“ธนาธร-ปิยบุตร” เสวนา 24 มิถุนา 2475 ชูอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน สถาปนา “รัฐธรรมนูญนิยม – ระบบรัฐสภา – ยุติรัฐราชการรวมศูนย์”

วันที่ 24 มิ.ย. ที่ห้องประชุมวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนาคตใหม่ พร้อมด้วยปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค รวมถึง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ อีกคับคั่งร่วมกิจกรรมเสวนาหัวข้อ 24 มิถุนา วันประชาธิปไตย และการคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น ท่ามกลางประชาชน นักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก เข้าร่วมจนแน่นห้องประชุม รวมแล้วกว่าพันคน

นายธนาธรกล่าวถึงความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นพลเมืองที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ในขณะเดียวกันก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

ดังนั้นพลเมืองต้องเข้มแข็ง มีศักยภาพ หากแต่ตลอด 87 ปี ที่ผ่านมา การสถาปนาอำนาจของพลเมืองยังไม่จบ ยังมีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มีสิทธิ์เสียงเหนือกว่าประชาชนพลเรือนคนอื่น ยังมีเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ยังถูกคุกคาม ถูกละเมิด นี่คือผลจากการที่เราไม่ช่วยกันปกป้องการอภิวัฒน์ หน้าที่พลเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งคือต่อต้านการรัฐประหาร และปกปกป้องประชาธิปไตย แต่เหมือนที่ผ่านมาเราหลงลืมกันไป

อยากจะเชิญชวนให้ทุกคนกลับมาให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อพูดอย่างนี้ ผมเองก็จะโดนคำกล่าวหา โดนใส่ร้ายป้ายสี เรื่องการสานต่อภารกิจที่ยังไม่สำเร็จของคณะราษฎร ขอยืนยันอีกครั้งว่า ภารกิจที่ยังทำไม่สำเร็จในวันนี้ และเราพรรคอนาคตใหม่จะสานต่อนั่นคือ การสร้างประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ภารกิจ 2475 ไม่ใช่ล้มล้างสถาบันอย่างที่เราถูกใส่ร้าย เราเชื่อมั่นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงสถาพร เมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็ง วันนี้ เรายังมีความหวังในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น เราเห็นผู้คนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มีการติดตามไลฟ์การประชุมสภาหลายล้านคน

“ผมคิดว่า การตื่นตัวมาถึงจุดที่พูดได้ว่าเราสนใจการเมืองที่เนื้อหา นั่นเพราะอำนาจเป็นของเรา อยากให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ช่วยกันฟื้นฟูวัฒนธรรมอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ร่วมกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง” นายธนาธร กล่าว

3 หัวใจหลักประชาธิปไตย

ด้านนายปิยบุตร กล่าวถึงบทบาทสำคัญของคณะราษฎร โดยเฉพาะการกระจายอำนาจที่สัมพันธ์กับการปฏิวัติ 2475 ว่าคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้สถาปนาหลักการรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยมีหลัก 6 ประการ ได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา คือภารกิจสำคัญที่จะดำเนินการ

อย่างไรก็ตามวันนี้ยังมี 3 เรื่องใหญ่ที่เป็นหัวใจ เป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ยังไม่ลงหลักปักฐานในประเทศ

1.หลักรัฐธรรมนูญนิยม เริ่มแพร่หลายหลังการปฏิวัติอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่มีสาระสำคัญ คือการจำกัดอำนาจผู้ปกครอง ประชาชนเป็นผู้ก่อตั้ง เนื้อหาพูดถึงสถาบันการเมืองต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการแบ่งแยกอำนาจ การประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน ทุกสถาบันการเมืองมีอำนาจได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด

รัฐไม่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักการนี้ดำรงอยู่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่มาสะดุดหยุดลงหลังการรัฐประหาร 2490 และรัฐธรรมนูญถูกทำให้กลายมาเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจจนทุกวันนี้

2.หลักระบบรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่พูดคุยของผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา จากเสียงข้างมากในสภา และรัฐบาลก็อยู่ได้เพราะผู้แทนให้ความไว้วางใจ เราต้องทำให้ภาพลักษณ์ของระบบรัฐสภาดีขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราถูกทำให้มองว่าภาพลักษณ์นักการเมืองมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง ความวุ่นวาย

การรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะนักการเมืองในสภานั้นไม่ได้เรื่อง เขาทำลายความชอบธรรมของนักการเมือง ทั้งที่เป็นอาชีพเดียวที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

3. หลักการกระจายอำนาจ คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วมีการออกกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องท้องถิ่น นั่นคือ พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2476 ซึ่งอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ผลักดัน เป็นต้นแบบเรื่องยุติการรวมศูนย์อำนาจ โดยให้คนท้องถิ่นเลือกผู้บริหารด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตามก็ทำไม่สำเร็จ

สุดท้ายถูกส่วนกลาง ถูกกระทรวงมหาดไทยดึงอำนาจกลับ เพิ่งจะมาเกิดขึ้นอีกครั้งหลังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งอำนาจอยูกับท้องถิ่นได้อีกสักพักก็ถูกดึงกลับอีก และคราวนี้เหมือนจะถอยหลัง โดยรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด

ขอย้ำอีกครั้งว่า อำนาจแต่เดิมนั้นอยู่ที่เรา เขาเอาไป ต้องยุติการรวมศูนย์อำนาจได้แล้ว พรรคอนาคตใหม่ จึงใช้ชื่อนโยบายในการหาเสียงว่า ยุติระบบราชการรวมศูนย์ ที่ต้องการจะให้อำนาจคืนกลับไปอยู่ที่ท้องถิ่นจริงๆ ด้วยหลักการพื้นฐานที่ว่า

1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง

2.ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการบริการสาธารณะในพื้นที่

3.มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการงบประมาณ

4.มีบุคลากรท้องถิ่นเป็นของตัวเอง และ 5.ราชการส่วนกลางทำหน้าที่กำกับดูแลไม่ใช่การบังคับบัญชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน