ส.ส. รุมซัก หลักเกณฑ์ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ข้องใจ “นาฬิกาหรูยืมเพื่อน” ต้องแจ้งหรือไม่ ส.ส.มีสิทธิ์ตั้งลูก-เมีย เป็นผู้ช่วย ได้ แต่เสี่ยงครหา

วันที่ 20 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาชั่วคราว อาคารทีโอที ว่าในช่วงบ่ายของการสัมมนาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีการพูดถึงบทบาทหน้าที่ของ ส.ส. กับการสนับสนุนดำเนินงานและการให้บริการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

โดยสำนักงานเลขาฯ เชิญ นายวรัญ มณีศรี เจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาชี้แจงทำความเข้าใจกรณีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. โดยอธิบายถึงหลักเกณฑ์ว่ามีทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่ส.ส.ต้องยื่นแสดงต่อป.ป.ช.

ภายหลังรับฟังหลักเกณฑ์ ส.ส.หลายคนได้ซักถามความชัดเจนรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ กรณีมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินหลายคนจะแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.อย่างไร กรณีทรัพย์สินอยู่ระหว่างคำพิพากษาของศาลจะต้องแจ้งหรือไม่ โดยตัวแทนป.ป.ช.ชี้แจงว่า กรณีทรัพย์สินอยู่ระหว่างรอคำพิพากษา เช่น มรดก ควรรอให้มีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดก่อน จากนั้นจึงยื่นแสดงต่อป.ป.ช.

ยืมนาฬิกาเพื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนี้ได้มีส.ส.พรรคเสรีรวมไทย ลุกขึ้นซักถามกรณีรายการทรัพย์สินที่ยืมมาจากเพื่อน คือ นาฬิกาหรูราคาแพงจะต้องยื่นต่อป.ป.ช.หรือไม่ ทำให้ส.ส.ที่เข้าร่วมสัมมนาแสดงความสนใจต่อคำถามดังกล่าวอย่างมาก โดยตัวแทนป.ป.ช.กล่าวตอบว่า ถ้าต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจอาจจะยื่นต่อ ป.ป.ช.ได้

ทำให้ส.ส.คนดังกล่าวซักถามเพิ่มว่า ขอให้พูดให้ชัดเจนว่ากรณีการยืมจะต้องยื่นแสดงด้วยหรือไม่ เพราะการใช้คำว่า “อาจจะ” เป็นความคลุมเครือว่าจะต้องยื่นหรือไม่ ในที่สุดเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ยืนยันว่า กรณีการยืมทรัพย์สินจากเพื่อน ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.

จากนั้นเป็นกาารชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของสมาชิก โดยนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนฯ อธิบายการเข้าใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย ว่า เมื่ออาคารสร้างเสร็จสามารถเข้าใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องถือฤกษ์งามยามดี นอกจากนั้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จะมีห้องทำงานส่วนตัวให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน เป็นห้องส่วนตัว 1 คนต่อ 1 ห้อง

ขาดประชุม-ผู้ช่วยส.ส.

จากนั้นมีการสอบถามถึงกรณีการแต่งตั้งที่ปรึกษา, ผู้ชำนาญการ และผู้เชี่ยวชาญประจำตัวส.ส. รวมถึงผู้ช่วยส.ส.ว่าสามารถแต่งตั้งบุตร หรือคู่สมรส มาดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ นายสรศักดิ์ ชี้แจงว่า ไม่มีข้อห้ามทางกฎหมาย สามารถแต่งตั้งได้ เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าว อย่างเช่นผู้ช่วยส.ส.อาจจำเป็นต้องใช้คนที่ใกล้ชิด และไว้ใจได้มาช่วยทำงาน แต่มีความเสี่ยงว่าถูกครหาว่าให้คนใกล้ชิดมาดำรงตำแหน่ง แต่ในทางกฎหมายสามารถทำได้

ส่วนเรื่องการลาประชุมหรือขาดประชุม ส.ส.ต้องทำหนังสือลาประชุมยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อป้องกันการขาดการประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมาชิกภาพส.ส.

อย่างไรก็ตาม กรณีของน.ส.จุมพิตา จันทรขจร ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ ที่ป่วยและยังไม่ได้เข้ารายงานตัวต่อสภาฯ รวมถึงไม่มีเอกสารลาประชุมนั้น เจ้าหน้าที่สภาฯ ชี้แจงว่าให้ทำหนังสือลาการประชุม กรณีไม่สามารถลงนามได้ สามารถใช้การพิมพ์ลายนิ้วมือและให้มีส.ส.รับรอง เพื่อไม่ให้เสียสิทธิประโยชน์และสมาชิกภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (12) กำหนด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน