30 องค์กรสื่อยื่น”บิ๊กตู่” ยกเลิกพ.ร.บ.คุมสื่อ ชี้ขัดหลักเสรีภาพ ความเป็นอิสระและรัฐธรรมนูญ นายกฯ รับปากดูแลเป็นพิเศษ ยันยึดหลักไม่ปิดสื่อ ไม่ก้าวล่วง มอบ “วิษณุ” หาข้อยุติ ฟังข้อมูลสองด้าน สปท.ผ่านอีก “กรอบปฏิรูปสื่อสร้างสรรค์” กมธ.มีเวลาปรับแก้ร่างกฎหมาย 30 วัน ชี้สื่อยังต้องขึ้นทะเบียนอยู่ดี นายกฯ ปลื้ม “ทรัมป์”โทร.สายตรง ขอช่วยการค้าไทย ชูมติยูเอ็น-อาเซียน ไม่เอาสงคราม “วิทยา”ไขก๊อกสปท. เตรียมย้ายกลับปชป. แฉซื้อเรือดำน้ำสวนทางนโยบายความมั่นคงของ สมช.

30 องค์กรยื่นค้านกม.คุมสื่อ

เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 2 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนการประชุม นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะเข้าพบเพื่อมอบเสื้อที่ระลึกและรณรงค์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกขององค์กรวิชาชีพสื่อ 30 องค์กร เรื่อง “คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.การคุ้ม ครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่สภาขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยินดีเพราะถือเป็นการหารือร่วมกัน เรื่องกฎหมายยังอีกหลายขั้นตอน ขอให้ไปลงความเห็นกันในขั้นตอนนั้น ตนฟังทั้ง 2 ทาง สปท.มีหน้าที่คิดและปฏิรูป เมื่อสปท.คิดขึ้นมาและลงมติแล้วก็เข้ามาที่รัฐบาล ก่อนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ยังอีกหลายขั้นตอน ช่วงนี้อยากขอความร่วมมือ วันนี้รัฐบาลกำลังทำโครงสร้างของประเทศ เปลี่ยนแปลงเขตเศรษฐกิจ สื่อต้องเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนสิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ได้บังคับเพราะถ้าไม่ดีก็จะไม่ทำและสื่อก็ต้องตรวจสอบรัฐบาล อย่าเพิ่งลงความเห็นว่าผิดหรือถูก บางเรื่องต้องให้ประชาชนพิจารณาไม่ใช่ให้สื่อตัดสิน เพราะบางครั้งคิดคนละมุมซึ่งส่วนตัวอ่านทุกอันทุกเล่ม

“บิ๊กตู่”รับปากทบทวน

เมื่อถามว่าในร่างกฎหมายยังขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรสื่อ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะดูให้ อยากให้เคารพกันและกัน ตนตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาไม่ได้เข้ามาสร้างปัญหาและไม่ใช่จะอยู่จนตายและแก่ตายเพราะต้องมีรัฐบาล ต่อไป เราต้องวางพื้นฐานให้ดี ส่วนตัวเข้าใจจึงฝากบอกสื่อทุกคน เมื่อถามว่าบางส่วนกังวลว่ากฎหมายนี้อาจเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ไม่ดี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนตัวก็คิดเช่นนั้น แต่กฎหมายนี้จะมีการรับฟังความเห็นขององค์กรสื่อตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญด้วย

เมื่อถามว่านายกฯเห็นว่าควรมีตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพสื่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าไม่ควรมีจะให้คุมกันเองได้หรือไม่ 1.อย่าคิดว่าตนต้องการครอบงำทั้งหมดเพราะไม่ได้ครอบงำใครเลย และถ้าครอบงำการออกกฎหมายจะเร็วกว่านี้ ทุกอย่างจะจบ แต่ไม่ใช่ให้ทุกคนคิดขึ้นมาแล้วจะมาดูและขัดเกลา 2.ถ้าสื่อคุมกันเองก็ต้องคุมให้ได้ สมาคมและผู้ประกอบการต้องเชื่อมต่อกันเพื่อคุมกันเองได้ ปัญหาดังกล่าวต้องหารือร่วมกัน ไม่ต้องห่วง ในกฎหมายต้องยอมรับว่ามีทั้งส่วนดีและไม่ดี วันนี้ให้อิสระทุกอย่างเพียงแต่สปท.จะตีกรอบมากขึ้น ตนให้อิสระไม่เคยไปยุ่งกับใคร ฟ้องก็ไม่เคยฟ้องใคร ไม่เคยสั่งปิดสื่อ วันนี้ยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่มีอะไรที่ไม่ดีอยู่ต้องหาให้เจอ หาวิธีการแล้วมาบอกว่าจะทำอย่างไร สื่อเลือกข้างก็มี อาจมีเรื่องเงินทองบ้างจะทำอย่างไรไม่ให้เกิด

มติสปท.ยังไม่ใช่ข้อยุติ

เมื่อถามว่าตามกระบวนการแล้วมีกฎหมายที่สามารถตรวจสอบสื่ออย่างเข้มงวดอยู่ นายกฯ กล่าวว่า เข้มงวดแล้วทำไมยังมีปัญหาอยู่ต้องเข้าไปดูกระบวนการนี้ สปท.ก็ฟังความเห็นของสื่อแล้ว เมื่อถามว่าสปท.ฟังความเห็นแล้วไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ นายกฯ กล่าวว่า สปท.ก็มีความคิดของตัวเอง จากนั้นก็กล่าวหาบิดเบือนด้วยกันทั้งคู่ แต่การหารือยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะที่สปท.เดินหน้าตามวาระ

“รัฐบาลต้องดูเป็นพิเศษในเรื่องนี้และขอฝากเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะทุกประเทศต่างชื่นชมไทยว่าหลายอย่างดีขึ้น แต่สิ่งที่พลาดและไม่ถูกต้องกว่าสิบๆ ปี สื่อต้องช่วยรัฐบาล เพราะถือการเปลี่ยนประเทศและเรื่องนี้อยู่ในประเด็นปฏิรูปที่ตั้งไว้อยู่แล้ว จะปฏิรูปอย่างไร ก็ต้องมาคุยกัน” นายกฯ กล่าว และว่ายืนยันว่าไม่ได้รังเกียจใครเลย ไม่ได้เป็นศัตรูกับสื่อ แต่อยากขอความร่วมมือสื่อให้ช่วยประเทศ ขอให้สื่อดูแลทั้งผู้ประกอบการและนักข่าว เพื่อไม่ขวางการพัฒนาประเทศและถูกต้องชอบธรรม มิเช่นนั้นต่างประเทศจะไม่คุยกับเรา เมื่อวานสหรัฐก็คุยดี ไม่มีอะไร สหรัฐหวังว่าเราจะพัฒนาประเทศไปด้วยดีและทราบว่าเราพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีจึงมาให้กำลังใจ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องสื่อเป็นเรื่องสำคัญจะดูให้ ขอให้ใจเย็นๆ

มอบ”วิษณุ”หารือ 2 ฝ่าย

เวลา 13.00 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังประชุมครม.ถึงกฎหมายควบคุมสื่อว่า ได้ให้แนวทางแก้ไขปัญหากับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกา ในการหารือรับฟังความคิดเห็น เพราะเรื่องนี้ถึงขั้นตอนของรัฐบาลแล้ว ที่ผ่านมาเป็นขั้นตอนของสปท.ทำความเห็นมา เราก็รับมาพิจารณาแต่ผลจะออกมาอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะยังมีขั้นตอนของสนช.อีก 3 วาระ

“ไม่อยากให้ทุกคนมาทะเลาะขัดแย้งกันในเวลานี้ ต้องพูดคุยรับฟังทั้งสองด้าน หาทางออกให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้ทุกสื่อมีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ด้วยความรับผิดชอบของสมาคมสื่อ ผู้ประกอบการ ผู้รายงานข่าวทั้งหมด รีไรเตอร์ บรรณาธิการ ทั้งหมดต้อง หารือกันว่าจะดูแลกันอย่างไร เชื่อมต่อกับรัฐได้ตรงไหน ถ้าคิดว่าคุมกันเองได้ก็เสนอมาว่าจะคุมกันอย่างไร ยึดโยงกับรัฐได้อย่างไร ผมยึดหลักการว่ารัฐบาลไม่ต้องการไปปิดสื่อ หรือก้าวล่วง เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องสนับ สนุนการทำงานของสื่อ สื่อก็มีหน้าที่ติดตามการทำงานของรัฐบาล” นายกฯ กล่าว

เตือนเสนอข่าวปม”เรือดำน้ำ”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ช่วงนี้อยากให้สื่อระมัดระวังการนำเสนอข่าวเพราะหลายเรื่องเป็นประเด็นละเอียดอ่อน เมื่อวานได้ชี้แจงเรื่องการซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว ที่จริงไม่มีประเทศไหนทำแบบนั้นเพราะมันเปิดเผยมากเกินไป แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่มีการอธิบายชัดเจน การอนุมัติเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายและตามขั้นตอนปกติของการประชุมครม. มีเอกสารหลักฐานถูกต้องตามพ.ร.บ.งบประมาณ แต่เรื่องนี้ทำให้รู้ว่าไม่มีประเทศใดที่เอาเรื่องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์มาตีแผ่มากขนาดนี้ เราควรจะรู้เขามากกว่าเขารู้เรา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การจัดซื้อเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทัพ มีการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง หลายคนสงสัยว่าจะทุจริตหรือไม่ ยืนยันว่าเราไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น แต่หวังให้กำลังพลปลอดภัย อาวุธยุทโธปกรณ์ ใช้ได้ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะมีข้อสังเกตจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืนยันว่ามีการตรวจสอบทุกกระบวนการเหมือนการจัดซื้อจัดจ้างของทุกกระทรวง เพียงแต่เรือดำน้ำเปิดเผยคุณสมบัติมากไม่ได้ หากจ้องจะมองแต่เรื่องทุจริตและกล่าวหาว่าซื้อของห่วยคงไม่ได้ เพราะไม่มีใครเอาชีวิตของผู้บังคับบัญชาไปเดิมพัน

ช่วงท้ายหลังแถลงข่าวเสร็จสิ้น พล.อ. ประยุทธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ขอบคุณทุกคน ให้กำลังใจกัน เรื่องพ.ร.บ.สื่อเดี๋ยวผมจะ ดูแลให้” และก่อนจะแถลงข่าว เมื่อเห็นว่ามีจำนวนผู้สื่อข่าวไม่มาก นายกฯก็กระเซ้าว่า สื่อทำไมเหลือน้อย นึกว่าประท้วงกันเสียแล้ว

ชี้พรบ.ลิดรอนสิทธิสื่อ-ปชช.

สำหรับจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นถึงนายกฯ ระบุว่าตามที่ประชุมสปท.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองฯสื่อมวลชน ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน แม้จะมีการยกเลิกเรื่องใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและบทลงโทษกรณีไม่มีใบอนุญาตไปแล้ว แต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการเสรี ภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อ และขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะเนื้อหาสำคัญที่เปิดโอกาสให้มีการครอบงำและแทรกแซงการทำงานของสื่อ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และจะยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางในอนาคต

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 30 องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกฯ ใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยเหตุผล ดังนี้ 1.นิยามคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” มีความหมายกว้างขวางมากจนเข้าไปกินปริมณฑลของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีการอื่นของประชาชน จะครอบคลุมถึงผู้ใช้สื่อทุกประเภท นอกจากสื่อวิชาชีพแล้วบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในมาตรา 34 และ 35

ขัดรธน.มาตรา 34-35

2.ร่างกฎหมายที่ผ่าน สปท.ยังคงไว้ซึ่งตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ มวลชนแห่งชาติ คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่การทำงานของสื่อที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบการบริหาร เมื่อผู้ถูกตรวจสอบกลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเองก็เกิดกรณีที่อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน ที่ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารที่ต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใส

3.การจัดทำกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อ ต้องมีเจตนารมณ์คุ้มครองเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และ 35 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชน และคำนึงถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่ารัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ

มาตรา 77 ยังบัญญัติว่าก่อนการตรากฎ หมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน ร่างพ.ร.บ.นี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด

4.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันหลักการกำกับกันเองของสื่อ ทั้งการกำกับกันเองด้วยความสมัครใจ หรือการกำกับกันเองที่มีกฎหมายรับรองการมีอยู่ขององค์กรวิชาชีพ แต่ต้องไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายลงโทษสื่อ และต้องไม่เร่งรีบออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยขาดการรับฟังหรือความเข้าใจอย่างรอบด้าน ด้วยเหตุผลนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 30 องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกฯใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และเดินหน้าการปฏิรูปสื่อโดยการมีส่วนร่วมของสื่อและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

วิษณุชี้กม.ต้องอิงรธน.-บริบทสังคม

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯสื่อ คำตอบมีอยู่บ้างแต่อาจไม่ถูกจนกว่าจะได้เห็นตัวร่างชัดเจน และทุกเรื่องเมื่อมาถึงรัฐบาลแล้วต้องมีจุดยืน วันนี้เรื่องยังไม่ถึงรัฐบาลก็ยังไม่ทราบว่าจะมีจุดยืนอย่างไร หากมีตัวแทนสื่อมาขอพูดคุยก็ไม่ขัดข้องแต่ยังไม่เคยเจอว่ามีใครมาขอพบตนแล้วไม่ได้พบ

“เรื่องนี้ไม่ควรเป็นปัญหาระหว่างสื่อกับรัฐบาลเพราะทุกคนมีเจตนาดีเพื่อบ้านเมือง สื่อมีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้วตามมาตรา 35 ถ้าอะไรขัดกับมาตรา 35 ก็ใช้ไม่ได้ และผมไม่คิดว่าคนที่ทำกฎหมายนี้จะทำให้ขัดมาตรา 35 และถ้าไม่ขัดต่อไปคงพูดถึงเรื่องอะไรที่จะทำให้รู้สึกว่ากฎหมายไม่เหมาะต่อไป เช่น บริบทสังคม ความหวาดกลัวว่าจะแทรกแซง ด่านที่จะเช็กรัฐธรรมนูญคือถ้ารัฐธรรมนูญห้ามหรือติดขัดก็ไม่สามารถทำได้ก็จบ และต้องดูความเหมาะสม ความเป็นจริงเป็นด่านต่อไป จึงต้องพูดกันทีละเปลาะ” นายวิษณุกล่าว

สปท.ผ่านอีก-กรอบปฏิรูปสื่อ

เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท.เป็นประธานประชุมสปท.พิจารณารับทราบรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนว ทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ของกมธ.ด้านสื่อสารมวลชน ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ และร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ.ชี้แจงว่า จากการศึกษาพบข้อมูลว่าสื่อหลัก ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ สร้างผลกระทบต่อจิตใจประชาชน ถ้าไม่กำกับดูแลอาจเกิดการล่วงละเมิดสิทธิถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สิน หากยังปล่อยไว้จะกระทบต่อความมั่นคงชาติ ต้องปฏิรูปปลูกฝังจิต สำนึกตั้งแต่วัยเด็ก โดยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคประชาชน อบรมต่อเนื่องให้ตระหนักรู้ภัยการเสพสื่อ ต้องกำหนดยุทธศาสตร์การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่การให้ภาครัฐเข้าไปกำกับอย่างเดียว แต่มีหลักการให้สื่อควบคุมกันเองเอาไว้ด้วย

จากนั้นสมาชิกอภิปรายท้วงติงรายงาน ของกมธ.ว่ายังมีหลายเรื่องต้องแก้ไข อาทิ การจะให้นายกฯ นั่งเป็นประธานขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ โดยนายกษิต ภิรมย์ ระบุว่า นายกฯ ไม่ใช่หนุมานที่จะทำหน้าที่ทุกคณะกรรมการ

หลังอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 154 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 5 เสียง

สปท.ใช้เวลาปรับแก้ 30 วัน

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เผยว่า หลังสปท.เห็นชอบรายงานของกมธ. พร้อมร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ สื่อมวลชน ตามที่กมธ.เสนอแก้ไข ได้แก่ ปรับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นการออกใบรับรองผ่านองค์กรสื่อมวลชนที่สื่อสังกัดแล้ว กมธ.มีเวลาแก้ไขและปรับปรุงตามข้อสังเกตของ สปท.ภายใน 30 วัน ซึ่งจะเริ่มพิจารณาได้สัปดาห์หน้า ตนวางแนวทางคือให้เจ้าหน้าที่ถอดคำอภิปรายของ สปท.ทั้ง 20 คน เพื่อนำความเห็นที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุง ส

“ผมได้ฟังข้อเสนอ และการอภิปรายของ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสปท. ที่เสนอให้ลงโทษสื่อด้วยการยิงเป้า เป็นการพูดด้วยอารมณ์ ตอนท้ายเขาก็มาขอโทษ ดังนั้น การปรับปรุงรายงานของกมธ. จะไม่นำประเด็น อภิปรายด้วยอารมณ์มาพิจารณา หลังปรับปรุงแล้วต้องเสนอให้ครม.พิจารณานั้น จำเป็นต้องสรุปประเด็นข้อเสนอแนะไปให้เพื่อเป็นแนว ทางที่ปฏิบัติได้ เห็นว่าเมื่อปรับปรุงรายงานแล้วควรเผยแพร่ต่อสาธารณะก่อนส่งไปตามขั้นตอน” พล.อ.อ.คณิตกล่าว

ยึกยักกำหนดวาระตัวแทนรัฐ

พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า ประเด็นที่ต้องปรับปรุงอื่นๆ อาทิ คำนิยามของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เพราะมีข้อท้วงติงว่าไม่ควรเหมารวมแต่ควรแยกรายละเอียดเป็นสื่อแต่ละประเภท ส่วนข้อเสนอของตนที่ให้เขียนบทเฉพาะกาลกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ 2 ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพียง 5 ปี จากนั้นจะไม่ให้ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐร่วมเป็นสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังตอบไม่ได้ว่าจะแก้ไขหรือไม่ เพราะเป็นความเห็นส่วนตัวที่เสนอต่อที่ประชุม และยังไม่ใช่มติของกมธ. รวมถึงช่วงที่เสนอต่อที่ประชุมสปท. ไม่มีสมาชิกสปท. ตอบรับหรือแสดงความเห็นสนับสนุน

ยังต้องขึ้นทะเบียนสื่อ

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกมธ.ด้านการสื่อสารมวลชน สปท. ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯสื่อมวลชนว่า สิ่งที่ร่างกฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้วิชาชีพสื่อมีมาตรฐานกลาง ตามเนื้อหาของการกำกับหรือการตรวจสอบต้องเป็นไปโดยองค์กรสื่อ แบ่งเป็นองค์กรสื่อต้องออกใบรับรองบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ และตรวจสอบการทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและตามกรอบจริยธรรมของวิชาชีพ แต่กรณีมีเหตุที่พบว่าปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามกรอบจริยธรรมหรือประชาชนเสียหาย ต้องมีการตรวจสอบกันภายในองค์กร ยังกำหนดให้องค์กรสื่อสามารถรวมตัวเพื่อรวมเป็นองค์การได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวที่พบว่ามีสมาคมสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์ หรือองค์กรสื่อทำหน้าที่ปัจจุบันนั้นต้องปรับตัวและจดแจ้งต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า การตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพนั้นยังเป็นไปตามลำดับชั้น คือจากองค์กรมาสู่องค์การ แต่หากผลสอบยังไม่เป็นที่พอใจ ต้องเข้าสู่การตรวจสอบของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ส่วนการมีใบรับรองผู้ปฏิบัติหน้าที่แม้จะออกโดยองค์กรหรือเจ้าของสื่อ แต่เจ้าของสื่อและองค์กรสื่อต้องรายงานต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อให้มีทะเบียนควบคุม และเพื่อแก้ปัญหาต่อกรณีที่เคยมีองค์กรหรือบุคคลที่ไม่ยอมรับผลการตัดสินและลาออกจากการสังกัดสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน กระบวนการดังกล่าวอาจเป็นไปในรูปแบบคือ หยุดการ กระทำที่ก่อให้ความเสียหายทันที ประกาศให้องค์กรต่างๆ รับทราบถึงผลตัดสินของบุคคลที่กระทำผิดเพื่อใช้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจรับเข้าทำงาน เป็นต้น

องค์กรผู้บริโภคจี้คว่ำ

องค์กรผู้บริโภค ประกอบด้วย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้กมธสื่อสารมวลชน ยกเลิกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเสรีภาพฯสื่อมวลชน ระบุ กมธ.ขาดความจริงใจในการปฏิรูปสื่อ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อนั้นคือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ ข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพทั้ง 2 ประการนี้ ถือเป็นหลักการใหญ่ที่ต้องคงรักษาไว้ในสังคมประชาธิปไตย

แฉซื้อเรือดำน้ำขัดนโยบายสมช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการแถลงยุทธ ศาสตร์กองทัพเรือ (ทร.) ต่อการเสนอจัดตั้งงบประมาณปี 2560 เพื่อซื้อเรือดำน้ำจีน Yuan Class S26T ลำละ 13,500 ล้านบาท จำนวน 3 ลำ ที่สอดคล้องของยุทธศาสตร์ของทร. ในการปกป้องอธิปไตยและการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล โดยระบุว่าเรือดำน้ำจีนเพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะการรบ มีความคุ้มค่า จำเป็นต่อทร.และประเทศชาตินั้น สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ข้อที่ 6 และแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.2558-2564 ของสำนักงานเลขา ธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

โดยแผนความมั่นคงฯทางทะเลของสมช. ที่มีเนื้อหา 94 หน้า 10 บท ประเมินสถาน การณ์ภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเลว่าการคุกคามจากกำลังทหารและการเกิดสงครามขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลง แต่ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะข้ามชาติ เช่น ก่อการร้าย หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ยาเสพติด ค้ามนุษย์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องท้าทายการบริหารจัดการภาครัฐที่ต้องปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

และระบุถึงความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ ส่งผลต่อการเสริมสร้างศักยภาพทางทหารและกำลังอาวุธของบางประเทศโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งกับจีน อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียน อีกทั้งการขาดความไว้เนื้อเชื่อกันระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน อาจเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคต้องเสริมสร้างกำลังอาวุธ โดยอ้างความจำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตย แต่ไทยมีจุดแข็งคือมีความเป็นกลาง และไม่มีผลประโยชน์ขัดกับมหาอำนาจ จึงเห็นโอกาสการวางตัวเป็นกลางต่อวิกฤตความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐและชาติพันธมิตร รวมทั้งก่อนปี 2557 แม้จะมีงบประมาณจำกัดแต่ทร.สามารถพัฒนากำลังและขีดความสามารถได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ

สอดคล้องกับรายงานของสำนักข่าวบีบีซีไทยในการตรวจสอบหน่วยงานของแต่ละเหล่าทัพ พบว่าทร.เปิดเผยราคากลางโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ 3 โครงการ ก่อนหน้าจัดตั้งงบซื้อเรือดำน้ำจีน ปี 2560 ที่มุ่งเน้นการป้องกันตามแผนงานสมช.ได้แก่ 1.ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ไม่ระบุรุ่นและจำนวนมูลค่า 2,850 ล้านบาท 2.ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น 4 ลำ รวมมูลค่า 490 ล้านบาท และ 3.ปี 2559 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น 5 ลำ รวมมูลค่า 627 ล้านบาท

“ป้อม”ลาประชุมครม.-เจ็บหู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม. ขณะที่พิจารณาวาระประชุมผ่านไปได้ครึ่งหนึ่งและอยู่ในช่วงพักเบรก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ซึ่งร่วมประชุมครม.ตั้งแต่ช่วงเช้า ขออนุญาตพล.อ.ประยุทธ์ ลาประชุมเพื่อพิจารณาวาระที่เหลือในครึ่งหลัง เพื่อไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา เนื่องจากมีอาการเจ็บหูอย่างมากโดยไม่ทราบสาเหตุ จากนั้นพล.อ.ประวิตร เดินออกจากห้องประชุมมาด้านล่างหน้าตึกบัญชาการ 1 โดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ และขึ้นรถเดินทางออกจากทำเนียบทันที

“บิ๊กตู่”แจงคุยสายทรัมป์

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวกรณีนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐโทรศัพท์สายตรงมาพูดคุยเมื่อคืนวันที่ 30 เม.ย.ว่า ถือเป็นเกียรติที่นายทรัมป์โทร.มา ตนแสดงความยินดีที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี พร้อมเป็นกำลังใจและชื่นชมความสำเร็จในการบริหารประเทศ 100 วันแรก นายทรัมป์กล่าวถึงการเป็นพันธมิตรกันมานานถึง 184 ปี พร้อมชื่นชมความก้าวหน้าและพัฒนาการในหลายด้านของไทยภายใต้การบริหารงานของตน ได้ยืนยันกับนายทรัมป์ว่าไทยพร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน ในฐานะประเทศพันธมิตร เพื่อนำสันติภาพความมั่นคง มั่งคั่งและเสถียรภาพมาสู่ภูมิภาคของเรา

“นายทรัมป์ยังกล่าวว่าแม้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะห่างเหินกันช่วงที่ผ่านมา แต่จากนี้จะมีความสัมพันธ์ที่มากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เขาเชิญผมไปหารือที่สหรัฐ พร้อมสอบถามถึงความสัมพันธ์ของไทย ญี่ปุ่นและจีน บอกว่าสหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองประเทศนี้ และกล่าวถึงความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี บอกด้วยว่าเข้าใจคนไทยดีเพราะมีเพื่อนเป็นคนไทยหากมีความต้องการให้ช่วยเหลือก็พร้อมช่วย จึงบอกให้ช่วยดูแลด้านการค้าการลงทุนเขาก็รับปากจะดูแล ยกระดับการค้าให้สูงขึ้นกว่าเดิม และจะส่งผู้แทนทางการค้ามาหารือกับรัฐบาลไทย และยังตอบรับมาเยือนเมื่อมีเวลาที่เหมาะสม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ยึดมติยูเอ็น-ไม่เอาสงคราม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การกำหนดบท บาทของไทยในเวทีโลกเราต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจแสดงความคิดเห็น เช่น กรณีวิกฤต การณ์ในเกาหลีเหนือ เราและอาเซียนคิดเห็นร่วมกันว่าคงต้องให้มหาอำนาจพูดคุยหารือกันเพื่อหาหนทางปฏิบัติที่เหมาะสม เพราะหากรุนแรงขึ้นมาจะกระทบทุกประเทศในโลก สหรัฐก็ได้พูดคุยกับจีนในระดับผู้นำไปแล้ว เราก็คาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี ในเวทีสหประชาชาติ อาเซียนเราไม่เห็นชอบในการใช้ความรุนแรงหรืออาวุธนิวเคลียร์

“วิทยา”ไขก๊อกสปท.-รอสมัครปชป.

เวลา 09.30 น. มีการประชุมสปท. ร.อ.ทินพันธุ์ นะคะตะ ประธานสปท. ก่อนเข้าสู่วาระแจ้งให้ทราบถึงการลาออกจากสปท.ของนายวิทยา แก้วภราดัย ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.เป็นต้นไป หลังจาก นายณัฎฐ์ ชพานนท์ ได้แสดงความประสงค์ยื่นหนังสือลาออก โดยระบุเหตุผลเนื่องจากปัญหาสุขภาพ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เช่นกัน ทำให้ขณะนี้มีสมาชิกสปท. 193 คน

นายวิทยา แกนนำกปปส.และอดีตส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสปท.เมื่อวันที่ 1 พ.ค.แล้ว เพื่อขอกลับไปทำหน้าที่นักการเมืองตามเดิม เป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐ ธรรมนูญที่กำหนดให้สมาชิกแม่น้ำ 4 สาย ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องลาออกภายใน 90 วันนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จากนี้จะรอการพิจาณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ของสนช. จนเสร็จและมีผลบังคับใช้ เพื่อกลับไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง หลังจากสมาชิกภาพขาดไปตอนที่ตนไปบวชที่วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) ในปี 2557

สำหรับ นายณัฎฐ์ สมาชิกสปท.ลำดับที่ 51 ยื่นหนังสือขอลาออกมายังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 20 เม.ย. ระบุเหตุผลเนื่องจากปัญหาสุขภาพ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป

ตั้ง”รมย์สิทธิ์”นั่งรองเลขาฯปปง.

วันที่ 2 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ครม.รับทราบและอนุมัติตามที่หน่วยงานเสนอ

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รับโอนพล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการปปง. แต่งตั้งนายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็น ผู้ตรวจฯกระทรวงแรงงาน

กระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้ง นายสุรศักดิ์ สุภารัตน์ อัครราชทูตกรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้ เป็น เอกอัครราชทูตกรุงบราซิเลีย บราซิล, นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เป็น เอกอัครราชทูตกรุงโคลัมโบ ศรีลังกา, นายทศพร มูลศาสตรสาทร ผู้ช่วยปลัดกระทรวง เป็น เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง, นางศันสนีย สหัสสะรังษี รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็น เอกอัครราชทูตกรุงวอร์ซอ โปแลนด์

สำนักข่าวกรองแห่งชาติ แต่งตั้ง นายธนากร บัวรัษฏ์ ผอ.สำนัก 9 เป็นที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่งตั้ง นายสุทิน ลี้ปิยะชาติ ผอ.สำนักงานเลขาธิการ สศช. เป็น ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช.

ไทยยึดมติยูเอ็นปมศึกเกาหลี

วันที่ 2 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต่อสายตรงคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมเชิญให้เยือนสหรัฐ เพื่อหารือปัญหาคาบสมุทรเกาหลีว่า เป็นเรื่องหลักการแต่ต้องพิจารณาจังหวะเวลาของทั้งสองฝ่าย ทางการไทยได้เชิญประธานาธิบดีสหรัฐมาเยือนด้วยเช่นกัน โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินทางมาในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิต และการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ส่วนความกังวลว่าไทยจะถูกดึงเป็นคู่ขัดแย้งด้วยนั้นเรื่องดังกล่าว ยังคงอ่อนไหว เราจึงต้องติดตามเนื่องจากในอดีตเคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ ไทยยังคงยึด มติองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะสมาชิกทุกคนยอมรับ

รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ฟิลิปปินส์คงได้เห็นแถลงการณ์ของอาเซียนต่อกรณีคาบสมุทรเกาหลีแล้วว่า อยากให้แต่ละฝ่ายผ่อนคลายท่าทีลง หาทางเจรจา ขณะที่อาเซียนจะปฏิบัติมติยูเอ็น ไม่อยากให้คาบสมุทรเกาหลี เป็นเรื่องที่ต้องมีกองกำลังหรือมีความเคลื่อนไหวทางการทหาร เรื่องเช่นนี้ยิ่งตึงเครียดยิ่งวุ่นวาย หวังว่าเหตุการณ์นี้จะมีทางออก ขณะนี้จีนกับเกาหลีเหนือกำลังคุยหาทางออกกันอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน