วิษณุ -อุตตม แจงเหมาะสม ต่อสัญญาเช่าศูนย์สิริกิต์ 50 ปี ไล่ไปดูว่าเอื้อรบ.ไหน

วิษณุ / เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 24 ก.พ. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงการแก้ไขสัญญาการให้เช่าและบริหารพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายพาดพิงถึงว่า

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

พื้นที่ศูนย์สิริกิต์เป็นของกระทรวงการคลังที่ทำสัญญาให้บริษัท NCC management and development จํากัด มาบริหารพื้นที่ โดยเป็นคู่สัญญากับกรมธนารักษ์มาตลอด มีรายละเอียดสัญญาคือ ต้องสร้างโรงแรม 4-5 ดาว มีห้องพัก 400 ห้อง ที่จอดรถ 3,000 คัน มีศูนย์การค้าและร้านค้า หากไม่ก่อสร้างภายใน 25 ปีถือว่าผิดสัญญา ซึ่งต่อมาเกิดปัญหาขึ้น เมื่อบริษัท NCC บอกว่าทำตามสัญญาไม่ได้ เพราะกระทรวงมหาดไทยออกกฎหมายผังเมืองให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีน้ำเงินคือ ห้ามมีสิ่งก่อสร้างสูงเกิน 23 เมตร

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ดังนั้นในปี 2544 กระทรวงการคลังจึงหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะสามารถยกเลิกสัญญากับเอกชนได้หรือไม่ แต่ได้รับคำตอบว่าถ้าเอกชนไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ไม่ได้มาจากความผิดของเอกชน ก็ไม่สามารถจะยกเลิกสัญญาได้ ทำได้แค่แก้ไขสัญญา จึงเป็นที่มาของการแก้ไขสัญญาดังกล่าว มีการเอาเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการราชพัสดุ วันที่ 28 มี.ค.2557 เป็นช่วง 2 เดือนก่อนรัฐประหาร ให้ไปดูว่าเป็นรัฐบาลใด

โดยรมว.คลังขณะนั้น ในฐานะประธานกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติให้แก้ไขสัญญาให้บริษัท NCC เช่าสัญญาพื้นที่ศูนย์สิริกิติ์นาน 50 ปี ถือว่าเรื่องจบลง เพราะถ้าเป็นการแก้ไขสัญญาให้คู่สัญญารายเดิมไม่ต้องทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุน จนกระทั่งนำไปสู่การลงนามสัญญาครั้งล่าสุด ยืนยันว่ารัฐบาลฟังคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ทำตามขั้นตอนต่างๆ จนมาสู่บทสรุป ทั้งหมดนี้จะเอื้อใครหรือไม่ ต้องไปดูว่า เอื้อมาตั้งแต่รัฐบาลใด

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงว่า ปี 2556 ในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีการแก้ไขพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งประกาศบังคับใช้ในเดือนเม.ย.2556 จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดโอกาสให้ทบทวนโครงการที่เข้าข่ายในกฎหมายดังกล่าว โดยเปิดช่องไว้ใน มาตรา 43 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว ให้สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแก้ไขปัญหาได้ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาพื้นที่หมอชิต รวมทั้งโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย

นายอุตตม กล่าวอีกว่า จากนั้นบริษัท NCC ส่งหนังสือถึงกรมธนารักษ์ เพื่อปรับแผนการลงทุน โดยข้อเสนอในปี 2556 ต่อมากระทรวงการคลังในขณะนั้นตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 43 ของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของบริษัท NCC โดยกรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าของโครงการขึ้นเมื่อปี 2556 ผลการศึกษายืนยันว่า มูลค่าการลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์เกือบ 19,000 ล้านบาท จะมีเวลาคุ้มค่าการลงทุนที่ 47 ปี

รมว.คลัง กล่าวต่อว่า จึงเห็นว่าระยะเวลาการให้เช่า 50 ปีเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม แต่เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าการลงทุนและผลตอบแทนให้รัฐ ทรัพย์สินทั้งหมดที่เอกชนลงทุนพัฒนานั้น เมื่อครบสัญญา หรือเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา หากมีการกระทําผิดสัญญา จะตกเป็นของรัฐหรือกรมธนารักษ์ทั้งหมด ไม่ได้เป็นของเอกชน ส่วนกรณีหนังสือทักท้วงจากอัยการสูงสุดเมื่อปี 2556 นั้น กระทรวงการคลังได้นำร่างสัญญาฉบับสมบูรณ์เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งอัยการสูงสุดมีหนังสือตอบกลับมาว่าเห็นชอบร่างสัญญาเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2561 จึงเสนอให้ครม.ให้ความเห็นชอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน