“เจ๊หน่อย”ส่งทนายฟ้องมือโพสต์กล่าวหาอยู่เบื้องหลัง”เนติวิทย์” เผยมี 2 นายทหารร่วมขบวนการด้วย “ลูกท็อป-เสี่ยตือ”โต้ข่าวลือชาติไทยพัฒนาถูก”ทักษิณ”เทกโอเวอร์ ลั่นเดินหน้าสืบสานเจตนารมณ์ “บรรหาร” ปชป.เตือนรัฐบาลอย่าใช้อำนาจนิยมระดมสมองกม.คุมสื่อ แนะคุยสร้างสรรค์-อย่าจุดชนวนขัดแย้ง เพื่อไทยจี้ตัดภาครัฐนั่งสภาวิชาชีพ อัดแม่น้ำ 5 สายหวังกดสื่อปูทางมีอำนาจหลังเลือกตั้ง “ศรีสุวรรณ” โร่ร้อง ผู้ตรวจฯชงเรือดำน้ำให้ศาลปกครองสอบ ชี้รีบร้อนซื้อไม่ฟังชาวบ้าน-ขัดรัฐธรรมนูญ โฆษกทัพเรือมั่นใจถูกกฎหมาย ผู้ว่าการ สตง. “พิศิษฐ์”เผยยังไม่มีเหตุต้องท้วงติง แต่ยังไม่สรุปกลัวข้อครหาเคลมเร็วช่วยกองทัพ โพลชี้ชาวบ้านมองจุดแข็งรัฐบาลปราบโกง จุดอ่อนเศรษฐกิจตกต่ำ

“เจ๊หน่อย”ฟ้องมือโพสต์หมิ่น

เมื่อเวลา 13.00 น. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญา กรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายคมกฤช รัตนวงษ์ ทนาย ความ นำหลักฐานเดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อร.ต.อ.สมบัติ สมบัติโยธา รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิว เตอร์ ซึ่งกล่าวหาคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยว่าอยู่เบื้องหลังของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีไม่ถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล ในพิธีปฐมนิเทศ และถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายคมกฤชกล่าวว่า ในวันนี้ตนได้รับมอบหมายจากคุณหญิงสุดารัตน์ เพื่อแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่โพสต์ และแชร์ข้อความในทำนองที่ว่าคุณหญิงสุดารัตน์ อยู่เบื้องหลังของนายเนติวิทย์ พร้อมทั้งนำหลักฐานเป็นภาพถ่ายข้อความการโพสต์และแชร์ทั้งเฟซบุ๊กและแอพพลิเคชั่นไลน์ มายื่นต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่โพสต์ และแชร์ภาพและข้อความผ่านทาง เฟซบุ๊ก และแอพพลิเคชั่นไลน์ จำนวน 4 ราย ซึ่งในนั้นมีนายทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง 2 ราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยยศและตำแหน่งได้ โดยหลังจากนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกครั้ง หากยังพบผู้กระทำผิดทั้งโพสต์และแชร์อีกก็จะดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติม

ยืนยันไม่รู้จัก”เนติวิทย์”

นายคมกฤชกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ยังฝากถึงพี่น้องประชาชนเรื่องการเตือนสติในการพิเคราะห์พิจารณาของการเสพข้อมูลข่าวสารตรวจสอบก่อนที่มีการนำมาแชร์ เนื่องจากส่วนใหญ่มีการนำรูปของคุณหญิงมาตัดต่ออยู่หลายครั้ง ส่วนครั้งนี้มีการนำรูปของนายการุณ โหสกุล อดีตส.ส. กทม. เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ขณะกำลังก้มกราบคุณหญิงสุดารัตน์ เพื่อขอขมาลาอุปสมบทตั้งแต่เมื่อปี 2557 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้คุณหญิงไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายเนติวิทย์แต่อย่างใด และไม่เคยรู้จักส่วนตัวกันมาก่อน

ด้านร.ต.อ.สมบัติ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบปากผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

นิสิตจุฬาฯโพสต์โต้เพจป่วน

กรณีปัญหาการถกเถียงทางโลกออนไลน์ หลังจากนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งสร้างความไม่พอใจกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและวิจารณ์แนวคิดของนายเนติวิทย์ และการเลือกตั้งดังกล่าวอย่างมากนั้น

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Tanawat Wongchai” ซึ่งระบุว่าเป็นนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ตอบโต้กรณีการนำเสนอข้อมูลมีลักษณะเข้าใจผิดต่อสภานิสิตจุฬาฯ ว่า ถึงเพจ….และคนบางกลุ่ม ที่ไม่ได้มีข้อมูลมากพอเกี่ยวกับสภานิสิตและการเลือกตั้งสภานิสิตแล้วกลับวิจารณ์ราวกับว่าตัวเองมีความรู้นะครับ แถมวิจารณ์แบบผิดๆ ขอเน้นย้ำว่ากติกาที่กำหนดเรื่องการเลือกตั้งสภานิสิตนั้น เราใช้กติกาฉบับปี 2529 หรือกว่า 31 ปีมาแล้วครับ ดังนั้น ถ้าพวกคุณยอมรับสภานิสิตหลายต่อหลายชุดที่ผ่านมาได้ ก็ควรจะยอมรับสภานิสิตชุดนี้ให้ได้ด้วย

1.สมาชิกสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามีจำนวนทั้งสิ้น 44 คน แต่มาประชุม 36 คน

2.สมาชิกสภานิสิตประเภทสามัญมาจากการเลือกตั้งทางตรงคณะละ 3 คน บางคณะก็มีคนลงเลือกตั้งไม่ครบ 3 คน หรือบางคณะมีคนลงเลือกตั้งเกิน 3 คน จนมีการแข่งขันกันเกิดขึ้น เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ดังนั้น 36 คนที่มาประชุมเมื่อวานนี้ ไม่ได้มาจากเพียงแค่ 12 คณะ อย่างที่พวกคุณซึ่งไม่รู้รายละเอียดอะไรเลยพยายามจะมโนแล้วเพ้อฝัน เพราะอย่างที่บอกไป บางคณะไม่ได้ลงเลือกตั้งครบ 3 คน อาจจะลง 1 หรือ 2 คนบ้างในบางคณะ เช่น คณะเศรษฐศาสตร์ของผมเองก็ลงแค่ 2 คน

แจงกฎ-กติกาเลือกสภานิสิต

3.การเลือกตั้งซ่อมของจำนวนสมาชิกที่หายไปหรือไม่ครบจำนวนนี้ จะมีขึ้นในช่วงแรกๆ ของการเปิดภาคการศึกษาต้น ในปีการศึกษาหน้า (ปี 2560) อยู่แล้วครับ ไม่ต้องห่วง สภาไม่ได้มีแค่ 44 คนแน่นอน

4.ทำไมเลือกตั้งไม่ครบแล้วเปิดประชุมได้? อันนี้เป็นกฎเดิมอยู่แล้วครับ เหมือนเปิดประชุมส.ส.ครั้งแรกเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องมีส.ส.ครบทุกคน

5.บางคนไม่ได้เลือกเนติวิทย์ เขาเลือกสมาชิกสภาต่างหาก? อันนี้กลับไปทำความเข้าใจระบบตัวแทนเลยนะครับ เดี๋ยวนี้เอกสารต่างๆ หาอ่านใส่สมองให้เกิดความรู้ได้เยอะแยะมากมาย ตอนปี 2554 ที่ ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯนี่คุณได้เลือกกันโดยตรงมั้ยหละ ไม่เลย คุณเข้าคูหาไปกาเลือก ส.ส. แล้ว ส.ส.ถึงจะไปเลือกนายกฯอีกทีนึง (ผมก็ไม่เคยเห็นวาทกรรม ส.ส. 500 คนตัดสินใจเลือกนายกฯแทนคน 65 ล้านคนนะ) สภานิสิตก็เหมือนกัน นิสิตเลือกสมาชิกสภา สมาชิกสภาเข้าไปเลือกประธาน รองประธาน และเลขาธิการสภานิสิต

นายกคนปัจจุบันนี้ พวกคุณได้เลือกเขาโดยตรงมั้ย ก็ไม่ คนที่เลือกนายกฯที่ชื่อประยุทธ์ คือ สนช. แล้ว สนช. คือ คนที่ประยุทธ์แต่งตั้ง ถ้าเนติวิทย์เลือกสมาชิกสภานิสิต แล้วสมาชิกสภานิสิตเลือกเนติวิทย์เหมือนที่นายกฯคนนี้ทำ นั่นแหละผมว่า น่าเกลียด

อัดคนลบหลู่

6.ระบบเลือกตั้งแบบปิด? การเลือกตั้งสมาชิกสภานิสิตเราทำเหมือนกับการ เลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปเลยครับ มีคูหา มีคณะกรรมการประจำหน่วยคอยดูแล ตรวจสอบ นิสิตในแต่ละคณะจะไปเลือกสมาชิกสภานิสิตในคณะที่ตนเองสังกัด เลือกข้ามคณะไม่ได้ การเลือกตั้ง ส.ส.ก็เช่นกัน คุณเคยเห็นคนมีรายชื่อในเขตเลือกตั้งที่นึง แล้วไปกาเลือก ส.ส.ของอีกเขตนึงมั้ยหละ ก็ไม่ แถมการเลือกตั้งสมาชิกสภานิสิตก็ถูกจัดขึ้นพร้อมๆ กันกับการเลือกตั้งขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) และสโมสรของแต่ละคณะด้วย ถ้าคุณจะบอกว่ามันไม่ชอบธรรม มันก็ไม่ชอบธรรมในทุกตำแหน่งทั้งมหาวิทยาลัยเลยนะ

หรือว่าโปร่งใสในความหมายของคุณ คือ การแอบผ่านงบจัดซื้อเรือดำน้ำ? คือการลงคะแนนเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯแบบไม่มีคนค้านเหมือนที่สนช.เคยทำ? หัดอ่านข้อมูลก่อนวิจารณ์บ้างนะครับ

ผมขอคืนความเป็นธรรมให้สภานิสิตจุฬาฯที่ถูกคนบางกลุ่มใส่ร้ายป้ายสีด้วยนะครับ

ส่วนกรณีโลกโซเชี่ยลและเพจข่าวออนไลน์บางสำนัก นำเสนอข่าวและบทความวิจารณ์นายเนติวิทย์ ว่าเคยมีแนวคิดเสนอยกเลิกประเพณีหมอบกราบ ในพิธีถวายสัตย์ของนิสิต จนถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ระบุว่า ทำให้เสียชื่อเสียงสถาบันการศึกษา รวมถึง นางนุสบา ปุณณกันต์ นิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการลบหลู่ ไม่เคยเห็นใครลบหลู่แล้วมีจุดจบที่ดี

พิธีถวายสัตย์เพิ่งมีปี”40

ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ถึงข้อมูลรายละเอียดของพิธีถวายสัตย์ โดยระบุว่า พิธีถวายสัตย์ของนิสิตใหม่จุฬาฯนี่ เพิ่งเริ่มมีปี 2540 นี้เองครับ สมัยอาจารย์ ศ.ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ (สามีท่านนายกสภามหาวิทยาลัย) เป็นอธิการบดี ไม่ได้มีมาเป็น 100 ปีแบบบางคนไปกล่าวอ้างกัน สมัยผมกับคุณนุสบาเรียนอยู่ งานรับน้องก็มีแต่งานร่าเริง เจิมหน้าผาก ลอดซุ้ม ผูกข้อมือ ไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรทำนองนี้

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมจัดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. โดยเหล่านิสิตใหม่ เมื่อสอบเข้าไปได้ ก็จะเข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตใหม่ เพื่อสร้างความภูมิใจในตัวนิสิต ณ สนามหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 และ ร.6 โดยพิธีดังกล่าว เกิดขึ้นในปี 2540 ผนวกเข้ากับพิธีปฐมนิเทศและรับน้องใหม่ เพื่อเป็นการรื้อฟื้นประเพณีการถวายตัวของนักเรียนมหาดเล็กหลวงต่อพระเจ้าแผ่นดิน มาเป็นแนวคิดในการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่รั้วจามจุรี ก่อนเริ่มต้นชีวิตการศึกษาในรั้วจามจุรีอย่างสมบูรณ์ และเพื่อหล่อหลอมความสมัครสมานสามัคคีระหว่างนิสิตใหม่และรุ่นพี่ ปลูกฝังความผูกพันเป็นอันหนึ่งเป็นอันเดียวกันระหว่างน้องพี่ชาวจุฬาฯ

“ท็อป”โต้ชทพ.ถูกแม้วเทกโอเวอร์

นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่าพรรคชาติไทยพัฒนาถูกพรรคเพื่อไทยเทกโอเวอร์แล้วว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าพรรคชาติไทยพัฒนาถูกเทกโอเวอร์และมีข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร มีการต่อสายตรงมาถึงตนและน.ส.กัญจนา ศิลปอาชา พี่สาวของตนนั้น ขอยืนยันว่าตั้งแต่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2559 หลังจากนั้นเพียงหนึ่งถึงสองวันคือประมาณวันที่ 24 หรือ 25 เม.ย.2559 นายทักษิณได้โทร.หาตนและพี่สาวเพื่อแสดงความเสียใจในฐานะคนที่รู้จักกัน ไม่มีการพูดถึงเรื่องการเมืองแต่อย่างใด และตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งวันนี้ก็ไม่ได้ติดต่อกันอีก

อย่างไรก็ตามพรรคชาติไทยพัฒนาถือเป็นจิตวิญญาณของนายบรรหาร เมื่อนายบรรหารไม่อยู่แล้วจะยกพรรคการเมืองให้คนอื่นย่อมเป็นไปไม่ได้แน่ ดังนั้นยืนยันว่าพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้ถูกเทกโอเวอร์ไปอย่างแน่นอนข่าวที่ออกมาดังกล่าวนั้นเป็นเท็จทั้งสิ้น

ลั่นพร้อมลุยสนามเลือกตั้ง

นายวราวุธกล่าวว่า ส่วนข่าวที่ออกมาจะมีเจตนาอย่างไรออกมาจากไหนก็สุดแล้วแต่จะคาดเดา ผู้ใหญ่ในพรรคชาติไทยพัฒนาทุกคนต่างหัวเราะกับกระแสข่าวดังกล่าว เพราะทุกคนยังมีความรักความสามัคคีกันเหมือนเดิมและพร้อมใจกันยืนยันว่าหากมีการเลือกตั้งพรรคชาติไทยพัฒนาพร้อมที่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และในวันจันทร์ที่ 8 พ.ค. เวลา 11.00 น. ตนจะแถลงข่าวยืนยันเจตนารมณ์ของพรรคชาติไทยพัฒนา และจะได้ขอบคุณคนให้ข่าวดังกล่าวที่ให้เกียรติ ว่าพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคเนื้อหอม

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกฉุนกับการที่มีข่าวดังกล่าวออกมาหรือไม่ เพราะเหมือนเป็นการดูถูกว่าไม่มีพ่อแล้วต้องขายพรรคทิ้ง นายวราวุธกล่าวปนหัวเราะว่า “ไม่ถึงกับฉุนหรอกครับ แค่คันๆ จมูกเท่านั้น ขนาดทีมฟุตบอลผมยังไม่ขายเลย แล้วผมจะขายพรรคชาติไทยพัฒนาได้อย่างไร”

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนเห็นกระแสข่าวดังกล่าวแล้ว ยืนยันได้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอนที่นายทักษิณจะเทกโอเวอร์ พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ ตั้งใจทำงานการเมืองในยุคการปฏิรูปโดยคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวของพรรค ที่ได้ปักธงเจตนารมณ์ลงไปแล้วว่าจะเดินไปในทิศทางไหน ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้ใครเข้ามาเทกโอเวอร์หรือเข้ามาควบคุมพรรค

“ตือ”ยันเป็นพรรคมีอุดมการณ์

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขอยืนยันว่าไม่มีสายตรงจากใครถึงใครโดยเด็ดขาด พรรคชาติไทยพัฒนาสั่งสมประสบการณ์จากนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร อดีตหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคทุกคน เราอยู่ในพรรคกันมานาน รู้ถึงวัฒนธรรม วิธีคิด ตลอดจนมีประสบการณ์ทางการเมืองที่สามารถนำพาพรรคให้อยู่รอดต่อไป และสามารถพัฒนาพรรคให้เติบใหญ่ในอนาคตได้บนเส้นทาง กระบวนการปฏิรูปทางการเมือง ตามกฎหมายใหม่ และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็เห็นแล้วว่าเรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องสติปัญญา ความรู้ความสามารถของคนเป็นเรื่องใหญ่กว่า เป็นสิ่งที่จะนำพาพรรคในยุคการปฏิรูปได้ เงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดต่อไปในอนาคต” นายสมศักดิ์กล่าว

พรรคชาติไทยพัฒนายังยืนหยัดอุดมการณ์ สัจจะ กตัญญู เชิดชูประชาธิปไตย สามสิ่งนี้เป็นแนวทางที่เราวางไว้ และปฏิบัติตาม คำพูดนี้มาโดยตลอด แนวทางดังกล่าวเป็นเข็มทิศชี้นำทุกคนที่เข้ามาอยู่กับพรรค อย่างไรก็ตาม การมีกระแสข่าวดังกล่าวออกมานั้นถือเป็นเรื่องปกติในห้วงที่การเมืองจะเปลี่ยนขั้ว แล้วมาประจวบเหมาะกับไม่มีผู้นำพรรคอย่างนายบรรหาร พอข่าวนี้ออกมาก็ถูกสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือได้ แต่แกนนำของพรรคที่ทำงานร่วมกันมาโดยตลอดยืนยันว่าไม่มีทาง ไม่ใช่สิ้นนายบรรหารแล้ว พรรคจะสิ้นไปด้วย มีแต่จะต้องสืบสานเจตนารมณ์ต่อไป เพราะยังมีทายาท มีนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่มาสืบทอดเจตนารมณ์นายบรรหาร เราไม่ยอมให้พรรคชาติไทยพัฒนาต้องมีอันเป็นไปอย่างเด็ดขาด

ปชป.ขวางอำนาจนิยมคุมสื่อ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีถึงร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …ที่จะส่งจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไปยังรัฐบาล โดยจะให้มีการพูดคุยระหว่างองค์กรสื่อกับรัฐบาล แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กังวลว่าการเชิญองค์กรสื่อที่เข้าชื่อถึงรัฐบาลทั้ง 30 องค์กร 30 คน อาจทำให้คุยกันไม่รู้เรื่องว่า การเปิดโอกาสให้มีการพบปะพูดคุยกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทนองค์กรสื่อ นับเป็นเรื่องดีที่จะหาจุดร่วมกันในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวล ชนอย่างแท้จริง

ส่วนการที่นายวิษณุกังวลว่าถ้าเชิญมาพูดคุยกันทั้ง 30 องค์กร อาจทำให้คุยกันไม่รู้เรื่องนั้นไม่ควรกังวล เพราะถ้าการพูดคุยอยู่บนพื้นฐานของเจตนาดีที่จะร่วมมือกันหาทางออกจากปัญหาที่เกิดจากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะพูดคุยกันรู้เรื่อง

ปัญหาของการพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับองค์กรสื่อไม่ได้อยู่ที่จำนวนองค์กรสื่อมากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และแนวคิดมากกว่า ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์และแนวคิดติดอยู่กับอำนาจนิยม ที่นิยมอำนาจเข้าควบคุม ครอบงำ แทรกแซงก็คงคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงหวังว่ารัฐบาลจะไม่ใช้วิสัยทัศน์แนวคิดแบบอำนาจนิยมในการระดมสมองกับสื่อ เพื่อให้การพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลกับสื่อเป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวิสัยทัศน์และแนวคิดที่เสรีโดยไม่มีอคติใดๆ มาเจือปน

แนะเลือกแนวทางสร้างสรรค์

นายองอาจกล่าวว่า เมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกส่งจาก สปท.มาถึงมือรัฐบาล ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาลว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยรัฐบาลคงมี 3 แนวทางที่จะดำเนินการ คือ 1.เดินหน้าผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป 2.ยุติการนำเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายใช้บังคับ และ 3.เสนอร่างพ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับสื่อฉบับใหม่

ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมส่วนรวม แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางไหนก็ตาม ควรใช้ดุลพินิจตัดสินใจบนพื้นฐานของการได้มีโอกาสพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของการมองเห็นปัญหาและทางออกร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับสื่อ เพื่อไม่ให้ร่างพ.ร.บ. เกี่ยวกับสื่อกลายเป็นชนวนความขัดแย้งอีกเรื่องหนึ่งของสังคมไทย

พท.จี้ตัดภาครัฐนั่งสภาวิชาชีพ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเสรีภาพของสื่อเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นปัจจัยชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ สื่อที่เข้มแข็งจะสามารถตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น และสร้างสังคมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกการส่งตัวแทนรัฐเข้าไปนั่งควบคุมสื่อในกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ควรให้สื่อควบคุมกันเองเหมือนสภาทนายความ ขณะที่สื่อต้องอยู่ภายใต้กฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว สื่อมวลชนเป็นฐานันดรที่สี่ของสังคม การออกกฎหมายควบคุมสื่อ หรือการกำหนดนโยบายใดๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถือว่าร่างพ.ร.บ.นี้เพิ่งผ่านยกแรกไป หลังจากนี้ยังจะมีการพิจารณาของรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากถึงขั้นมีการเสนอให้ถอนร่างนี้ออกไป จนทำให้กรรมาธิการและรัฐบาลต้องรับฟัง มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ในที่สุดก็ผ่านร่างจนได้ โดยยังคงหลักการสำคัญๆ ที่องค์การสื่อมวลชนและสังคมห่วงใยเอาไว้ ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีปัญหาอีก

ซัด 5 สายปูทางสืบทอดอำนาจ

นายจาตุรนต์กล่าวว่า การยกร่างกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมา ดูเหมือนมีการรับฟังความคิดเห็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในตอนแรก แต่สุดท้ายออกมาก็มีปัญหามาก เช่น กฎหมายเกี่ยวกับพลังงาน กฎหมายพรรคการเมือง เพราะผู้มีอำนาจขาดวิสัยทัศน์ แต่กลับดำรงจุดมุ่งหมายแฝงเร้นเกี่ยวกับกฎหมายสื่อนี้ ดูเหมือนแม่น้ำ 5 สาย ต้องการเน้นให้รัฐกำกับควบคุมสื่อมากกว่าให้สื่อมวลชนดูแลกันเอง และที่ขาดไปมาก คือการส่งเสริม ให้สังคมสามารถตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนได้

ในวันข้างหน้าสื่อมวลชน และประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพมากน้อยเพียงใด นอกจากจะขึ้นกับร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อนี้แล้วยังมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายที่ให้ อำนาจกสทช.ในการจัดการกับสื่ออีกด้วย ทั้งสามส่วนนี้มีแนวโน้มที่จะจัดการกับสื่อบนพื้นฐานของความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ ต่อไปสื่อที่เห็นต่างจากรัฐอาจไม่ได้รับการรับรองให้ทำหน้าที่สื่อ ประชาชนเองหากต้องการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย อาจถูกนับว่าเป็นสื่อและถูกจัดการ ตามกฎหมายที่มีไว้ควบคุมสื่อ สุดท้ายทั้งสื่อมวลชนและประชาชนก็จะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไปด้วยกัน

ทั้งนี้อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า ที่แม่น้ำ 5 สาย กำลังวางระบบกับสื่อมวลชนอยู่นี้ น่าจะเป็นการเตรียมการรองรับการที่พวกของตนจะมีอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง เพราะถ้าพวกเขาเห็นว่าฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งจะได้เป็นรัฐบาลเขาอาจต้องการส่งเสริมให้สื่อมวลชนและประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างเข้มข้น แต่การที่วางระบบให้รัฐสามารถควบคุมสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้มากๆ น่าจะเป็นเพราะพวกเขาตั้งใจจะเป็นรัฐบาลกันเองเสียมากกว่า จุดมุ่งหมายของแม่น้ำ 5 สายอาจน่ากลัวกว่าที่คิดกัน

“ศรีสุวรรณ”อัดลุกลนเซ็นซื้อเรือ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ได้เดินทางไปลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากบริษัท CSOC รัฐวิสาหกิจของกระทรวงกลาโหมจีน แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น กรณีดังกล่าวเป็นการลุกลี้ลุกลนในการเร่งรีบไปลงนามเซ็นสัญญาโดยไม่คำนึงถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนถึงความไม่เหมาะสมในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพงสถานะทางการเงินและสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ รวมทั้งอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วย

อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ.2502 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นการก่อหนี้ผูกพัน 7 ปีที่จะต้องขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายใน 60 วันนับแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 คือภายใน 30 พ.ย. 2559 แต่ครม.เพิ่งมาอนุมัติให้มีการจัดซื้อได้เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 จึงอาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อกฎหมายดังกล่าว

ชี้เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า นอกจากนั้นการลงนามซื้อเรือดำน้ำเป็นไปในแบบจีทูจีซึ่งจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เสียก่อนโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือสนช. และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเสียก่อน กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเสนาธิการทหารเรือไปลงนามในสัญญา ดังกล่าวแล้ว จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำอื่นใดของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จำต้องทำความจริงให้ปรากฏ โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 231(2) ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองพิจารณาโดยไม่ชักช้า โดยสมาคมจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 8 พ.ค. เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ห้อง 903 ชั้น 9 อาคาร B ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ

โฆษกทร.ยันถูกกฎหมายเป๊ะ

พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องทำหน้าที่ของตนเอง และเป็นหน้าที่ของนายศรีสุวรรณที่ต้องการตรวจสอบความถูกต้อง ถือเป็นสีสันในสังคม ทางกองทัพเรือเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ยินดีให้ตรวจสอบทุกอย่าง และเราทำหน้าที่ของเราต่อไป ข้อแนะนำต่างๆ ถือเป็นข้อสังเกต ยืนยันว่ากองทัพเรือทำทุกอย่างตามระเบียบ ขั้นตอนและข้อกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาอัยการสูงสุดก็เข้ามาดูแลเรื่องกฎหมายโครงการนี้ตั้งแต่ต้น คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือ ดำน้ำก็ทำตามกฎหมาย และมีหน่วยงานดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการมองว่าควรให้สตง.ตรวจสอบเสร็จก่อนไปลงนาม ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ พล.ร.อ.จุมพลกล่าวว่า ระหว่างที่สตง.ตรวจสอบโครงการและกองทัพเรือไปลงนามนั้น ยืนยันว่าไม่ขัดข้อกฎหมายใดๆ ทุกกระบวนการขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายทุกอย่างและอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กฎหมายของรัฐก็ดูแลเรื่องข้อกฎหมายของโครงการนี้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าการลงนามเป็นไปตามกฎหมายอย่างแน่นอน

สตง.ระบุยังไร้เหตุให้ทบทวน

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. กล่าวว่า ได้ตรวจสอบเอกสารลับในเรื่องความจำเป็นที่ต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ยังไม่มีอะไรที่เป็นสาระสำคัญทำให้ สตง.ท้วงติงให้ทบทวนได้ เพราะกระบวนการขั้นตอนดำเนินการมีการเปรียบเทียบคุณสมบัติเรือดำน้ำของแต่ละประเทศ มีคณะกรรมการมาคัดเลือก สรุปคุณสมบัติ ความเหมาะสมด้านราคา ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจพบว่าไม่มีอะไรที่แพง ส่วนเรื่องความจำเป็นมีเรือดำน้ำไว้หรือไม่ สตง.ต้องพิจารณาด้วย ซึ่งจะแถลงข่าวสรุปประเด็นเบื้องต้นในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตามอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์ต่องบประมาณแผ่นดิน สตง.ก็ทักท้วงมาตลอด จึงขอให้เชื่อมั่นว่า สตง.พิจารณาทุกแง่มุม ไม่มีใครซื้อตนได้ และตนดูเอกสารทุกฉบับตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ สตง.ยังพิจารณาและต้องหาเหตุผลว่าถึงเวลานี้กองทัพควรมีเรือดำน้ำหรือไม่ ซึ่งดูทางยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ กองทัพ เรือมีเหตุผลที่ได้ศึกษามาอย่างละเอียด เช่นประเทศเพื่อนบ้านยังมี แม้เราไม่ต้องเลียนแบบเขา แต่ในแง่ฝึกยุทธวิธีอาจอ่อนด้อยกว่า ถ้าช้าอีก 6 ปีไปซื้ออาจไม่ทัน ซึ่งการต่อเรือหรือเครื่องบินต้องใช้เวลา รวมถึงงบประมาณไม่ผูกพันทั้งหมด ปีแรกจ่าย 700 ล้านบาท ปีต่อไป 200 ล้านบาท ไม่กระทบเทือนงบภาพใหญ่ แต่ในแง่ความรู้สึกตนไม่รู้จะเอาอะไรไปวัดได้ ขณะที่กองทัพยืนยันว่าต้องมี และดำเนินการมาเกือบทุกรัฐบาลก็ไม่ลงตัวเพราะมีเรื่องการเมือง ซึ่ง สตง.ยังไม่มีสาระสำคัญอะไรที่ไปยับยั้งได้ เราไม่มีสิทธิไปเบรก

ไม่เคลมเร็ว-กันครหาเข้าข้างทร.

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังดูไม่หมดแต่ตอบประเด็นของนายศรีสุวรรณได้เกือบทุกข้อเว้นเรื่องความไม่เหมาะสมภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ ซึ่งต้องหาวิธีคำนวณทางเศรษฐศาสตร์ถึงความคุ้มทุน และเหตุผลจำเป็นในด้านมั่นคง มีหลายด้านที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบสมรรถนะกับประเทศอื่นไม่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างกันตรงเขี้ยว เล็บ ที่กองทัพเรือสั่งเพิ่มตรงนี้ไม่ควรเปิดเผย ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าอายุการใช้งานเรือดำน้ำรุ่นนี้ต้องไม่ต่ำกว่า 20 ปีถึงคุ้มค่าอยู่ในเกณฑ์นี้

“คนที่ไปซื้อมาต้องรับผิดชอบ คนเซ็นวันนี้อาจไม่ได้ใช้ อย่าให้คนรุ่นใหม่ต้องมาตำหนิได้ กองทัพเป็นสถาบัน เป็นองค์กร หากเป็นปัญหายาวนาน เป็นประวัติศาสตร์ กองทัพ เราต้องไว้วางใจในความรับผิดชอบของกองทัพ และหน้าที่ สตง.ดูเหตุผลที่ ครม.อนุมัติ ดูสมรรถนะเรือ บางอย่างพูดไม่ได้ เป็นความลับของฝ่ายความมั่นคง ตอนนี้ไม่มีอะไรเป็นข้อสังเกตให้ทบทวน แต่ยังไม่มีข้อสรุปต้องดูละเอียดให้ครบรอบด้านใช้เวลา 1 สัปดาห์ ป้องกันกล่าวหาว่าเคลมเร็ว เข้าข้างกองทัพ” นายพิศิษฐ์กล่าว

ชาวบ้านชี้จุดแข็ง-จุดอ่อนรบ.บิ๊กตู่

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “สวนดุสิตโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,258 คน ระหว่างวันที่ 2-6 พ.ค.2560 เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง ณ วันนี้ จะดีขึ้นหรือแย่ลง ขึ้นอยู่กับการบริหารประเทศของรัฐบาลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนและประเทศชาติเข้มแข็ง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นและความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล เมื่อสอบถามหัวข้อประชาชนมองจุดแข็งและจุดอ่อน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างไร โดยอันดับ 1 ประชาชนคิดว่าจุดแข็งของรัฐบาล ได้แก่ ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 75.36 อันดับ 2 การช่วยเหลือเกษตรกร คนจน ผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 68.28 อันดับ 3 การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ร้อยละ 66.38 อันดับ 4 การดำเนินงานตามโรดแม็ป ร้อยละ 62.72

ขณะที่เรื่องจุดอ่อนของรัฐบาลในมุมมองของประชาชน ได้แก่ อันดับ 1 เศรษฐกิจตกต่ำ ร้อยละ 74.04 อันดับ 2 การจำกัดสิทธิเสรีภาพ ร้อยละ 70.27 อันดับ 3 การใช้งบประมาณจำนวนมาก การจัดซื้อเรือดำน้ำ ร้อยละ 63.59 อันดับ 4 ปัญหาชายแดนใต้ ร้อยละ 57.39

สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไข อันดับ 1 แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ร้อยละ 83.78 อันดับ 2 ทำงานด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว เด็ดขาด ร้อยละ 81.80 อันดับ 3 แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 77.11 อันดับ 4 มีผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 66.85 และอันดับที่ 5 ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ร้อยละ 52.07

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน