เด้ง “สีหนาท ประยูรรัตน์” ที่ปรึกษาปปง.เข้ากรุสำนักนายกฯ เปิดทางป.ป.ช.-ปปง.สอบ แจงไม่ใช่ม.44 เหตุต้องการให้เจ้าตัวชี้แจงก่อน

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 120/2560 เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีมีรายละเอียด ว่า ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้มีคำสั่งที่ 265/2559 ลงวันที่ 28 เม.ย.พ.ศ.2559 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีปรากฏข่าวการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกและเบียดบังเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตลอดจนการส่งเสริมธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งต่อไปนี้

1.ให้พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม

2.ในระหว่างการปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้าราชการตามข้อ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานด้านการปฎิรูปนระบบราชการ ระบบการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และราชการอื่นตามที่มอบหมาย

โดยให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษและสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม เบิกจ่ายจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ในความควบคุมกำกับดูแลของนายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่งณ วันที่ 3 พ.ค. พ.ศ.2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริง ซึ่งในส่วนของนายกฯและเลขาธิการนายกฯได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นไปตามการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ที่ได้ดำเนินการสอบสวนมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน ทั้งนี้เหตุที่รัฐบาลไม่ใช่อำนาจตามมาตรา 44 ในการออกคำสั่งโยกย้าย เพราะเนื่องจากต้องการให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจงและดำเนินการสอบสวนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน