วิษณุสวดบังสุกุล-พท.บี้ภาษี 13รองอธิการมหิดล-ลาออก ประท้วงปปช.ให้ยื่นทรัพย์สิน

ร.10 เสด็จฯราชพิธี ประกาศใช้รธน.ใหม่ 6 เม.ย. “สปท.-สนช.”ร่วม 30 คน จ่อทิ้งเก้าอี้หนีลงสมัครส.ส. มหิดลอนุมัติ 13 รองอธิการฯลาออก ประท้วงป.ป.ช.สั่งยื่นบัญชีทรัพย์สิน วัชรพลชี้เหตุบริหารงบฯ ต้องยื่นแสดงเพื่อความบริสุทธิ์ใจ บิ๊กป้อมโต้แม้ว-ยันทำตามกม. วิษณุพร้อมแจงภาษี ชี้เพิ่ม 80 ล้านมาจากมูลค่าอสังหาฯ

โปรดเกล้าฯรธน.ใหม่ 6 เม.ย.

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธ ศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรม นูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 6 เม.ย. โดยในเวลา 15.00 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยพระบรมวงศา นุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขา นุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วพระราชทานแก่นายกฯ เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรแล้วเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ อ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จบแล้วชาวพนักงานประโคมฆ้องชัยสังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด และวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง

บิ๊กตู่แถลง 4 เม.ย.นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับหมายกำหนด การพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่า เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากครม. จะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 เม.ย.นี้

นายวิษณุกล่าวถึงสถานะของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสนช.หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ว่า สนช.จะยังทำหน้าที่จนถึง 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง สำหรับสปท.จะทำหน้าที่จนกว่ากฎหมายปฏิรูปจะออกมาภายใน 4 เดือนหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

เมื่อถามถึงขั้นตอนหมายกำหนดการในพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต้องมีการยิงปืนใหญ่ทุกครั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อใดที่มีพระราชพิธีพระราชทานก็จะมีเช่นนี้ หากไม่มีพระราชพิธีก็ไม่ต้องทำอะไร

สำหรับเอกสารที่เผยแพร่ ระบุเป็นหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักพระราชวัง ที่ 9/2560 ลงวันที่ 1 เม.ย.2560 หมายกำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยพล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักพระราชวัง รับพระราช โองการเหนือเกล้าฯ ให้กำหนดพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ในวันพฤหัสบดีที่ 6 เม.ย.2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

สปท.-สนช.จ่อลา-ลงสมัครส.ส.

ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกำหนดการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติว่า เข้าใจว่าจะโปรดเกล้าฯลงมาเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)เปิดเผยว่า ภายหลังจากมีข่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติจะประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย.นี้ ได้พูดคุยกับสมาชิกสปท.และสนช.หลายคน ทราบว่ามีสปท.ประมาณ 20 คน และสนช. 10 คน จะลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้ได้สิทธิลงสมัคร ส.ส.ได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 263-266 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่ระบุให้บุคคลที่จะสมัครรับเลือกตั้งส.ส.จะต้องลาออกจากตำแหน่งภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ภายใน 90 วัน เพื่อป้องกันข้อครหาในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ส่วนจะสมัคร ส.ส.จริงหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่เป็นการเตรียมคุณสมบัติไว้ ส่วนตัวนั้นขอตัดสินอีกครั้งว่าจะขอลาออกหรือไม่ แต่ถ้าจะลาออกจริงก็จะเปิดเผยให้รับทราบอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทเฉพาะกาล มาตรา 263-266 ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ได้กำหนดให้แม่น้ำ 4 สาย ประกอบด้วย ครม. คสช. สนช. สปท. หากจะลงสมัคร ส.ส.ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับจากรัฐ ธรรมนูญประกาศใช้

สนช.หารือรธน.บังคับใช้

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเตรียมความพร้อมหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ว่า เท่าที่ทราบครม.จะประชุมเพื่อกำหนดขั้นตอนและ รายละเอียดในการเสนอกฎหมายโดยฝ่ายบริหาร เมื่อฝ่ายบริหารโดยกระทรวงต่างๆ ที่เสนอร่างกฎหมายเข้ามาต้องตรวจสอบว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์อีกครั้ง หากไม่สมบูรณ์ต้องส่งกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำใหม่ ก่อนที่จะ เสนอให้ครม.ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง จึงจะเสนอให้สนช. ซึ่งจะมีวิปสนช.เป็นผู้ตรวจสอบอีกครั้งว่าตรงตามมาตรา 77 หรือไม่ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบรอบด้าน การทำประชาพิจารณ์ การรับฟังความคิดเห็นผู้ที่ได้รับผล กระทบทุกภาคส่วน

สำหรับกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช.ทั้งอยู่ในระเบียบวาระและในชั้นกรรมาธิการ จะต้องมีการตรวจทานว่าแต่ละฉบับได้ดำเนินการครบถ้วนตามมาตรา 77 หรือไม่ โดยให้สอบถามกลับไปยังหน่วยงานที่เสนอร่างกฎหมายมา โดยมีกฎหมายสำคัญที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการที่อาจต้องดำเนินการตามาตรา 77 ได้แก่ 1.ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2.ร่างพ.ร.บ.อาวุธปืน และ 3.ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ โดยต้องไปตรวจสอบว่าได้ดำเนินการครบถ้วยสมบูรณ์ หรือไม่ หากไม่ครบถ้วนต้องดูว่าที่ประชุมครม.จะมีมติให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กระทบต่อประชาชนหลายภาคส่วน

บิ๊กป้อมโต้แม้ว-ยันทำตามกม.

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯโพสต์เฟซบุ๊กระบุถูกใส่ร้ายป้ายสีว่า ขอย้ำว่าอย่างเราดำเนินการตามกฎหมาย ตนในฐานะดูแลด้านความมั่นคง ทุกเรื่องต้องว่าไปตาม พยานหลักฐานและเป็นไปตามกฎหมาย จะไม่มีการใส่ร้ายป้ายสี รวมทั้งไม่มีดราม่าอะไรทั้งสิ้น เมื่อถามย้ำว่านายทักษิณบอกอยู่เงียบๆ แล้ว แต่ยังถูกใส่ร้ายป้ายสีอีก พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า ขอย้ำอีกว่ารัฐบาล และคสช.ทำตามกฎหมายทั้งหมด

“เราเดินตามโรดแม็ปทั้งหมดทุกอย่างต้องเดินไปตามนี้ บอกว่าจะมีรัฐธรรมนูญก็เป็นไปตามนั้น พวกคุณพยายามถามทุกวันว่าต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ และขอให้สังเกตว่าตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ดำเนินการเกี่ยวแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จนถึงปัจจุบันมีตรงไหนที่พวกเราโกหกบ้าง และมีตรงไหนที่เราไม่ทำตามโรดแม็ปบ้าง ซึ่งย้ำไม่มี ดังนั้น ไม่ต้องมาถามตามซอกซอยขอให้ถามบนถนนใหญ่ อย่าไปถามตามถนนซอกซอย พวกคุณไปคิดเองเออเอง ตอบเอง เขียนเองทั้งนั้น ย้ำว่าไม่มี” พล.อ.ประวิตรกล่าว

จ่อสรุปผลถกปรองดอง

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวถึงคืบหน้าการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า ในวันที่ 5 เม.ย. ทุกอย่างก็จะได้ข้อสรุปหมดแล้ว หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลทั้งหมดไปยังคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.สส. เป็นประธาน เพื่อบูรณาการข้อคิดเห็นต่อไป ทั้งนี้ประเด็นต่างๆ ที่เรารับฟังจากพรรคการเมือง ตัวแทนภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และมูลนิธิต่างๆ เสนอมาทั้ง 10 ประเด็น ตามที่ระบุไว้เป็นข้อมูลที่ได้ครบถ้วนทุกประเด็น

พล.อ.ชัยชาญกล่าวต่อว่า กระบวนการต่อไปคือจะส่งต่อให้คณะอนุกรรมการฯชุดที่ 2 วิเคราะห์ สังเคราะห์ต่อไป ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ยกเลิกกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและจัดตั้งคณะกรรมการกลางที่เป็นอิสระขึ้นมา ทุกอย่างได้ดำเนินการตามกระบวนการไว้แล้ว อีกทั้งการดำเนินการของคณะอนุกรรมการรับฟังฯล้วนดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง

13รองธิการฯ ลาออก-ปมโชว์เซฟ

จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ระหว่างวันที่ 3 เม.ย.-2 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยคำสั่งข้างต้นเป็นการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีฯ เพิ่มเติมอีก 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐ 2.สถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐ 3.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 4.เทศบาลนคร 5.เทศบาลเมือง 6.เทศบาลตำบล และ7.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้น ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่อยู่ในสังกัดรัฐและอยู่ในกำกับรัฐ ป.ป.ช.ได้กำหนดให้รองอธิการบดี เป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากมติ ป.ป.ช.ออกมา เกิดกระแสข่าวว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว จนยื่นแสดงความจำนงลาออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วงคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงกำไร ไม่จำเป็นต้องแสดงทรัพย์สิน โดยล่าสุด มม. มีคำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดลที่ 976/2560 เรื่อง ให้พนักงานมหาวิทยาลัยออกจากตำแหน่งประเภทผู้บริหาร โดยระบุรายละเอียดว่า ตามที่มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งแต่งตั้งรองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 13 ราย บัดนี้บุคคล ดังกล่าวมีความประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยพิจารณาแล้ว เห็นสมควรอนุมัติให้ลาออกจากตำแหน่งประเภทผู้บริหารได้ตามความประสงค์ 13 ราย สั่ง ณ วันที่ 31 มี.ค. มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.เป็นต้นไป

ปปช.จี้รองอธิการโชว์เซฟ

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่มีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 13 ราย ยื่นใบลาออกเพื่อคัดค้านข้อกำหนดของป.ป.ช. ที่ให้ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า ทราบข่าวแล้ว และพร้อมที่จะเปิดแถลงข่าว เพื่อชี้แจงรายละเอียดให้ทราบ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญที่จำเป็นต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีงบประมาณ ที่ใช้ในการดำเนินการบริหารจำนวนสูง ซึ่งอธิการบดีได้มอบหมายรองอธิการบดีให้ปฏิบัติราชการแทน และจากการที่ป.ป.ช. ได้ไต่สวนเรื่องร้องเรียนก็เป็นเรื่องร้องเรียนจากมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและเพื่อเป็นประโยชน์ในการป้องปราม คณะ กรรมการป.ป.ช. จึงมีมติว่าให้รองอธิการบดีได้ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยในประกาศนั้นให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2560 นี้เป็นต้นไป

โดยในประกาศดังกล่าวรวมไปถึงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง ที่ไม่เคยต้องยื่นก็ต้องยื่นและยังมีตำแหน่งอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น หลายตำแหน่งของตำรวจ และเช่นเดียวกับหลายตำแหน่งในป.ป.ช. ที่ไม่เคยยื่นก็ต้องยื่น ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินโดยที่ไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพียงแต่เก็บไว้เป็นหลักฐานในกรณีมีเหตุจึงจะนำมาตรวจสอบ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ไม่เหมือนกับนายกฯ รัฐมนตรี สนช. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องประกาศต่อสาธารณะ ดังนั้นไม่มีอะไรต้องน่าห่วงใยเพราะหลายคนเขาก็ทำกันหมด

เหตุมีอำนาจบริหารงบฯ

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวด้วยว่า ขอย้ำว่าเป็นตำแหน่งที่ได้พิจารณาใหม่หลายๆ หน่วยงานที่จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติม เนื่องจากมีการกล่าวหาเป็นจำนวนมาก และเป็นตำแหน่งสำคัญที่บริหารงบประมาณจำนวนสูงมาก ตรงนั้นเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ที่สำคัญไม่ได้นำไปเปิดเผยต่อสาธารณะ เพียงเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน เอาไว้ตรวจสอบหากมีใครร้องเรียนกล่าวหา ไม่เหมือนกับนักการเมืองที่จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ถือเป็นมาตรการในเชิงป้องปรามเท่านั้นเอง การที่รองอธิการฯลาออกกันนั้นผมก็เข้าใจ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เป็นเรื่องของพวกเขา เรื่องอย่างนี้บังคับกันไม่ได้ แต่เป็นเรื่องทางการบริหาร

“ถึงแม้จะเป็นตำแหน่งทางวิชาการแต่เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ก็เพื่อความบริสุทธิ์ใจเท่านั้น ก็เหมือนกับรองปลัดกระทรวงก็ต้องยื่น” พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว

เรืองไกรยื่นบี้วิษณุแล้ว

ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผ่านเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน เพื่อขอให้เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2548-57 และค่าใช้จ่ายที่ส่งบุตรไปศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ที่ประเทศสหรัฐว่า ขอให้นายวิษณุเปิดเผยจำนวนเงินที่ส่งบุตรชายไปเรียนต่อรวมทั้งสิ้นเท่าใด และมีแหล่งที่มาจากไหน เพื่อดูว่าทรัพย์สินทั้งหมดได้เสียภาษีครบถ้วนหรือไม่ เนื่องจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินของนายวิษณุ ในสมัยดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบันมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 87.5 ล้านบาท เฉลี่ยต่อปีเป็นเงิน 9.7 ล้านบาท แต่การยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งล่าสุดของนายวิษณุและภรรยามีทรัพย์สินเพิ่มเพียง 3 ล้านบาท ถ้านายวิษณุไม่เปิดเผยรายละเอียดดังกล่าว จะเดินทางไปยื่นกรมสรรพากรและป.ป.ช. และหน่วยงาน อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“พล.อ.ประยุทธ์เคยระบุว่าจะตรวจสอบทรัพย์สินของผมและคู่สมรส ว่ามีรายได้มาจากไหน จำนวนเท่าไหร่ จึงอยากให้รองนายกฯ เปิดเผยข้อสงสัยในเรื่องการเสียภาษีเช่นเดียวกัน ส่วนจะยื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการตรวจสอบรัฐมนตรีคนอื่นอีกหรือไม่นั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมจะขอให้มีการเปิดเผย เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นต้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเรียกร้องยื่นให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์ของนายวิษณุมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปหรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาประเด็นหุ้นชินฯถูกมองเป็นประเด็นทางการเมือง จึงอยากให้เรื่องของนายวิษณุ เป็นประเด็นทางกฎหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคน ทุกรัฐบาล ต้องถูกตรวจสอบได้ทุกคน ไม่ใช่เลือกตรวจสอบฝั่งใดฝั่งหนึ่งเท่านั้น

วิษณุพร้อมแจงภาษี

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีนายเรืองไกรเรียกร้องให้ตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลัง 9 ปี ของนายวิษณุว่า เคยยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.ไปแล้ว พร้อมแนบรายการเสียภาษีเงินได้ หากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดมีข้อสงสัยก็ต้องเข้ามาตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพากร หรือ ป.ป.ช. หากสงสัยตรงไหนแล้วต้องการเรียกให้ไปชี้แจงก็ยินดีนำเอกสารหลักฐานไปชี้แจงทุกประการ เพราะมีหลักฐานทั้งหมดไว้เรียบร้อยและเคยยื่นหลักฐานเหล่านี้ไปแล้วเช่นกัน ไม่ได้มีปัญหา

“นายเรืองไกรไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาว่าผมทุจริต แต่เป็นการตั้งข้อสงสัยเท่านั้นเองว่าทำไมมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น อย่างที่นายเรืองไกรพูดว่า 87 ล้านบาท ซึ่งผมก็ไม่มีปัญหาในการชี้แจงเพราะมีหลักฐานแสดง” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า แต่ถ้ามางอกเงยตอนที่กำลังเป็นรองนายกฯ ในตอนนี้ สมมติว่าตอนเข้ามามี 100 ล้านบาท แล้วตอนออกไปมี 200 ล้านบาท อย่างนั้นก็ถือว่าผิดปกติ แต่กรณีที่ทิ้งช่วง 9 ปีนั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอะไรก็ไปทำมาหากิน ตนก็ไปเป็นกรรมการบริษัท มีทรัพย์สินงอกเงยขึ้นมาจริงๆ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมานั้นจำไม่ได้ว่ามีกี่ล้าน ซึ่งตัวเลขที่เขาบอกว่า 80 กว่าล้านนั้นก็อาจจะใช่ เพราะเป็นไปตามที่ตนระบุไว้ เงินที่เพิ่มมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องของเงินสดที่มากองอยู่ ไม่ใช่เรื่องของรายได้

รับโดนบี้เหมือน 60 นักการเมือง

นายวิษณุกล่าวต่อว่า กรณีของตนนี้ก็เหมือนกับกรณีของนักการเมือง 60 ราย ซึ่งกรมสรรพากรได้รายงานให้ตนทราบว่าคนเหล่านั้นได้ไปชี้แจงต่อกรมสรรพากรให้เข้าใจเรียบร้อยแล้วและได้รับการปล่อยไปเกือบหมด เหลือเพียงบางรายที่ยังไม่มาชี้แจง แต่ไม่ทราบว่ามีกี่ราย เขาสามารถชี้แจงได้ว่าตอนที่ยื่นเสียภาษีมีราคาประเมินอีกราคาหนึ่ง แต่เมื่อยื่นอีกครั้งเป็นราคาประเมินอีกราคาหนึ่งทำให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ามีเงินมากองตรงหน้ามากขึ้น

เมื่อถามว่ากังวลว่านับจากนี้จะถูกขุดคุ้ยเรื่องต่างๆ ขึ้นมาอีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ส่วนที่มีการไประบุถึงกรณีที่ตนส่งลูกเรียนต่างประเทศนั้นก็เป็นเรื่องจริง ตนส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ไม่มีปัญหา ไม่ใช่เรื่องปกปิด ปิดบัง เมื่อถามว่ามองว่าเป็นการเอาคืนทางการเมืองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่ขอตอบอะไร วิญญูชนย่อมรู้ได้ด้วยตัวเอง ก็เลยไม่ตื่นเต้นอะไร”

ช่วงท้ายของการให้สัมภาษณ์ นายวิษณุย้อนถามผู้สื่อข่าวว่ารู้จักบทสวดมนต์บทพระธรรมคุณหรือไม่ ที่ว่าด้วย “สะหวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฺฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ” แปลว่าเรื่องอย่างนี้วิญญูชนก็พึงรู้ได้ด้วยตัวเองว่ามีอะไรเกิดขึ้น เคยสวดกันไหม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าต้องสวดบทแผ่เมตตาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “อันนั้นเอาไว้ทีหลัง” ผู้สื่อข่าวถามว่าจะฝากบทสวดนั้นให้กับใครใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “รายนั้นต้องใช้บทสวด อะนิจจา วะตะสังขารา ซึ่งเป็นบทสวดบังสุกุล” ก่อนขึ้นรถเดินทางออกจากทำเนียบ

สนช.เสวนาทุจริตเชิงนโยบาย

รัฐสภา คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของ สนช. และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมจัดสัมมนาทางวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติเรื่อง “การทุจริตเชิงนโยบาย : มาตรการในทางกฎหมายเพื่อการควบคุมและป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย” โดยมี นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. นายปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา

นายอุดมกล่าวว่า การทุจริตเชิงนโยบายเป็นการทุจริตอย่างมีระบบ มีแบบแผนที่ดำเนินการโดยองค์ความรู้และบุคลากรที่มีอำนาจ ยกตัวอย่างโครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินจำนวนมาก สมัยรัฐบาลนั้นจะต้องศึกษา แต่การศึกษาจะต้องมีผู้มีประสบการณ์ที่ทราบดีแล้วว่า โครงการนี้จะมีผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะการศึกษาเชิงวิชาการ แม้ในช่วงเกิดการส่อการทุจริตในโครงการ สภาได้ตรวจสอบจำนวนมากแต่กลับไม่เป็นผล ตรงนี้เป็นช่องว่างในการตรวจสอบนโยบายขนานใหญ่ ชี้ให้เห็นว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านไม่เป็นผล ตรงนี้เราต้องดูว่าจะทำอย่างไร ต้องยอมรับว่าโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ของรัฐอยู่ที่ใคร รัฐเสียเงินจำนวนมากไปกับภาพลบโครงการทุจริตเชิงนโยบาย เพราะการจัดการกับผู้กำหนดเชิงนโยบายไม่ชัดเจน ดังนั้นต้องกำหนดโทษกับผู้กำหนดนโยบายที่ทำให้ประเทศเกิดผลเสียขนานใหญ่ด้วย

ชงเอาผิดตั้งแต่สมคบคิด

ด้านนายปกป้องกล่าวว่า การป้องกันการทุจริตที่ดีคือการปราบปรามที่มีประสิทธิภาพ เช่น กฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และกฎหมายอื่นๆ ที่มีการลงโทษความผิดทางอาญา การแก้ไขปัญหาจะต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางด้วยวิธีการตัดตั้งแต่ต้นลม คือ การกำหนดให้การสมคบคิดจะกระทำทุจริตเชิงนโยบายเป็นฐานความผิดทางอาญา โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินนโยบายก่อน จากปัจจุบันที่การลงโทษทางอาญาจะลงโทษได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำได้ลงมือและก่อให้ความผิดสำเร็จแล้วเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ขั้นตอนการสมคบจะทำให้การปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การวางมาตรการเช่นนี้จะสามารถควบคุมการทุจริตได้ในสองมิติ ได้แก่ 1.การออกนโยบายที่มีวัตถุประสงค์มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีลักษณะผลประโยชน์ขัดกัน และ 2.การออกนโยบายที่ชอบด้วยกฎหมายแต่มีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากนี้ ควรต้องมีมาตรการในการคุ้มครองพยานด้วย เนื่องจากการทุจริตในเชิงนโยบายส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำของผู้มีอิทธิพล ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการที่คุ้มครองพยานย่อมทำให้การหาหลักฐานในการเอาผิดกระทำได้ยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน