ทวี ให้จับตาศาลรธน. วินิจฉัยคุณสมบัติบิ๊กตู่ จุดเปลี่ยนสำคัญการเมืองไทย

ทวี / เมื่อวันที่ 6 ก.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กถึงปมร้อนคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีหัวหน้า คสช.เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่ และการถือหุ้นสื่อ ของส.ส.จะมีผลต่อการสร้างความเป็นธรรม หรือการดำรงความขัดแย้งในสังคมไทย !!

ประเด็นสำคัญทางการเมืองที่น่าติดตามในขณะนี้มีสองเรื่องใหญ่ที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจคือ

เรื่องแรก กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่เข้าชื่อจำนวน 110 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) เหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

เรื่องที่สอง เป็นกรณีที่มีการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลสิ้นสุดลง เพราะถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองกรณีดังกล่าว จะมีผลต่อการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดสันติภาพ หรือดำรงความขัดแย้งในสังคมไทย !! คงต้องติดตามกันต่อไป

ประเด็นที่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งหัวหน้าคสช. เป็น “เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่นั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ก็จะส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและตามรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวปี 2557 และฉบับปี 2560 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช.ไว้ จึงถือว่าตำแหน่งดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งหัวหน้า คสช. 75,590 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่มอีก 50,000 บาทต่อเดือน รวมเป็น 125,590 บาทต่อเดือน แยกต่างหากจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในกรณีนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้พิพากษาวางเป็นบรรทัดฐานไว้ก่อนแล้วว่า ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3578/2560 คดีที่อัยการสูงสุดฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ข้อหาขัดคำสั่งให้รายงานตัวตามประกาศ คสช. ซึ่งศาลได้วินิจฉัยสรุปว่าหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำสั่ง คสช.ให้จำเลยมารายงานตัว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน เป็นความผิดประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง

ในกรณีเดียวกัน ได้มีผู้ยื่นคำร้องให้ กกต.วินิจฉัยว่าการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะพล.อ.ประยุทธ์เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” แต่ กกต.ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว เพียงแต่พิจารณาแล้วเห็นว่าการประกาศชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีผู้ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องโดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่บุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของ กกต. จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

ด้วยความพยายามของส.ส.ฝ่ายค้าน นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคร่วมฝ่านค้าน จำนวน 110 คน ร่วมกันเข้าชื่อขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ว่าเป็น ”เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่นั้น และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ประธานสภาฯ ได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ถือเป็นความพยายามเพื่อต้องการให้ข้อสงสัยได้รับวินิจฉัยชี้ขาดโดยผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองไทย หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ที่บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ที่มีกรณีศาลฎีกาได้วางแนวคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ถึง 2 กรณี คือ

1. กรณี ส.ส.ถือหุ้นสื่อของ ส.ส.ว่าแค่เพียงผู้สมัครเข้ารับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือออกหนังสือพิมพ์จำหน่ายและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) แล้ว

2. กรณีหัวหน้า คสช. ที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าประกาศ คำสั่ง คสช. เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ที่อาจถือได้ว่าหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ที่เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

สิ่งที่ท้าทาย คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องทั้งสองกรณีข้างต้นไปในทางใด จะยึดบรรทัดฐานเดียวกับศาลฎีกาหรือจะวางแนวบรรทัดฐานใหม่ ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป

หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแตกต่างจากที่ศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ ศาลรัฐธรรมนูญคงต้องให้เหตุผลที่ทำให้สังคมยอมรับได้ แม้ผลของคำวินิจฉัยจะผูกพันทุกองค์กรรวมถึงศาลฎีกาด้วยก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็ถือเป็นศาลสูงสุดในระบบศาลยุติธรรม ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญคงจะได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ มีเหตุมีผลที่สังคมยอมรับได้

“ความเป็นธรรมทางกฎหมาย” และ “ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย” จะสร้างความศักดิ์สิทธิ์และได้รับการยอมต่อกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ และผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่เรื่องดังกล่าวก็อยู่ที่ดุลพินิจจองศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร

อ่านข่าว ‘ทวี’ จี้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘บิ๊กตู่’ ยก 4 ข้อ คุณสมบัตินายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน