โป๊ะแตก! พรรคพลังประชารัฐ ยื่นร้องฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อ เองไม่ได้ ต้องผ่าน “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” เท่านั้น

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นายทศพล เพ็งส้ม ในฐานะ หัวหน้าทีมต่อสู้คดีกรณี 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ถูกร้องกรณีถือหุ้นสื่อ เปิดเผยถึงการยื่นคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่เข้าข่ายเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อันขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จำนวน 33 คน ว่า

คณะทำงานฯ จะยื่นคำร้องผ่าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐถูกร้อง เพราะหากไปยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรับเรื่องไว้พิจารณา อาจถูกเปรียบเทียบกับกรณีพรรคอนาคตใหม่ ร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติส.ส.พรรคพลังประชารัฐได้ และอาจถูกวิจารณ์ได้ว่ามีสองมาตรฐาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ช่วงเช้าวันเดียวกัน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย นายทศพล เพ็งส้ม แถลงว่า วันนี้ (27 มิ.ย.) ในนามบุคคลจะเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื่นคำร้องให้วินิจฉัย ส.ส. 33 คนของพรรคฝ่ายค้าน กรณีถือหุ้นสื่อ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

แบ่งเป็น พรรคอนาคตใหม่ 21 คน พรรคเพื่อไทย 4 คน พรรคเพื่อชาติ 4 พรรคเสรีรวมไทย 3 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน ว่าขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส.หรือไม่ เพราะตรวจสอบพบว่าได้จดบริคณห์สนธิบริษัท มีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งในการประกอบกิจการสื่อ

เมื่อถามว่าเหตุใดไม่ยื่นผ่านช่องทางประธานสภาผู้แทนราษฎร นายทศพล กล่าวว่า เกรงจะเกิดความล่าช้า เพราะต้องทำรายชื่อตรวจสอบอีกครั้ง รวมถึงต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีการสิ้นสุดสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติ
ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง : ประธานสภาผู้แทนราษฎร / ประธานวุฒิสภา / คณะกรรมการ
การเลือกตั้ง (กกต.)

หลักเกณฑ์และวิธีการ

๑. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้น สิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๑ (๓) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) หรือ (๑๒) หรือ มาตรา ๑๑๑ (๓) (๔) (๕) หรือ (๗) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้น ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

๒. คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมีความเห็นว่า สมาชิกภาพ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ โดยสามารถให้ส่งเรื่องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยได้ด้วย


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน