“เสี่ยตือ”น้อมรับศาลฎีกานักการเมืองสั่งยึดบ้านราคา 16 ล้าน แต่ยืนยันไม่ได้ทุจริต “บิ๊กป้อม” ย้ำอีกไม่นั่ง นายกฯคนนอก โต้เพื่อไทยกล่าวหา “บิ๊กตู่” แทรกแซง-ชี้นำคดีข้าว ลั่นใครเคลื่อนไหวป่วนฟันแน่ “วิษณุ” ระบุคำสั่งปกครองให้ชดใช้คดีข้าวมีเวลา 10 ปี ถ้าไม่มีจ่ายก็ต้องฟ้องล้มละลาย แจงยิบคำวินิจฉัยศาลรธน.ปมคำถามพ่วง รับเจตนาให้มีนายกฯคนนอก ถ้าอึด-ทนอาจนั่งยาวถึง 8 ปี กรธ.มึนศาลตีความเกินคำขอ ชี้เข้าข่ายตุลาการภิวัฒน์ “มีชัย” เร่งแก้ร่างรธน. 3 ประเด็น ก่อนส่งนายกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ใน 30 วัน คาดปลายต.ค.-ต้นพ.ย. ประกาศใช้ ปชป.ปลื้มศาลวางหลักประชาธิป ไตยให้สิทธิเฉพาะส.ส.เสนอชื่อนายกฯ

“บิ๊กตู่”เตรียมถกเอเชียซัมมิต
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าปฏิบัติภารกิจที่ตึกไทยคู่ฟ้าโดยไม่มีภารกิจข้างนอกแต่อย่างใด เนื่องจากนายกฯใช้เวลาหารือและเตรียมความพร้อมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 (Asia Cooperation Dialogue-ACD Summit) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค. โดยนายกฯจะเข้าร่วมประชุมวันที่ 9-10 ต.ค.นี้

ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปประชุม รมว.กลาโหมอาเซียนและรมว.กลาโหมสหรัฐ ที่ฮาวาย สหรัฐ ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค.ว่า ในการประชุมจะหยิบยกประเด็นเรื่องความมั่นคงทางทะเลและปัญหาในทะเลจีนใต้มาหารือ ซึ่งเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ และจะหารืออีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงระหว่างกลาโหมอาเซียนกับสหรัฐ

“บิ๊กป้อม”ย้ำไม่นั่งนายกฯคนนอก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมด้านความมั่นคงที่สะท้อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ขยายผลจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐสมัยพิเศษที่ผ่านมา โดยจะประชุมด้านนโยบายความมั่นคงอย่างไม่เป็นทางการ ความร่วมมือทางทะเล และปัญหาทะเลจีนใต้ พร้อมชมการสาธิตและภารกิจของกองกำลังสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิกเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และป้องกันการเกิดเหตุการณ์ หรือความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ เป็นประโยชน์ต่อการขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวง กลาโหมสหรัฐกับกระทรวงกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคร่วมกัน

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงข่าวมีคนวิ่งเต้นขอเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ไม่มี จะมาวิ่งเต้นกับตนได้อย่างไร คนแต่งตั้งคือหัวหน้าคสช. ไม่ใช่ตน และขอย้ำว่าหากมีการเสนอชื่อตนเป็นนายกฯคนนอกตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ ก็จะไม่รับเด็ดขาด

ฮึ่ม!คนป่วนคดีจำนำข้าว
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หัวหน้าคสช.ยุติการแทรกแซงหรือชี้นำกระบวนการยุติ ธรรมในคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า พล.อ. ประยุทธ์จะไปแทรกแซงได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย พรรคเพื่อไทยคิดไปเอง นายกฯจะไปทำอะไรได้ ส่วนความเคลื่อน ไหวในช่วงพิจารณาคดีรับจำนำข้าวนั้น ตราบใดที่ตนยังอยู่ตรงนี้ จะดูแลเป็นพิเศษตลอดเวลา ใครที่ออกมาทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่สงบจะดำเนินการตามกฎหมายทุกเรื่อง

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคสช.กล่าวว่า ยืนยันว่าคดีเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวดำเนินการทุกอย่างตามกรอบกฎหมายและอำนาจหน้าที่ ไม่มีการชี้นำ กลั่นแกล้ง หรือเลือกปฏิบัติ เรื่องนี้สังคมจับตามองอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่มีอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้

ยันนายกฯไม่เคยแทรกแซง
พ.อ.ปิยพงศ์กล่าวว่า ส่วนที่พรรคเพื่อไทยมองว่าอำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคสช.อยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการนั้น ถือเป็นมุมมองของฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรา 44 ใช้บนหลักการ ความเหมาะสม และมีเหตุผล ไม่ใช่นึกอยากใช้ก็ใช้ ซึ่งมาตร การต่างๆ ที่ออกจากมาตรา 44 มีผลทำให้บ้านเมืองสงบสุขเรียบร้อย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ แต่ทำให้สังคมมีระเบียบ แก้ปัญหาติดขัดที่มีมายาวนาน ดูได้จากโพลของสำนักต่างๆ ระบุประชาชนพอใจต่อการดำเนินการของคสช. ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ดูแลประชาชนและบริหารราชการแผ่นดิน

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยพูดถึงกระบวน การยุติธรรมว่าถูกหัวหน้าคสช.แทรกแซง กังวลหรือไม่หากศาลตัดสินโครงการจำนำข้าว ในทางใดทางหนึ่ง อาจทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นศาล พ.อ.ปิยพงศ์กล่าวว่า หัวหน้าคสช.ไม่ได้แทรกแซง กระบวนการยุติธรรมดำเนินการโดยศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่หัวหน้าคสช.เป็นฝ่ายบริหาร ก็ทำงานในหน้าที่และความรับผิดชอบเต็มกำลังความสามารถ ไม่ได้ชี้นำใดๆ และเชื่อว่าประชาชนเข้าใจ

เพื่อไทยจี้อีกหยุดชี้นำ
ด้านพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ขอให้หัวหน้า คสช.เลิกชี้นำกระบวนการยุติธรรมว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลายครั้งเกี่ยวกับการดำเนินคดีและการเรียกให้รับผิดทางแพ่งกับผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจำนำข้าว มีลักษณะชี้นำการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และชี้นำการพิจารณาคดีของศาล และยังอาศัยมาตรา 44 พิพากษาคดี ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงขั้นตอนทางกฎหมายปกติ และคุ้มครองความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุดได้สัมภาษณ์กรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ระบุว่าก็รอจากตอนที่ตัวเองออกจากคุกมาก่อนแล้วกัน ไปเอาคดีตัวเองให้จบก่อนมาฟ้องนั้น พรรคเห็นว่าหัวหน้า คสช. เป็นผู้คุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ มีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 เหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ และเป็นหัวหน้ารัฐบาล การกระทำใดๆ ย่อมมีผลต่อการทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ

อย่าก้าวล่วงอำนาจศาล
แถลงการณ์ระบุว่า การพูดในลักษณะให้นายบุญทรงออกจากคุกมาก่อน ทั้งที่คดียังอยู่ในศาล อาจเกิดความเข้าใจว่าพูดชี้นำผลคดีไว้ล่วงหน้า นายบุญทรงจะต้องถูกศาลตัดสิน จำคุก ถือเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล ซึ่งต้องเป็นอิสระ ถูกต้อง เที่ยงธรรม เห็นได้ว่าการดำเนินการของหัวหน้า คสช.เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวมีลักษณะหวังผลไว้ล่วงหน้าว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกศาลพิพากษาให้จำคุก และต้องให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้ได้ ทั้งที่ควรเปลี่ยนให้กระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายปกติ และศาลมีอิสระในการพิพากษาคดี ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับบุคคล

เมื่อหัวหน้า คสช.อยู่ในฐานะที่จะใช้อำนาจให้มีผลทั้งทางนิติบัญญัติและตุลาการ จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะชี้นำกระบวนการยุติธรรม พรรคขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ยุติการกระทำใดๆ อันจะมีผลให้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐมิได้เป็นไปตาม ขั้นตอนของกฎหมายปกติด้วยความสุจริต ถูกต้อง เที่ยงธรรม และยุติการก้าวก่าย แทรกแซงหรือชี้นำการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลด้วย

“วิษณุ”ชี้ยึดทรัพย์คดีข้าวใน 10 ปี
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการใช้คำสั่งปกครองดำเนินการยึดทรัพย์ในคดีโครงการรับจำนำข้าว หากผู้ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายได้ว่า ไม่มี ก็คือไม่มี แต่มีระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่รู้ว่าจะต้องไปดำเนินการยึด หากต้องถูกฟ้องล้มละลาย ก็ไม่ถึงขั้นต้องติดคุกแทนการจ่าย เพราะเรื่องนี้เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา และในส่วนผู้ที่จะฟ้องล้มละลายนั้น อยู่ที่ว่าหน่วยงานไหนเป็นเจ้าหนี้ ก็สามารถดำเนินการได้

ส่วนกรณีที่ลูกชายพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ใช้บ้านพักในค่ายทหารประกอบธุรกิจ เป็นการกระทำผิดกฎระเบียบกระทรวงกลาโหมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตามระเบียบสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2555 ระบุว่าไม่ให้นำบ้านพักไปใช้ในทางธุรกิจ ซึ่งคำนี้แปลว่าอะไรตนเองไม่ทราบ ต้องไปถามกระทรวงกลาโหมว่าผิดหรือไม่ แล้วจะมีบทลงโทษอย่างไร เรื่องนี้ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องภายในกระทรวง เป็น การตรวจสอบทางวินัย แต่เนื่องจากลูกชายของพล.อ.ปรีชา ไม่ได้เป็นข้าราชการ จึงไม่สามารถลงโทษทางวินัยได้ ส่วนจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้หรือไม่ เนื่องจากพล.อ. ปรีชา ได้เกษียณอายุราชการแล้ว ตนไม่แน่ใจว่าสามารถตรวจสอบได้หรือไม่
“สุดท้ายแล้วผมถึงบอกว่า อย่างนี้เป็นความผิดหรือไม่ ผมไม่ทราบ เพราะไม่รู้เจตนา รมณ์ของเขาว่าเอาบ้านไปทำธุรกิจแปลว่าอะไร ส่วนถ้าทำผิดแล้วจะสามารถลงโทษอะไรได้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน”นายวิษณุกล่าว

แจงคำวินิจฉัยศาลรธน.
นายวิษณุยังกล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอด คล้องกับผลการออกเสียงประชาชามติว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อความสำคัญอยู่ที่ 2-3 หน้าสุดท้ายเท่านั้น สรุปง่ายๆ ถึงสิ่งที่ศาลสั่ง คือเมื่อไม่สามารถหาชื่อนายกฯจากบัญชีของพรรคได้ ก็ให้สมาชิกรัฐสภา เสนอให้ใช้ชื่อจากคนนอก ซึ่งการเสนอนี้ต้องมีเสียงเห็นชอบครึ่งหนึ่งของรัฐสภา นั่นคือ 376 เสียง และเมื่อเสนอครบแล้วว่าจะต้องเอาคน นอกบัญชี แล้วทั้งหมด 700 กว่าคนก็ต้องมาโหวตกัน ซึ่งการโหวตต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 คือ 500 เสียง จึงเข้าสู่กระบวนการต่อไป

จากนั้นวันรุ่งขึ้นเมื่อยินยอมให้เสนอชื่อคนนอกแล้ว ต้องมาเริ่มโหวตให้ได้คะแนน 376 เสียง แต่ไม่ได้มีตรงไหนระบุว่า คนที่จะเสนอชื่อนายกฯนั้น ต้องเป็นส.ส.หรือส.ว. ตรงนี้จึงเป็นที่มา ทำให้กรธ.อธิบายว่าก็ไม่มีตรงไหนระบุว่าให้ส.ว.เป็นคนเสนอชื่อ จึงต้องกลับมาให้ส.ส.เป็นคนเสนอแล้ว จึงให้ส.ว.เป็นคนร่วมโหวต

ถ้านายกฯอึดก็อาจอยู่ถึง 8 ปี
นายวิษณุกล่าวอีกว่า อีกประเด็นหนึ่ง ศาลอ่านแล้วเห็นว่าถ้อยคำยังไม่ชัด จึงให้กรธ.แก้ไขมาให้ชัดเจน เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้มีปัญหาอีกต่อไป ในประเด็นที่กรธ.เขียนว่า ในวาระเริ่มแรก ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจว่า การหานายกฯแบบยุ่งๆ ที่กล่าวมา ให้ใช้เฉพาะตอนเริ่มแรกหลังจากมีรัฐสภา คือ หลังเลือกตั้งแล้ว ถ้าได้นายกฯ อยู่ไป 1 ปี นายกฯตายหรือลาออก หรือถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ้นจากตำแหน่งหรือถูกถอดถอน ซึ่งอยู่ในห้วง 5 ปี การหานายกฯหนที่ 2 ถามว่าจะไปหานายกฯแบบที่ยุ่งๆ แบบเก่าหรือไม่ ศาลจึงเห็นว่า เมื่อกรธ.ใช้คำว่าในวาระเริ่มแรก นับตั้งแต่มีการได้สมาชิกรัฐสภา จะชวนให้เกิดความเข้าใจไปว่าเฉพาะหนแรกหนเดียว แต่ในเมื่อเจตนารมณ์ของประชามติหมายถึงกี่หนก็ได้ แต่ให้อยู่ใน 5 ปี จึงให้ไปแก้ถ้อยคำให้ชัดเจนว่า กี่หนก็ได้ใน 5 ปี เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลไกดังกล่าวจะทำให้ได้นายกฯคนนอกและอยู่ยาวถึง 8 ปีหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นไปได้ หากอึดและทน รวมถึงเจตนาเป็นอย่างนั้น นี่คือประชามติก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร อีกทั้งดูน้ำใจส.ส.และดูเหตุ การณ์ว่าบุคคลนั้นมีความป๊อปปูลาร์ถึงขนาดว่าเลือกกี่ครั้งก็ได้กลับเข้ามาอีก ถ้าถึงขนาดนั้นประเทศไทยก็คงต้องยอม

ส.ส.เป็นตัวแปรที่มานายกฯ
รองนายกฯ กล่าวว่า ต่อไปนี้ประเทศไทย การหานายกฯ เริ่มจากประชุม 2 สภาแล้วเลือกว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ โดยต้องมาจากบัญชีที่พรรคเสนอพรรคละ 3 คน ถ้าได้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ โดยดูจากคะแนนว่าใครได้ถึง 376 เสียง คนนั้นก็ได้เป็นนายกฯ ถ้า ไม่ได้ก็ต้องประชุมกันทุกวัน จนกว่าจะได้ 376 เสียง

จนถึงวันหนึ่งถ้าเบื่อแล้วก็แปลว่าจะเอาคน นอกบัญชี ต้องให้ส.ส.หรือส.ว.รวมกันเข้าชื่อให้ได้ 376 คน เสนอขอเอาคนนอก แปลว่าญัตตินี้จะเข้าไปในสภา แล้วสภาต้องโหวตเพื่อยอมให้เอาคนนอก โดยมีเสียง 501 คน แต่ถ้าได้ไม่ถึง 501 คน แปลว่าไม่มีโอกาสจะเอาคนนอก ดังนั้น ต้องกลับไปตะบี้ตะบันเอาจากพรรคละ 3 รายชื่อ แต่ถ้าได้ถึง 501 คน แปลว่ายอมให้เอาคนนอก พรุ่งนี้ก็มาประชุมกันใหม่ ใครเสนอชื่อนายกฯขึ้นมาแล้วโหวตได้ 376 เสียง คนนั้นก็เป็นนายกฯ ถ้ายังไม่ถึง 376 เสียงอีก ก็ทำไปจนกระทั่งได้ 376 เสียง
เมื่อถามว่าหมายความว่าส.ว.จะเป็นตัว แปรที่ทำให้ได้นายกฯคนนอกง่ายขึ้น นายวิษณุกล่าวว่า ประชามติต้องการให้เป็นตัวแปรตามที่มีคำถามพ่วง

“มีชัย”พร้อมแก้ร่างรธน.
ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงว่า มีประเด็นดังนี้ 1.ผู้เสนอชื่อ นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น 2.การเสนอชื่อรอบแรก ต้องมีรายชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคการเมืองเท่านั้น และ 3.การโหวตนายกฯ เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาโดยใช้เสียงข้างมาก ถ้าเลือกไม่ได้ เดิมกรธ.กำหนดให้ ส.ส.จำนวนกึ่งหนึ่งเข้าชื่อของดเว้น แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุให้ ส.ว.ที่มีอำนาจ ในกระบวนการหานายกฯตามคำถามพ่วง เข้ามามีส่วนร่วมเข้าชื่องดเว้นบัญชีรายชื่อนายกฯด้วย จึงต้องปรับให้การงดเว้นบัญชีรายชื่อ นายกฯ ต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งหรือ 376 จาก 750 เสียง ก่อนเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาหามติ 2 ใน 3 หรือ 501 จาก 750 เสียง เพื่องดเว้นนายกฯตามบัญชี

ศาลยังวินิจฉัยถึงระยะเวลาการงดเว้นข้อบังคับการเลือกนายกฯตามบัญชี ที่กรธ.กำหนดให้ทำได้เฉพาะวาระแรกเริ่ม หมายถึงแค่วาระของสภาชุดแรก หากอยู่ได้ครบวาระ ก็จะงดเว้นข้อบังคับได้เต็มที่ 4 ปี ด้วยว่า เพื่อประโยชน์แก่การดูแลยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป วาระแรกเริ่ม 5 ปีตามคำถามพ่วงนั้น ระยะเวลาในการงดเว้นการเลือกนายกฯตามบัญชี ก็ต้อง 5 ปีด้วย หมายความว่า นับแต่วันที่ได้ ส.ส.และส.ว.ชุดแรก ให้ใช้ 5 ปีเป็นเกณฑ์การนับ การของดเว้นเลือกนายกฯตามบัญชี ไม่ว่านายกฯจะออกกี่หน สภาผู้แทนราษฎรจะยุบกี่ครั้ง ภายใน 5 ปี ก็สามารถงดเว้นการเลือกนายกฯตามบัญชี ศาลวินิจฉัยคำถามพ่วงประเด็นนี้โดยมุ่งขยายเวลา 5 ปี ให้เป็นหลักประกันการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติ คำวินิจฉัยทั้งหมดคงไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนไปมาก ยกเว้นการมีส่วนร่วมของส.ว.ในการยกเว้นบัญชีนายกฯและเรื่องระยะเวลา

คาดสิ้นต.ค.-ต้นพ.ย.ประกาศใช้
ผู้สื่อข่าวถามถึงการกำหนดมาตรา 272 คำว่าวาระแรกเริ่มของกรธ. ต่างไปจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายมีชัยกล่าวว่า หลักคิดเรื่องเปลี่ยนผ่านวาระแรกเริ่มของเราคือ แค่การเลือกตั้งครั้งแรก พอเลือกตั้งครั้งที่สอง การเมืองก็จะเริ่มเข้ารูปเข้ารอย แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรสูงสุดชี้ขาดแบบนี้ ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ แม้จะตีความคำถามพ่วงไม่เหมือนกัน โดยการปรับแก้ของกรธ.ที่เหลืออีก 14 วัน ก็จะยึดไปตามถ้อยคำที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ จากนั้นจะส่งให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 30 วัน คาดว่า ปลายเดือน ต.ค. ต้นเดือนพ.ย. รัฐธรรมนูญน่าจะได้ประกาศใช้
เมื่อถามถึงการจัดทำกฎหมายลูกสำหรับการเลือกตั้ง นายมีชัยกล่าวว่า รู้สึกว่าทำยาก กรธ.จะพยายามทำกฎหมายพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีเวลาเตรียมตัวเลือกตั้ง สำหรับกกต. เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้ก็ต้องหากกต.เพิ่มอีก 2 คน ให้เป็น 7 คน โดยรายละเอียดจะใส่ไว้ในกฎหมายลูก ส่วนจะต้องรีเซ็ตกกต.และพรรคการเมืองตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องหรือไม่ ตนคิดว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอ แต่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นแน่ แต่จะมากหรือน้อยต้องดูอีกที

มึนศาลตีความเกินคำขอ
รายงานข่าว เปิดเผยว่า กรธ.ได้แสดงความเห็นนอกรอบก่อนเข้าประชุมกรธ.ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความที่เกินไปจากคำขอของ กรธ. และตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเฉพาะประเด็นความสอดคล้องกับคำถามพ่วง ใน 2 ประเด็น คือประเด็นที่ขยายสิทธิของส.ว. ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอให้รัฐสภายกเว้นการใช้บัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค และประเด็นการยกเว้นใช้บัญชีนายกฯของพรรค ในระยะเวลา 5 ปี พร้อมมองว่าการวินิจฉัยดังกล่าวมีลักษณะที่ตุลาการภิวัฒน์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งที่ปัญหาของการยื้อเวลาเสนอเรื่องให้รัฐสภาของ ส.ส.ต่อการยกเว้นใช้บัญชีรายชื่อของพรรค อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะคนที่เป็นรัฐบาลต้องการให้เกิดความรวดเร็ว แม้หากมีกระบวนการที่สร้างปัญหาจริง ทางออกของปัญหาก็ยังมีอยู่ คือการยุบสภา
ทั้งนี้ กรธ.บางส่วนต้องการเข้าพบหรือทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสอบถามถึงเจตนารมณ์ของการตีความดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนก่อนจะแก้ไขเนื้อหา แต่ยังมี กรธ.ส่วนหนึ่งมองว่าจะปรับแก้ไขเนื้อหาตามที่ศาลวินิจฉัยเพราะถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

“สุรชัย”ระบุมติสอดคล้องสนช.
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐ ธรรมนูญประเด็นคำถามพ่วง ที่ไม่ให้เพิ่มสิทธิ์ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ตามที่สนช.ตีความว่า เดิมสนช.เห็นว่า เมื่อประชาชนเห็นชอบประชามติคำถามพ่วง เรื่องให้รัฐสภามีส่วนกับกระบวน การได้มาซึ่งนายกฯช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี กระ บวนการดังกล่าวต้องเป็นหน้าที่ของทั้งส.ส. และส.ว. แต่มีความคลาดเคลื่อนเข้าใจว่า สนช.ต้องการให้ส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ และอาจมีส่วนได้เสีย จนถูกโจมตีว่าตีความเกินเลย
ดังนั้น เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมาแบบนี้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับ ซึ่งสอดคล้องตรงกับความเห็นสนช. ในข้อแรก เรื่องการงดเว้นบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรค ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็น 2 ขยัก ขยักแรกเป็นอำนาจของ ส.ส. แต่หากส.ส.เลือกนายกฯตามบัญชีไม่ได้ ศาลก็ชี้ว่าต้องเป็นเรื่องของทั้ง ส.ส. และส.ว. เข้าชื่อเกินหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา เพื่อขอมติ 2 ใน 3 งดเว้นการเลือกนายกฯตามบัญชี

เชื่อนายกฯคนนอกเกิดยาก
นายสุรชัยกล่าวว่า ส่วนคำวินิจฉัยข้อสอง เรื่องนิยามคำว่าวาระเริ่มแรก 5 ปี ตามมาตรา 272 ที่สนช.เคยตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีปัญหาการตีความกันภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ว่า หมายถึงงดเว้นการเลือกนายกฯตามบัญชีได้เพียงครั้งเดียว โดยดูตามวาระของสมาชิกรัฐสภา หรืองดเว้นการเลือกนายกฯตามบัญชีกี่ครั้งก็ได้ ภายใน 5 ปีนั้น ศาลก็วินิจฉัยสอดคล้องกับการตีความของสนช.ว่า การงดเว้นเลือกนายกฯนอกบัญชี ทำกี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปี เราจะพบว่าเหตุผลของคำวินิจฉัยอ้างถึงเป็นหลักคือ กลไกการปฏิรูปช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีว่ามีความสำคัญ การเมืองช่วงนั้นต้องนิ่ง
“ส่วนข้อสังเกตว่า คำวินิจฉัยศาลจะเอื้อให้มีนายกฯคนนอกง่ายขึ้น ผมมองกลับกัน น่าจะเกิดได้ยากขึ้นกว่าเดิม เพราะส.ส. กับส.ว.ต้องคุยกันให้มากขึ้น” นายสุรชัยกล่าว

“ชัยเกษม”กังวลมาตรา 272
ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ที่น่ากังวลคือกรณีสภาไม่สามารถหาบุคคลที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบได้ แล้วต้องใช้กลไกของมาตรา 272 เปิดช่องให้รัฐสภาของดเว้นบุคคลตามบัญชีที่พรรคเสนอได้ ซึ่งจากเดิมรัฐสภากำหนดไว้ที่ 2 ใน 3 แต่ศาลมาวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง เหลือเพียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าโอกาสที่จะได้นายกฯ นอกบัญชี ซึ่งพรรคไม่ได้นำเสนอต่อกกต.นั้นมีสูง
ส่วนที่ศาลวินิฉัยเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของจำนวนสมาชิกรัฐสภา เพื่อของดเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีรายชื่อ โดยอ้างเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงมติคำถามพ่วงนั้น จะเป็นการวินิจฉัยแทนประชาชนหรือไม่ เพราะประชาชนอาจไม่ได้คิดเหมือนศาลก็ได้ โดยเฉพาะในตัวคำถามพ่วง ซึ่งไม่ได้ระบุว่าให้ อำนาจส.ว.ของดเว้นนายกฯนอกบัญชีที่พรรคเสนอได้

เปิดช่องคนนอกอยู่ยาว 10 ปี
นายชัยเกษมกล่าวว่า ที่มีความชัดเจนคือส.ว.จะอยู่ในอำนาจต่อเนื่อง 5 ปี แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงหรือต้องยุบสภา คำวินิจฉัยนี้จึงเปิดช่องให้นายกฯคนนอกมีโอกาสอยู่ได้ยาวถึง 2 สมัยหรือ 8 ปี หากนับรวมระยะเวลาช่วงเตรียมเลือกตั้งเข้าไปด้วย ประชาชนจึงมีสิทธิได้นายกฯ คนนอกยาวถึง 10 ปี ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงในสภาแบบเด็ดขาด เชื่อว่า 2 พรรคใหญ่ในปัจจุบันจะไม่สามารถจับมือตั้งรัฐบาลได้ เมื่อไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ การนำมาตรา 272 มาบังคับใช้จึงเป็นไปได้สูง

หากมองอีกมุม เป็นไปได้เช่นกันว่าพรรคที่มีสายสัมพันธ์กับทหาร พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กจะจับมือตั้งรัฐบาล แล้วใช้เสียงส.ว.ร่วมให้ความเห็นชอบอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นไปได้เช่นกัน แต่การทำงานของรัฐบาลอาจไม่ราบรื่นมากนัก เพราะเมื่อบริหารราชการ การออกกฎหมาย การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ใช้เสียงเฉพาะส.ส.เท่านั้น ไม่มีเสียงของส.ว.ที่คสช.เลือกเข้ามาคอยขับเคลื่อนงานให้เหมือนเช่นปัจจุบัน ส่วนอายุของรัฐบาลจะอยู่ได้ยาวนานแค่ไหนภายใต้กติกาที่เป็นประชา ธิปไตยแบบไทยๆ ขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจในทางกฎหมายอย่างเป็นธรรมหรือไม่

ปชป.ปลื้มศาลวางหลักปชต.
นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องเคารพดุลพินิจของศาลรัฐ ธรรมนูญ อาจมีคนที่ไม่ถูกใจอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ศาลยังชี้ให้เห็นความสำคัญของตัวแทนประชาชนที่ระบุไว้ชัดว่า การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เป็นหน้าที่ของส.ส. ฉะนั้นไม่ว่าจะเลือกนายกฯ จากคนในบัญชี หรือนอกบัญชี ก็จะยุติว่าส.ส.เป็นคนเสนอ ส่วนส.ว.ก็ยุติว่าร่วมออกเสียงการยกเว้นรัฐธรรมนูญ กรณีให้นายกฯ มาจากคนนอกบัญชี แต่ท้ายที่สุดส.ว.ก็มีอำนาจเลือกนายกฯ อยู่ดี ดังนั้น ต้องรอดูว่า กรธ.จะดำเนินการตามแนวทางใด เชื่อว่าผลจากคำวินิจฉัยจะไม่ส่งผลกระทบต่อ กรอบเวลาในการเลือกตั้งอย่างแน่นอน
ส่วนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรม นูญวินิจฉัยออกมาตนก็เคารพ และขอบคุณศาลที่วินิจฉัยโดยวางหลักประชาธิปไตยให้กับประเทศ เนื่องจากคำวินิจฉัยกลางของศาลตรงกับที่ตนเคยแสดงความเห็นมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะการเสนอชื่อนายกฯ ที่เป็นหน้าที่และอำนาจของส.ส. ให้เสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ตามบัญชีรายชื่อของพรรค ตรงนี้ชัดเจนมาก ว่าศาลวางหลักประชา ธิปไตยให้กับประเทศ ซึ่งส.ส.คือผู้แทนของประชาชน ส่วนส.ว.แค่มีอำนาจร่วมออกเสียงการยกเว้นรัฐธรรมนูญในกรณีให้มีนายกฯ นอกบัญชีเท่านั้น

เย้ยไอ้ห้อย-ไอ้โหนล้าหลัง
“ตรงนี้ยิ่งชัดเจนว่าความน่าเชื่อถือของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เคยมีความเห็นขัดแย้งกับผม จนเป็นข่าวเรื่องไอ้ห้อย ไอ้โหนรายวัน ผมก็โดนต่อว่าจากประชาชนอย่างหนัก ตอนนี้คำอธิบายของศาลชัดเจนมากว่าส.ว.ไม่สามารถร่วมเสนอชื่อ นายกฯ ได้ ยิ่งสะท้อนความคิดล้าหลังของ สปท.ที่ไม่ก้าวหน้า คับแคบ ฝากอนาคตประเทศไว้กับคนเหล่านี้ไม่ได้ ถ้าลงโทษด้วยการยุบ สปท.ก่อนกำหนดได้ก็จะดี” นายนิพิฏฐ์กล่าว

ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ส.ว. ร่วมออกเสียงกรณีให้มีนายกฯ นอกบัญชี จะยิ่งเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้ง่ายขึ้นหรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ไม่ เพราะศาลวินิจฉัยชัดเจนแล้วคือ นายกฯต้องมาจากการเสนอชื่อของส.ส. เจตนาหลักตรงนี้ชัดเจนมากว่าส.ส. คือนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน การให้รัฐสภาเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อของพรรค เท่ากับยอมรับการตัดสินใจของประชาชน ดังนั้น ส.ว.ไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อ นายกฯ อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับกรธ. ตนมองว่าคงไม่ยากเกินไป เพราะ กรธ.แค่ทำให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในผลประชามติ และคำสั่งศาลเท่านั้น

กกต.แจงกฎหมายลูกกับกรธ.
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม กรธ. ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เป็นประธานวาระพิจารณาเนื้อหาของร่างพ.ร.บ. ว่าด้วย กกต. โดยเชิญนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. นายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เข้าชี้แจง

นายสมชัยแถลงภายหลังหารือร่วมกับกรธ.ว่า ประเด็นสำคัญของอำนาจกกต. ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ คือ กกต.ต้องเป็นกลไกป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง และช่วยกลั่นกรองบุคคลที่มีคุณภาพข้าสู่เส้นทางการเมือง รวมถึงต้องคัดผู้ที่ทุจริตออกจากการเมือง โดยได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นในกลไกดังกล่าว กกต.มีข้อเสนอให้คง กกต.จังหวัดไว้ แต่วิธีการได้มายังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาโดย กรธ.ต่อไป เพราะรูปแบบการได้มาของกกต.จังหวัด ที่กกต.เสนอในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. คือทำการเลือกตั้งให้อยู่ในมือของประชาชนภายในจังหวัด ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยรัฐ ดังนั้นกกต.จังหวัด ต้องมีสัดส่วนมาจากประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและอดีตข้าราชการภายในจังหวัด ทำหน้าที่ส่งเสริมการเลือกตั้งที่สุจริต และเที่ยงธรรม

ยืนยันเปล่าคุยปมเซ็ตซีโร่
นายสมชัยกล่าวว่า ขณะที่รูปแบบการได้มา คือต้องมาจากประชาชนที่มีคุณสมบัติหลากหลาย ไม่กระจุกตัวในบางสาขาอาชีพ และไม่เน้นข้าราชการประจำ ส่วนการทำงานต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแบบครั้งต่อครั้ง เพราะกังวลว่าหาก กกต.จังหวัดขาดประสบ การณ์และตกเป็นเครื่องมือของข้าราชการประจำได้ นอกจากนั้นเพื่อให้เกิดการประหยัด กกต.จังหวัด ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุมเดือนละ 2 ครั้งแทนการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน เพื่อกลั่นกรองคนที่ต้องการทำงานอย่างแท้จริงได้

นายสมชัยกล่าวว่า ความเห็นของกรธ.ในที่ประชุมมีทั้งสนับสนุนและมองว่ารูปแบบดังกล่าว ควรปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของฝ่ายการเมืองที่แทรกแซง ขณะที่ประเด็นอื่นๆ เช่น การได้มาซึ่ง กกต.อีก 2 คน ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีกกต. 7 คนนั้น นายมีชัย สอบถามเพียงว่ากกต.ชุดปัจจุบันมีองค์ประกอบจากที่ใดบ้าง โดยมาจากศาล 2 คน และจากการสรรหา 3 คน ดังนั้น การออกแบบกกต.ที่จะเพิ่มเติมนั้น กรธ.จะเป็นผู้กำหนดสัดส่วนว่ามาจากส่วนใด ส่วนประเด็นการรีเซ็ตกกต.ทั้งคณะนั้นไม่มีการหารือ

สนช.ประชุมถอดถอน 2 อดีตส.ส.
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณากระบวนการถอดถอน นายนริศร ทองธิราช อดีตส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย ออกจากตำแหน่ง กรณีใช้บัตรลงคะแนนแทนบุคคลอื่น แต่นายนริศร ไม่ได้ขอเพิ่มพยานหลักฐาน และนัดแถลงเปิดสำนวนคดีในวันที่ 6 ต.ค.

จากนั้นพิจารณากระบวนการถอดถอน นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ออกจากตำแหน่ง กรณีสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของส.ว. ที่เสนอต่อประธานรัฐสภา ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับ ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยที่ประชุม กำหนดวันแถลงเปิดคดีในวันที่ 6 ต.ค.นี้เช่นกัน

“อุดมเดช”แห้วเพิ่มพยาน
ต่อมาที่ประชุม พิจารณาคำขอเพิ่มหลักฐานของนายอุดมเดชใน 4 รายการคือ 1.ราย งานบันทึกการประชุมสนช. ลงมติไม่ถอด ถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา 2.รายงานบันทึกการประชุมสนช.ลงมติไม่ถอดถอน อดีต 38 ส.ว. 3.รายงานบันทึกการประชุมสนช.ลงมติไม่ถอดถอนอดีต 248 ส.ส. และกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.โดยไม่ชอบ และ 4.คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 53/58 คำวินิจฉัยตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2557 โดยน.ส.สุภา ปิยะจิตติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้คัดค้าน ให้เหตุผลว่าเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นก่อนจะวินิจฉัยในคดีนี้ และป.ป.ช.ได้เปิดให้ผู้ถูกกล่าวหา ยื่นพยานหลักฐานแล้ว แต่ไม่ยื่นในตอนนั้น
จากนั้นที่ประชุมไม่อนุญาตให้นายอุดมเดช เพิ่มพยานหลักฐานทั้ง 4 รายการ และไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสรุปข้อเท็จจริงของกฎหมายและพยานหลักฐานของคู่กรณี เพราะเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน

แอมเนสตี้ยุติงานสัมมนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่น แนล มีการจัดงานสัมมนาเผยแพร่รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้” ว่าด้วยเรื่องการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย 74 กรณี ระหว่างปี 2557-2558 ที่ได้จากการรวบ รวมเอกสารของศาล ประวัติ การรักษาพยาบาล และบทสัมภาษณ์ของเหยื่อ

การจัดงานดังกล่าวไม่สามารถจัดได้เนื่อง จากมีเจ้าหน้าที่จากสันติบาล และจากฝ่ายการดำเนินงานขององค์กรต่างประเทศในประเทศ ไทย กระทรวงแรงงาน ระบุว่าตัวแทนจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลไม่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย หากขึ้นพูดบนเวทีอาจถูกจับตามกฎหมายได้ แต่ไม่ได้ยุติงานแต่อย่างใด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แถลงยุติการจัดงาน ดังกล่าว

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลว่ามีผู้บรรยายบางคนที่เป็นชาวต่างชาติ ไม่มีใบอนุญาตทำงาน โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเคยแนะนำไปแล้วก่อนหน้าว่าควรขอใบอนุญาตทำงานในไทยให้ถูกต้องก่อน แต่เมื่อถึงวันงานพบว่ามีบางคนยังไม่มีใบอนุญาต ทำงาน เจ้าหน้าที่จึงเตือนไปว่าอาจเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมายแรงงานของไทยและอาจถูกดำเนินคดีได้ โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่มีการสั่งห้ามจัดแถลงข่าว เชื่อว่าแอมเนสตี้สามารถเผยแพร่ข่าวสารได้ด้วยวิธีอื่น และ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ไปคุกคาม เป็นการพยายามรักษากฎหมายตามหน้าที่

องคมนตรีชี้โกง-ปลวกกินบ้าน
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับความมั่นคงภายในประเทศ” จัดโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้พฤติกรรมการคอร์รัปชั่นลุกลามไปทั่ว เปรียบเหมือนปลวกที่กำลังกัดกินบ้าน จนบ้านเกือบพังไปแล้วทั้งหลัง ล้มโครมเอาง่ายๆ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เพราะรัชกาลที่ 5 ก็ทรงห่วงใยปัญหานี้ ตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อนแล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศให้เป็นปัญหาเร่งด่วน กระบวนการยุติธรรมถ้าตรงไปตรงมา คนทุกชนชั้นพึ่งได้ คนโกงจะน้อยลงและถ้าปฏิรูปในส่วนนี้ สังคมจะสงบสุขขึ้นเยอะ

นพ.เกษมกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งกับองคมนตรี จะพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดตั้งโครงการกองทุนการศึกษา เมื่อปี 2555 ให้สร้างโรงเรียนเพื่อสร้างคนดีให้กับบ้านเมือง ซึ่งการสร้างคนดีเป็นเรื่องยากและยาว จึงต้องเชิญทุกคนร่วมกันเป็นอาสาสมัครจึงจะช่วยได้เยอะ ที่ผ่านมา บ้านเมืองแบ่งสี แบ่งข้าง เผาบ้านเผาเมือง จึงรับสั่งเรื่องการศึกษาว่าให้สอนคนให้รู้จักการทำงานกันเป็นหมู่คณะและเอื้อเฟื้อต่อกัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย แต่สังคมโลกก็ทำแบบนี้ แม้จะเป็นเรื่องยากแต่พระองค์ก็ทรงให้กำลังใจ ถ้าข้าราชการสร้างคนดีให้เกิดขึ้นในหน่วยงานต่างๆ ได้ ประเทศจะเข้มแข็ง และเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ เชื่อว่าเป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม เราทำได้

ศาลสั่งยึดบ้าน16ล้าน”เสี่ยตือ”
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 29 ก.ย. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ นายชาติชาย อัครวิบูลย์ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.74/2558 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรมว.ศึกษาธิการ และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 16 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
กรณีสืบเนื่องจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2558 ชี้มูลความผิด จากการไต่สวนกรณีการร่ำรวยผิดปกติของนายสมศักดิ์ ซึ่งจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ไม่แสดงทรัพย์สินเป็นบ้านพักเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่ปลูกสร้าง เมื่อปี 2541 เนื้อที่ 3 ไร่เศษ ช่วงที่นายสมศักดิ์ เป็นรมช.ศึกษาธิการ และก่อสร้างจนเสร็จเมื่อปี 2544 ในช่วงที่นายสมศักดิ์ เป็น รมว.ศึกษาธิการ โดยใช้เงินค่าก่อสร้าง 16 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้ศาลได้นัดไต่สวนทั้งสิ้น 4 นัดและสิ้นสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยผู้ร้องและผู้ถูกกล่าวหามีพยานรวม 14 ปาก

โดยองค์คณะพิจารณาพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าจำเลยไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินดังกล่าวได้ จึงมีมติเอกฉันท์ให้บ้านพักเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่ปลูกสร้างเมื่อปี 2541 มูลค่า 16 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ขณะที่นายสมศักดิ์ ซึ่งเดินทางมาฟังคำพิพากษา ให้สัมภาษณ์ว่า ในเมื่อตนเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ก็น้อมรับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ เมื่อกติกาเขียนไว้ก็ต้องยอมรับ จะปฏิเสธเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ยังมั่นใจว่าไม่ได้เกี่ยวกับการทุจริตและการใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ ในเมื่อเราได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเงินที่เหลือมาจากการเลือกตั้งแล้วมีคำสั่งของศาลออกมาเช่นนี้ก็น้อมรับ

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า กรณีนายสมศักดิ์ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ จะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้อีก เพราะถือเป็นลักษณะต้องห้ามเดียวกับการทุจริต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน