ททบ.5 งัดหลักฐานย้ำอยู่ในไทย-ออกทีวีสด อสส.สั่งสอบบิ๊กอัยการ เด้งซ้ำ-พ้น‘รองอธิบดี’ โพสต์กระทบประยุทธ์

ยันพิธีกรสาว ‘พ.ต.หญิงชลรัศมี’ ไม่ได้บินร่วมทริปไปประชุมที่ฮาวาย รวมทั้งบิ๊กซีพีก็เปล่าไป โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงเอง พร้อมให้สอบรายละเอียดว่าแพง-เหมาะสม-ใช้เงินคุ้มหรือไม่ ขณะที่ทีม ผู้บริหารททบ.5 ก็ขนเทปหลักฐานพิธีกรสาวอยู่จัดรายการสดช่วงดังกล่าวจริง ‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นสตง.สอบแล้วเที่ยวบินเหมาลำอโลฮา ผู้ว่าฯสตง.ระบุเบื้องต้นไม่พบความผิดปกติ ด้านอสส.สั่งสอบข้อเท็จจริงรองอธิบดีอัยการโพสต์เฟซบุ๊กกระทบบิ๊กตู่-รองนายกฯวิษณุ พร้อมสั่งเด้งชั่วคราวระหว่างรอผลสอบ

บิ๊กตู่แนะเยาวชนยึดศก.พอเพียง
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเปิดโครงการ“เยาวชนอาเซียนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงตามรอยพระยุคลบาท” ตอนหนึ่งว่า โลกเปลี่ยนแปลงทุกวินาที เราต้องตามให้ทัน ต้องมีกระบวนการคิด ไม่ใช่ปล่อยให้ไปอยู่แต่ในเทคโนโลยี ซึ่งบางครั้งเป็นอันตรายต่อทุกประเทศ ไม่สามารถตรวจสอบความชัดเจนได้ทันที ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ให้ได้โดยไม่ทิ้งของเก่า คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

6666

นายกฯ กล่าวว่า ทราบกันดีว่าอย่างน้อย 28 ประเทศได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงไปใช้ ซึ่งเราต้องเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดและตรงกัน ตนไปบังคับใครไม่ได้ แต่อยากให้พวกเราคิดด้วยกัน อย่าเพิ่งเบื่อเพราะเราเสียเวลาฟังเรื่อง ไม่เป็นเรื่องมันนานแล้ว ฟังตนพูดบ้างว่ามีประโยชน์หรือน่ารำคาญ ก็ไปคิดเอา เชื่อหรือไม่ตนพูดมา เสียสมองไปเยอะ ใครจะบ้าอยากพูดอย่างเดียว วันๆ ตนแทบจะไม่อยากพูดแต่ก็ต้องพูด เมื่อพูดจบแล้ว ขอให้นำกลับไปคิดพิจารณา และไม่ต้องเขียนชื่นชมประเทศไทย ขอให้เขียนว่าหลักการที่พูดทั้งหมด นำไปใช้กับประเทศของแต่ละคนตรงไหนได้บ้าง

อย่าเสพสื่อและโซเชี่ยลมีเดียมาก
นายกฯ กล่าวว่า งานครั้งนี้จะมีน่าเบื่อก็ตรงที่ฟังตนพูดอย่างเดียวไม่เป็นไร ตนยอม ตนยอมตายให้อยู่แล้วในทุกเรื่อง แต่ตนขอให้ทำทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ เพราะเราเสียทั้งเวลา เสียทั้งเงินค่าใช้จ่ายเดินทาง อย่าลืมว่าเราต้องลดการแข่งขันและเพิ่มขีดความสามารถ เราคือแหล่งผลิตทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งเราได้เปรียบ ได้โปรดอย่าทำให้สนามการค้าเราเป็นสนามรบ เราต้องทำทุกอย่างให้สงบด้วยความช่วยเหลือและสนับสนุนกัน
“การที่เราเสพสื่อและโซเชี่ยลมีเดีย อย่างเดียว สิ่งเหล่านี้คืออันตรายของทั้งโลก ผมไปประชุมที่ไหน ปัญหาที่ผู้นำทั่วโลกพูดถึงคืออันตรายที่เกิดจากไซเบอร์ เพราะเราหาแหล่งที่มาไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ กว่าจะตรวจสอบพบ ก็เสียหายไปแล้ว นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องสร้างจิตสำนึกของการเป็นสื่อที่ดี เป็น นักโซเชี่ยลมีเดียที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่มีใครสู้ท่านได้ ถ้าเขียนอะไรมาเพราะถือเป็นสิทธิมนุษยชน เราจะไปบังคับ ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตัวเองว่าเราจะเขียนอะไร วิจารณ์ใคร

 

เรามีข้อมูลเพียงพอหรือยัง ไม่ใช่ใคร ส่งมาก็ส่งต่อ สิ่งเหล่านั้นเสียหายไป ถึงเวทีโลก ปัญหาของใครก็ของใคร ปัญหาภายในประเทศก็แก้กันภายในประเทศให้ได้ ไม่ใช่เอาปัญหาภายในประเทศมาให้คนอื่นเขาแก้ ผมว่าเราไม่ควรดูถูกตัวเองเพราะทุกประเทศมีขีดความสามารถของตัวเอง เรื่องเศรษฐกิจก็ว่าจะไป ส่วนเรื่องความมั่นคงก็อีกเรื่องหนึ่ง” นายกฯกล่าว
ตรวจน้ำท่วม-ชี้พูดเกเรไม่ตายดี
เมื่อเวลา 12.00 น. ที่วัดโบสถ์ล่าง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วม ได้กล่าวตอนหนึ่งกับข้าราชการและชาวบ้านที่มารอต้อนรับว่า ขอให้รู้ว่าการมาครั้งนี้มาด้วยใจ อยากจะขอร้องขอให้อดทนเหมือนที่ตนอดทนในทุกวันนี้ อดทนเพื่อทุกคน หลายอย่างมากระทบตน บางเรื่องจริงหรือไม่จริง บิดเบือนบ้าง เพราะอะไร ก็ไปหาเหตุผล ทำไมถึงมีเรื่องแบบนี้ ประเทศกำลังจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

6667
“ถ้าเรามีปัญหามากๆ จะกลับไปที่เดิม จะมีคนนำไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่การเมืองที่มีปัญหา เราจะต้องเป็นประชาธิปไตยแน่นอน ผมไม่ฝืน ผมไม่ได้อยากจะอยู่ให้นานจนเกินแกง ผมแก่แล้ว ผมอยากจะให้สมัย ที่ผมยังอยู่ ประชาชนมีรอยยิ้ม ไม่ได้มีแต่น้ำตา ไม่ได้มีแต่คำร้องขอ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่ตัดสินใจดูแลให้ทุกอย่างดีขึ้น วันนี้ตนเตือนไว้ก่อนว่าหากเรายังยึดมั่นแบบเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย วันนี้ตนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พูดเกเรไม่ได้ วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ของชาวพุทธ ใครมาพูดโกหกในวัดไม่ตายดี เชื่อเถอะ ใครที่เคยพูดโกหกในวัดคอยดูเอาแล้วกัน หลายอย่างมันมีกรรมอยู่แล้ว กรรมมันสนองกรรมหมดแหละ ดังนั้น ทุกคนต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน รัฐบาลนี้ไม่ได้ต้องการผลประโยชน์ ถ้าใครมาเรียกร้องผลประโยชน์มาบอกตน จะตรวจสอบให้ทุกวัน

 

จตุพรชี้ประยุทธ์ถึงช่วงขาลง
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ ผจญกับสถานการณ์คน รอบข้างเป็นพิษ ลุแก่อำนาจ เป็นพฤติกรรมของครอบครัว เครือญาติ รวมทั้งเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณไปประชุมที่ฮาวาย ทำให้สังคมเกิดความกังขาและเกิดช่วงขาลงรวดเร็วขึ้น และไม่มีคนนอกหรือคนกลุ่มนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องเลย เรื่องกล่าวหาและเอกสารราชการหลุดออกมา ล้วนเกิดจากคนภายใน เป็นกลุ่มคนในองคาพยพของ คสช.ที่นำข่าวสารมาให้ประชาชน
นายจตุพรกล่าวว่า อำนาจ คสช. ช่วงนี้ เป็นช่วงขาลง แม้พยายามอธิบายว่ายังมีจุดแข็งที่ตัวนายกฯ แต่จุดแข็งจะกลายเป็นจุดอ่อนได้ ถ้าไม่แก้ไขพฤติกรรมใช้อำนาจแล้ว ต่อไปจะไม่ใช่ช่วงขาลง แต่เป็นช่วงหัวลง สิ่งนี้เป็นวิบากกรรมอำนาจชัดเจน ไม่มีใครหนีไปได้ ซึ่งผู้นำประเทศไทย 28 คนที่ผ่านมา ล้วนผ่านวิบากกรรมนี้ทั้งสิ้น ดังนั้น เกมกำจัดจุดอ่อนหรือกำจัดจุดแข็งไม่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนั้นเลย แต่เป็นเรื่องของคนกลุ่มที่เป็นองคาพยพของฝ่ายอำนาจ คสช.ทั้งสิ้น อย่าโทษใคร
โฆษกกห.แจงจำนวนทัวร์ฮาวาย
วันเดียวกัน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงสังคมออนไลน์นำรายชื่อผู้ร่วมคณะของพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหมมาเผยแพร่ว่าขาไปมี 40 คน ส่วนขากลับเพิ่มเป็น 43 คนว่า เรายังยืนยันว่าคณะที่ไปทั้งหมด 38 คน และขากลับมีนายทหารเพิ่มมาอีก 3 คน รวมเป็น 41 คน

รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (AP Photo/Marco Garcia)

รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (AP Photo/Marco Garcia)

และคณะผู้เดินทางมีเพียง 2 คนที่เป็นพลเรือน ซึ่งไม่ใช่ผู้บริหารบริษัทซีพี แต่เป็นผู้ประสานงานความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้พล.อ.ประวิตร ซึ่งทำงานร่วมกันตั้งแต่มีคสช.แล้ว สำหรับ นักข่าวช่อง 5 ที่เดินทางไปคือ นางเหมือนฝัน คงศรี บ.ก.ข่าวสายทหาร และนายจักรพงษ์ แพงคำแสง ช่างภาพ ช่อง 5 และเที่ยวบินลำดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐร่วมไปด้วย 1 คน
ต่อข้อถามว่าเครื่องบินเช่าเหมาลำขนคนได้ 400 กว่าคน ไปแค่ 40 กว่าคน ทำไมต้องเช่าเหมาลำขนาดนั้น พล.ต.คงชีพกล่าวว่า เรื่องนี้เราไม่ได้ยื่นเงื่อนไขไป เราบอกแต่ว่าถ้าเราเดินทางไปแล้วมีบินตรงได้ก็ดี ส่วนการจัดเครื่องบินขนาดใหญ่ รายละเอียดต้องของการบินไทย เราแค่แจ้งความประสงค์ว่าจะมีคณะเดินทางไปวันนี้-กลับวันนี้ และรอง นายกฯไม่เคยไปล่วงหน้า 1-2 วันอยู่แล้ว และจบงานวันไหนก็กลับเลย เพราะมีความรับผิดชอบมากอยู่แล้ว ยืนยันว่าการไปครั้งนี้ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐและทำให้มีมุมมองที่เปลี่ยนไปกับประเทศไทย

 

ยันไม่มีพ.ต.หญิงคนดังร่วมทริป
พล.ต.คงชีพกล่าวถึงกรณีมีการร้องสตง.ตรวจสอบการไปฮาวายของคณะพล.อ. ประวิตรว่า สตง.มีอำนาจตรวจสอบหรือขอข้อมูลอยู่แล้ว และทราบว่าไปขอข้อมูลจากการบินไทย และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว ต้องขอบคุณที่หยิบเรื่องนี้มานำเสนอ แต่อยากให้คุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสิน อย่าบิดเบือน สื่อก็เห็นว่าโลกโซเชี่ยลมีการบิดเบือนกันสูง หากสื่อไปจับมานำเสนอเท่ากับนำเรื่องบิดเบือนมาเสนอ ซึ่งกระทบภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของสื่อเอง ส่วนกระทรวงกลาโหม น้อมรับทุกความคิดเห็น และข้อเสนอไปปรับปรุงการทำงาน ส่วนคนที่ปล่อยข้อมูลออกมานั้น สื่อต้องไปถามว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร
เมื่อถามถึงข้อสังเกตรายชื่อผู้โดยสารลำดับที่ 20 ของเอกสารที่เผยแพร่ทางโซเชี่ยลมีเดีย ระบุชื่อพ.ต.หญิงชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าว อยู่ในคณะด้วย พล.ต.คงชีพกล่าวว่า “ผมไม่เห็น ไม่มี ไม่ได้เดินทางด้วย”

ระบุไม่รู้มีชื่อร่วมไฟลต์หรือไม่
เมื่อถามย้ำว่ามีรายชื่อจริง แต่ไม่ได้เดินทางไปด้วย หรือมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ไม่ทราบว่ามีรายชื่อหรือไม่ แต่ไม่ได้เดินทางไปกับคณะ ทั้งนี้ ข้อมูลในโลกโซเชี่ยลต้องฟัง และวิเคราะห์ให้ตกผลึก ทั้งนี้ ตนไม่เชื่อว่าเกลือเป็นหนอน และไม่ห่วง ไม่คิดหวาดระแวงใครเพราะต่างคน ต่างทำงานเพื่อประเทศ ยึดประโยชน์ของชาติเป็นตัวตั้งเพียงแต่ต่างบทบาทกันเท่านั้น

เมื่อถามถึงข้อสังเกตมีผู้บริหารบริษัทเอกชนชื่อดังร่วมคณะไปด้วย พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ไม่มีผู้บริหารซีพีไปด้วย แต่มีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่เป็นผู้ประสานงานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2 คน ที่ประสานงานกันมาตั้งแต่คสช.ร่วมไปด้วย และพล.อ.ประวิตร เป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่จะเดินทางด้วยตัวเองทั้งหมด

การบินไทยแจง-พร้อมให้สอบ
วันเดียวกัน นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า กรณีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(สลน.) ซื้อบริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำของการบินไทยเดินทางไปฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย เพื่อปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยนั้น การบินไทยขอยืนยันข้อมูลดังนี้ ในเที่ยวบินขาไปมีผู้โดยสาร 38 คน และในเที่ยวบินขากลับมี ผู้โดยสาร 41 คน ซึ่งเป็นจำนวนตามที่โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงไปแล้ว

นายจรัมพรกล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่ายนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ขอตรวจสอบมาที่การบินไทยแล้ว และบริษัทพร้อมให้ความร่วมมือ ถูกตรวจสอบอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าการคิดค่าใช้จ่ายการจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่การบินไทยเสนอไปยังสลน. เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นราคาประมาณการ เป็นราคาที่เสนอระหว่างองค์กรของรัฐต่อรัฐตามราคาต้นทุน ซึ่งตรวจสอบได้ และเปรียบเทียบราคากับสายการบินอื่นในระดับพรีเมียมได้ และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว การบินไทยจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง
มีหลายเมนูให้เลือกก่อนบิน

นายจรัมพรกล่าวว่า เรื่องอาหารบนเครื่องบิน ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับให้บริการอาหารและเครื่องดื่มรวม 4 มื้อหลัก รวมทั้งอาหารว่างตลอดการเดินทาง และอาหารสำรองที่ต้องจัดเตรียมไว้ในกรณีที่ทำการบินไม่เป็นไปตามแผนการบิน ซึ่งการจัดเตรียมอาหารจะพิจารณาจากระยะเวลาที่ใช้ทำการบิน โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮาวาย ใช้เวลาทำการบิน 12 ชั่วโมง 30 นาที

ส่วนเที่ยวกลับเส้นทางฮาวาย-กรุงเทพฯ ใช้เวลาทำการบิน 12 ชั่วโมง 45 นาที ทั้งนี้ การบินไทยได้นำเสนอเมนูหลากหลายให้ผู้ซื้อบริการเป็นผู้เลือกก่อนเดินทาง เพื่อให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบินตามมาตรฐานพรีเมียมของการบินไทย
รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่า สำหรับรายชื่อของผู้โดยสารนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นความลับของลูกค้า

ศรีสุวรรณยื่นสตง.สอบแล้ว
ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ. ตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณการเดินทางไปประชุมของ พล.อ.ประวิตรและคณะ 43 หรือ 38 คน โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซื้อบริการเที่ยวบินแบบเหมาลำ (Charter Flight) ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เดินทางไปประชุมรมว.กลาโหมอาเซียนและสหรัฐอเมริกา วันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค.2559

ต้องการให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณกับผู้ถูกร้อง 1.พล.อ.ประวิตร และคณะ 2.น.ส.ปรียวรรณ สารกิจปรีชา ผู้อำนวยการ กองต่างประเทศ น.ส.ดุสิตา ศรีชู ผู้อำนวยการ กลุ่มวิเคราะห์และประสานงานต่างประเทศ 4 น.ส.กัณห์ชรี ทองแสง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองการต่างประเทศ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ 3.นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย

6668
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบินโดยตั้งงบประมาณไว้ 6 แสนบาท เมื่อเทียบจำนวนผู้โดยสาร 38 หรือ 43 คนนั้นเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการเสิร์ฟอาหารตามที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น เมนู คาเวียร์ เหมาะสมหรือไม่ และตามนโยบาย ของคสช. การเดินทางราชการจะต้องเดินทางด้วยชั้นธุรกิจหรือชั้นประหยัดเท่านั้น แต่กรณีนี้เชื่อได้ว่าเป็นชั้นเฟิร์สต์คลาส มีความเหมาะสมหรือไม่ ขณะที่วงเงินเดินทางที่ 20.9 ล้านบาท เมื่อเทียบการเดินทางในสายการบินอื่น อยู่ที่ 2-4 ล้านบาทเท่านั้น จึงมีข้อสงสัยว่าการกำหนดราคากลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ว่าฯสตง.ชี้เช่าเหมาลำเหมาะสม
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า สตง.จะรับเรื่องไว้ตรวจสอบ ที่ผ่านมาจากการปรากฏเป็นข่าว สตง.เข้าไปขอข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.โดยในส่วนของบริษัทการบินไทยยังไม่สรุปตัวเลขและวางบิลค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ ซึ่ง สตง.จะยึดหลักฐานดังกล่าวมาพิจารณา ขณะที่ทางสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหลักฐานเอกสารในโครงการดังกล่าวให้ สตง.พิจารณาแล้วพบว่ามีหนังสือเชิญอย่างไม่เป็นทางการจากฝ่ายมั่นคงของสหรัฐให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ในวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค.จริง สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าเป็นการเชิญไปร่วมประชุม
ทั้งนี้ การเดินทางไปรัฐฮาวาย การบินไทยไม่มีเที่ยวบินตรง สตง.เห็นสอดคล้องว่ามีความจำเป็นต้องเช่าเหมาลำ ส่วนประเด็นที่บอกว่าคณะเดินทางมีเพียง 38 หรือ 43 คนเท่านั้น เนื่องจากเป็นการเดินทางไกล หากใช้เครื่องบินขนาดเล็กต้องมีการแวะเติมน้ำมันมีค่าใช้จ่าย มีค่าธรรมเนียมในการเทียบท่าสนามบินอื่น ในการแวะพักหรือเปลี่ยนเครื่อง ขณะที่การเดินทางราชการไปเป็นคณะใหญ่ หากมีการแบ่งการเดินทางไปก่อนหลัง สตง.เห็นว่าการใช้งบประมาณอย่างประหยัดเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องดูความจำเป็นเหมาะสมด้วย ส่วนเรื่องอาหารการกินเกินกว่าจำเป็นหรือไม่ต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม

 

“การบินไทยไม่มีเที่ยวบินตรงฮาวาย และการเดินทางไปเป็นคณะใหญ่จึงต้องเช่าเหมาะลำ เรื่องความเหมาะสมก็แล้วแต่ใครจะมอง ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ไปในนามรองนายกฯหรือหัวหน้าคณะความมั่นคง การเดินทางโดยสายการบินแห่งชาติของตัวเอง ประเทศอื่นๆ ก็ทำเพราะเป็นเรื่องของเกียรติ เรื่องของศักดิ์ศรีประเทศ” นายพิศิษฐ์ กล่าว

 

อ้างยังไม่พบความผิดปกติ-ส่อทุจริต
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบรายชื่อผู้เดินทางมีทั้ง 38 รายชื่อ ตามที่สำนักนายกฯส่งเอกสารมาชี้แจง ไม่ได้มีผู้ร่วมเดินทาง 43 รายชื่อตามที่เป็นข่าว โดยใน 38 รายชื่อ เป็นบุคลากรทางการทหารเกือบทั้งหมด มีพลเรือน 4 ราย ไม่มีบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีบุคลากรจากฝ่ายสหรัฐร่วมเดินทางไปด้วย จากการใช้ดุลพินิจของ สตง.การเดินทางในลักษณะดังกล่าว จึงไม่ใช่การเดินทางโดยลำพังแต่เป็นการเดินทางไปปฏิบัติราชการทั้งคณะ

 

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า จากข้อมูล ณ ขณะนี้ สตง.ยังไม่พบความผิดปกติในการใช้งบประมาณหรือบ่งชี้ว่ามีการทุจริต แต่ก็ต้องรอข้อมูลจากการบินไทยในการวางบิลค่าใช้จ่ายทั้งหมดและมาเทียบกับราคากลางอีกครั้งว่าตรงกันหรือไม่ ในส่วนของรายละเอียดว่ามีการเสิร์ฟอาหารราคาแพง หรือผู้ร่วมเดินทางเป็นใครบ้าง สตง.จะรับไปพิจารณาในรายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นทั้งหมดภายในวันที่ 7 ต.ค.นี้

หลังจากนั้น จะส่งผลสรุปไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบโครงการและการดำเนินการเรื่องนี้ของ สตง. เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ และมั่นใจว่า สตง.ไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้เพื่อประจบหรือมีหน้าที่ต้องไปเอาใจใคร

 

อสส.สั่งสอบรองอธิบดีอัยการ
วันเดียวกัน ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อสส.มีคำสั่ง ให้นายประณต ผ่องแผ้ว ผู้ตรวจการอัยการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเสนอความเห็นต่ออสส. กรณีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวเผยแพร่สู่สาธารณะ ระบุถึงนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว.กทม.และนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้สอบสวนพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ในกรณีต่างๆ
สำหรับข้อความดังกล่าวพาดพิงถึงพล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จนสื่อมวลชนนำข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง กรณีดังกล่าวสำนักงาน อสส.ยังมีหนังสือเวียนลงวันที่ 4 ต.ค. กำชับให้บุคลากรของอสส.ทั่วประเทศ ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอสส.ว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสาร พ.ศ.2554 อย่างเคร่งครัด

 

ปมโพสต์เฟซพาดพิงบิ๊กตู่-วิษณุ
ร.ท.สมนึกกล่าวอีกว่า สำนักงานอสส. ขอชี้แจงว่า การเขียนเรื่องหรือข้อความของนายปรเมศวร์ เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสำนักงานอสส. ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักงานอสส.ว่าด้วยการให้ข่าวฯ ข้อ 13 กำหนดการเขียนเรื่องหรือบทความเผยแพร่ทางสื่อให้กระทำได้ แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมาย หรือระเบียบ และจะต้องไม่เกิดความเสียหายแก่สำนักงานอสส. บุคคลใดหรือหน่วยงานใด และไม่มีลักษณะให้ข่าวและบริการข่าวสารของสำนักงานอสส. โดยผู้เขียนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีวันที่ 29 ก.ย. นายปรเมศวร์เขียนข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัววิจารณ์

พล.อ.ประยุทธ์แสดงออกความไม่พอใจที่นายเรืองไกร และนายศรีสุวรรณร้องให้สอบสวนที่พล.อ.ปรีชา และเครือญาติใช้ประโยชน์ราชการหลายเรื่อง ซึ่งนายปรเมศวร์เคยชี้แจงว่าสิ่งที่เขียนในเฟซบุ๊ก เป็นการแสดงความเห็นตามหลักกฎหมาย ถึงเรื่องที่หากมีการกล่าวหาใดๆ ว่าน่าจะมีการกระทำผิดเกิดขึ้น ก็ต้องมีการตรวจสอบในเบื้องต้นก่อน แม้บุคคลนั้นไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่มีการร้องเรียนเพื่อให้เจ้าพนักงานที่มีอำนาจสอบสวนว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่ ก็ทำได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งการกระทำของนายเรืองไกร และนาย ศรีสุวรรณ ถือเป็นหน้าที่หนึ่งของพลเมืองดี

ย้ายซ้ำรองอธิบดีอัยการคนดัง
ต่อมานายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า นายปรเมศวร์เป็นข้าราชการระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุด ประเด็นที่เขียนวิจารณ์นายกรัฐมนตรีนั้น ผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้น ระหว่างตรวจสอบเพื่อความเหมาะสมจึงเห็นควรย้ายนายปรเมศวร์จากตำแหน่งเดิมก่อน เพื่อรอผลการตรวจสอบและเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สำหรับคำสั่งย้ายราชการชั่วคราวดังกล่าวนั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2543 มีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดเลขที่ 1905/2559 ลงวันที่ 5 ตุลาคม59 เรื่องให้พนักงานอัยการช่วยราชการ และปฏิบัติราชการ โดยให้นายปรเมศวร์ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ไปรักษาการตำแหน่งรองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด และให้นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดอัยการสูงสุด รักษาการในตำแหน่ง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.
ปปช.โต้วุ่นเล่นงานแต่เพื่อไทย

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงกรณีมีเสียงวิจารณ์สำนักงาน ป.ป.ช.จ้องดำเนินคดีทุจริตกับฝ่ายพรรคเพื่อไทย แต่ละเลยคดีของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ว่า การดำเนินการของ ป.ป.ช. ยึดถือตามพยานหลักฐาน ไม่กลั่นแกล้งใครและไม่ช่วยเหลือใคร

6669

เมื่อดูข้อมูลคดีโดยภาพรวมของทั้งสองฝ่าย จะเห็นว่าคดี ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดและ มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปในหลายคดี เช่น 1.กรณีครม.อนุมัติให้จ่ายเงินประกันตัวผู้ต้องขังคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่มีอำนาจและไม่มีกฎหมายรองรับ 2.กรณีครม.ร่วมกันลงมติพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.กรณีกล่าวหานายภูมิธรรม เวชยชัย เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด

นายสรรเสริญกล่าวว่า ขณะที่คดีที่เกี่ยว ข้องกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ป.ป.ช. มีมติทั้งชี้มูลความผิด ได้แก่ ชี้มูลนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ กรณีแทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรม และให้ข้อกล่าวหาตกไป หลายคดีเช่นเดียวกัน

กรธ.เตรียมเดินหน้า4กม.ลูก
ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ถึงการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญว่า ใกล้เสร็จแล้ว ซึ่งตามกำหนดจะส่งให้นายกฯในวันที่ 11 ต.ค. จากนั้นจะเริ่มกระบวนการออกกฎหมายลูก ที่ต้องให้เวลาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา โดยเฉพาะกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องให้เวลากกต.และพรรคการเมืองเตรียมตัว เพราะหากไม่ให้เวลาทำงานก็ลำบาก โดยเฉพาะกกต.ต้องเลือกกรรมการใหม่เพิ่มอีกอย่างน้อย 2 คน

 

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนการจัดสัมมนารับฟังความเห็นกฎหมายลูกที่เหลือ และการรับฟังความคิดเห็นในต่างจังหวัดที่เกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ จะต้องทำโดยเร็ว เพราะคาดว่าภายในเวลา 1 เดือนเศษ จะเร่งทำกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.และพรรค การเมืองให้เสร็จก่อน เพื่อให้พร้อมต่อการจัดเลือกตั้ง

ส่วนที่ สนช.จะจัดประชุมนอกรอบเรื่อง “คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสนช. ตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ” ในวันที่ 7 ต.ค.นั้น กรธ.ยังไม่ได้มอบหมายว่าจะให้ใครชี้แจง อาจเป็นนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แต่ยังไม่ได้ตกลงกัน แต่ตนคงไม่ไปชี้แจงด้วยตนเอง

เตรียมปรับใหญ่กกต.จังหวัด
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวว่า อยู่ระหว่างระดมความเห็นเพื่อจัดทำกฎหมายลูกให้ตอบโจทย์ได้ อย่างกฎหมายว่าด้วยกกต. ต้องแก้ปัญหาความเคลือบแคลงในกระบวน การตรวจสอบการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและสุจริต ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเรื่องจัดเลือกตั้ง แต่มีความเคลือบแคลงต่อการตรวจสอบการเลือกตั้ง จึงต้องปรับในส่วน กกต.จังหวัด เพื่อให้ได้คณะทำงานที่มีประสบการณ์และไม่เกรงกลัวต่อกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ แนวทางสรรหาที่ให้กกต.จังหวัด มาจากบุคคลในพื้นที่อาจไม่ตอบโจทย์ กรธ.จึงหารือเบื้องต้น อาจปรับเปลี่ยนแนวทางสรรหาเพื่อลดความเกรงกลัว

 

นายอุดมกล่าวว่า ส่วนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง อยู่ระหว่างพิจารณากองทุนพัฒนาการเมือง เชื่อว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ควรส่งให้สนช.พิจารณาหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ภายใน 1-2 วัน เพื่อให้การออกกฎหมายรวดเร็ว ภายใน 60 วันตามเวลาที่กำหนดไว้ แต่หากมีข้อขัดข้อง อาจตั้งกมธ.พิจารณาร่วมกันอีกเล็กน้อย นอกจากนี้ยืนยันว่า กรธ.ไม่มีข้อเสนอรีเซ็ตพรรคการเมือง หรือกรรมการองค์กรใด สำหรับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.และกฎหมายลูกอื่นๆ กรธ.ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วทุกภูมิภาครวม 5 เวที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน