เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีสมาคมผู้ปลูกยางทั่วประเทศเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาราคายางพาราว่า ได้หารือในที่ประชุมครม.วันเดียวกันนี้ ซึ่งมาตรการที่นำเข้าพิจารณาเป็นมาตรการการต่อระยะเวลาในการดำเนินการ 4 มาตราการที่เคยทำมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับหลายส่วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ฝ่ายเกษตรกรได้ให้คำแนะนำมา ซึ่งต้องไปหามาตรการควบคุมกำกับดูแลตามกฎหมายพ.ร.บ.การยาง ที่ออกมาใหม่ ที่จะต้องมีหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแลในส่วนของผู้ประกอบการยางด้วย โดยการตั้งคนเข้าไปติดตาม ซึ่งหลายเรื่องจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้เราต้องเข้าใจว่ากระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่นั้น ความจริงดำเนินการมานานแล้ว ในโลกเสรีมีทั้งการจับขั้ว การรวมกลุ่ม การตั้งตลาดซื้อล่วงหน้า เหมือนการลงทุนซื้อหุ้นทำให้ราคายางแกว่ง ซึ่งเป็นไปตามกลไกการค้าเสรี เราจึงต้องพยายามหาทางแก้ไขปัญหาตรงนี้ ซึ่งการคุมในประเทศพอได้ แต่พอถึงตลาดกลางนอกประเทศก็คุมไม่ได้

“มาตรการอื่นๆ ที่จะทำให้ราคายางสูงขึ้น ซึ่ง 2-3 วันนี้ขึ้นมากิโลกรัมละ 2 บาท ก็ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้วย ซึ่งต้องดูในหลายๆ มิติ วันนี้ก็ต้องเตรียมรองรับในเรื่องการเปิดฤดูกาลใหม่ในการกรีดยาง ซึ่งทุกครั้งก่อนเปิดฤดูการใหม่ราคายางจะตกลงทุกครั้ง ก็ต้องไปดูว่ามาจากสาเหตุอะไร อยากให้รอทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงในวันที่ 14 มิ.ย. เรื่องที่เกี่ยวข้องให้ทราบว่ามีมาตรการอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางสมาคมผู้ปลูกยางเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ออกมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอร้องว่าอย่าออกมาเคลื่อนไหวอะไรเลย เพราะตนเองก็ไม่อยากใช้กฎหมายบังคับ อยากหาวิธีการว่าทำอย่างไรจะร่วมมือแก้ไขปัญหาได้ หลายอย่างคืบหน้าไปในทางที่ดีแล้วที่ผ่านมาราคาสูงขึ้น แต่ก็มีช่วงที่ลดลงก็ต้องหาสิธีการแก้ไขปัญหาช่วงที่ราคาลดลงอย่างไร และสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งขอให้สื่อช่วยกันทำความเข้าใจด้วย

“อย่าถึงขั้นเรียกร้องให้ปรับรมว.เกษตรฯ ออกจากตำแหน่งเลย เพราะมันไม่ใช่สาเหตุ และรมว.เกษตรฯ เขาก็ทำงานหลายเรื่อง อีกทั้งหลายปัญหาเกิดขึ้นมาหลายรัฐบาลแล้ว แม้วันนี้รัฐบาลจะมีอำนาจเด็ดขาด แต่จะไปใช้อำนาจกับเกษตรกรหลายล้านคนคงทำไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องดูแลในทุกมิติทั้งในและต่างประเทศ ขณะนี้ก็จะมีการประชุมร่วมกันกับประเทศผู้ผลิตยางทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อให้เกิดความร่วมมือในตลาดครั้งหน้า ประเด็นสำคัญคือปัญหาไม่ได้อยู่ แค่ 3 ประเทศ เพราะประเทศที่ไม่ได้ผลิตเป็นเจ้าของตลาด เป็นเรื่องของการประกอบการธุรกิจ เช่น สิงคโปร์ และญี่ปุ่น อีกทั้งกรณีที่มีผลผูกพันในขณะนี้คือ เรามีสต๊อกยางอยู่ซึ่งจะมีผลต่อราคา ขณะนี้จึงต้องค่อย ๆ ระบาย และไม่ให้มีผลกระทบต่อราคายางในปัจจุบัน” นายกฯ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน