ฮาวทูม็อบ! เผย 9 ข้อควรรู้ ร่วมชุมนุมยังไง ไม่ทำผิดกฎหมาย

สถานการณ์ทางการเมืองทวีความร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลัง กกต.เสนอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากการที่กู้ยืมเงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้าน จนล่าสุด นายธนาธร ประกาศนัดรวมพลผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับ กกต. โดยจะชุมนุมกันที่หน้าหอศิลป์ เพื่อเป็นการแสดงพลังของกลุ่มคนที่อยากเห็นความยุติธรรม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความรู้เกี่ยวกับ ข้อควรระวังในการชุมนุมสาธารณะ ความว่า เมื่อสามารถจัดการชุมนุมสาธารณะตามขั้นตอนในพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังมีข้อควรระมัดระวังเบื้องต้นที่กำหนดไว้ภายในการพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ผู้จัดและผู้เข้าร่วมการชุมนุมต้องปฏิบัติในระหว่างการชุมนุมอีกด้วยว่า

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

1.ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร

2.ไม่ปิดบังหรืออำพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกาย ตามปกติประเพณี

3.ไม่พาอาวุธ ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน หรือสิ่งที่อาจนำมาใช้ได้อย่างอาวุธ เข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีสิ่งนั้นติดตัวหรือไม่

4.ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้ใช้การไม่ได้ตามปกติ ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น

5.ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือเสรีภาพ

6.ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น

7.ไม่ขัดขวางหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น

8.ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ

และ 9.ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจที่ระบุไว้ในกฎหมาย

โดย ศูนย์ทนายฯ ยังระบุว่า เสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจกัรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 และมาตรา 34 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21

ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายต้องให้ความเคารพและไม่อาจละเมิดได้ แม้จะมีข้อควรระวังหรือข้อจำกัดอยู่บ้างแต่ก็เป็นข้อยกเว้น เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะและการแสดงความคิดเห็นบรรลุวัตถุประสงค์ของการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น เจ้าหน้าที่ไม่อาจยกเอาข้อยกเว้นเหล่านั้นขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อบีบบังคับ กดดัน หรือกระทั่งปิดกั้นการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายได้

อ่าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน