“บิ๊กตู่” นำคณะ ลุยสุรินทร์-บุรีรัมย์ ตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง ปล่อยคาราวานน้ำช่วยชาวบ้าน

วันที่ 18 ส.ค. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภารกิจตรวจราชการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ที่จ.สุรินทร์ และจ.บุรีรัมย์ ว่า นายกฯ พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ว่าสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม

เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยออกเดินทางด้วยเครื่องบิน C-130จากจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และเดินทางต่อไปยังอากาศยานสุรินทร์ภักดี จ.สุรินทร์

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

โดยจะเข้าตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงโครงการชลประทานสุรินทร์ ฟังบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ พร้อมปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านการอุปโภคบริโภค ณ บริเวณที่ทำการโครงการชลประทานสุรินทร์ และเป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จ. ที่ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์

จากนั้นในช่วงบ่าย นายกฯตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากโครงการชลประทานบุรีรัมย์ และฟังบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาและสถานการณ์น้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ ที่ทำการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

นางนฤมล กล่าวว่า สำหรับอ่างเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และ อ่างเก็บน้ำอำปึล ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำดิบผลิตประปา มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง มีปริมาณน้ำ 9.86% ของความจุ และอ่างเก็บน้ำอำปึล มีปริมาณน้ำ 1.09% ของความจุ

บางพื้นที่ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมพื้นที่ประสบภัย 2 อำเภอ คือ อ.เมืองสุรินทร์ และ อ.สำโรงทาบ 31 ตำบล 308 หมู่บ้าน 150,995 ไร่ ส่วนที่จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ คือ “อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด” และ “อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก” รวม 1.438 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในระยะต่อไป

โดยก่อนหน้านี้นายกฯได้สั่งการให้ รมช.เกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะการขุดร่องชักน้ำเข้าสู่หัวสูบประปา และสูบน้ำบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ ขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มปริมาณน้ำ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่าง ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ

โดยนายกฯจะติดตามปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน กำชับเรื่องแผนระยะกลางและระยะยาวเพื่อความยั่งยืน เช่น การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง โครงการผันน้ำจากแหล่งที่มีศักยภาพสูงกว่า การตั้งสถานีผลิตน้ำประปาในจุดที่มีแหล่งน้ำเพียงพอเพื่อเสริมความมั่นคงด้านน้ำประปา เป็นต้น พร้อมทั้งได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเกษตรกรให้ดีที่สุดด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน