คำวินิจฉัย-ยุบพรรคอนาคตใหม่

รายงานพิเศษ

หมายเหตุ : ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 191 ล้านบาท โดยมีมติยุบพรรค ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี เมื่อวันที่ 21 ก.พ.

ศาลรัฐธรรมมนูญกำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัย รวม 4 ประเด็นดังนี้ ประเด็นที่ 1. ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลฯตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่ 2. มีเหตุ ยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่

3.กก.บห.พรรคผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคสอง หรือไม่ เพียงใด 4. ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกก.บห.พรรคของผู้ถูกร้องที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนพรรคขึ้นใหม่ หรือเป็นกก.บห.พรรค หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบ ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 94 วรรค 2 หรือไม่

ผลการวินิจฉัย

■ ประเด็นที่ 1 ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลฯตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 92 วรรค 1 (1) (2) (3) (4) ให้ยื่นศาลฯเพื่อยุบพรรคนั้น และมาตรา 93 บัญญัติว่า เมื่อปรากฏต่อกกต. ผู้เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีพรรคใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อผู้ร้องเพื่อพิจารณา

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งระเบียบกกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง ข้อ 54 วรรค 1 และข้อ 55 วรรค 1 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในทำนองเดียวกับพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 และ มาตรา 93

ศาลฯได้ดำเนินการตามกระบวนพิจารณาของศาลฯ โดยเมื่อรับคำร้องไว้พิจารณาเมื่อ 25 ธ.ค.2562 ร่วมประชุมปรึกษาหารือเรื่องพิจารณาในองค์คณะตุลาการรวม 11 ครั้ง จนได้ข้อยุติและนัดฟังคำวินิจฉัย 21 ก.พ. 2563 ศาลฯใช้ระยะเวลาพิจารณาคดีโดยละเอียดถี่ถ้วน นานพอสมควร ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ประชุมหารือเพื่อพิจารณาวินิจฉัยรวม 71 วัน จึงมิได้กระทำการโดยเร่งรัด หรือรวบรัด

ศาลฯมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยว่า การดำเนินการกรณียุบพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องมีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2562 ว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน กรณีมีการร้องเรียนว่ามีเหตุแห่งการยุบพรรคมาตรา 92 ซึ่งนาย ทะเบียนฯ มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยาน หลักฐานเสนอต่อนายทะเบียนฯ แล้ว

และนายทะเบียนฯ ได้นำเสนอต่อผู้ร้องเพื่อพิจารณา ผู้ร้องเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำฝ่าฝืนมาตรา 72 อันเป็นเหตุให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับกระบวนการดำเนินคดีอาญาที่แยกเป็นอิสระต่างหากจากคดีนี้การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ประเด็นที่สอง มีเหตุยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมี เสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วรรคสองบัญญัติว่า กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรค ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและจัดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

และกำหนดมาตรการให้ดำเนินการโดยไม่ถูกครอบงำ หรือชี้นำบุคคล ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกพรรคนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกพรรคกระทำการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น

มาตรา 66 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลใดบริจาคเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทให้พรรคต่อปีมิได้ และกรณีบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละ 5 ล้านบาท ต้องแจ้งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบ

วรรคสองบัญญัติว่า พรรคการเมืองจะรับเงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด มีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้

มาตรา 72 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีแหล่งอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

พิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 45 มุ่งหมายเพื่อรับรองเสรีภาพการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยกำหนดกรอบกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งและการบริหารพรรคเพื่อให้พรรคเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและมีการบริหารกิจการภายในที่เป็นไปตามหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมืองปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้อย่างอิสระ ปราศจากการครอบงำ หรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองแต่เริ่มแรก

และกำหนดให้การบริหาร การส่งผู้สมัครส.ส. และการดำเนินกิจกรรมใดๆของพรรค สมาชิกต้องมีส่วนร่วมด้วย อันเป็นการป้องกันมิให้พรรคการเมืองป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยความได้เปรียบทางการเงินเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ รัฐสภาจึงตราพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 เป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติไว้

พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ห้ามบุคคลบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 10 ล้านต่อพรรคต่อปี กรณีบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคลบริจาคฯ ให้พรรค ไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละ 5 ล้านบาท ต้องแจ้งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบ และวรรคสองบัญญํติห้ามบริจาคฯ เกินวรรคหนึ่ง

บทบัญญัติดังกล่าวเพื่อมุ่งหมายเพื่อควบคุมพรรคการเมืองในการรับบริจาคฯ จากบุคคลที่มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี เป็นมาตรการป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองถูกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นายทุนพรรค เพื่อบงการหรือชี้นำการดำเนินกิจกรรมพรรค ทำให้การบริหารพรรคไม่อิสระ และทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลภายในพรรคไม่อิสระอย่างแท้จริง

เป็นการทำลายหลักการความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 45 และอาจส่งผลให้พรรคถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องมีมาตรการควบคุมมูลค่าการรับบริจาคของพรรคเพื่อสร้างเสริมให้พรรคมีการบริหารที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้พรรคเป็นสถาบันของประชาชนที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ

ประเด็นต้องพิจารณา ประการแรก การที่พรรคและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรครับบริจาคฯ โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายฯ เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 72 นั้น มีความหมายแค่ไหน เพียงไร

เห็นว่า มาตรา 72 มีข้อห้าม 2 กรณี 1.พรรคและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคกระทำการฝ่าฝืนรับบริจาคฯ โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นทั้งการได้มาและวิธีการได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยไม่เปิดเผย

2.พรรคและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคฝ่าฝืนรับบริจาคฯ โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการได้มาซึ่งเงินฯ ที่มีแหล่งที่มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือเป็นเงินสกปรก ฟอกเงิน ค้าของเถื่อน ค้ามนุษย์ หรือทุจริต

การได้มาทั้งสองกรณีดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใดย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 72 จึงกำหนดข้อห้ามดังกล่าวเพื่อป้องกันให้พรรคไปเกี่ยวข้องกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด อันทำให้พรรคมีส่วนร่วมสนับสนุน หรือช่วยเหลือในการกระทำความผิดด้วย และกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบการเมืองของไทย

อันเป็นมาตรการสำคัญเสริมสร้างระบบการเมืองของไทยให้เป็นสถาบันที่โปร่งใส น่าเชื่อถือของประชาชน สอดคล้องมาตรา 77 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.นี้ที่กำหนดมาตรการและวิธีการที่จำเป็นให้พรรคปฏิบัติ เพื่อให้การรับบริจาคของพรรคเป็นไปด้วยชอบกฎหมาย เปิดเผย และตรวจสอบได้

พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่ เห็นว่าการทำกิจกรรมพรรคต้องอาศัยรายได้พรรค ซึ่งกฎหมายกำหนดแหล่งที่มาตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 ดังนั้นเงินส่วนใด ที่พรรคนำมาใช้จ่าย ดำเนินกิจกรรม ซึ่งไม่ได้มิแหล่งที่มาตามที่กฎหมายระบุ ย่อมถือเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบตามบทบัญญัติ มาตรา 62

แม้พ.ร.ป.พรรคการเมือง มิได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมเงินสำหรับพรรคชัดเจน แต่ไม่ได้รับรองว่ากระทำได้ ประกอบกับพรรคมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน และเงินกู้แม้นมิได้เป็นรายได้ แต่เป็นรายรับและเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายทางการเมืองจึงกระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

ศาลฯมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า การที่พรรคและ ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรครับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 72 นั้น

เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 72 กำหนดข้อห้ามไว้เพื่อป้องกันมิให้พรรคเกี่ยวข้องกับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเหล่านั้น อันจะทำให้พรรคกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนหรือช่วยเหลือในการกระทำความผิดไปด้วย และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันทางการเมืองของไทย อันเป็นมาตรการที่สำคัญ เพื่อเสริมสร้างสถาบันทางการเมืองของไทยให้เป็นสถาบันที่มีความโปร่งใสและเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน

การดำเนินกิจกรรมของพรรคต้องอาศัยรายได้ของพรรค ซึ่งกฎหมายกำหนดแหล่งที่มาไว้ตามมาตรา 62 ดังนั้น เงินส่วนใด ที่พรรคนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมิได้มีแหล่งที่มาและวิธีการได้มาตามที่กฎหมายระบุไว้ ย่อมถือเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบ

แม้พ.ร.ป.พรรคการเมือง มิได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมสำหรับพรรคไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรค มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน และเงินกู้ยืมแม้มิได้ เป็นรายได้แต่ก็เป็นรายรับและเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินของพรรคจึงต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว การกู้ยืมเงินของพรรคจึงต้องสอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คำว่า “บริจาค” และ “ประโยชน์อื่นใด” ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะในกฎหมายนี้ เพื่อกำหนดสิ่งที่อยู่ในขอบข่ายบังคับแห่งกฎหมายในเรื่องนี้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องการควบคุมการสนับสนุนทางการเงินที่ให้แก่พรรคให้เป็นอิสระจากการถูกครอบงำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า งบการเงินประจำปี 2561 ของผู้ถูกร้อง มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้อยู่เพียง 1,490,537 บาท แต่ผู้ถูกร้องกลับทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร รวม 2 ฉบับ รวมเป็นจำนวนเงินสูงถึง 191,200,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า

ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคผู้ถูกร้องที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ เป็นการทำสัญญากู้ยืมเงินที่ไม่เป็นตามปกติทางการค้า และไม่เป็นไปตามปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงินและการชำระหนี้เงินกู้ยืม

ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ถูกร้องที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ และเมื่อรวมประโยชน์อื่นใดที่ผู้ถูกร้องได้รับจากเงินยืม ดังกล่าวกับเงินที่นายธนาธร ได้บริจาคให้แก่ผู้ถูกร้องในปี 2562 จำนวน 8,500,000 บาท แล้ว ย่อมชัดแจ้งว่าเป็นกรณีการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องห้าม ตามมาตรา 66 วรรคสอง

จากข้อเท็จจริง พฤติการณ์และพยานหลักฐานดังกล่าว เห็นว่า การกู้ยืมเงินของผู้ถูกร้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นตามมาตรา 66 เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66

จึงเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72 กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 อันเป็นหตุให้สั่งยุบพรรค ตามมาตรา 92 วรรคสอง ประกอบมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

ประเด็นที่สาม กก.บห.พรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัคร รับเลือกตั้ง ตามมาตรา 92 วรรคสอง หรือไม่ อย่างไร

ศาลฯมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกร้องกระทำการอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค จึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง และเมื่อศาลฯมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว จึงชอบที่จะมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกก.บห.พรรคที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 2 ม.ค. 2562 หรือวันที่ 11 เม.ย. 2562

โดยกำหนดให้ระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี ดังคำวินิจฉัยของศาลฯ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 7 มี.ค. 2562 ดังนั้นจึงให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกก.บห. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฯ มีคำสั่งยุบพรรค

ประเด็นที่สี่ ผู้ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนพรรคขึ้นใหม่ หรือเป็นกก.บห.พรรค หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคถูกยุบตามมาตรา 94 วรรคสอง หรือไม่

ศาลฯมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า เมื่อสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกก.บห.พรรคแล้ว จึงต้องสั่งห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกก.บห.พรรค ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 2 ม.ค. 2562 หรือวันที่ 11 เม.ย. 2562 ไปจดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็นกก.บห.พรรค หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่อีกภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฯมีคำสั่งยุบพรรค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน