายของคณะกรรมการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ยังไม่เปิดเผยสัดส่วนของผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น คำสั่งที่จะออกมาจึงไม่เป็นธรรม และแนวทางที่ถูกต้องควรดำเนินการตามกฎหมายละเมิดปกติที่ใช้กับบุคคลทั่วไปตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และเห็นว่าคดีนี้มีอายุความถึงเดือนก.พ. 2560 จึงไม่จำเป็นต้องเร่งรีบใช้วิธีการพิเศษมาเอาผิดกับน.ส.ยิ่งลักษณ์

วอนอย่าเลือกปฏิบัติ
“น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น ไม่อาจใช้พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนัก นายกฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้” นายนพดลกล่าว

นายนพดลกล่าวอีกว่า จะให้น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบความเสียหายโดยที่ยังไม่ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าต้องร่วมรับผิดชอบกับใคร จึงถือว่าไม่ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบกฎหมาย เรียกร้องให้ตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงดำเนินการตามกระบวนการทางปกครอง เช่นเดียวกับกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ที่รู้ว่าแต่ละคนจะต้องรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายเท่าไร คดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ควรยกเว้นหรือเลือกปฏิบัติให้ต่างจากคดีอื่น

ต๊อกขอเวลาก่อนบี้ 80% ที่เหลือ
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงมติครม. 27 ก.ย.มอบหมายให้ ศอตช.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานปราบทุจริตทั้งหมด ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องในสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ว่าในส่วนของศอตช.นั้นยังไม่กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะเพิ่งทราบจากที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา หากเห็นว่าหน่วยของเราสามารถทำงานได้เราก็จะทำ ตนต้องไปศึกษารายละเอียดเรื่องดังกล่าวก่อน โดยจะให้เลขานุการ ศอตช.รวบรวมหน่วยงานที่ดูแลเรื่องข้าวทั้งระบบว่ามีใครบ้าง และสั่งการให้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยดูว่ารอบแรกที่เราจะเรียกมาเป็นหน่วยงานใดบ้างเพื่อทยอยเรียกมา เพราะเป็นขั้นตอนการหาเกี่ยวกับผู้กระทำผิดซึ่งคงต้องใช้เวลาดูโครงสร้างและที่มาที่ไปว่าใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง
เมื่อถามว่าต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนจะมีการพิจารณาฐานความผิดทางละเมิด ก.พ. 2560 หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า อาจเป็นเส้นเวลาหนึ่งที่ตนต้องนำมาพิจารณาจึงต้องขอไปศึกษาก่อน แต่ก็ได้เรียกมาพูดคุยแล้วว่าอะไรคือเส้นเวลาในการทำงานของเราที่จะต้องเร่งรีบ

ปปท.จ่อสอบ 800 คดีทุจริตข้าว
ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. กล่าวว่า ในส่วนของป.ป.ท.ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวกว่า 800 คดี ต้นต.ค.นี้ จะเสนอเรื่องให้ป.ป.ท.พิจารณาสั่งไต่สวนและตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้ จากนั้นก็เชิญอนุกรรมการทั้งหมดมาทำความเข้าใจร่วมกัน การทำอย่างนี้จะทำให้การตรวจสอบรวดเร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เกิดความล่าช้า และติดพันไปถึงคดีอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคดีอื่นเราจะไม่ทำ เราก็ทำตามปกติ
นายประยงค์กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ ครม.มีมติเมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการรับผิดทางละเมิด และได้มอบหมายให้ ศอตช.ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ซึ่งตนในฐานะเลขานุการ ศอตช.ก็ต้องเป็น เจ้าภาพนำข้อมูลทั้งหมดมาดู อีกทั้งรมว.ยุติธรรมสั่งการมาแล้วว่าให้ประสานหน่วยงานที่เขาทำมาตั้งแต่ต้นมาร่วมหารือกัน เพื่อการตรวจสอบจะได้รวดเร็วและไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ว่าจะมีอะไรบ้าง ต้องมีกรอบระยะเวลาการทำงานเท่าไรนั้น ต้องขอดูเนื้อหาก่อน

วิษณุเผยจะสั่งฟ้องภายใน 6 เดือน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ว่า ที่ส่งมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีน.ส. ยิ่งลักษณ์คนเดียว ส่วนที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีคนที่เกี่ยวข้อง 2 กลุ่มคือฝ่ายปฏิบัติ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งป.ป.ท. ตั้งเป็นคดีแล้ว 853 คดี ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร(อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า(อคส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเอกชนจำนวนมาก เช่น โรงสี พฤติกรรมคือไม่มีข้าวในโกดัง แต่แจ้งว่ามีข้าว หรือซื้อขายโดยรับ-จ่ายเงินไม่ถูกต้อง โดยเป็นข้อมูลการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่มีม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนัก นายกฯ เป็นประธาน และสอบเพิ่มมาเรื่อยๆ จนได้จำนวนคดี ครอบคลุม 33 จังหวัด

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ที่น่าสังเกตจังหวัดที่มีคดีมากคือ กำแพงเพชร 100 คดี และนครสวรรค์ 200 คดี กลุ่มนี้ต้องดำเนินคดีอาญาต่อไป โดยป.ป.ท.ระบุว่าจะส่งฟ้องศาลได้ภายใน 6 เดือน และจะเรียกรับผิดทางละเมิดต่อไป ซึ่งต้องประสานกับกระทรวงต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่นั้นๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ทั้งนี้การดำเนินการเรียกรับผิดทางละเมิดกับส่วนที่เหลือ 80 เปอร์เซ็นต์นี้ ยังไม่ได้นับอายุความ เพราะจะเริ่มเมื่อรู้ตัวและรู้การกระทำผิดคือ เมื่อผู้บังคับบัญชาของบุคคลนั้นๆ รับรู้

ฮึ่มสอบ-ฟัน”กขช.”ด้วย

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ส่วนฝ่ายนโยบายวันนี้ได้ตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์มาแล้ว 1 คน อาจมีคนอื่นเพิ่มเข้ามา มีการเพ่งเล็งกันอยู่ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ครม.จึงมีมติมอบให้ ศอตช. ไปตรวจสอบเพิ่ม ส่วนจะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ในขณะนั้นด้วยหรือไม่นั้น ถือว่าอยู่ในข่าย แต่ใครจะต้องรับผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เหมารวม กขช.ทั้งหมด หากคนที่ถูกป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่ผิด อาจไม่มีเหตุให้ไปรื้อ เพราะป.ป.ช.เคลียร์แล้ว แต่ถ้าหลุดไปเพราะป.ป.ช.ยังสอบไม่ถึง ถือเป็นหน้าที่ของ ศอตช. ต้องไปดูเพิ่ม
นายวิษณุกล่าวย้ำว่า ไม่ได้บอกว่าคนให้นโยบายเป็นผู้ทุจริต จึงตั้งความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อย่างคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โทษทางอาญาไม่ได้หนัก แต่สำหรับคนเป็นนักการเมือง โทษหนักเบาไม่ได้เท่ากับความเสียหาย เพราะเมื่อมาจากการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจกำหนดนโยบายช่วยเหลือชาวนาอย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำนโยบายนั้นให้มีกฎหมายรองรับ และการปฏิบัติสุจริต ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิด

ชี้จดทะเบียนในค่ายแค่เหน็บแนม
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีลูกชายพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชายนายกฯ ใช้บ้านพักในค่ายทหารจดทะเบียนตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างว่า ตนไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่คิดว่าหากเขามีบ้านอยู่ที่นั่น ทะเบียนบ้านอยู่ที่นั่น เวลามีเลือกตั้งเขาก็ไปเลือกตั้งตามทะเบียนบ้าน หากเป็นอย่างนั้น เวลาจดทะเบียนก็ต้องใช้ตามนี้ แต่ปัจจุบันเราเอาตรงนี้มาตีความว่าจดทะเบียนในค่ายทหาร ซึ่งเป็นคำพูดที่เอาไว้เหน็บแนมกันมากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าบ้านพักข้าราชการ นำมาเป็นที่ตั้งบริษัทได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ พูดตรงๆ ไม่มีอะไรห้าม ลองคิดว่าเป็นบ้านเช่าก็ได้ ไปอาศัยเขาอยู่และขอบ้านนั้นเป็นที่ตั้งบริษัท มันก็ทำได้ และถ้ามันเป็นของข้าราชการ มันก็ไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่าโดยหลักการหรือความเหมาะสมแล้วก็ไม่ควรทำเช่นนั้นใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเทศไทยมีอะไรที่โดยหลักการไม่น่าทำมีอีกเยอะ แต่ก็ทำ

“ศอตช.”ยังไม่มีคดีลูกบิ๊กติ๊ก
ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. กล่าวกรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเสนอให้ตรวจสอบครอบครัวของพล.อ.ปรีชา ว่า เรื่องดังกล่าวขณะนี้ยังไม่ถึง ศอตช. ต้องเข้าใจ ศอตช.เป็นหน่วยงานบูรณาการ ถ้าหน่วยงานใน ศอตช.ไม่ว่าจะเป็น สตง. ป.ป.ช. หรือป.ป.ท. สามารถรับเรื่องและตรวจสอบได้เองก็จะจบ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาสู่ระบบการทำงานแบบบูรณาการที่ ศอตช.

ประธาน ศอตช.กล่าวว่า อยู่ที่หน่วยต่างๆ ว่าเขาจะเอาเข้ามาที่ศูนย์หรือไม่ ตนไม่มีหน้าที่ไปบังคับ เราไม่ควรไปก้าวก่ายงานเขา จึงขอให้รอเวลา และถ้าวันไหนเขาส่งเรื่องนี้มาให้ ศอตช.ตนก็จะเรียนให้ทุกคนทราบ แต่ท้ายสุดถ้าจะใช้ศูนย์บูรณาการ ใช้อำนาจทางวินัยและการปกครองตนก็เชื่อมกับรัฐบาลได้ เพราะ ศอตช.เป็นเรื่องของรัฐบาลเพื่อออกมาตรา 44 ให้เขา ซึ่งเขาก็เสนอมา ส่วนกรณีที่มีคนมาร้องเรียนให้ ศอตช.ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นสามารถทำได้ แต่ร้องแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอามาดำเนินการตรวจสอบทันที จะส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบก่อน

ทภ. 3 เผยบ.ลูกติ๊กได้งานแค่ 5%
แหล่งข่าวจากกองทัพภาค 3 กล่าวถึงกรณีลูกชายของพล.อ.ปรีชา จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยใช้ที่อยู่ในค่ายทหารว่า ตรวจสอบทราบพบใช้ที่อยู่บ้านพักของพล.อ.ปรีชา สมัยอยู่กองทัพภาค 3 และอยู่ระหว่างย้ายที่อยู่บริษัทไปที่บ้านใหม่ แต่มีเรื่องเกิดขึ้นก่อน ทั้งนี้ในระเบียบทางราชการไม่ได้ระบุหรือห้ามไว้
แหล่งข่าวระบุอีกว่า ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทของลูกชายพล.อ.ปรีชา ได้โครงการใหญ่ของกองทัพภาค 3 มาดำเนินการ ทั้งที่เป็นบริษัทใหม่และจดทะเบียนมูลค่าไม่สูงมากนั้น โครงการก่อสร้างต่างๆ ของกองทัพภาค 3 ในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมามี 80 กว่าโครงการ บริษัทลูกชายพล.อ.ปรีชาได้งาน 4 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 5 ถือว่าไม่มากกว่าคนอื่น และชนะด้วยการประกวดราคาและเคาะราคาผ่านระบบอินเตอร์เน็ต คิดว่าทุกอย่างตรวจสอบได้ และที่ผ่านมาป.ป.ช.ยังไม่ได้ ติดต่อขอข้อมูลเข้ามา

“ต้านคอร์รัปชั่น”จี้สางปมบิ๊กติ๊ก
วันเดียวกันนี้ เพจเฟซบุ๊ก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) มีความเห็นต่อกรณีข่าวของครอบครัวพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่อาจนำไปสู่ปัญหาความเชื่อมั่นในความซื่อตรงของผู้นำประเทศ ดังนี้ 1.จะต้องมีการตรวจสอบติดตามให้ข้อเท็จจริงปรากฏอย่างชัดเจนและรวดเร็ว ตรวจสอบตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือครอบงำอย่างเด็ดขาด ทุกอย่างต้องโปร่งใส อยู่ในสายตาของสาธารณชน
2.เพื่อป้องกันมิให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ กำหนดนโยบายเรื่องประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ เพราะระบบอุปถัมภ์ หรือการเอื้อประโยชน์ต่อคนใกล้ชิดเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ร้ายแรงของการทุจริต ซึ่งต้องทำให้หมดไปจากประเทศ ต้องช่วยกันต่อต้านไม่ให้ค่านิยมอุปถัมภ์เป็นข้ออ้างทุจริต
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นและชื่นชมในความสุจริตซื่อตรงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำประเทศที่มีนโยบายชัดเจนและมีผลงานปราบปรามลงโทษผู้ทุจริต เราเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้จะได้รับการตรวจสอบ สะสางอย่างโปร่งใสตามกระบวนการยุติธรรม และจะกำหนดบรรทัดฐานใหม่ของประเทศ ไทยต่อไปในภายหน้า

พท.ติงวิษณุ-รบ.ชี้นำคดี”ปู”
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขา ธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า มีข้อสังเกตกรณีนายวิษณุระบุเรื่องการเรียกค่าเสียหาย จากโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทุจริต แต่ละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการนั้น ผู้มีอำนาจชี้ว่าผู้ใดทุจริตหรือละเว้นคือศาลยุติธรรม ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร หากศาลชี้ว่าทุจริตหรือละเว้นก็จะเป็นฐานความผิดในการเรียกค่าเสียหายต่อไป ซึ่งนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ให้ความเห็นในข้อกฎหมายว่าการเตือนของป.ป.ช.และ สตง.ไปยังรัฐบาลนั้น หากไม่ทำตามก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นไม่ได้นิ่งเฉย ละเลย จึงมีมาตรการรองรับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ แต่หากจะยกเลิกโครงการกลางคันจะรับผิดชอบต่อสภาอย่างไร
นายชวลิตกล่าวว่า หากศาลวินิจฉัยว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ละเว้น การที่รัฐบาลใช้คำสั่งทางปกครองจะขัดกับการพิจารณาคดีของศาลหรือไม่ และที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจยึดทรัพย์ล่วงหน้าก่อนมีคำสั่งทางปกครองอาจเป็นการชี้นำการลงนามในคำสั่งทางปกครองและก้าวล่วงอำนาจศาลหรือไม่

กรธ.สัมมนารับฟังพรรค
ด้านกรธ.จัดงานสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.” มีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วม 50 พรรค เกือบทั้งหมดเป็นพรรคเล็ก พรรคขนาดกลางมี นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคใหญ่มีนายธนา ชีรวินิจ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วม ไม่มีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย
นายนิกรกล่าวว่า พรรคต้องนำเสนอนโยบายได้ กกต.ไม่น่าจะมีความสามารถวินิจฉัยนโยบายจากพรรคได้ แนวทางเรื่องนโยบายต้องอย่าลงรายละเอียด ส่วนการยุบพรรคมีข้อสังเกตว่า จะกินความย้อนหลังหรือไม่ การยุบพรรคควรกำหนดให้ชัดเฉพาะฐานความผิดที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ ส่วนที่เหลือก็ไม่มีรายละเอียดกำหนดถึงมาตการช่วยเหลือพรรคจากกกต. แนวทางที่เสนอมา เช่น การกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียง ดูจะกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับพรรคมากกว่า

ศาลรธน.ตีกลับรัฐธรรมนูญ
ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เริ่มตั้งแต่ 10.00-16.00 น. ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ กรธ. ไปปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
โดย 1.ในประเด็นที่กรธ.กำหนดเป็นมาตรา 272 วรรคสอง ของร่างรัฐธรรมนูญว่ากรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ ตามบัญชีรายชื่อที่พรรคเสนอ ให้ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อยกเว้นได้นั้น เห็นว่าควรเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปด้วย สมตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติ ดังนั้นกรธ.แก้ไขให้ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรค คือสมาชิกรัฐสภา จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

สั่งกรธ.แก้ 2 ข้อ
2.ในประเด็นที่ กรธ. กำหนดเป็นมาตรา 272 วรรคหนึ่งว่า “ในระยะ 5 ปีแรก” นับแต่วันที่มีรัฐสภา ภายหลังการเลือกตั้งส.ส.ตามมาตรา 268 และวรรคสองบัญญัติว่า “ในวาระเริ่มแรก” เมื่อมีการเลือกส.ส.ตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคที่แจ้งไว้ ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา มีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรค เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสองต้องสอดคล้องกัน จึงกำหนดให้ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภา เป็น ผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เพื่อให้ได้นายกฯ เข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการในช่วงเวลาเดียวกัน และขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ สำเร็จบรรลุผลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและเจตนารมณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน ซึ่งที่ประชุมสมาชิกรัฐสภา จะต้องประกอบด้วยส.ส.และส.ว. ดังนั้นกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรค 2 คือ ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ

“ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติ การกำหนดเวลาและวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงถือเป็นสาระสำคัญของผลการออกเสียงประชามติ จึงจำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้อง กรธ.ต้องไปดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำในคำปรารภให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว” นายพิมลกล่าว

ให้สว.โหวตงดนายกฯพรรคได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง ที่ส่งให้กรธ.ในวันนี้ โดยมีทั้งสิ้น 19 หน้า ระบุเหตุผลการปรับแก้ว่า การเสนอขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีของพรรค แม้ไม่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบตัวบุคคล ผู้จะเป็น นายกฯ ตามถ้อยคำในประเด็นคำถามพ่วงก็ตาม แต่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญผลการออกเสียงประชามติ จำต้องแก้ไขให้สอดคล้องกันทุกส่วนทุกขั้นตอน รวมถึงขั้นตอนการเสนอขอยกเว้นดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลเห็นว่า การกำหนดให้ส.ส.เสนอขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อ นายกฯ จากบัญชีพรรค โดยอาศัยเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเท่าที่มีอยู่ หากรวบรวมรายชื่อไม่ถึงจำนวนที่กำหนด ย่อมส่งผลกระทบต่อความราบรื่นในกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุผลตามผลการออกเสียงประชามติในประเด็นคำถามพ่วงร่างรัฐธรรม นูญมาตรา 272 วรรคสองที่มุ่งให้เป็นทางออกกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯได้ จึงจำเป็นให้ส.ว.ร่วมเป็นผู้เสนอขอยกเว้นดังกล่าวไว้ด้วย
ส่วนกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลา ตามร่างรัฐธรรมนูญ 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลให้แก้ไขนั้น การเขียนบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวของกรธ. อาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งได้ว่าหมายถึงรัฐสภาชุดใดแน่ อาจทำให้เข้าใจผิดว่า เริ่มนับเวลาของรัฐสภาจากการเริ่มจากความเป็นส.ส.เท่านั้น ส่วนที่กรธ.บัญญัติคำว่า “ในวาระเริ่มแรก” เมื่อมีการเลือกส.ส. อาจทำให้เข้าใจว่าหมายถึงเลือกตั้งส.ส.ครั้งแรกเท่านั้น ไม่สามารถนำการเสนอขอยกเว้นการเลือก นายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองมาใช้ได้อีก หากเกิดกรณีนายกฯต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ แล้วต้องให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกฯใหม่ในระหว่าง 5 ปีแรก ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่ง

มีชัยขอ 15 วันตีความคำวินิจฉัย
ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวถึงคำวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ส.ว. มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯได้ด้วย ก็ต้องปรับแก้ตามนั้น ซึ่งศาลไม่ได้บอกแนวทางปรับแก้ เพียงแต่บอกให้แก้โดยมีผล 2 ข้อคือ 1.ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากผู้อยู่บัญชีรายชื่อ คือสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา
นายมีชัยกล่าวว่า 2.กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรม นูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตรงกับสิ่งที่กรธ.เขียนไป แต่ศาลบอกว่า เขียนไม่ชัด จึงต้องนำกลับมาเขียนให้ชัด ซึ่งข้อแรกยังไม่ชัดเจน ที่บอกว่าผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อคือ สมาชิกรัฐสภา เท่ากับ ส.ว.มีสิทธิเสนอยกเว้นได้ แต่มีสิทธิเสนอชื่อด้วยหรือไม่ใน 2 ข้อนี้ยังไม่เจอ
“ตอนแรกที่ผมอ่านเข้าใจผิด ความจริงเขาเขียนเพียงเท่านี้ อย่างไรก็ตาม กรธ.คงต้อง นั่งอ่านและตีความกันอีก ซึ่งภายใน 15 วันต้องชัดเจน” นายมีชัยกล่าว

ยันส.ว.ไม่สิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ
เมื่อถามว่า ส.ว.มีอำนาจแค่เสนอยกเว้นบัญชีรายชื่อนายกฯ หรือมีอำนาจเสนอชื่อนายกฯได้ด้วย นายมีชัยกล่าวว่า ก็มีแค่ 2 ข้อที่กล่าวมา ยังไม่รู้ว่ายังไง ต้องขอกลับไปอ่านก่อน หากสรุปตามที่เขียนมา 2 ข้อ ก็เพียงแต่มีสิทธิแค่เข้าชื่อยกเว้นการใช้บัญชีรายชื่อพรรค เพื่อเปิดประชุมรัฐสภา จากเดิมต้องใช้เสียง ส.ส. 250 เสียง โดยศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไขโดยใช้เสียงของรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง จาก 750 เสียงได้ ทั้งนี้ภายหลัง 15 วัน เมื่อกรธ.ปรับแก้เสร็จตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่ได้กำหนดไว้ สามารถส่งนายกฯได้ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายมีชัย ให้สัมภาษณ์นั้น นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรธ. คนที่ 1 ได้ต่อสายโทรศัพท์ไปยังบุคคลในศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสอบถามความชัดเจนของคำวินิจฉัย และแจ้งกับนาย มีชัย ยืนยันว่า ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภาได้

จากนั้น นายสุพจน์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตามคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตนสอบถามจากคนทางศาลรัฐธรรมนูญ คือให้สิทธิ ส.ว. เสนอการยกเว้นการใช้บัญชีนายกฯของพรรค และส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ “ผมมองว่าคำวินิจฉัยนี้ออกมาแฟร์ดี”
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปท. กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า จากนี้ส.ส.และส.ว.จะต้องช่วยกันหาคนเป็นนายกฯ ถ้าส.ส.รวมกันได้ 375 เสียง ก็มีนายกฯได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ร่วมกันก็ได้นายกฯของเขาเอง แต่ถ้าสองพรรคร่วมกันไม่ได้เชื่อเหลือเกินว่าอาจจะได้นายกฯคนนอกได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 5/2559 ประจำเดือนก.ย.
ก่อนการประชุมพล.อ.ประยุทธ์ได้เชิญปลัดกระทรวงที่ครบเกษียณอายุราชการในปีนี้ 15 ราย ถ่ายรูปบนตึกไทยคู่ฟ้าเป็นที่ระลึก อาทิ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดประจำสำนักนายกฯ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายอภิชาติ ชินวันโน ปลัดกระทรวงต่างประเทศ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

จากนั้นทั้งหมดได้เข้าร่วมประชุม โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณข้าราชการที่ร่วมทำงานมาอย่างดีและให้กำลังใจทุกคน เพราะทุกคนมาร่วมประชุมด้วยตนเองทุกครั้ง และครั้งนี้ก็เช่นกัน ตลอด 2 ปี ย่างเข้าปีที่ 3 ได้รับความร่วมมือมาตลอด จึงขอให้ทุกคนร่วมกันปฏิรูปประเทศในห้วงเวลานี้ แต่ปัญหาของประเทศในทุกปัญหา ไม่ได้แก้ได้ภายในเวลาอันสั้น และไม่ได้แก้ง่ายเพราะมีความซับซ้อนด้วยกฎกติกาอีกมาก จึงอยากให้ทำงานร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ เพื่อเกียรติยศชื่อเสียงของทุกคน แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แม้แต่ตนเช่นกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมาภาพรวม 3 ปี ปัญหาคือการสร้างความเข้มแข็งให้ส่วนราชการในการบริหารงานให้สอดคล้องนโยบายรัฐบาล จากนั้นเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อขอบคุณด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน