อดีตแกนนำพันธมิตร แนะอนาคตใหม่ แนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ สว.ก็ขวางไม่ได้

วันที่ 26 ม.ค. ที่ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ศาลเจ้าพ่ออ่างทอง อ.เมือง จ.อ่างทอง พรรคอนาคตใหม่สาขาอ่างทอง จัดงานเสวนา “วาระรัฐธรรมนูญ วาระประชาชนคนอ่างทอง(คำ)” โดยมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมวงเสวนาพร้อมกับ นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย, นายวัฒนา เมืองสุข ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

แน่นอนที่สุด ผมมีความคิดว่า อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เราต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการทำรัฐประหารปี 2557

ฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นการต่อสู้ทางการเมือง เป็นการต่อสู้กับการสืบทอดอำนาจโดยตัวมันเอง เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะที่มา เนื้อหา และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาตั้งแต่ต้น

รัฐธรรมนูญนี้มีหลักใหญ่ใจความสำคัญอยู่อย่างเดียว คือทำอย่างไรก็ได้ที่จะดึงอำนาจออกจากประชาชน มาให้คนทำรัฐประหาร 2557 อยู่ในอำนาจต่อไปได้

ในความคิดของผม เราควรต้องมี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา สิ่งที่อยากเห็นคือ ส.ส.ร.ที่อาจจะมีประมาณ 200 คน โดยที่ระบบการเลือกตั้งทำให้มีความหลากหลาย เมื่อเข้าไปแล้วเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญบับใหม่ แล้วทำประชามติให้ประชาชนทั่วประเทศลงคะแนน ผมคิดว่านี่คือกระบวนการที่ควรจะเกิดขึ้น

ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไร ผมเห็นด้วยว่าต้องมีการกระจายอำนาจ บัตรใบเดียวไม่เหมาะสม ส.ว.ต้องได้รับการทบทวน ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ต้องได้รับการถกเถียง แต่สำหรับผมยังไม่ใช่ตอนนี้ ซึ่งตอนนี้เราต้องพูดถึงกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน

คำถามคือเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดว่า จะเกิดขึ้นในชั้นกรรมาธิการคือการ“ไฮแจ็ค”ประเด็น เพราะที่ผ่านมากลุ่มคนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือภาคประชาชน เรามีความมุ่งมั่นและความเชื่อจริงๆ ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ฉุดรั้งประเทศไทยเอาไว้

แต่พอการแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แทนที่จะกลายเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ กลายเป็นว่าฝ่ายรัฐบาลส่งคนมายึดที่นั่งในกรรมาธิการด้วย และเห็นได้ชัดว่าเป็นคนที่ไม่มีความสามารถ

สิ่งที่ผมกลัวคือ การขโมยวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พวกเรารณรงค์กันมา ที่กลัวที่สุดคือข้อสรุปในครั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ในรายมาตรา โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับระบบกติกาการเลือกตั้ง แล้วเอามาบอกพี่น้องประชาชนว่าเราแก้รัฐธรรมนูญแล้ว

ดังนั้น ประชาชนจะต้องคอยเฝ้าระวัง อย่าให้พวกเขาขโมยวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนรณรงค์กันมา สิ่งที่เป็นประเด็นวาระสำคัญจริงๆ คือการแก้ไขเรื่องดุลอำนาจ ว่าองค์กรต่างๆทางการเมืองจะสัมพันธ์กันอย่างไร มีอำนาจมากน้อยแค่ไหน สังคมแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน เรามาตกลงกัน

เมื่อหาข้อสรุปร่วมกันได้ แพ้ชนะเราก็เล่นในเกม ไม่ต้องมารัฐประหาร นี่คือเรื่องของดุลอำนาจ แต่ถ้าไม่แก้ไขเรื่องดุลอำนาจเหล่านี้ ไปแก้ไขประเด็นยิบย่อยในรัฐธรรมนูญทั้งหมด นั่นก็คือการขโมยวาระของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญไป

แต่ทั้งนี้กุญแจที่จะไขล็อกไม่ได้อยู่ที่ประชาชน กุญแจนี้อยู่ที่ผู้มีอำนาจ จะไปสู่ทางนั้นได้มีทางเดียว คือพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคต้องตื่นตัวทางการเมืองและแสดงพลังให้หนักแน่นชัดเจนพร้อมกัน ให้ผู้มีอำนาจได้ยินว่าเราทนไม่ไหวแล้ว ไม่ทนอยู่ในการกดขี่แบบนี้อีกแล้ว

ถ้าไม่มีการลุกขึ้นรณรงค์อย่างแข็งขันของประชาชน ไม่มีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ แล้วเราจะถูกเหนี่ยวรั้งไม่ให้พัฒนา ไม่ให้ประชาชนมีอำนาจ ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น ผมขอให้ประชาชนลุกขึ้นมารณรงค์ไปพร้อมๆกัน นั่นคือวิถีทางเดียวที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

 

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

วัฒนา เมืองสุข ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย

ความตั้งใจแรกของคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมา 3 อย่าง 1.ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ชนะเลือกตั้ง 2.ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งทำอย่างไรให้บริหารไม่ได้ และ3.จัดการกับพวกเป็นรัฐบาลอย่างไร แต่ต่อมาคนร่างเปลี่ยนใจอยากเป็นรัฐบาลต่อ กลายเป็นติดกับรัฐธรรมนูญเสียเอง

เปรียบเหมือนว่ามีคนตัดสายเบรครถไว้ดักคนที่จะขึ้นมาขับ แต่คนขึ้นมาขับกลับเป็นคนละคน ทำให้ต้องเจอปัญหาหลายอย่างในการบริหาร เช่น การบอกที่มาของรายได้ในการทำโครงการต่างๆ ฉะนั้นวันนี้ตัวคนออกแบบรัฐธรรมนุญฉบับนี้มากำลังเจอปัญหานี้เสียเอง

ดังนั้น เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ได้ ถ้าไม่แก้เราจะผ่านปัญหาต่างๆ ไปไม่ได้ อย่างแรกคือ ปัญหาเศรษฐกิจกำลังประสบปัญหาความเชื่อมั่น เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ และตราบใดที่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ รัฐบาลไม่มีวันมีเสถียรภาพ

สิ่งที่จำเป็นต้องทำสำหรับประเทศไทยในวันนี้คือ การแก้รัฐธรรมนูญ แต่แก้อย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง คือ ผู้แทนประชาชนทุกคนในสภาเห็นพ้องต้องกัน ว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอาอำนาจคืนให้ประชาชน

อีกเรื่องที่แก้ได้แน่ๆ คือ อำนาจองค์กรอิสระทั้งหลายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งการแก้ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน ที่ตัวแทนของประชาชนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เลย เพราะรัธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาให้เป็นรัฐราชการ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ได้แน่ แต่เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ควรแก้โดยคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการมี สสร.ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การแก้รายมาตรา เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งแน่นอน ถ้าทำสำเร็จเราจะสร้างประวัติศาสตร์ที่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีที่มาจากประชาชนและให้ความเห็นชอบโดยประชาชน

พิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย)

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะว่าแก้ยากก็ยาก แก้ง่ายก็ง่าย ที่พูดเช่นนี้เพราะเรามีรัฐธรรมนูญที่แก้ยากมาแล้วหลายฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่มีใครคิดว่าจะแก้ไขได้ แต่การลุกฮือของนักศึกษาประชาชนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

รัฐธรรมนูญฉบับ 2535 ก็เช่นเดียวกัน ใครคิดว่าจะแก้ได้ ตอนนั้นเป็นเรื่องของพรรคการเมืองรวมกลุ่มกันจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ต่อมานักการเมืองที่มีบทบาทนำตอนนั้น คือนายบรรหาร ศิลปอาชา เอาด้วย เพราะการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่กดดันไปที่นักการเมืองก็เลยแก้ได้ แล้วเกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครั้งแรก ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเขียนรัฐธรรมนูญทั้งทางตรงและทางอ้อม

มาวันนี้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถูกบล็อกไว้แล้ว ดูเหมือนว่าจะแก้ไม่ได้ แต่การกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง จะไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

สิ่งที่ผมอยากแนะนำพรรคอนาคตใหม่ คือต้องระวังระหว่างการเคลื่อนไหวของประชาชนกับการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ถ้าอยากให้มีกระบวนการธงเขียวแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคอนาคตใหม่ต้องไปขับเคลื่อนในสภา

ขณะเดียวกันภาคประชาชนซึ่งขณะนี้ยังหาหัวการนำไม่ได้ ต้องหาหัวการนำให้ได้ แล้วเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวในสภา ส่วนพรรคอนาคตใหม่ก็ต้องทำแนวร่วมพรรคการเมืองในสภาให้ได้เสียงมากขึ้น

ผมไม่กลัวว่ารัฐธรรมนูฐญ 2560 จะแก้ยาก เพราะตนเคยผ่านรัฐธรรมนูญที่ว่าแก้ยากมาแล้ว และก็เกิดการแก้ไขได้ มาจากการกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวสองแบบ คือ ในรัฐสภากับภาคประชาชน จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญได้ในที่สุด ผมไม่เชื่อว่าวุฒิสมาชิกจะขวางได้ เขาจะขวางแน่ แต่การกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่ถูกต้องจะทำให้เขาขวางไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน