BEM แจงยิบสัญญายุติข้อพิพาททางด่วน ชี้ขยายสัมปทานเป็นทางออกดีสุด ยันประชาชนได้ประโยชน์ ระบุเป็นคนละเรื่องเสนอลดค่ารถไฟฟ้า

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 ส.ค. ที่บริษัทช.การช่าง นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหารบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แถลงถึงกรณีข้อพิพาททางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กับBEM ว่า กรณีดังกล่าวเป็นข้อถกเถียงในสังคม จนกระทั่งมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร มาพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็มีข้อมูลบางอย่างที่อย่างจะชี้แจงให้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยข้อพิพาทระหว่าง BEM กับ กทพ.นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1.การผิดสัญญาเรื่องการสร้างทางแข่งขัน โดยรัฐบาลสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ซึ่งเรื่องดังกล่าว ผ่านการพิจารณาจากอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ BEM ชนะ โดยให้กทพ.จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 4,318 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชดเชยในปี 2542-2543 เท่านั้น ไม่นับความเสียหายตั้งแต่ปี 2544-2561 ซึ่งยังมีข้อพิพาทกันอยู่

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ 2 คือการที่รัฐบาลก่อนหน้านี้มีมติให้ไม่ BEM ปรับค่าผ่านทางตามสัญญาที่ต้องปรับขึ้นทุก 5 ปี โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 โดยความคืบหน้าของคดีคือศาลปกครองกลางตัดสิน ให้กทพ.จ่ายชดเชยให้กับ BEM 7,227 ล้านบาท อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ส่วนข้อพิพาทในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วง 5 ปีที่ 2 ที่ต้องปรับขึ้นค่าผ่านทาง คดีนี้อนุญาโตตุลาการ ให้กทพ.จ่ายชดเชย BEM 12,051 ล้านบาท และยังมีคดีพิพาทในกรณีดังกล่าวในทุกๆ 5 ๆ จนถึงปี 2561 นอกจากนี้มีคดีอื่นๆ อาทิ การไม่ส่งมอบพื้นที่ และการผิดสัญญาอื่นๆ เมื่อรวมทุกคดีเข้าด้วยกันมีถึง 17 คดี คิดมูลค่าความเสียหายถึง 137,517 ล้านบาท

“ต้องทำความเข้าใจว่าข้อพิพาทนี้แม้ศาลจะตัดสินเป็นที่สิ้นสุดแล้ว 1 คดี แต่อีก 16 คดีที่เหลือ ล้วนเป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน เป็นการกระทำที่ผิดสัญญาที่กทพ.มีต่อเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ขึ้นค่าผ่านทาง หรือการสร้างทางแข่งขัน BEM เองก็มั่นใจในการทำธุรกิจที่ถูกต้อง และเชื่อว่าผลที่ออกมาคงไม่แตกต่างกับคดีที่ศาลตัดสินไปก่อนหน้านี้” นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าว

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวอีกว่า แต่ในฐานะคนไทย ที่ทำธุรกิจกับรัฐบาล ทำธุรกิจกับประชาชน ชัยชนะที่เกิดขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องมหาศาล หากคดีสิ้นสุดกทพ.ต้องรับภาระค่าชดเชยกว่าแสนล้านบาท ก็เท่ากับว่าต้องกระทบถึงรัฐบาล และกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้จ่ายภาษี เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเองก็มีมติครม.สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งให้เร่งเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท นำมาซึ่งการหารือร่วมกันระหว่างคู่พิพาททั้ง 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการกำกับร่วมทุนรัฐและเอกชน ตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทุกอย่างทำด้วยความโปร่งใสและรอบคอบ

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นกรอบการเจรจาอยู่ในกรอบยุติข้อพิพาททั้งหมด ไม่จ่ายเป็นเงินชดเชย ให้BEM ปรับปรุงทางด่วนเพื่อแก้ปัญหาการจราจร และการเก็บค่าผ่านทางต้องถูก ปรับแบบคงที่ทุก 10 ปี และแบ่งรายได้ให้รัฐอย่างเหมาะสม นำมาซึ่งการเจรจาโดยยึดกรอบความเสียหาย เฉพาะเรื่องการสร้างทางแข่งขัน ที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาไปแล้ว โดยยุติกันที่ 58,873 ล้านบาท จากความเสียหายเดิมที่มีมูลค่าสูงกว่าแสนล้านบาท ทั้งนี้มีเงื่อนไขที่การขยายเวลาสัมปทานทุกสัญญาไปอีก 30 ปี โดย BEM จะต้องแบ่งรายได้ในอัตราเดิม คือ กทพ.60 เปอร์เซ็นต์ BEM 40 เปอร์เซ็นต์ ตลอดอายุสัญญาของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ส่วนเอ-บี

โดย BEM ต้องรับผิดชอบในการให้บริการบำรุงรักษาทางด่วนให้ใช้งานได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งลงทุนก่อสร้างให้บริการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งจากการศึกษาแนวทางการบรรเทาปัญหาจราจรที่เหมาะสมที่สุด คือการสร้างดับเบิ้ลเด๊ก หรือทางด่วนชั้นที่ 2 ระยะทาง 17 กิโลเมตร ตั้งแต่งามวงศ์วานไปจนถึงพระราม 9 เพื่อเพิ่มผิวการจราจร และแยกรถที่ไปในระยะทางไกล ออกจากระยะทางใกล้ ลดความแออัดของการจราจร รวมทั้งทำเส้นบายพาสเส้นทางอีกหลายจุด โดยระหว่างการก่อสร้าง ทางด่วนยังคงให้บริการเหมือนเดิม ไม่มีการเวนคืนที่ใหม่ใดๆ ซึ่ง BEM ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดมูลค่ากว่า 31,000 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขห้ามเก็บค่าผ่านทางเพิ่มเติม

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามยังมีข้อติดขัดในการทำข้อตกลงบางประการ นั่นคือเรื่องของการทำอีไอเอ ซึ่งกำหนดไว้ว่าสัญญาต่างๆจะดำเนินการไม่ได้หากไม่ผ่านการทำอีไอเอ จึงกลายเป็นข้อตกลงกันว่าหากข้อตกลงสิ้นสุด กทพ.จะต้องทำอีไอเอให้ลุล่วงภายใน 2 ปี เมื่ออีไอเอผ่านแล้ว BEM จะใช้เวลาประมาณ 4 ปีในการก่อสร้าง ส่วนเรื่องสัญญานั้นก็จะทำข้อตกลงการขยายเวลาส่วนแรกไปจนถึงปี 2578 และการขยายเวลาส่วนที่ 2 นั้นจะดำเนินการเมื่ออีไอเอได้รับความเห็นชอบ หากอีไอเอไม่ผ่านภายใน 2 ปี กทพ.มีสิทธิยกเลิกการขยายสัมปทานส่วนที่ 2 โดยที่ BEM ไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ว่ากทพ.ดำเนินการอย่างสุดความสามารถแล้ว

อ่านข่าว หุ้น BEM พุ่งแรง หลังชี้แจงกมธ.ทางด่วน ศักดิ์สยามขีดเส้น 15 วัน ต้องจบปมต่อสัมปทาน

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อพนักงานกทพ. ที่ BEM จ้างไว้ จึงกำหนดให้ BEM จะต้องจ้างพนักงานกทพ.ที่เคยจ้างอยู่จนกว่าเกษียณอายุ หรือหมดหน้าที่ รวมทั้งยกเลิกสิทธิพัฒนาที่ดินใต้ทางด่วน ที่ส่วนที่จะขยายสัมปทานเพิ่มเติ เว้นเฉพาะสิทธิตามสัญญาเดิม BEM มีสิทธิพัฒนาเฉพาะโครงสร้างทางด่วนที่ BEM บำรุงรักษา และต้องจ่ายค่าเช่าตามที่กทพ.กำหนด การปรับระบบจัดเก็บค่าผ่านทางให้รองรับระบบตั๋วรวมของรัฐ ที่สำคัญคือยกเลิกสัญญาชดเชยรายได้กรณีมีการแข่งขัน ยกเลิกการได้รับสิทธิพิจารณาก่อนในการดำเนินการส่วนต่อขยาย รวมทั้งการลงทุนสร้างขยายช่องทางจราจรทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด และทำจุดขึ้นลงทางด่วนขั้นที่ 2 บริเวณสถานีรถไฟกลางบางซื่อ

“นี่คือข้อตกลงทั้งหมดที่เรามีกับกทพ. ข้อพิพาททั้งหมด 17 คดีเป็นเรื่องแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่แค่ข้อพิพาทคดีเดียวอย่างที่มีความพยายามจะตั้งเป็นประเด็น และเมื่อเจรจา มูลค่าความเสียหายก็ลดลงกว่าครึ่ง และต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรชัดเจนให้ประชาชนได้ประโยชน์ มีคนถามว่าทำไมเราถึงยอมขนาดนี้ ก็เพราะเราไม่รู้ว่าจะเอาชนะคะคานกันไปทำไม เมื่อผลกระทบต้องตกถึงพี่น้องประชาชน เราในฐานะคนไทยก็ไม่รู้จะดึงดันกันไปทำไม อย่างไรก็ตามเราเองก็ต้องการความเป็นธรรม เรื่องนี้ไม่ใช่การเซ็ตซีโร่ เพราะ BEM ติดลบด้วยซ้ำ แต่เราก็ยอม เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ และอยากให้นึกถึงเมื่อครั้งเกิดข้อพิพาทเมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้คนที่หนุนให้สู้ตอนนี้ไปอยู่ไหน ผมไม่อยากย้อนอดีต แต่อยากให้มองในอนาคตว่าจะแก้ไขปัญหากันได้อย่างไร”นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความพยายามยื่นเงื่อนไขเรื่องการลดค่ารถไฟฟ้าในส่วนที่ BEM ดูแลเข้ามาเชื่อมโยงกับข้อตกลงเพื่อแก้ข้อพิพาททางด่วน นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวว่า คงเป็นคนละเรื่องกัน เรื่องระหว่างกทพ.กับ BEM เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญา ผ่านการพิพากษาของศาล การเจรจาก็ผ่านการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง มีผู้รับทราบหลายฝ่าย ทั้งบอร์ดกทพ. ทั้งอัยการ คณะกรรมการกำกับทุนรัฐและเอกชน จนได้ข้อยุติไปแล้วตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายได้รายงานให้กระทรวงคมนาคมรับทราบหมดแล้ว การสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ ก็น่าจะเพื่อความรอบคอบ และก็อย่างที่เห็นว่า BEM ยอมให้กทพ.แทบจะทุกทาง ไม่ใช่เริ่มที่ศูนย์ แต่เริ่มที่ติดลบด้วยซ้ำ จึงหวังว่ากระทรวงคมนาคมจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะความล่าช้า ก็เท่ากับดอกเบี้ยที่กทพ.ต้องแบกรับเป็นจำนวนมหาศาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน