จาก 6 ตุลาถึงแดง 53

ใบตองแห้ง

เปรียบเทียบอย่างนี้ แหงเลยต้องมีคนเถียง เพราะคน 6 ตุลาก่นด่าเสื้อแดงก็เยอะไป เอามาเทียบได้ไง ดึงเพื่อนเราที่ตายให้ตกต่ำ เราเป็น “พลังบริสุทธิ์” ถูกเข่นฆ่าอย่างโหดร้าย ทั้งที่ไม่มี “ชายชุดดำ” เรามีอุดมคติ ใฝ่ฝันสังคมเป็นธรรม ไม่ใช่ “ทาสทุนสามานย์” ตายเพื่อทักษิณ

ขณะเดียวกัน ม็อบคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี อาจแย้งว่าพวกเขาต่างหากที่สืบทอดอุดมการณ์เดือนตุลา เห็นไหม “มวลมหาประชาชน” อธิการบดี คณาจารย์ ระดมนิสิตนักศึกษา ออกมาปี๊ดๆ “ต้านโกง” กับลุงกำนันเขาแพง เป็นแสนๆ ยิ่งกว่า 14 ตุลาเสียอีก ซ้ำถูกเอ็ม 79 ยิงบาดเจ็บ ล้มตายคล้ายนักศึกษาถูกกระทิงแดงขว้างระเบิดใส่

ใช่ครับ 6 ตุลา 19 กับพฤษภา 53 มีข้อแตกต่างมากมาย ทั้งขบวนการมวลชน อุดมคติ ลักษณะที่เปลี่ยนไปยึดโยงกับนักการเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามี “สีเทา” ไม่ใช่ยุคขาวดำ ขวาซ้าย ที่ตัดสินได้ง่ายๆ

แต่เมื่อเทียบ 4 เหตุการณ์ใหญ่ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 พฤษภา 53 จะเห็นชัดว่า 6 ตุลากับพฤษภา 53 คล้ายกันหลายด้านในนัยสำคัญ โดยเฉพาะความเป็น “ผู้แพ้” ที่ไม่แค่ถูกเข่นฆ่า ถูกจับกุมคุมขัง หากยังตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง ถูกประณามตามหลัง

“ญวน” “คอมมิวนิสต์” “ขายชาติ” “ล้มเจ้า” “เผาบ้าน เผาเมือง” กระทั่งวันนี้ ไม่สังเกตหรือครับ เรามีวีรชน 14 ตุลา วีรชนพฤษภา 35 แต่ไม่เคยมี “วีรชน 6 ตุลา” มิพักต้องพูดถึงพฤษภา 53

ทราบหรือไม่ ในขณะที่มี “ญาติวีรชน” 14 ตุลา พฤษภา 35 เรากลับไม่เคยมีญาติเหยื่อ 6 ตุลา ทุกๆ ปีมีพ่อแม่มาเพียง 2-3 คน เช่นคุณพ่อจารุพงษ์ ทองสิน ซึ่งหลายคนคงไม่รู้ว่า ศพของเขาหาไม่เจอ เพียงแต่เพื่อนจำได้จากภาพถูกผูกคอลากไปตามสนามฟุตบอล คาดว่าถูกนำไปเผาแบบศพไร้ญาติ เช่นเดียวกับภาพแขวนคอต้นมะขามสนามหลวง การสืบค้นความจริงภายหลังพบว่ามี 4 ศพ แต่ 2 ศพยังไม่รู้เป็นใคร

ทำไมญาติไม่มา หลายปีมานี้ มีการสืบค้นพบญาติ ผู้เสียชีวิตหลายราย แต่แทบทุกรายปฏิเสธ ไม่อยากมีส่วนรื้อฟื้นใดๆ

คนชั้นกลางสมัยนี้ที่สะเทือนใจกับภาพ “เก้าอี้ฟาด” จนหวนไปเห็นใจนักศึกษา 6 ตุลา อาจไม่ทราบว่าหลังเหตุการณ์ ใหม่ๆ ทั้งคนตายคนเป็นถูกเหยียดหยามประณามเพียงใด

พ่อแม่เพื่อนผม นอกจากสูญเสียลูกชาย ยังต้องทนความเจ็บปวดที่ถูกคนรอบข้างนินทาว่าร้าย “เลี้ยงลูกยังไง ให้ไปขายชาติรับจ้างญวน” บางคนยังตั้งข้อสงสัย ถูกพวกกันเอง “ชายชุดดำ” ยิงตายหรือเปล่า

ถ้ายังไม่รู้ก็รู้ไว้ สังคมไทยยุคนั้นทั้งคนชั้นสูงชั้นกลาง มีส่วน “ออกใบอนุญาตฆ่า” ไม่ใช่แค่เบื่อนักศึกษาก่อความวุ่นวาย แต่กลัวภัยคอมมิวนิสต์ กลัวประเทศไทยเป็นโดมิโนตามเวียดนาม ลาว เขมร

หลัง 6 ตุลา ต้องใช้เวลาอีกนาน ผ่านยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ทำรัฐประหารซ้อนโค่น “รัฐบาลหอย” นิรโทษกรรมปล่อยผู้ถูกคุมขัง ป๋าเปรมดำเนินนโยบาย 66/23 พรรคคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ นักศึกษากลับจากป่า จนหลังพฤษภา 35 การเมืองเปิด คนเดือนตุลาเริ่มมีสถานะทางเศรษฐกิจสังคม เป็นสื่อ เป็นนักวิชาการ เป็นนักการเมือง จึงเริ่มจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา พร้อมสร้างกำแพงประวัติศาสตร์เมื่อปี 2539

ยาวนาน 20 ปี กว่าจะทำให้สังคมยอมรับว่านี่คือการเข่นฆ่าคนเห็นต่างอย่างโหดร้ายทารุณที่สุดในเมืองไทยเมืองพุทธ แต่ก็ทำได้เท่านั้น ไม่สามารถทวงความยุติธรรม สืบค้นความจริง ตีแผ่เบื้องหน้าเบื้องหลัง

เพียงแต่ทำให้สังคมเกิดความละอาย เหมือนที่ธงชัย วินิจจะกูล เขียนไว้ในหนังสือ “6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ว่าพวก “ฝ่ายขวา” ครั้งนั้นส่วนใหญ่จะทำเป็นลืม ปัดป้องความเกี่ยวข้อง มีไม่กี่รายที่แอ่นอกรับว่าทำ “เพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน”

พฤษภา 53 อาจแตกต่างที่พรรคเพื่อไทยกลับมาชนะเลือกตั้ง ญาติมิตรพื้นที่เสื้อแดงไม่ทอดทิ้งกัน แต่ถึงวันนี้ก็ยังถูกประณาม “เผาบ้านเผาเมือง” และมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรม

ยิ่งกว่านั้น หลังประชามติผ่าน มอบฉันทานุมัติให้อำนาจอนุรักษ์นำประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” พฤษภา 53 ก็อาจกลายเป็น “ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม” คล้าย 6 ตุลาที่ถูกทำให้ลืมเกือบ 20 ปีเพื่อ “สมานฉันท์”

กระนั้นในความเหมือนก็มีความต่าง คือสมัย 6 ตุลา ไม่ได้มี “ผู้แพ้” ถึง 10 ล้านคน

วันหนึ่งข้างหน้า วิญญาณ 6 ตุลา วิญญาณพฤษภา 53 อาจได้รับความยุติธรรมพร้อมกันก็เป็นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน