สคบ.เผยบ.ตุ๋นทัวร์ญี่ปุ่นไม่ได้จดทะเบียนกับสคบ. เป็นการแอบอ้างธุรกิจขายตรง ผิดฉ้อโกง ด้านปลัดสำนักนายกฯ สั่งเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ-ประสานก.ท่องเที่ยว เตือนปชช.ระวังโดนหลอก

เมื่อวันที่ 12 เม.ย..ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ. ประทีป เจริญกัลป์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวถึงกรณีบริษัท เวล เอเวอร์ เวิล ฟอร์ไลท์ ทิ้งลูกทัวร์เดินทางไปญี่ปุ่นที่สุวรรณภูมิ ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบเป็นการดำเนินธุรกิจแบบขายตรง เนื่องจากไม่มีตัวสินค้า และไม่มีการจดทะเบียนดำเนินธุรกิจขายตรงกับทางสคบ. เพียงแต่เป็นการกล่าวอ้าง และใช้แผนการดำเนินธุรกิจออนไลน์มาหลอกล่อให้หลงเชื่อ ซึ่งธุรกิจแบบนี้จะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โดยมีการร้องเรียนเข้ามายังสคบ. อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเข้าข่ายดำเนินการลักษณะของแชร์ เพราะเป็นการระดมทุน และไม่มีตัวสินค้า ซึ่งจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.กู้ยืมเงิน และเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องของสำนักป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการเงินการคลังดำเนินการ ซึ่งมีความผิดโทษจำคุก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการเอาผิดได้ทุกคดีทางอาญา

พ.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า สคบ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวมีการดำเนินการตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ซึ่งนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำชับหากมีกรณีใดเข้าข่ายความรับผิดชอบของสคบ. ก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวพบว่า จดทะเบียนการค้าเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา โดยเจ้าของบริษัท เคยประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เคยถูกดำเนินคดี และมีหมายจับเมื่อสองปีที่แล้ว แต่มีการถอนหมายจับแล้ว

ด้านนายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รีบไปประสานบริษัทขายตรงที่จัดทัวร์เดินทางด้วยเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำเพื่อไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มาชี้แจงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด หากไม่สามารถตามตัวได้ หรือบริษัทดังกล่าวยังนิ่งเฉย ก็อาจเข้าข่ายการฉ้อโกง แต่ถ้าสามารถตามตัวพบ ทางบริษัทต้องหาทางเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนทั้งหมดทันที ทั้งการชดใช้ค่าเสียหายตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และชดเชยค่าเสียหายทางจิตใจด้วย

“ได้สั่งให้สคบ.ไปเร่งตรวจสอบจากทุกฝ่ายโดยด่วน เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว และให้ไปประสานกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวฯ ว่ามีข้อมูลเกี่ยวข้องกับบริษัทนี้ว่า เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องอย่างนี้ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นขายทัวร์ไปเกาหลีแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป ส่วนกรณีนี้มีเรื่องของการทำธุรกิจขายตรงมาเกี่ยวข้อง และสคบ.ก็ตรวจแล้วพบว่า บริษัทนี้ไม่เคยมาจดทะเบียนขายตรงกับสคบ.” นายจิรชัย กล่าว

นายจิรชัย กล่าวว่า อยากแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังเรื่องในลักษณะดังกล่าว หากพบว่ามีการขายทัวร์ราคาถูกกว่าความจริงก็ขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดก่อนตัดสินใจจ่ายเงิน ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อยากให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมาร้องเรียนผ่านช่องทางของรัฐได้ ทั้งศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล และศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของสคบ. เพื่อจะได้มีหลักฐาน และรัฐจะหาทางช่วยเหลือได้ตรงจุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน