เส้นเลือดอุดตัน รัฐบาลขั้นโคม่า?

อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลุดปากยอมรับกำลังเป็นโรคเครียดจากปัญหารุมเร้า

กรณีถวายสัตย์คาราคาซัง ยังมาเกิดเรื่องแทรกซ้อนกรณีสื่อออสเตรเลียเสนอข่าวเกี่ยวกับร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เส้นเลือดใหญ่ของรัฐบาล ควบตำแหน่งคนป้อนกล้วยเลี้ยงลิง

เป็นเรื่องที่สังคมสนใจอย่างมาก กรณีเดอะ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ เสนอข่าวร.อ.ธรรมนัส อ้างข้อมูลศาลออสเตรเลีย ในคดีพัวพันค้ายาเสพติดเมื่อ 30 ปีก่อน กระทั่งถูกตัดสินจำคุก 9 ปี ลดเหลือ 6 ปี ติดจริง 4 ปี ก่อนถูกส่งตัวกลับไทย ปี 2541

ข้อมูลที่สื่อออสเตรเลียตีพิมพ์ แตกต่างกับข้อมูลที่ร.อ.ธรรมนัส เคยแถลงข่าวเปิดใจตอนจัดตั้งรัฐบาลราวเดือนมิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา และเหมือนหนังคนละม้วนกับการตอบกระทู้ถามสดของส.ส.พรรคฝ่ายค้านในสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา

ร.อ.ธรรมนัส เชื่อว่าการขุดคุ้ยคดีความในอดีต 30 ปีก่อนของตนเองขึ้นมา เป็นเครือข่ายซึ่งมีทั้งคนในประเทศและต่างประเทศร่วมมือกันทำเป็นขบวนการ หวังผลไปถึงการทำลายรัฐบาลชุดนี้

ในขณะที่เรื่องสื่อออสเตรเลียยังไม่สิ้นกระแส ก็ยังเกิดกรณีเพจดังในโซเชี่ยลตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวุฒิการศึกษา ปริญญาเอกของร.อ.ธรรมนัส ที่แจ้งไว้กับสภาและบันทึกไว้หลายแห่ง มีที่มาที่ไปอย่างไร ของจริง หรือของปลอม

ดังนั้น จึงถูกต้องแล้วที่ร.อ.ธรรมนัส ประกาศจะฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งกับสื่อออสเตรเลียและผู้เกี่ยวข้องกับการกล่าวหาเรื่องวุฒิการศึกษาปริญญาเอก เพราะการฟ้องร้องไม่ว่าคดีเดียวหรือกี่ร้อยคดี

ข้อดีคือเพื่อให้ความจริงปรากฏต่อประชาชนและสื่อมวลชนทั้งในไทยและต่างประเทศ

เนื่องจากข่าวเกี่ยวกับร.อ.ธรรมนัส ได้แพร่กระจายไปแล้วทั่วโลก สื่อใหญ่ระดับโลก เช่น เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ ของฮ่องกง, เดอะ ไทมส์ ออฟ ลอนดอน, รวมทั้งบีบีซี ของอังกฤษ ต่างก็นำเรื่องที่สื่อออสเตรเลีย ลงไปตีพิมพ์ขยายความ

หลังจากสื่อหลักต่างประเทศหลายสำนักเคยนำเสนอข่าวในทางลบเกี่ยวกับรัฐบาลไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว

เรื่องของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กำลังเป็นประเด็นร้อน สังคมวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง พร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติของคนเป็นรัฐมนตรี ส่อแววลุกลามถึงตัวนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้เสนอชื่อแต่งตั้ง

เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) กำหนดลักษณะบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส., มาตรา 160 (6) รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 และมาตรา 170 (4) ที่กำหนดให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว หากขาดคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 160

ข้อสงสัยก็คือนายกฯ ผู้เสนอชื่อตั้งร.อ.ธรรมนัส เป็นรัฐมนตรี รู้ข้อมูลเบื้องหลังคดีดังกล่าวหรือไม่ ถ้าฟังจากการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัดเจนว่ารู้ข้อมูลคดีนี้ดีอยู่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีร.อ.ธรรมนัส ตอบกระทู้ถามในสภากรณีสื่อออสเตรเลีย ว่า จากการฟังคำชี้แจงแล้วก็พบว่าชี้แจงเป็นเหตุเป็นผล ทุกอย่างไม่ใช่ว่านายกฯ ไม่ได้ตรวจสอบ

นายกฯ ตรวจสอบด้วยระบบการตรวจสอบของรัฐบาล เท่าที่มีมาก็มีคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีทุกคน สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าตำรวจ ศาล อัยการ ทุกคนก็ผ่านมาทั้งหมด ถึงแต่งตั้งขึ้นมาได้

“ถ้าตรวจสอบครั้งแรกไม่ผ่านก็คือไม่ผ่านตั้งแต่แรก รวมถึงเรื่องวุฒิการศึกษา ผมคิดว่าเขาได้ตรวจสอบมาทั้งหมดแล้ว แต่เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นความคิดเห็นของแต่ละคน ผมไม่ได้ว่าใคร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวพร้อมยอมรับว่า ตนเองเป็นคนคัดรัฐมนตรี ซึ่งได้ผ่านกลไกตรวจสอบคุณสมบัติมาทั้งหมดแล้ว

“ก็จบลงแค่นั้น ผมจบแล้ว”

แต่ที่คนฟังแล้วทึ่ง คือความเห็นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในกรณีวุฒิการศึกษาปริญญาเอกของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ยังคลุมเครือและสังคมสงสัยว่า รัฐบาลเคยตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ ว่า

ตามรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรีแค่ว่า ต้องจบปริญญาตรี ไม่ได้บอกว่าต้องจบปริญญาอื่น โดยในส่วนปริญญาตรี สำนักงานเลขาธิการครม.ตรวจสอบแล้ว และร.อ.ธรรมนัส เมื่อจบโรงเรียนนายร้อยก็ถือเป็นปริญญาตรี เข้าเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนปริญญาโท ปริญญาเอกจะของจริงหรือของปลอม เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ยังดีที่ นายวิษณุ ยอมรับว่า หากสุดท้ายปริญญาเอกเป็นของปลอม จะเป็นการแจ้งคุณสมบัติเท็จหรือไม่ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจเกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม หรือไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม แต่เรื่องนี้ก็ต้องพิสูจน์กันยาว

ซึ่งทั้งหมดต้องให้ร.อ.ธรรมนัสชี้แจงเพียงผู้เดียว ตามหลักพุทธสุภาษิต “สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง” บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ รู้ได้เฉพาะตน

ก็ต้องรอดูว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ ออกมาแสดงท่าทีช่วยแก้ต่างให้กับร.อ.ธรรมนัส จะทำให้เรื่องจบเร็ว หรือยิ่งบานปลาย

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้นายกฯ รีบตัดสินใจสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีถวายสัตย์ไม่ครบไว้วินิจฉัย

ให้เหตุผลว่า การถวายสัตย์เป็นการกระทำทางการเมืองของครม.ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

ต้องประเมินกันใหม่ว่า จะส่งผลดีร้ายอย่างไรต่อรัฐบาล โดยเฉพาะในการตอบชี้แจงฝ่ายค้านตามญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภายืนยันเดินหน้าตามคิวเดิมวันที่ 18 ก.ย.

เพราะถึงศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องกรณีถวายสัตย์ แต่ก็ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสภา การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเป็นการตรวจสอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ส.ส.มีสิทธิทำได้ ตามกรอบข้อบังคับประชุมสภา

ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา รัฐบาลอาจใช้เป็นข้ออ้างปิดปากฝ่ายค้าน ไม่ให้อภิปรายเรื่องนี้ได้ถนัดเพราะจะเข้าข่ายชี้นำศาล แต่เมื่อศาลมีมติไม่รับคำร้อง รัฐบาลจึงต้องปรับแผนรับมือใหม่

ขณะที่ฝ่ายค้านยืนยันจะไม่อภิปรายก้าวล่วงไปถึงสถาบันแน่นอน

ส่วนการชี้แจงของนายกฯ จะตรงประเด็นหรือไม่ ฝ่ายค้านไม่กังวล เพราะถ้าหากฝ่ายค้านตั้งคำถามชัดเจน แต่นายกฯ ตอบไม่ตรง หรือเลี่ยงที่จะตอบสื่อก็จะพิจารณาและประชาชนก็จะเห็นเอง

นี่ยังไม่นับปัญหาการเมืองยิบย่อยอื่นๆ ไม่ว่ากรณี “พรรคลิง” ที่โดนร.อ.ธรรมนัส หมิ่นศักดิ์ศรีจนทนไม่ไหว เริ่มทยอยตีจากรัฐบาลไปเป็นฝ่ายค้านอิสระหา “กล้วย” กินเอง

รวมถึงกรณีพ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ที่ส่อว่าต้องพ้นจากสมาชิกภาพส.ส. ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาคดีร่วมกับ นปช.บุกล้มประชุมอาเซียน พัทยา เมื่อปี 2552 ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ อาจส่งผลให้ต้องเลือกตั้งซ่อม จ.กำแพงเพชร

เสียงรัฐบาลที่ปริ่มน้ำอยู่แล้ว มาถึงจุดอันตราย

บวกกับกรณีการถวายสัตย์ไม่ครบ โดยเฉพาะกรณีร.อ.ธรรมนัส ที่เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองของคนเป็นรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของนายกฯ โดยตรง ตามหลักการคัดเลือกคนดีมาบริหารบ้านเมือง

นอกจากโรคเครียด ยังต้องมาเจอโรคเส้นเลือดใหญ่อุดตัน หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่รีบตัดสินใจผ่าตัดรักษาให้เด็ดขาดเสียตั้งแต่ตอนนี้ หลายคนก็เกรงว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งทุกอย่างอาจสายเกินแก้

แค่ปรับครม.ไม่พอเยียวยาปัญหาได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน