จับตาปมถวายสัตย์หลังมติศาลรธน.

รายงานพิเศษ

จับตาปมถวายสัตย์ : ประเด็นการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ทำให้มีคำถามว่าแล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

การเดินหน้าพิจารณาญัตติซักฟอกของฝ่ายค้าน เพื่อหาข้อยุติในสภาจะเป็นไปได้แค่ไหน

บทสรุปของเรื่องนี้จะไปจบที่หน่วยงานใด

 

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

โดยหลักการแล้วเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องรับคำร้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา

การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญของ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม รวมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ส่วนตัวมองว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องดังกล่าวไปพิจารณาได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสาธารณะว่าเรื่องดังกล่าวกระทำได้หรือไม่ได้อย่างไร

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณีดังกล่าว คำถามคือแล้วจะเหลือหน่วยงานหรือองค์กรใดเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้ นอกจากนี้ อาจเกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่าแล้วประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ ใครจะทำหน้าที่พิจารณา

ดังนั้น มองว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ควรต้องให้ข้อมูล หรือมี คำตอบที่ชัดเจนว่าหากมีคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้อีก ประชาชนหรือภาคประชาสังคมจะต้องไปยื่นคำร้องกับหน่วยงานหรือองค์กรใด

ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ปัญหานี้ ก็เพียงแค่ พล..ประยุทธ์ และครม.ควรต้องกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ให้ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ เพียงแค่แก้ไขให้ถูกต้อง

แต่เมื่อดูจากท่าทีของ พล..ประยุทธ์ในเรื่องนี้ เสมือนไม่ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา ทำให้หลายฝ่ายอาจตั้งคำถามได้ว่าจะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ จะปล่อยให้มีการแทรกแซงจากฝ่ายทหารจนเกิดการปฏิวัติอีกใช่หรือไม่ หรือจะส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยจริงหรือ เพราะต้องไม่ลืมว่าการเข้ามาสู่อำนาจครั้งแรกของพล..ประยุทธ์ ก็มาจากการรัฐประหาร

ขณะที่ฝ่ายค้านเองก็แสดงออกชัดเจนว่าต้องการให้รัฐบาล พล..ประยุทธ์ ดำเนินการถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก็เท่านั้น

แต่เมื่อท่าทีของรัฐบาลเป็นเช่นนี้สิ่งที่สภาจะดำเนินการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามมาตรา 152 นั้น ฝ่ายค้านต้องตั้งคำถามในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ก็เชื่อว่าคงจะไม่ได้คำตอบใดๆ จากรัฐบาล หรืออาจจะได้เห็นท่าทีหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบ

ซึ่งสามารถมองได้ 2 นัยยะ คือรัฐบาลไม่อยากตอบคำถามนี้จริงๆ หรือรัฐบาลคิดจะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าท้ายที่สุดเรื่องนี้ก็จะไม่มีคำตอบและจบไปแบบเงียบๆ

 

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.อุบลราชธานี

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ไม่รับคำร้องกรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนั้น อาจจะเป็นครั้งแรกที่องค์กรอิสระของไทยวินิจฉัย ไม่รับคำร้องในกรณีลักษณะนี้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดออกมาแล้วก็ถือว่าน่าจะเป็นข้อยุติ

จากนั้นเห็นว่าควรให้เป็นขั้นตอนของรัฐสภาได้ตรวจสอบต่อ และเห็นด้วยตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดโอกาสไว้ ให้สมาชิกรัฐสภาได้พิจารณาและอภิปราย แสดงความเห็น รวมทั้งข้อเสนอต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกันตามที่มีข้อกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากคาดว่าเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้เกิดการเทียบเคียง หากมีกรณี ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นการใช้ช่องทางของสภาอธิบายเรื่องนี้ ถือว่าถูกต้องแล้ว เมื่อช่องทางกฎหมายเปิดให้โดยใช้รัฐสภาก็ถือว่าน่าจะยุติกัน ที่สภา

และเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ยังมีข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวได้ติดตามรับฟังไปพร้อมกันด้วย และที่สำคัญนายกรัฐมนตรี ควรใช้เวทีสภา แสดงความจริงใจที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดความกระจ่าง ชี้แจงข้อคลางแคลงใจของประชาชน

เรื่องดังกล่าวเมื่อสงสัยและส่งเรื่องสอบถามจากกระบวนการต้นทาง ที่น่าจะให้คำวินิจฉัยได้คือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็คิดว่าน่าจะสิ้นสุดได้แล้ว ส่วนบทบาทต่อไปอย่างที่บอกคือเป็นการตรวจสอบของรัฐสภา

ผู้บริหารประเทศควรเคารพข้อกำหนดที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและใช้เวทีของรัฐสภานี้ชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง เพราะจะเป็นแบบอย่าง ในการบริหารประเทศ

ที่สำคัญคือเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้บริหาร เมื่อมีการชี้แจงแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ควรที่จะรับฟัง

 

..วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการ กกต.

เมื่อเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วและศาลก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง นั่นคือเรื่องนี้ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอันยุติแล้ว ไม่มีมูลที่จะไต่สวนคดี ต่อไป ซึ่งศาลอธิบายคำวินิจฉัยไว้ในส่วนของศาลไว้แล้ว

แต่ถ้ามองในด้านการเมืองเป็นการ ยื่นญัตติเพื่อขออภิปรายตามอำนาจในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการอภิปรายโดยไม่ลงมติ เชื่อว่าขั้นตอนนี้ก็ต้องดำเนินการต่อไปตามที่มีการนัดหมายอภิปรายไว้แล้วในวันที่ 18 .. ตามหลักที่ได้บรรจุวาระไว้แล้วโดยประธานสภา จากนั้นก็อภิปรายตามวาระได้ปกติ

ส่วนประเด็นระหว่างการอภิปรายนั้นเข้าใจว่าทางฝ่ายรัฐบาลคงยึกยัก มีการยกมือขึ้นแล้วอ้างว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้ามองแล้วถือว่าเป็นคนละประเด็นกัน

ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องพิจารณาตามคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่น ส่วนกรณีในรัฐสภานั้นเป็นอำนาจคนละส่วน และอำนาจตามรัฐธรรมนูญก็มีระบุอยู่แล้วว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นต้องครบถ้วน ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการถวายสัตย์ของนายกฯ และครม.นั้นมีสคลิปและวิดีโอบันทึกไว้ถือว่าเป็นหลักฐานได้ว่ากระทำถูกหรือไม่

แต่แม้นายกฯจะถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนก็ตาม ในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดว่าจะมีความผิดอะไร และที่มีการอภิปรายในสภาครั้งนี้ก็ไม่ได้มีผลความผิดอะไรกับ นายกฯ แต่อย่างไรก็ควรดำเนินการอภิปรายต่อไปตามวาระข้อบังคับของที่ประชุม สภา

เรื่องนี้ไม่มีองค์กรใดตรวจสอบได้แล้ว แม้แต่ในสภาที่จะอภิปรายกันแล้วก็ไม่มีผลอะไร เป็นการอภิปรายแล้วก็จบกันไปเอง แต่จะเป็นเรื่องทางสังคมที่จะคุ้ยแคะกันเอง หรืออาจรวมถึงการกดดันทวงถามความรับผิดชอบโดยการให้ลาออก แต่ เชื่อว่ารัฐบาลก็จะอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจทำผิด หรืออ้างว่าการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนไม่ได้มีผลทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหายอะไร ก็แล้วๆ กันไป

เรื่องนี้จะต้องไปยุติที่รัฐสภาคือให้มีการอภิปรายทั้งสองฝ่ายแล้ว เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้วไม่มีข้อมูลใดที่จะยกมาอภิปรายประธานสภาก็จะสั่งยุติอภิปราย

แต่ถ้ามีกรณีใดกรณีหนึ่งที่มีฝ่ายรัฐบาลเสนอขึ้นมาว่าให้นับองค์ประชุมแล้วไม่ครบ การอภิปรายก็ไม่สมบูรณ์ ถือเป็นการเล่นทางกลยุทธ์ หรือแม้แต่องค์ประชุมครบ สุดท้ายเมื่อครบตามกำหนดเวลาให้อภิปรายคือ 24.00 . เรื่องนี้ก็ยุติไป เรื่องก็จบ

 

ยุทธพร อิสรชัย

รศ.ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.

การอภิปรายที่จะเกิดขึ้นวันที่ 18 .. เชื่อว่าดำเนินต่อไปได้ เพราะในแง่การทำงานของสภาจะยุติการอภิปรายต้องขอมติที่ประชุมหรือให้ฝ่ายค้านที่เสนอเป็นผู้ถอนญัตติ

แต่เชื่อว่าฝ่ายค้านต้องพยายามรักษาพื้นที่การทำงานในสภา เพราะพื้นที่การทำงานของฝ่ายค้านมีพื้นที่เดียวคือในสภา ขณะที่รัฐบาลทำงานได้ทั้งในสภา ในฐานะฝ่ายบริหาร ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ

กระบวนการหลังจากนี้ก็ต้องไปดูในวันที่ 18 ..ว่าหากมีผู้หยิบยกประเด็นขึ้นมาว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็ถือว่าเป็นข้อยุติ และคำวินิจฉัยศาลก็บอกว่าไม่มีองค์กรไหนที่จะมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ด้วย

ดังนั้นจะมีข้อยุติหรือไม่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับมติของสภาในวันนั้นว่าจะมีอย่างไร แต่เชื่อว่าจะมีผู้ที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาในการประชุมในวันที่ 18 ..นั้นด้วย

การที่ประธานสภาให้เดินหน้าพิจารณาญัตตินี้ต่อไปถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะโดยอำนาจของประธานสภาเองไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้ยุติการประชุม สั่งปิดประชุมหรือสั่งให้ถอนญัตติได้โดยลำพังประธานสภาเท่านั้น เพราะการถอนต้องเป็นการถอนโดยเจ้าของญัตติหรือผู้เสนอญัตติ ซึ่งคือฝ่ายค้าน

ส่วนการจะยุติหรือการปิดประชุมต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภา ดังนั้นต้องดำเนินการเปิดสภาในวันที่ 18 ..แล้วไปว่ากันในสภาต่อ

ถามว่าแล้วเรื่องนี้จะไปยุติที่ไหนในเมื่อไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบได้ ส่วนตัวคิดว่าในเชิงข้อกฎหมายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็มีข้อยุติอยู่แล้ว คือศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าศาลไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบนอกกรอบอำนาจศาล และไม่มีองค์กรไหนที่จะวินิจฉัยได้

นั่นก็คือคำตอบอยู่แล้วว่าเรื่องนี้ในทางกฎหมายจึงเป็นที่ยุติแล้ว ก็จะส่งผลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นเพราะอย่างน้อยที่สุดป้อมเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณก็ถือว่ามีข้อยุติของกฎหมายแล้ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ผูกพันทุกบอร์ดให้ต้องปฏิบัติตาม

ดังนั้นในตอนนี้เหลือเพียงเรื่องประเด็นทางการเมืองเท่านั้น โดยการอภิปรายในสภาฝ่ายค้านต้องระมัดระวังการพูดประเด็นต่างๆ และในแง่ของข้อกฎหมายก็มีบทบัญญัติที่ต้องระมัดระวังในการอภิปรายในสภา

และมีความเป็นไปได้ถ้าสถานการณ์จำเป็นอาจจะมีการประชุมลับ ดังนั้นคอการเมืองอาจจะได้เห็นความเข้มข้นที่น้อยลง และแน่นอนว่าในระยะสั้นไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมหรือแรงสะเทือนในทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะเมื่ออธิบายจบก็ปิดสมัยประชุมพอดี สมัยประชุมสามัญก็ยุติลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน