เอาแล้ว! คำร้อง กกต.ยุบอนาคตใหม่ ส่อมีปัญหา อัยการชี้เอง ขัดระเบียบชัด ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน การวินิจฉัยชี้ขาด และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 93 สำนวนไต่สวนอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ อาจไม่ชอบไปด้วย

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมาย วิธีพิจารณาความและพยานหลักฐาน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และแม่ฟ้าหลวง ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวข้อกฎหมาย กรณี กกต.มีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ข้อสังเกตต่อความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด ของ กกต. มีข้อความว่า

ตามที่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 กกต. มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 จากกรณีที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท

ซึ่ง กกต. ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่พรรคอนาคตใหม่ และต่อมานายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. แถลงว่า เหตุที่ กกต. มีมติในเรื่องนี้โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของ กกต.ตาม พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 ที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) มีอำนาจทำความเห็นพร้อมรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสนอต่อ กกต. เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยได้เลยโดยไม่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน นั้น

ผมขอให้ข้อสังเกตที่เป็นความเห็นทางวิชาการต่อประเด็นความชอบด้วยระเบียบและกฎหมายของการไม่แจ้งข้อกล่าวหานี้ โดยเป็นการให้ความเห็นทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมายเป็นการส่วนตัวในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้บรรยายกฎหมายวิธีพิจารณาความในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยไม่มีวัตถุประสงค์และเจตนาสนับสนุนพรรคการเมืองหรือฝ่ายการเมืองใดทั้งสิ้น และไม่มีเจตนาก้าวล่วงคำวินิจฉัยของ กกต.และของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

1. พรป. พรรคการเมืองฯ มาตรา 93 ให้อำนาจในการงดการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่เพียงใด
ตาม พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 วรรคหนึ่ง กำหนดหลักการไว้ว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือเลขาธิการ กกต. ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ให้นายทะเบียน มีอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.กำหนด

โดยมาตรา 93 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้มีอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แต่มาตรา 93 กำหนดไว้แต่เพียงว่า การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และการเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด ซึ่งก็คือเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 55 หมวด 7 การยุบพรรคการเมือง

ซึ่งกำหนดให้นำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อปรากฏว่าพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ซึ่งระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด จะกำหนดรายละเอียดของกระบวนการและขั้นตอนของการตรวจมูลกรณี การสืบสวน การไต่สวน การแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต. เป็นต้น

2. ขั้นตอน และ กระบวนการไต่สวนตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วมีพยานหลักฐานฟังได้ ให้แจ้งข้อกล่าวหาและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหา เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนได้ดำเนินการไต่สวนเสร็จแล้ว มีพยานหลักฐานสนับสนุนฟังได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่พรรคการเมืองนั้นตามแบบ สตว. 6

รวมทั้ง กกต. อาจจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแก่หัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย ตามระเบียบ กกต. ฯ ข้อ 54 และ 55 ได้ด้วย โดยบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจะระบุข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยสรุป และกำหนดวันเวลา สถานที่ที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจงข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ตามระเบียบ กกต. ข้อ 54 ซึ่งเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ตามที่ กกต. กล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 นี้

กลับปรากฏจากคำแถลงของนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ว่า มติของกกต. ดังกล่าว ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ อันสอดคล้องกับที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่แถลงว่า ได้มีการดำเนินกระบวนการไต่สวนไปแล้ว โดยประธานคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้เชิญพรรคอนาคตใหม่ไปชี้แจงแล้ว 3 ครั้ง และให้ส่งเอกสาร โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

3.จะอ้างอำนาจในการสั่งงดการไต่สวนพยานหลักฐาน ตามระเบียบ กกต. ข้อ 57 วรรคท้าย ในการงดแจ้งข้อกล่าวหาได้หรือไม่เพียงใด ถึงแม้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจะมีอำนาจตามระเบียบ กกต. ข้อ 57 วรรคท้าย ที่จะงดการไต่สวนพยานหลักฐานได้ก็ตาม แต่จะตีความเลยไปถึงขนาดเป็นอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาหาไม่ได้ เพราะอำนาจในการงดการไต่สวนพยานหลักฐานเป็นคนละเรื่องกันกับอำนาจในการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ

โดยระเบียบ กกต. ฯ ได้กำหนดเรื่องการไต่สวนและการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไว้คนละส่วนกัน โดยกำหนดเรื่องการไต่สวนไว้ในส่วนที่ 3 และกำหนดเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไว้ในส่วนที่ 4 การที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีอำนาจงดการไต่สวนพยานหลักฐานจึงไม่อาจตีความขยายความรวมไปถึงอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาและอำนาจในการตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาได้

นอกจากนี้ อำนาจในการงดการไต่สวนพยานหลักฐานดังกล่าว ก็เป็นเพียงอำนาจงดการไต่สวนเฉพาะพยานที่ทำให้การไต่สวนล่าช้าโดยไม่จำเป็นหรือพยานหลักฐานที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่านั้น ซึ่งจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานแต่ละชิ้นเป็นรายกรณีไป ว่าพยานหลักฐานชิ้นใดไม่สำคัญ ทำให้ล่าช้า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจึงไม่มีอำนาจสั่งงดการไต่สวนพยานหลักฐานทั้งหมดได้

4. สิทธิในการรับทราบข้อกล่าวหา และ สิทธิในการชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหา เป็นสิทธิตามหลักฟังความสองฝ่ายหรือหลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดี (The Principal of Bilateral Hearings หรือ Le Principe de la Contradiction) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสำคัญ 2 หลักของหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ (Natural Justice) และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นผลจากการที่รัฐต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (Human Dignity)

โดยประชาชนไม่ได้เป็นเพียงวัตถุอย่างหนึ่งของคำตัดสิน แต่ยังมีฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิของกระบวนพิจารณาที่ตนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมีสิทธิได้รับทราบข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานของฝ่ายที่กล่าวหาตนและมีสิทธิที่จะยื่นคำแก้ข้อกล่าวหาและนำพยานหลักฐานมาหักล้างต่อสู้ข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่งได้

ซึ่งหลักฟังความสองฝ่ายหรือหลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดีนี้เป็นหลักกฎหมายสากลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยได้มีการบัญญัติรับรองหลักนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ และในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ได้บัญญัติรับรองหลักนี้ไว้ในมาตรา 6 สำหรับรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปี 2550 ก็เคยบัญญัติรับรองหลักนี้ไว้ในมาตรา 40 (2)

การไม่แจ้งข้อกล่าวหาและไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหานอกจากจะไม่เป็นไปตามระเบียบ กกต. ฯ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังขัดกับหลักฟังความสองฝ่ายหรือหลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดีซึ่งเป็นหลักกฎหมายสากลและเป็นหนึ่งในหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติอีกด้วยเมื่อไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ให้โอกาสฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กกต. ดังกล่าว จึงน่าจะถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อ กกต. ได้รับสำนวนการไต่สวนนี้มาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย แล้วมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ จึงน่าพิจารณาว่ามติของ กกต.

ซึ่งพิจารณาและวินิจฉัยจากสำนวนการไต่สวนที่น่าจะไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายนี้ เป็นมติที่ได้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ฯ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด ฯ และ พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 ดังที่กล่าวไปแล้ว หรือไม่

5. หากเปรียบเทียบกับสำนวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในการดำเนินคดีอาญาทั่วไปในศาลยุติธรรม หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยในความผิดที่อัยการฟ้องจำเลยนั้นต่อศาล

ย่อมถือว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดฐานนั้น และอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหานั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา120 โดยหากอัยการยื่นฟ้องความผิดนั้นต่อศาล ศาลก็จะมีคำพิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1250/2521)

สำหรับกรณีที่ กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่นั้น เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพิจารณาว่าจะรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาหรือไม่ และหากรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน