3เหล่าทัพ จ่อเฉือนงบฯ ซื้ออาวุธ เบรกเกลี้ยง โครงการจัดซื้อรถเกราะ-เรือดำน้ำ-เครื่องบิน

จากมติคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงต่างๆ พิจารณาตัดโอนงบประมาณเพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด โดยกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพถูกจับตามองเรื่องการปรับลดงบประมาณในการจัด ซื้ออาวุธ มาเพื่อนำมาสนับสนุนแผนงานช่วยประชาชน

จากข้อมูลพบว่าในกรอบวงเงินงบประมาณปี 2563 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 70 % และ งบลงทุน 30 %

ทั้งนี้ เหล่าทัพจะกลับไปทบทวนภาพรวมทั้งหมด โดยไม่ให้กระทบในส่วนของงบประจำมากนัก ซึ่งงบประจำประกอบด้วย เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง การประชุม สัมมนา ดูงานต่างประเทศ แผนการฝึกศึกษาประจำปี ส่วนนี้อาจต้องยกเลิกงบการดูงานต่างประเทศ การสัมมนาบางรายการ หรือปรับแผน-ลดขนาดการฝึกลง

ส่วนงบลงทุนที่ต้องทบทวนและอาจต้องชะลอ ในส่วนของ กองทัพบก ได้แก่ โครงการจัดหายุทโธกรณ์ ที่หมายรวมถึงการซ่อมบำรุง และการปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อให้เกิดความพร้อมใช้ โดยมีแผนจัดซื้อ

ยานเกราะลำเลียงพล หรือ สไตรเกอร์ ล็อต 2 จำนวน 50 คัน วงเงิน 4,500 ล้านบาท

แผนจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 155 มม. เพื่อทดแทนของเก่า วงเงิน 2,000 ล้านบาท

โครงการจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 105 มม.วงเงิน 900 ล้านบาท โครงการจัดซื้อเครื่องบินแบบใช้งานทั่วไปวงเงิน 1,350 ล้านบาท

แผนจัดซื้อรถถังวีที 4 ล็อตที่ 3 วงเงิน 1,600 ล้านบาท

ขณะที่ กองทัพเรือ มีแผนจะจัดซื้อ

เรือดำน้ำลำที่ 2-3 จำนวน 2 ลำ ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท

รวมถึงตั้งงบก่อสร้างที่จอดเรือไว้อีก 900 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2563-2569

ส่วน กองทัพอากาศ สมุดปกขาวของกองทัพอากาศ ระบุว่า งบปี 2563 ได้แก่

โครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 4 ปี ( 2563-2566) วงเงิน 5,195 ล้านบาท

โครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4) 2 เครื่องวงเงิน 2,450 เครื่อง วงเงิน 2,450 ล้านบาท (ผูกพันงบประมาณ 2563-2565) เป็นต้น

มีรายงานว่า กระทรวงกลาโหม ให้เหล่าทัพพิจารณาความจำเป็นในแต่ละโครงการเอง โครงการที่ตั้งต้นในปี 2563 และยังไม่ได้อนุมัติโครงการขอให้ดูข้อกฎหมาย และเจรจากับประเทศคู่สัญญาเพื่อขอชะลอโครงการออกไปก่อน ซึ่งประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาเหมือนกันย่อมเข้าใจสถานะของกองทัพ

อีกทั้งต้องพิจารณาควบคู่กับการทำแผนงบประมาณปี 64 ที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วว่า ควรจะไปบรรจุในงบฯปี 64 หรือไม่

รวมทั้งทำแผนสอง หากสถานการณ์งบประมาณในปี 64 ยังไม่ดีขึ้น ก็ให้ชะลออกไปอีก โดยให้คำนึงถึงการดำรงความพร้อมขั้นต่ำของกองทัพเท่าที่ทำได้

ด่วน! กลาโหม ชักออก ถอนซื้อเรือยกพลขึ้นบก 6.1 พันล้าน กลาง ครม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน