กมธ.หนุนขยายสัมปทานทางด่วน 30 ปี ชี้เอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ ช่วยแก้จราจร ยุติข้อพิพากกับการทางพิเศษ เสียงส่วนใหญ่ค้านสัมปทานบีทีเอส หวั่นไร้อำนาจต่อรองค่าโดยสารที่เป็นธรรม

สัมปทานทางด่วน – เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 22 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา นายคริส โปตระนันทน์ และนายปรเมศวร์ กุมารบุญ ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) แถลงว่าวันนี้เราจะแถลงใน 2 ประเด็น คือ ความเห็นของกมธ. กรณีสัมปทานทางด่วน และกรณีสัมปทานบีทีเอส

โดยกรณีสัมปทานทางด่วน ทางกมธ.ทั้งหมด 39 คน เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยการขยายสัมปทานทางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 21 คน ไม่เห็นด้วย 12 คน งดออกเสียง 5 คน ลาประชุม 1 คน

กมธ.ที่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานทางด่วน เห็นว่าสัมปทานจะแบ่งเป็น 15 ปีแรก กับ 15 ปีหลัง โดย 15 ปีแรกนั้นบางคนเห็นว่าเอกชนมีประสิทธิภาพในการบริหารมากกว่ารัฐ และการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการต่อสัญญาจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐ

นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรต่อสัญญา 15 ปีหลัง โดยเฉพาะทางด่วนช่วงที่ 2 เพราะมีความจำเป็นในระยะยาว ทั้งการแก้ปัญหาจราจร และยุติข้อพิพาทกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) และเอกชน ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลศาลปกครองสูงสุดมาแล้วว่าให้กทพ.แพ้คดีไปแล้ว 1 คดี ขณะที่บางคนเสนอว่าจะมีการแก้ไขอนุญาโตตุลาการให้เรื่องสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน โดยให้เสนอข้อพิพาทต่อศาลปกครองโดยตรงเพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาสัญญาทุกสัญญา

ส่วนกมธ.ที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานทางด่วน เห็นว่ากรณีบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด มหาชน ไม่ได้ต่อสัญญาสัมปทานเดิมนั้น รัฐอาจนำมาประมูลใหม่และกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนชำระหนี้ได้ หากรัฐต้องการขยายโครงการทางด่วนช่วงที่ 2 ก็อาจกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว โดยการประมูล บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพก็ยังเข้าร่วมประมูลได้เช่นกัน บางคนเห็นว่ายังมีประเด็นเรื่องกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนอีกมาก มีความสุ่มเสี่ยงด้านกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง

นายคริส กล่าวว่า ส่วนสัมปทานบีทีเอสนั้น มีกมธ.ทั้งหมด 39 คนโดยกมธ.เสียงส่วนใหญ่ 19 คนไม่เห็นด้วยที่จะให้กรุงเทพมหานครขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส และกมธ. 12 คน เห็นด้วยที่จะขยายสัมปทาน งดออกเสียง 6 คน ไม่ส่งความเห็น 1 คน และลาประชุม 1 คน

ผลสรุปความเห็นของกมธ.ที่ไม่เห็นด้วย คือ หลักการในการร่วมลงทุนในกิจการของการทำบริการสาธารณะรัฐ ต้องพยายามทำให้ทรัพย์สินของเอกชนที่ร่วมลงทุนโอนกลับมาเป็นของรัฐให้มากที่สุด เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองกำหนดอัตราค่าจ้างโดยสารที่เป็นธรรมให้กับประชาชน หากสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นหลักสิ้นสุดในปี 2572 ทรัพย์สินของโครงการจะกลับมาเป็นของรัฐและดำเนินการกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ เป็นการแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ

นอกจากนี้เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 10 ปี การจัดการหาผู้เดินรถไฟฟ้ารายใหม่ สามารถปฏิบัติได้ตามขั้นตอน โดยทำเพื่อคนกรุงเทพ ทางกทม.ควรเข้ามาดูแลรับผิดชอบในส่วนที่อยู่ในเขตของกทม.เพื่อให้ได้ค่าโดยสารที่ถูกลง เมื่อค่าโดยสารถูกประชาชนที่มีรายได้น้อยจะมาใช้บริการมากขึ้น การจราจรจะเบาบางลง ส่วนพื้นที่นอกกทม.รัฐบาลควรให้การอุดหนุน

นายคริส กล่าว่า เหตุผลถัดไปคือ การจัดการภาระหนี้ที่รฟม.จะโอนมาให้ กมธ.บางส่วนเห็นว่ารัฐควรหาวิธีการอื่นในเรื่องเงินลงทุน ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ และเห็นว่าควรจะทำสัญญาจ้างการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ออกไปก่อน รอจนปี 2572 จึงค่อยนำระบบทั้งหมดรวมกันเพื่อบริหารจัดการที่เหมาะสม เช่น การเปิดประมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ทั้งระบบ หากทำเช่นนี้จะเป็นการแสดงความโปร่งใส ไม่ใช่บีทีเอสมาผูกขาดแต่เพียงเจ้าเดียว และรัฐจะได้ผลประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันในการประมูลอีกด้วย

ในระหว่างนี้ก่อนถึงปี 2572 เราจ้างบีทีเอสให้เดินรถในส่วนที่ 1 และ 2 แต่ควรเจรจาสัมปทานการจ้างเดินรถให้มีราคาที่ถูกกว่านี้ อาจจะต่อรองในส่วนที่ค่าจ้างสูงเกินไป

นายคริส กล่าว่า ทั้งนี้ ยังมีปัญหาค่าโดยสารที่แพง เกิดจากรัฐอุดหนุนไม่เพียงพอเพราะรัฐจะเอาแต่สร้างโครงการขนาดใหญ่จนเกินไป ทำให้การลงทุนไม่คุ้มค่าทางการเงินและทางเศรษฐกิจ หลายเส้นทางที่ยาวออกไป เกินปริมาณของผู้โดยสารแถมยังขาดวิสัยทัศน์การวางแผนเชื่อมโยงต่อกันทั้งระบบ ส่วนตั๋วร่วม ก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการที่ผู้ประกอบการรายเดียวคือ มีผู้ประกอบการหลายรายบริหารจัดการได้เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ส่วนกมธ.ที่เห็นด้วยให้กทม.ขยายสัมปทานรถไฟฟ้านั้น สรุปว่า การใช้มาตรา 44 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 ทดแทนพ.ร.บ.ร่วมทุนนั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สามารถทำได้ เสนอต่อสัญญาสัมปทานได้ ส่วนที่กทม.จะรับหนี้ ก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และยังเห็นว่าบีทีเอสมีประสิทธิภาพในการดำเนินการ ทั้งความปลอดภัยและความตรงต่อเวลา รวมถึงการซ่อมบำรุง และราคาค่าบริการตลอดสาย 65 บาท อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นฉบับนี้จะต้องผ่านกมธ.อีกหนึ่งรอบ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน