“โรม” ระบุแผนปฏิรูปกฎหมาย เป็นโฆษณาชวนเชื่อ แต่ไม่สะท้อนความเป็นจริง กฎหมายส่วนใหญ่ถูกใช้ เป็นเครื่องมือ ของ คสช.

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่รัฐสภาชั่วคราว บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ที่ให้ ครม.แจ้งความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบ ทุก 3 เดือน

โดยร่วมอภิปรายด้านการปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการปราบปรามการทุจริต โดยระบุว่า จากการอ่านรายงานความคืบหน้าพบว่ามีความสวยหรูดูดี แต่ไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

โดยในเรื่องกฎหมาย รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคหลายฉบับ แต่ทว่า ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการออกประกาศและคำสั่งต่างๆมากมาย เช่น การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีเนื้อหาปิดปากประชาชนมากขึ้น, การออก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่สร้างกฎเกณฑ์และความหวาดกลัวให้กับผู้ต้องการแสดงออกทางการเมือง, การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ให้ทหารค้นเคหะสถานหรือควบคุมตัวได้ 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล

“นอกจากนี้ยังมีการออกคำสั่งอีกหลายคำสั่งที่มีผลกระทบในด้านอื่นๆ เช่น การยกเว้นกฎหมายผังเมืองเพื่ออนุญาตให้สร้างโรงงานบางประเภท ลัดขั้นตอนประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, การให้อำนาจ กสทช.ควบคุมเนื้อหาและสั่งลงโทษสื่อมวลชน

การออกคำสั่งยืดหนี้ค่ายมือถือแบบไม่มีดอกเบี้ยนานถึง 10 ปี, การออกคำสั่งทวงคืนผืนป่า จนมีประชาชนชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งๆ ที่อาศัยอยู่มาก่อนจะมีอุทยานแห่งชาติ ไม่นับรวมการออกคำสั่งปิดเหมืองทองที่ สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ ถ้าไม่ออกโดย พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกโดย สนช.ซึ่งเป็นสภาตรายาง แต่ไม่มีเรื่องเหล่านี้ในรายงานฉบับนี้เลย” นายรังสิมันต์ กล่าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อไปว่า ในส่วนความยุติธรรม แม้ในรายงานจะระบุถึงความคืบหน้าด้านการปรับปรุงให้สถานีตำรวจต้องรับแจ้งความทุกท้องที่, ห้ามนำผู้ต้องหาออกแถลงข่าว, ให้มีทนายความประจำทุกสถานีตำรวจ, ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ แต่กลับไม่มีการพูดถึงคดีในศาลทหาร ที่จับกุมพิจารณาดีและพิพากษาเองโดยทหารทั้งหมดเลย

วันนี้จากข้อมูลของไอลอว์ ยังคงมีคดีพิจารณาอยู่ในศาลทหารถึง 1,723 คดี และยังมีปัญหาจากกระบวนการยุติธรรมภายใต้ คสช.อีกจำนวนมาก เราจะทำอย่างไรกับประชาชนที่ต้องกลายเป็นจำเลยจากกฎหมายของ คสช. เช่น ชาวบ้านเทพาที่ต้องเป็นจำเลยจากการคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือการที่นักกิจกรรมที่อยู่ตรงข้าม คสช. ถูกทำร้ายร่างกายอย่างเป็นระบบ และการที่ชนกลุ่มน้อยที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมหน้ากล้องวงจรปิดที่ภาพหายไป

“ปัญหากระบวนการยุติรรมไทยคือการใช้เป็นเครื่องมือจากผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้เล่นงานกลุ่มตรงข้าม รายงานฉบับนี้จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร นี่ไม่ใช่การปฏิรูป เป็นแค่การปรับปรุง ปรุงแต่งเท่านั้น ในฐานะนักกฎหมายเราต่างรู้ว่าการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับ แต่รายงานนี้เอามาโฆษณาว่าเป็นการปฏิรูปแล้ว อย่าเอาความไม่สะดวกของราชการมาบอกว่านี่เป็นความสำเร็จแล้ว ปล่อยให้คนจำนวนมากต้องถูกขังในวันเสาร์ อาทิตย์ ตอนที่ท่านอยู่บ้านดูทีวีหรือทำอย่างอื่น นี่ไม่ใช่การปฏิรูป

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แม้จะมีการโฆษณาว่าต้องการให้ประชาชนรังเกียจการทุจริต แต่เมื่อมีประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการตรวจสอบการทุจริต กลับถูกจับกุมดำเนินคดี เช่น ในกรณีการเดินทางไปตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ด้วยรถไฟ

นี่ยังไม่รวมถึงการตีแผ่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา กรณีตั้งธุรกิจในค่ายทหาร ที่ไม่มีการดำเนินการใดๆต่อ หรือกรณีนาฬิกา 22 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ไม่สามารถทำอะไรต่อได้ มากไปกว่านั้น เราจะพบว่าการตรวจสอบคอร์รัปชั่นโดยองค์กรภาครัฐ ไม่ว่าคดีไหนจะออกมามีลักษณะเหมือนกันหมด คือโปร่งใส ไม่มีทุจริต ในสภาวะที่ คสช.ออกมาให้คุณให้โทษกับองค์กรตรวจสอบเหล่านี้ได้หมด แล้วทุกวันนี้หลายคนก็ได้เป็นส.ว.กันถ้วนหน้า

“ถ้าการปฏิรูปเหมือนการรีโนเวทบ้าน แต่บ้านเรามีขยะเน่าเหม็นเต็มไปหมด การคุยว่าจะเอาของหรูๆเฟอร์นิเจอร์สวยๆ มาลง แต่ไม่คิดจะอุดรุรั่วบนหลังคา เราจะเรียกว่านี่เป็นการรีโนเวทได้อย่างไร เช่นเดียวกับการปฏิรูปด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ถ้าเราไม่จัดการกับสิ่งที่ คสช.ทำมาในอดีต เราจะเรียกมันว่าการปฏิรูปไม่ได้เลย” นายรังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน