ฝ่ายค้าน ขู่ยื่นร้อง ป.ป.ช.เอาผิดประธานสภาฯ ผิด ม.157 “ละเว้นปฏิบัติหน้าที่” บี้ทบทวนบรรจุญัตติตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว.

วันที่ 27 มิ.ย. ที่อาคารทีโอที สำนักงานใหญ่ 7 พรรค ฝ่ายค้าน ร่วมแถลงถึงกรณีประธานและรองประธานสภาผู้แทนฯ ไม่บรรจุญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบกระบวนการได้มาซึ่งส.ว. โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปถึง 3 ญัตติ แต่กลับถูกรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ไม่บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯ

โดยอธิบายว่า ส.ส.ไม่มีอำนาจตรวจสอบเรื่องนี้ จึงเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญไม่ได้

แต่สิ่งที่เราตั้งญัตติไปนั้นขอย้ำว่าไม่ได้ไปตรวจคุณสมบัติต้องห้ามของส.ว. เราทราบดีว่าคนที่จะตรวจสอบคือส.ว.ด้วยกันเอง แต่เราตรวจสอบการได้มาซึ่งส.ว. ทั้งนี้ ที่ 7 พรรคให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเพราะเป็นประเด็นปัญหาอยู่ในความสนใจของประชาชน และทุกฝ่ายก็พยายามหาคำตอบว่ากระบวนการสรรหาเป็นอย่างไรกันแน่

เราพยายามใช้ทุกช่องทาง แต่ถูกปิดหมด ดังนั้นเราในฐานะที่เป็นผู้แทนฯ ในเมื่อประเด็นปัญหานี้ยังเป็นที่สงสัยในสังคม จะให้สภาฯ นั่งเฉยๆ หรือ นอกจากนี้ที่รองประธานสภาฯ ไม่ยอมบรรจุโดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ

หากพูดถึง คสช. เขาเป็นองค์กรสูงสุด เป็นรัฏฐาธิปัตย์​ ไม่มีใครตรวจสอบได้นั้น ตนมองว่าความเห็นแบบนี้เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะนั่นหมายความว่าอะไรที่เกี่ยวกับ คสช. เราจะยุ่งกับเขาไม่ได้เลยหรือ

ทั้งที่อีกไม่กี่วัน คสช.ก็หมดอายุแล้ว สภาฯ เป็นองค์กรมาจากการเลือกตั้งเพียงองค์กรเดียว เราจำเป็นต้องใช้อำนาจที่ได้รับมาจากประชาชนในการทำงานตรวจสอบต่างๆ ตามที่ประชาชนสงสัย หากรองประธานสภาฯ พิจารณาเช่นนี้ เท่ากับลดอำนาจของสภาฯ ลง วันข้างหน้าสภาฯ อยากพิจารณาเรื่องประกาศคำสั่ง คสช. ทำได้หรือไม่

หรือสุดท้ายแล้วเมื่อ คสช.ไปแล้ว ผลผลิตการใช้อำนาจของเขายังอยู่ และเราไม่สามารถไปยุ่งอะไรกับเขาได้เลย แบบนี้เป็นอันตราย และอยากให้รองประธานสภาฯ ทบทวน เพราะหากไม่ทบทวนจะมีปัญหาในทางกฎหมาย และพรรคร่วมฝ่ายค้านจะสงวนเรื่องนี้ไว้พิจารณาในทางกฎหมายต่อไป

7 พรรคฝ่ายค้าน

เจตนาละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากประธานและรองประธานสภาฯ วินิจฉัยเช่นนี้ เป็นเจตนาที่จะละเมิดรัฐธรรมนูญ เพราะคสช.เป็นองค์กรที่เข้ามาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติจึงมีหน้าที่ตรวจสอบ เรายื่นญัตติผ่านไป 8 วันแล้ว ทั้งที่ข้อบังคับระบุว่าเมื่อสมาชิกยื่นญัตติด่วนให้กับประธาน ประธานต้องแจ้งผู้ยื่นภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันรับญัตติ

แต่นี่ยังไม่แจ้ง หาก 7 วัน ไม่แจ้ง เราอนุมานว่าญัตติเราเป็นญัตติด่วนแน่นอน แต่ผ่านไปแล้วกลับไม่มีบรรจุอยู่ในวาระ แปลว่าท่านเจตนาไม่บรรจุญัตติ และไม่แจ้งเจ้าของญัตติ

ดังนั้น จึงมีความผิดคือ 1.เจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย โดยป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ และ 2.เราจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนประธานและรองประธานสภาฯ ที่ใช้อำนาจหน้าที่ในส่วนนี้ และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถ้ามีความผิดปรากฏชัดแจ้ง จะผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่จำเป็นต้องทำ

ทั้งนี้ หากไม่ทบทวนบรรจุญัตติดังกล่าว เราจะไปยื่น ป.ป.ช.เพื่อให้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 1 ก.ค.

ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่มารวมตัวกันเพื่อแถลงเป็นทางการ เพราะประธานสภาฯ ไม่ยอมบรรจุวาระที่ฝ่ายค้านยื่นตรวจสอบที่มา ส.ว. และเรามาร่วมพิจารณากัน 7 พรรคว่าการไม่บรรจุวาระนี้ เป็นการกระทำผิดของประธานสภาฯ หลายประเด็น

เมื่อถามว่ากรณีนี้ดูเหมือนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เกรงใจผู้มีอำนาจใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า แน่นอน ดูจะเป็นการสมคบคิดกันระหว่างคสช. รัฐบาล และประธานสภาฯ เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้พวกเราตรวจสอบการได้มาซึ่ง ส.ว.

ขอย้ำว่าเราให้เวลาถึงก่อนวันที่ 1 ก.ค. ถ้าประธานสภาฯ ยังไม่ยอมบรรจุวาระ ทุกคนจะเดินทางไปขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ ถ้าดูแล้วมีความผิดทางอาญา ก็จะไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน