“บิ๊กตู่” เปิดตัวแกรนด์โอเพนนิ่ง เวที Bloomberg ASEAN Business Summit – ABS หลังรับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ ขอบคุณคนไทยไว้วางใจให้กลับมาเป็นนายกฯอีกรรั้ว ลั่น เดินหน้าประเทศตามโรดแมป

เมื่อเวลา เวลา 09.00 น. วันที่ 21 มิ.ย. ที่โรงแรม Waldorf Astoria ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวปาฐกถาในการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 (The Fifth Bloomberg ASEAN Business Summit – ABS) เนื่องในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 หัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN” ถือเป็นเวทีแรกของพล.อ.ประยุทธ์ในการเปิดตัวและแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีนักลงทุนต่างประเทศ หลังรับโปรด้กล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่ง ว่า ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 และนำเสนอความคิดเห็นในหัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN” ที่สำนักข่าว Bloomberg จัดขึ้น ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและสำคัญยิ่งต่อประเทศไทยและอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้ และจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ สำหรับวิสัยทัศน์สำหรับประเทศไทย นั้น ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในหลายด้าน ที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าพร้อมกับภูมิภาค

“ซึ่งในปัจจุบัน เหตุการณ์ในประเทศมีเสถียรภาพ โดยไทยได้ก้าวพ้นสถานการณ์ความไม่สงบ มีความปรองดอง และสามารถแก้ปัญหาคั่งค้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น การประมงผิดกฎหมาย การปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เป็นต้น

ที่สำคัญต่อประชาชนชาวไทยมากก็คือ การที่เราได้ผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามโรดแมปที่กำหนด ซึ่งช่วยให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ และผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อ และจะพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อสืบสานนโยบายพัฒนาประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” พบ.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา ดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ของไทยบ่งชี้ว่า สถานการณ์ในประเทศดีขึ้นมาก เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 ปี มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งสูงที่สูดในรอบ 6 ปี เช่นกัน สำหรับภาคการท่องเที่ยวก็เติบโตได้ต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยถึง 38 ล้านคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านคนจากปีก่อนหน้า และปีนี้คาดว่าเราจะได้ตอนรับนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน ซึ่งจะเป็นอีกแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ

นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากการเกิน ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเป็นอันดับ 12 ของโลก ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญในการดูแลขั้นตอนกระบวนการอนุญาตต่างๆ รวมถึงกฎระเบียบในการทำธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม

ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ที่ในการจัดอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจในปี 2561 ของธนาคารโลก ประเทศไทยปรับดีขึ้นมาอยู่อันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 19 อันดับ และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน และเพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน ในช่วงที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีได้ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและการเติบโตของประเทศ ไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย

ซึ่งระยะแรก เราได้เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ EEC ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการผลิต การค้า และการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการไทยให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลกได้ดีขึ้น โดยรัฐบาลเตรียมที่จะใช้รูปแบบการพัฒนานี้ ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นของประเทศด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อให้นโยบายในการพัฒนาประเทศมีความต่อเนื่อง ประเทศไทยได้กำหนด “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการทำงานและนำพาให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” ที่เป็นเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งหน่วยงานต่างๆ มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงานเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม และมีนโยบายสนับสนุนที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า แม้ผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยจะลดลงต่อเนื่อง จากร้อยละ 57.07 ของประชากร ในปี 2533 เหลือร้อยละ 7.87 ในปี 2560 แต่ไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก เราจึงต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนา เพื่อให้การเติบโตของประเทศมีความยั่งยืนและครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร

“การเลือกตั้งที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่จุดยืนที่จะสนับสนุนกระบวนการของอาเซียนให้ก้าวหน้าต่อไปจะคงเดิม เพราะสมาชิกอาเซียนตระหนักดีว่า อาเซียนที่แข็งแกร่ง คือผลประโยชน์แห่งชาติ ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน และในการรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้ ไทยได้นำเสนอแนวคิดหลัก คือ ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับทั้งมิตรประเทศและประชาคมระหว่างประเทศ

ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน จะต้องพัฒนาความร่วมมือภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่อนาคตมากขึ้น เพื่อให้พร้อมที่จะเชื่อมโยงระหว่างกันภายในประชาคมและกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคมากขึ้น ให้เป็นอาเซียนที่ไร้รอยต่อ ขับเคลื่อนประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความเท่าเทียม เคารพในความหลากหลาย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน