‘ทวี’ อัดระบบประยุทธ์ ใช้งบจัดการน้ำ 4 ปี 2 แสนล้าน สูญเปล่า ยังเกิดปัญหาซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาติ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งด้วย “ระบบประยุทธ์ รวมศูนย์” ที่อาจเป็นการสูญเปล่า !!! ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ที่ยังไม่เห็นอนาคตในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะวิธีการแก้ไขปัญหาของ พลเอกประยุทธ์ หลังจากได้รัฐประหารยึดอำนาจและเป็นรัฐบาล

ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 เห็นชอบให้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 185/2558 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ต่อมาวันที่ 25 ต.ค. 60 พลเอกประยุทธ์ ได้ใช้มาตรา 44 ตั้ง “สำนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” โดยระบุว่าเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างบูรณาการ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอำนาจระดมสรรพกำลัง-ตั้งศูนย์เฉพาะกิจ”

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ให้สร้างระบบ SWOC ( Smart water operation center ) ที่เรียกว่า “ศูนย์น้ำอัจฉริยะ” ขึ้น โดยให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการได้เปิดใช้เมื่อปี 2560 ที่มูลค่าการลงทุนเกินกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำมาติดตาม วิเคราะห์ พยากรณ์และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ รวมทั้งยังเป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำของผู้บริหารประเทศ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่าที่ประชนได้รับรู้จากข่าว จะเห็นได้ว่า หลังจากที่มีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ ตามระบบ นายกฯ ประยุทธ์ รวมศูนย์ แต่ปัญหาก็ยังเป็นเช่นเดิม และหากเรามาดูรายละเอียด

ด้านงบประมาณที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำภายหลังจากตั้ง คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปี พ.ศ.2558 ที่พล.อ.ประยุทธ์ ฯ เป็นประธานแล้ว จากข้อมูลสำนักงบประมาณที่เผยแพร่คือ

งบประมาณปี 2559 จำนวน 52,630 ล้านบาท
งบประมาณปี 2560 จำนวน 54,200 ล้านบาท
งบประมาณปี 2561 จำนวน 60,355 ล้านบาท
งบประมาณปี 2562 จำนวน 62,831 ล้านบาท

และที่เสนอตั้งในงบประมาณปี 2563 จำนวน 59,431 ล้านบาท ที่กำลังเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาตรวจสอบ สอบถาม ติดตามว่านำเงินที่เป็นภาษีอากรไปใช้เพื่อประชาชนชอบด้วยกฎหมาย วินัยการเงินการคลัง และเกิดประโยชน์อย่างไร

เห็นได้ชัดว่าตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ที่พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน บริหารจัดการนำได้ใช้งบประมาณไปกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ยังพบกับปัญหาที่ต้องการแก้ไขยังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก ซึ่งรัฐมักอ้างว่าปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตกและภูมิอากาศโลกที่แปรปรวน

“งบน้ำ งบภัยแล้ง งบอุทกภัย” จะเป็นที่โจษขานว่ามีการหาประโยชน์ในงานขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ การแก้ปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย ยิ่งในช่วงรัฐบาล คสช. ผ่านมา ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่จะตรวจสอบ กลั่นกรองติดตามการใช้งบประมาณ ผู้นำองค์กรของรัฐ และองค์กรอิสระที่รับผิดชอบในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตล้วนก็ถูกแต่งตั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ฯ ที่รวบอำนาจนั่งเป็นประธานบริหารจัดการน้ำแทนทั้งสิ้น จึงไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ดังนั้น แม้รัฐใช้งบบริหารจัดการน้ำไปมากกว่า 2 แสนล้านบาทแต่กลับพบว่าปัญหาน้ำท่วมและแห้งแล้งขาดน้ำไม่ได้เบาบางลงเลย

ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำว่าใช้งบประมาณที่ไปลงทุนเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่คุ้มค่าหรือไม่ หรือไม่ได้ลงทุนจริงแค่ไหนเพียงไร ที่ผ่านมาขาดการตรวจสอบ เพราะบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยทำให้ประชาชนไม่มีส่วนรวม ไม่มีระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลและไม่มีการกระจายอำนาจ

ขณะนี้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเชื่อว่าการบริหารจัดการน้ำน่าจะดีกว่าที่ผ่านมา และคำพูดที่ว่า

“ขอแนะนำพื้นที่ใดน้ำท่วมมากให้ปรับเปลี่ยนอาชีพ เช่น เลี้ยงปลาแทนการทำนาปลูกข้าว..”

ที่พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ พูดกับประชาชนขณะเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2562 ที่แสดงถึงวิธีคิดตามระบอบ “ประยุทธ์ รวมศูนย์” ก็จะได้รับการแก้ไขด้วยหลักประชาธิปไตยที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจที่ประชาชนมีส่วนรวมไปด้วย

 


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน