“บิ๊กตู่”งดสัมภาษณ์หน้เาไมค์ ใช้วิธีเขียนคำตอบส่งผ่าน “ไลน์” ให้นักข่าว ยันตั้ง 4 คำถาม อยากให้ชาวบ้านช่วยคิด ไม่หวังได้คำตอบถูกใจ “บิ๊กป๊อก”ติวเข้มผู้ว่าฯ ก่อนลงพื้นที่ชี้แจงประชาชน ช่วยตอบ “เพื่อไทย-กลุ่มวายพีดี”ซัดคำถามสะท้อน 3 ปีรัฐบาลล้มเหลว จี้ทหารกลับกรมกอง เลิกยุ่งการเมือง “ไก่อู”ปัดพรรคทหาร “มาร์ค-ปชป.”ปิดห้องเคลียร์ใจกปปส. ไม่สน”เทือก”เชียร์”บิ๊กตู่”อยู่ยาวอีก 5 ปี “ถาวร”ลั่นหนุนหน.พรรคคัมแบ๊กนายกฯ พร้อมชูธง ปฏิรูปปชป.-ประเทศ “มีชัย”ระบุอาจได้เลือกตั้งต.ค.61 ประธานกกต.คุยพร้อมแล้ว 85%

“บิ๊กตู่”ถกผบ.เหล่าทัพก่อนครม.

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุม นายกฯ ได้เชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงกลาโหม รองผบ.สส. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผู้ช่วยผบ.ทบ. ผู้แทนผบ.ตร. มารับฟังและดูผลงานการวิจัยของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่คิดค้นและ วิจัยนวัตกรรมต่างๆ ที่สามารถจัดซื้อและนำไปต่อยอดใช้ในกองทัพได้ อาทิระบบติดตาม รถขนส่งมวลชนสาธารณะแบบประจำทาง ที่เป็นผลงานการออกแบบระบบสมองกลฝังตัวและประยุกต์ใช้งานติดตาม ระบบไฟสองสว่างท้องถนนหรืออาคารซึ่งนายกฯ ได้สั่งการให้เหล่าทัพ นำผลการวิจัยนี้ไปใช้ในกองทัพให้เกิดประโยชน์ โดยเหล่าทัพจะนำไปผลิตเอง หรือจ้างเอกชนดำเนินการก็ได้

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้พบปะกับตัวแทนเยาวชนจากประเทศอาเซียนที่มารณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข นำแพทย์พยาบาลมาบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ จากนั้นได้ถ่ายเซลฟี่ร่วมกับพยาบาล พร้อมกระเซ้าว่า ยิ้มกันแบบนี้แสดงว่าได้บรรจุกันหมดแล้ว

ร่อนจดหมายตอบสื่อ 11 ข้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.05 น. หลังการประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยกล่าวกับสื่อมวลชนทันทีที่เดินลงมาถึงห้องโถง ซึ่งจัดเป็นที่แถลงข่าวประจำสัปดาห์ทุกวันอังคารหลังการประชุม ครม.ว่า “เดี๋ยวให้โฆษกรัฐบาลชี้แจงแล้ว กันนะ” แล้วเดินกลับไปปฏิบัติภารกิจที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้าทันที

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าที่ไม่ยอมให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวเป็นเพราะงอนอะไรหรือเปล่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่ได้งอน ผมไม่ใช่เด็กนะ จะมางอนอะไรกัน” อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้เขียนเป็นลายมือตอบคำถามสื่อมวลชน ที่ได้ตั้งคำถามเป็นประเด็นไว้ 11 ข้อส่งผ่านไปทางคณะทำงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และจะส่งผ่านคำตอบ ดังกล่าวมายังแอพพลิเคชั่นไลน์สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ในระหว่างปฏิบัติภารกิจตรวจพื้นที่สถานีสูบน้ำพระโขนงและพื้นที่ซอยลาซาล-แบริ่ง หลังได้ตอบเรื่องการตั้ง 4 คำถามเกี่ยวกับ การเลือกตั้งของตนเองและกรณีที่นักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์จนนายกฯแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงและได้ระบุว่าจะสงบ เสงี่ยมคำพูดอีกสัก 2-3 สัปดาห์

จากนั้นพ.อ.(หญิง)ทักษดา สังขจันทร์ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถอดข้อความลายมือของนายกฯตอบคำถามสื่อมวลชน ส่งมาในแอพพลิเคชั่นไลน์ทั้ง 11 ข้อมายังสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องเหตุระเบิดภาคใต้ เหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และอื่นๆ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับคำถาม 4 ข้อเรื่องการเลือกตั้งของนายกฯ มั่นใจหรือไม่ว่า จะได้คำตอบจริงๆ จากประชาชน เพราะเกรงว่าจะมีการกลั่นกรองเอาแต่คำตอบที่ถูกใจ นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่มีความตั้งใจจะได้คำตอบที่ถูกใจ หรือไม่ตรงใจ ตนต้องการสร้างการเรียนรู้ว่าประชาชนจะช่วยกันอย่างไรให้ได้รัฐบาลที่ดี มีธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมืองต่อไป ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวนายกฯเลย เพราะการเลือกตั้ง ประชาชนเป็นผู้เลือก ต้องเลือกด้วยความรอบคอบ

“ไก่อู”โต้มีพรรคทหาร

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ไม่มีการแถลงวาระการประชุมครม.ว่า เนื่องจากวาระพิจารณาในวันนี้สื่อมวลชนคงไม่ค่อยสนใจ ส่วนเรื่อง 4 คำถามของนายกฯนั้น ไม่มีการหารือกันในที่ประชุมครม.

ผู้สื่อข่าวถามถึงการหารือของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชา ธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นายกฯได้รับทราบเรื่องนี้หรือไม่ พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติของพวกเขา แต่เชื่อว่านายกฯ ติดตามทุกเรื่อง ส่วนการนัดพบของคน 2 กลุ่มจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองขัดคำสั่งคสช.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบว่าทางนั้นนัดพบกันอย่างไร ถ้านั่งดื่มกาแฟคงไม่มีอะไรที่เป็นทางการ ส่วนจะเข้าข่ายเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ ขอให้ถามคสช.

ทั้งนี้ ตนเห็นข่าวจากสื่อว่าจะมีการจับมือกันหลายพรรคเพื่อสู้กับพรรคทหาร ตนก็สงสัยว่ามีพรรคทหารหรือไม่ ซึ่งคงไม่มี ส่วนพรรคของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตส.ว. ที่ประกาศจะตั้งพรรคก่อนหน้านี้นั้น ขอถามสื่อกลับว่านายไพบูลย์เป็นทหารหรือไม่

“บิ๊กป้อม”เผยน้ำหนักลด10ก.ก.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เดินทางมาร่วมประชุมครม. หลังจากหยุดยาวเพื่อรักษาอาการป่วย โดยยังมีท่าทางอิดโรยจากอาการป่วย แต่ยังยิ้มให้กับผู้สื่อข่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าอาการป่วยดีขึ้นหรือยัง พล.อ.ประวิตรกล่าวด้วยน้ำเสียงเบาและช้าว่า ดีขึ้นแล้ว แข็งแรงดีแล้ว ไม่มีปัญหาเมื่อถามว่ายังดูซูบไปนิด พล.อ.ประวิตร ยอมรับว่า ซูบลงเพราะน้ำหนักลดลงไปถึง 10 กิโลกรัม

ด้านพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม กล่าวก่อนประชุม ครม.ถึงคำถาม 4 ข้อของ นายกฯที่ให้ประชาชนช่วยตอบก่อนมีการเลือกตั้งว่า ขอให้ไปตอบกันเองจะดีกว่า เพราะคำถามดังกล่าวไม่ได้ยื่นมาถามเพื่อให้ตนตอบ คำถามนี้นายกฯต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นคนตอบ ส่วนที่มีนักการเมืองแสดงความเห็นและตอบคำถามดังกล่าวนั้น คาดว่าคงจะรวบรวมคำตอบและส่งกลับมา อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ส่งมาเชื่อว่าเป็นความปรารถนาดีจากทุกฝ่าย

มท.1ติวผู้ว่าฯก่อนพบประชาชน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสั่งการไปยังจังหวัดต่างๆเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับคำถาม 4 ข้อของนายกฯว่า ได้ชี้แจงในที่ ประชุมครม.แล้วว่ากระทรวงมหาดไทย จะเรียก ผู้ว่าราชการจังหวัดมาทำความเข้าใจก่อนในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจกันก่อนว่าจะสื่อสารกับประชาชนอย่างไร หากผู้ว่าฯมีความเข้าใจก็จะไปสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและตอบคำถามกลับมาได้ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้กำหนดกรอบเวลาที่จะส่งคำตอบกลับมาที่รัฐบาลเมื่อใด พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ถ้ามีคนมาแสดงความเห็น 10 วันก็ใช้เวลา 10 วัน ถ้ามี 30 วันก็ใช้เวลา 30 วัน ที่ตอบแบบนี้เพราะตนไม่ได้ไปเกณฑ์คนมา และคนกลางที่จะดำเนินการเรื่องนี้คือศูนย์ดำรงธรรมของแต่ละจังหวัด ตนถาม นายกฯว่าท่านมีเจตนาอย่างไรในการถามคำถามนี้ ก็ได้คำตอบว่าท่านอยากให้ประชาชนใช้การเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดีที่สุด จึงได้ตั้งคำถามมาให้ประชาชน ได้เห็นถึงความสำคัญ เราก็จะไปสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญในเรื่องดังกล่าว

“มาร์ค”ไม่กดดันนายกฯ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ได้รัฐบาลที่ดี มีธรรมาภิบาลหลังเลือกตั้ง ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่คำถามนี้มาในจังหวะที่แปลก เพราะคำถามหลายข้อ คนที่จะต้องตอบคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งเป็นผู้จัดทำกติกา โดยเฉพาะช่วงทำประชามติก็ประชาสัมพันธ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงป้องกันคนเลวได้ เมื่อนายกฯตั้งคำถามแบบนี้ อาจสะท้อนว่าไม่มั่นใจ ดังนั้นต้องช่วยกันกระตุ้นสังคมให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล เพราะนายกฯปฏิเสธแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับการขยับโรดแม็ป จึงไม่ควรทำให้เป็นประเด็นการเมือง ตนพูดตลอดว่าวิกฤตการเมือง เกิดจากรัฐธรรมนูญน้อยมาก เมื่อวันนี้ คสช. ตระหนักแล้วว่าลำพังสิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญไม่พอ ก็ต้องทำงานให้หนักขึ้นในการปฏิรูป

“ผมไม่กดดันกับคำถามของนายกฯ เพราะบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาลอยู่แล้ว แต่ คิดว่าคำถามของนายกฯจะย้อนกลับไปกดดันคสช.เอง เพราะถ้าไม่สามารถตอบคำถาม เหล่านี้ได้ จะกลายเป็นว่าสิ่งที่คสช.ทำมาก็ ไม่สำเร็จ ส่วนคำถามที่บอกว่าเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่นั้น การได้มาซึ่งผู้มีอำนาจไม่มีหลักประกันว่าจะได้ ธรรมาภิบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง สรรหา หรือรัฐประหาร แต่โอกาสที่จะได้ถ้ามีประชาธิปไตยต่อเนื่องมีมากกว่าการผูกขาดอำนาจ จึงไม่ควรสับสน เพราะถ้าตั้งเป้าว่า ไม่แน่ใจว่าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหลังเลือกตั้งหรือไม่แล้วบอกว่าไม่ต้องเลือกตั้งเป็นข้อสรุปที่ผิด เพราะจะไม่มีประเทศไหนได้เลือกตั้งเลย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เพื่อไทยซัด3ปีล้มเหลว

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำถาม 4 ข้อของนายกฯ สะท้อนว่า 3 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวสิ้นเชิง คำถามที่ 1 การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ต้องถาม นายกฯกลับว่ามีสิทธิตั้งคำถามนี้หรือไม่ เพราะตามหลักแล้วผู้ที่ตั้งคำถามจะต้องมีสิ่งนั้น นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีกับดักเต็มไปหมด รัฐบาลหน้าหากมาจากการเลือกตั้งคงเป็นรัฐบาลที่ง่อยเปลี้ยเสียขา ทำอะไรไม่ได้ ล้มลุกคลุกคลาน แต่แนวโน้มดูจะเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ เพราะกลไกที่ตั้งแท่นรองรับไว้ชี้ทิศทางไปทางนั้น หากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลหน้าคงมีความมั่นคง และไม่ต่างจากรัฐบาลนี้มากนัก ในประเด็นหลักนิติธรรมความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน ความรับผิดชอบและความคุ้มค่า คงเป็นรัฐบาลที่ตรวจสอบได้ยากมาก ซึ่งสวนทางจากหลักธรรมาภิบาลทั้งสิ้น

2.ถามว่าหากไม่ได้ตามข้อ 1 จะทำอย่างไร เราคงทำหน้าที่ตามครรลองของระบอบประชา ธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้จะยากลำบาก แต่รับประกันว่าจะไม่ทำอะไรนอกลู่นอกทาง นอกกติการัฐธรรมนูญหรือนอกเหนือกติกาประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนให้ยึดอำนาจอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน เพื่อร่วมนำประเทศสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นหนทางแก้ปัญหาของประเทศ

จี้ทหารหยุดแทรกการเมือง

3.ถามว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น จะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง คำถามนี้มีคำตอบอยู่ในตัว การเลือกตั้งคือการยอมรับอำนาจของประชาชน เป็นหลักสากลที่นานาอารย ประเทศยอมรับ สิ่งที่ต้องเข้าใจคือพวกเราได้โต้แย้งยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ มิใช่ในบริบทว่าประเทศควรมียุทธศาสตร์หรือควรมีการปฏิรูปหรือไม่

4.คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ ซึ่งนักการเมืองพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีมีความหมายกว้างมาก คำถามเช่นนี้คือการดูถูกประชาชนผู้เลือกตั้ง ทางออกคือเคารพกติกา ให้กระบวนการประชาธิปไตยทำงานไป ทหารหยุดแทรกแซงการเมือง ทำตัวเป็นทหารในระบอบประชา ธิปไตย ทุกอย่างเดินไปตามวิถีทางประชา ธิปไตยก็จะไม่มีปัญหา ไม่ต้องเชิญใครมาแก้ อยากให้ตั้งสติ เพื่อคิดทบทวนคำถามเหล่านี้ว่าใครควรจะถามและจะถามใคร คำถามดูเหมือนจะย้อนเวลาหาเหตุของการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 สะท้อนว่า 3 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

วายพีดีบุกทำเนียบฯตอบ4ข้อ

ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายชาติชาย แกดำ และนายธิวัชร์ ดำแก้ว ตัวแทนศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคม นิยมประชาธิปไตย (วายพีดี) ได้อ่านแถลงการณ์ตอบคำถาม 4 ข้อเรื่องการเลือกตั้งของนายกฯ ที่มาจากรัฐประหารว่า การใช้เวลา 3 ปีบริหารประเทศโดยอ้างการร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศนั้น ล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อผู้ดำเนินการออกมาถามคำถามนี้ด้วยตัวเองเท่ากับ 3 ปีที่ ผ่านมาสูญเปล่าและโกหกประชาชนมาตลอด โฆษณาชวนเชื่ออยู่ทุกวัน ชี้ให้เห็นว่าไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำมานั้นได้ผล

หลักสำคัญของธรรมาภิบาลข้อหนึ่งคือหลักการมีส่วนร่วม ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาเราไม่มีส่วนร่วม แสดงว่าไม่มีธรรมาภิบาล เราต้องการรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลอย่างยิ่งแต่ไม่ใช่รัฐบาลแบบที่ผู้ตั้งคำถามคิดแน่นอน ตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ หากรัฐธรรมนูญมีปัญหาก็รณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่วิธีที่จะไม่ทำแน่ๆ คือการให้ทหารมารัฐประหารอีก

แนะกลับกรมกอง

ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปควรทำในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยและควรเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมมากที่สุด แต่ถ้าจะให้ประเมินว่าให้ทำต่อหรือไม่ คิดว่ารัฐบาลนี้สอบตก ไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมหรือจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน เห็นแต่ความสิ้นหวังของวิธีคิดที่ดึงพวกเรากลับไป 30 ปีเป็นอย่างน้อย และในฐานะที่เป็นเยาวชนจะต้องอยู่กับแผนเหล่านี้ไปจนแก่หากแผนมันไม่ดี และรัฐบาลนี้ไม่อยู่ด้วยแต่พวกเรารับกรรม

คำถามข้อสุดท้ายที่เราจะตอบคือ ประชาธิปไตยเสรีนิยมมีข้อบกพร่อง แต่ ข้อบกพร่องไม่ได้มีไว้ให้ทหารมาอ้างเอาอำนาจไปใช้ ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการนำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งมาถกเถียงกันในวงกว้างของสังคม จะต้องมีจุดมุ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน ยืนหยัดการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้ง และการมีอำนาจที่แท้จริงของประชาชนเหนือพรรคการเมือง กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้หากทหารกลับเข้ากรมกอง เพราะทหารควรเป็นทหารอาชีพ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ปชป.ซดกาแฟโชว์ปึ้ก

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์รองหัวหน้าพรรค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยอดีตส.ส.กทม. และพื้นที่ ภาคใต้ ประมาณ 30 คน ร่วมถวายพวงมาลาเพื่อสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 เนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นความขัดแย้งภายในพรรค พร้อมยืนยันว่าไม่มีปัญหาใดๆ และหลังจากวางพวงมาลาเสร็จ จะเดินทางเข้าที่ทำการพรรคเพื่อดื่มกาแฟ แต่ไม่ใช่เป็นการนัดหารือถึงประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ เพราะพรรคเข้าใจดีว่าตอนนี้ยังไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองใดๆ ได้

ด้านนายจุติกล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์มีหลายขั้วและเกิดความขัดแย้งว่า ไม่มีต่างขั้ว หากจะมีก็มีแค่ขั้วประชาธิปัตย์เท่านั้น

ปิดห้องคุยแกนนำกปปส.

ต่อมาเวลา 09.10 น. ที่ร้านกาแฟ ภายในพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ ได้ร่วมพูดคุยกับแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย นายถาวร เสนเนียม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายอิสสระ สมชัย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายชุมพล จุลใส นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และอดีตส.ส.พรรคจำนวนหนึ่ง ขณะที่แกนนำกปปส.ที่ไม่ได้มาร่วมพูดคุยคือ น.ส. จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี

ทั้งนี้ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีข่าวไลน์สนทนาที่พาดพิงกปปส.หลุดออกมา จนเกิดปัญหาระหว่างพรรคกับกปปส.ได้ทำหน้าที่เสิร์ฟกาแฟ จากนั้นเวลา 10.00 น. ทั้งหมดได้ขึ้นไปหารืออย่างเป็นทางการที่ห้องประชุมชั้น 2 ตึกควงอภัยวงศ์ โดยไม่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที

“มาร์ค”เมิน”เทพเทือก”เชียร์บิ๊กตู่

นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มคน เหล่านี้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และยืนยันกับตนนานแล้วว่ายังมีความคิดทำงานการเมืองกับพรรค ส่วนที่กปปส.เข้ามาพบตนเวลานี้เพราะมีความชัดเจนในเรื่องกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งแล้ว จึงคิดว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมจะกลับมาพรรค ตนได้บอกว่าการมาอยู่กับพรรคต้องยึดอุดมการณ์ หลักการของพรรค ซึ่งเป้าหมายของคนเหล่านี้คือการปฏิรูปประเทศและการต่อสู้กับระบบทักษิณ เป็นแนวทางของพรรคอยู่แล้ว และตามโรดแม็ปอีกไม่นานจะมีเลือกตั้งก็ต้องพร้อมเสนอบุคลากรและแนวทางให้กับประชาชน

ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีก 5 ปีนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้คุยกันเกี่ยวกับความเห็นของนายสุเทพ ซึ่งอยู่ในส่วนการเมืองภาคประชาชน ไม่ใช่ในระบบพรรค เมื่อคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบพรรค นายถาวร เสนเนียม ก็ยืนยันจะชูธงว่าพรรคจะปฏิรูปประเทศ ส่วนที่นายถาวรระบุหากหัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นนายกฯ จะสนับสนุนคนอื่นหรือไม่นั้น เป็นเรื่องอนาคตไม่มีใครตอบได้ หลังจากนี้หากนายสุเทพมีความเห็นที่ไม่ตรงกับพรรค คนกลุ่มนี้ก็ต้องยึดถือแนวทางของพรรค ไม่ควรมีความเห็นสวนทางกับพรรค เพราะพรรคต้องมีเอกภาพ และมีจุดยืนที่ชัดเจน

ปฏิเสธส่งคนเข้ายึดปชป.

ส่วนที่มีข่าวนายสุเทพส่งอดีตส.ส.กลุ่มนี้กลับมาเพื่อยึดพรรคและเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทุกคนที่มายืนยันว่าไม่ใช่ และนายสุเทพก็ยืนยัน กับตนว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับพรรคเพราะ ออกไปทำงานภาคประชาชนแล้ว จะไม่เข้ามาแทรกแซงการทำงานพรรค ส่วนที่นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ ระบุยังพูดไม่ได้ว่าจะสนับสนุน ตนเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ตนไม่มีสิทธิ์บังคับให้ใครมาสนับสนุน เพราะพรรคเป็นประชา ธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์เลือกหัวหน้าพรรค

“สิ่งสำคัญคือ ใครที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต้องยึดอุดมการณ์พรรค ตอนนี้คนกลุ่มนี้บอกแล้วว่าสนับสนุนคนที่มีรายชื่ออยู่ในพรรค เป็นนายกฯ สิ่งนี้สำคัญกว่า ผมจึงไม่กังวลว่าจะมีใครมาแข่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะพรรคอยู่มาได้เพราะความเป็นประชา ธิปไตยและอุดมการณ์ พรรคเราเป็นสถาบันไม่เคยเป็นพรรคเฉพาะกิจ จะทำตัวเหมือนพรรคเฉพาะกิจไม่ได้” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวคิดให้ 4 พรรคจับมือกันเพื่อสกัดพรรคทหารนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคจะจับมือกันได้ต่อเมื่อมีอุดมการณ์ที่ตรงกัน จะบอกว่าให้ 4 พรรคจับมือกันโดยไม่ดูเลยว่าอุดมการณ์และนโยบายของแต่ละพรรคเป็นอย่างไรไม่ได้

“ถาวร”ดันอภิสิทธิ์คัมแบ๊กนายกฯ

นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ให้สัมภาษณ์ว่า ขอทำความเข้าใจว่าทุกคนที่ไปทำกิจกรรมต่อสู้กับระบอบทักษิณ ไม่มีใครลาออกจากสมาชิกพรรค จะบอกว่า 8 คนเดินกลับพรรคคงไม่ใช่ เรายังคงเป็นคนของพรรคจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เราต่อสู้ร่วมกับพรรคคือการต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ซึ่งเราชนะ สิ่งที่เราพูดคุยกันวันนี้คือ 1.เราจะจับมือกันเหมือนเดิมในการเดินเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามโรดแม็ป 2.ต้องปฏิรูปประเทศให้ได้ สิ่งไหนกฎหมายกำหนดให้ทำก่อน เช่น การปฏิรูปตำรวจที่ต้องปฏิรูปใน 1 ปี เราจะคอยติดตาม ถ้ารัฐบาลนี้ปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็เป็นหน้าที่ของเราต้องสานต่อ ซึ่งเราคิดตรงกันในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ยังคงมีความเป็น กปปส.อยู่หรือไม่ นายถาวรกล่าวว่า กปปส. จริงๆ แล้วเหลือเป็นเพียงมูลนิธิที่ส่งเสริมด้านการศึกษา ส่วนกรณีนายสุเทพ สนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นนายกฯ อีก 5 ปีนั้น แต่ละคนอาจคิดต่างกันได้ แต่อย่าไปว่าความคิดใครผิด และความคิดนายสุเทพก็ไม่ผิด เป็นแนวทางของเขา ส่วนตนจะสนับสนุนด้วยหรือไม่ วันนี้อย่าเพิ่งพูด เป็นเรื่องอนาคต อย่าจินตนาการเอาเอง ส่วนแนวทางของพรรคหลังเลือกตั้งเสร็จ ถ้าหัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นนายกฯ ก็อยู่ที่สมาชิกพรรค เราไปตัดสินใจล่วงหน้าไม่ได้ ขณะเดียวกันอุดมการณ์ของพรรคสนับสนุนการเลือกตั้งและเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว รวมถึงการหาเสียงชูนโยบาย ให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

ชูธงปฏิรูปพรรค-ประเทศ

ต่อข้อถามว่ากลุ่มกปปส.กลับมาพรรคประชาธิปัตย์ จะเกิดแรงกระเพื่อมหรือไม่ นายถาวรกล่าวว่า ไม่มี ทุกคนเข้าใจกันหมด ทำงานร่วมกันได้ไม่มีปัญหา อาจพูดเกินเลยไปบ้าง ซึ่งตนไม่ติดใจ และถ้ามีเลือกตั้ง ทุกคนก็พร้อมเสนอตัวลงเลือกตั้ง ส่วนพรรคจะเลือกหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของพรรค

“ยืนยันว่าไม่มีแนวทางไหนของ กปปส. ที่ขัดกับพรรค โดยเฉพาะการเสนอตัวบุคคลเป็นนายกฯ และขณะนี้ยังไม่ถึงเวลานำแนวคิดของนายสุเทพ กลับมาผลักดันในพรรค ผมไม่ขอก้าวก่ายความคิดของใคร แล้วแต่สมาชิกพรรค ขอย้ำว่าการตัดสินใจของพรรคทุกเรื่องโดยเฉพาะการเป็นรัฐบาลหรือไม่ได้เป็นรัฐบาล จะต้องผ่านมติพรรค และตอนนี้คำตอบที่ชัดเจนของเราคือการสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เป็น นายกฯ” นายถาวรกล่าว

ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตโฆษก กปปส. กล่าวว่า แกนนำกปปส.เดินเข้ามาในพรรคไม่มีเงื่อนไขส่วนตัวใดๆ เราตั้งใจมาคุยเรื่องผลประโยชน์ของประเทศมากกว่าไม่ได้สนใจว่าใครจะต้องเป็นนายกฯ คนต่อไป หรือจะสนับสนุนใคร และหลังจากพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ และสมาชิกพรรค ได้รับการยืนยันว่าพรรคยินดีที่จะปฏิรูปพรรค และยืนยันเดินหน้าปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะการปฏิรูปพรรค เชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถปฏิรูป ตัวเองให้เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง

“เอกนัฏ”ไม่รับปากหนุนนั่งหน.

ส่วนที่มองว่ากปปส.กลับเข้ามาเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างพรรคใหม่ นายเอกนัฏกล่าวว่า เราไม่พูดถึงตัวบุคคล เพราะไม่ได้มาเจรจาต่อรองว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรค หรือใครจะลงส.ส.เขตไหน เรื่องนี้ไม่ได้อยู่บนโต๊ะเจรจา แต่วันนี้มาปรับความเข้าใจ มาคุยกับหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคว่า เราทุกคนยินดีผลักดันเรื่องการปฏิรูป เหมือนที่พรรคกำลังทำอยู่ วันนี้หัวหน้าพรรคคือนายอภิสิทธิ์ เราสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์และพรรคเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไป

เมื่อถามว่าในการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ กปปส.ยังสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคใช่หรือไม่ นายเอกนัฏกล่าวว่า เป็นเรื่องอนาคต ซึ่งนายอภิสิทธิ์บอกว่าจะเดินหน้าปฏิรูป และจากนี้จะร่วมมือปฏิรูปประเทศด้วยกัน ต้องเอาประเทศเป็นที่ตั้ง เรากำลังคิดจะทำเรื่องใหญ่ คือการปฏิรูปประเทศ ฉะนั้นเรื่องการกระทบกระทั่งเล็กๆ น้อยๆ เราไม่เอามาใส่ใจ ก่อนหน้านี้ใครพูดอะไรไม่ดีก็ขออโหสิกันไป เชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคต้นแบบเดินหน้าช่วยประชาชนปฏิรูปประเทศได้ และนับจากนี้จะมีการพูดคุยมากขึ้น

“สุเทพ”ยันไม่แทรกแซงปชป.

เมื่อเวลา 17.00 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการกปปส.ไลฟ์สดว่า ถึงเวลาที่นักการเมืองต้องกลับมาทำหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่แกนนำกปปส.จะกลับเข้าพรรค แต่ในหัวใจและอุดมการณ์เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นขออย่ากังวลใจ ประชาชนถามตนว่าถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวแล้วใช่หรือไม่ ตนเคยบอกว่าไม่ใช่ เพราะเคยบอกแล้วว่าไม่กลับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ใครจะว่าอย่างไร ตนยังยืนยันว่าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯต่อไป แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปก็ตาม เพราะเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ มีความสามารถ มีความกล้าที่จะเป็นคนกลางปฏิรูปประเทศ

“ตอนนี้ทุกคนกลับไปทำหน้าที่ของตนเอง แต่เมื่อถึงเวลา กปปส.ทุกคนพร้อมกลับมา สละเวลา สละชีวิตทำเพื่อชาติ แต่ตอนนี้ผมขอไม่เข้าไปแทรกแซงในพรรค แกนนำทั้ง 8 คนก็กลับไปทำหน้าที่ของเขา ซึ่งได้รับการต้อนรับดีใช้ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฟังข่าวจากคนภายนอกดูเหมือนตั้งป้อม แต่พวกเราผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะแล้วเรื่องเล็กน้อยจะไม่ใส่ใจ” นายสุเทพกล่าว

นายสุเทพกล่าวถึงโมเดล 4 พรรคสู้ทหารว่า ไม่ทราบว่าพรรคขอจับมือกันได้หรือไม่ แต่จากประสบการณ์ เห็นว่าถ้าผลประโยชน์ทางการเมืองลงตัวเขาก็จับมือกันได้ แต่อยากติงด้วยความเคารพต่อนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่าอย่าไปตั้งข้อรังเกียจทหาร ต้องดูข้อเท็จจริงด้วยว่าทำไมทหารถึงมายึดอำนาจรัฐ เพราะประเทศไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ ตนเป็นนักประชาธิปไตย เป็นนักการเมืองมากว่า 40 ปี แต่ลืมตามองดูความเป็นจริงว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัยได้ วันนี้ใครประณามตนว่าไปเชียร์ทหาร ตนไม่ปฏิเสธเลย

“มีชัย”ระบุอาจเลือกตั้งต.ค.61

เวลา 12.00 น. บริเวณพระบรมราชานุ สาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 หน้าอาคารรัฐสภา 1 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐ ธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรธ.ได้วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 เนื่องในวันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ชมนิทรรศการรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดทำ เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับความเป็นมาและกระบวนการจัดทำรัฐธรรม นูญฉบับใหม่ รวมถึงบอร์ดนิทรรศการ เกี่ยวกับการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ที่ระบุว่าจะเกิดขึ้นในเดือนต.ค.2561

นายมีชัยกล่าวว่าโรดแม็ปที่เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง อาจจะอยู่ในช่วงเดือนต.ค.หรืออาจมีการขยายเวลาไปนิดหน่อย

ส่วนการทำงานของ กรธ. ต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ล่าสุดจะเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่กรธ.พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสร็จแล้วเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา สาระสำคัญที่มีการปรับปรุง คือกระบวนการได้มาซึ่งกสม.ที่กำหนดให้มีองค์กรที่หลากหลาย อาทิ สื่อมวลชน มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้คัดเลือกได้ เพื่อให้สอดกับหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากลด้วย

“ศุภชัย”คุยพร้อมแล้ว 85%

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้า ในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งว่า กกต.ได้เตรียมการทั้งเรื่องออกหลักเกณฑ์วิธีการ ระเบียบต่างๆ ให้คู่ขนานกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หากกฎหายลูกออกมา เราพร้อมที่จะปรับระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมาย หากกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับพร้อมเมื่อไหร่ กกต.จะจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันตอนนี้มีการเตรียมการเลือกตั้งไปแล้ว 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 15 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือก็รอกฎหมายลูก ส่วนความเปลี่ยนแปลงของกกต.ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เป็นปัญหาอะไรเพราะได้ให้สำนักงานเตรียมการไว้แล้ว เมื่อกฎหมายลูกเกี่ยวกับ กกต.ประกาศใช้ก็ดำเนินการได้เลย แม้จะเพิ่มคนใหม่อีก 2 คนก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะคุณสมบัติที่กำหนดไว้ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ มีประสบการณ์สูง

ส่วนกรณี กกต.บางรายอาจจะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น คงไม่กระทบกับการทำงานและการจัดการเลือกตั้ง เพราะงานในแต่ละส่วน กกต.ทุกท่านเตรียมไว้หมดแล้ว ใครมารับงานต่อสามารถทำได้เลย เพราะการบริหารงานตามกฎหมายใหม่ สำนักงานจะเป็นผู้บริหาร กกต.เป็นผู้ให้นโยบายและกำกับดูแล ขณะที่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง กกต.ได้เตรียมการไว้แล้วว่าจะทำอย่างไร คงไม่มีปัญหา

สนช.แปรญัตติให้กกต.อยู่ต่อ

พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า กมธ.เห็นด้วยตามกรธ.ให้ ยุบกกต.จังหวัด และให้ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งมาทำหน้าที่แทนกกต.จังหวัด ส่วนประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของกกต.ชุดปัจจุบันที่บางคนอาจต้องสิ้นสภาพตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่นั้น กมธ.ยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องรอการแปรญัตติจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 12 คนในวันที่ 1 มิ.ย. มีทั้งที่ ขอแปรญัตติให้กกต.ชุดปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติต้องพ้นสภาพการเป็นกกต.ทันทีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และแปรญัตติให้กกต. ชุดปัจจุบันอยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้จนครบวาระ

ผู้แปรญัตติส่วนใหญ่อยากให้อยู่ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ เนื่องจากกกต.ชุดปัจจุบันมีที่มาจากการสรรหาอย่างถูกต้อง ไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิ จึงควรให้ทำหน้าที่ต่อ เพราะไม่ควรออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลัง ทั้งนี้ กมธ.ยังมีความเห็นแตกต่างในประเด็นนี้อยู่ จึงต้องรอสรุปผลในวันที่ 1 มิ.ย.อีกครั้ง เมื่อได้ข้อสรุปจะส่งให้ที่ประชุมวิปสนช. พิจารณา ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่สนช.ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน