โฆษกไก่อูซัดล้มเวทีประชาพิจารณ์กฎหมายบัตรทองเป็นเรื่องการเมือง จี้ดำเนินคดี หลังกลุ่มต้านแก้พ.ร.บ.ฮือยึดเวทีที่ขอนแก่น และประกาศรวมตัวค้านเปิดเวทีในกทม.ด้วย สำนักงานปลัด สำนักนายกฯเปิดคำตอบ 4 คำถามนายกฯ สามวันแรก สรุปประชาชนหนุนบิ๊กตู่-คสช.อยู่ต่อ เชื่อหลังเลือกตั้งยังไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ด้านเพื่อไทย-ปชป.รุมจวก ชี้ปฏิบัติการไอโอ เอาอกเอาใจกันเอง “มาร์ค”ชี้ถาม-ตอบไม่ยึดหลักวิทยาศาสตร์ ส่วน”จาตุรนต์” อัดกมธ. ชูระบบไพรมารี่โหวต ทำลายระบบพรรคการ เมือง เป้าหมายเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่

ยึดเวทีประชาพิจารณ์กม.บัตรทอง

เวลา 09.30 น. วันที่ 17 มิ.ย. ที่โรงแรม อวานี แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยมีบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน มาร่วมแสดงความคิดเห็นรวมกว่า 500 คน

ทันทีที่เข้าสู่ขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นแกนนำกลุ่มรักหลักประกันสุขภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้บริการสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น ได้บุกขึ้นไปบนเวทีของการรับฟังความคิดเห็นเพื่อหยุดขั้นตอนดังกล่าวทันที ก่อนจะมีประชาชนกว่า 200 คนขึ้นไปบนเวทีเพื่อชูป้ายคัดค้านการแก้ไข พร้อมหมุนเวียนสับเปลี่ยนขึ้นปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลในด้านของการให้บริการสาธารณสุข ทำให้เวทีการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวต้องหยุดดำเนินการ ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง รวมทั้งคณะทำงานร่างพ.ร.บ.ได้เข้าเจรจาพูดคุยกับแกนนำ แต่การเจรจาไม่เป็นผลกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยึดเวทีท่ามกลางสถาน การณ์ที่ตึงเครียด

ชี้ขั้นตอนไม่ชอบธรรม

นายเทพรักษ์ บุญรักษา แกนนำกลุ่มผู้ใช้บริการสิทธิบัตรบัตรทอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นของประชาชนให้มาก ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้นั้นไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะคณะกรรมการยกร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนี้มีภาคประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการเพียง 2 คน ทำไมรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชนให้มากกว่านี้ การออกมาแสดงพลังของภาคประชาชนโดยเฉพาะคนจนและผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการบัตรทองนั้นไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างแท้จริง

นายเทพรักษ์กล่าวว่า เราจะยังคงยึดเวทีนี้ต่อไป ขอนแก่นเป็นเวทีที่ 3 ของการประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทุกอย่างที่ประชาชน พูดรัฐบาลควรรับฟัง และการเปิดเวทีวันนี้ภาคประชาชนคนอีสานไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะทุกขั้นตอนไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย หากทำแบบนี้การเปิดเวทีควรทำเฉพาะที่ทำเนียบคงจะเพียงพอ เพราะ รัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน” นายเทพรักษ์กล่าว

ยันไม่เอาผิดคนค้าน

ขณะที่ นพ.พลเดช กล่าวว่า ความคิดเห็นที่ภาคประชาชนพูดวันนี้ทั้งหมดจะถูกบันทึกเพื่อนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็นที่จะเข้าไปบรรจุในขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ และ ยังคงยืนยันในการดำเนินการต่อไปเนื่องจากการเปิดเวทีของภาคอีสานมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมากถึง 400 คน ทุกคนต้องการแสดงความคิดเห็น และกำหนดให้แสดงความคิดเห็นได้คนละ 3 นาที ดังนั้นเมื่อถูกภาคประชาชนคนอีสานยึดเวที ทำให้การดำเนินการนั้นชะงักไปก็จะเจรจาเพื่อให้การดำเนินงานเดินหน้าต่อไปให้ได้

นพ.พลเดชกล่าวว่า ถึงอย่างไรก็ต้องให้ผู้ที่ส่งเอกสารหลักฐานและได้ลงทะเบียนได้แสดงความคิดเห็นในช่วงของการดำเนินการการทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำกลับไปสรุปร่วมกับการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งคงเหลือเพียงที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ขั้นตอนต่างๆ ก็จะสิ้นสุด คณะทำงานยืนยันในการไม่เอาผิดประชาชนที่มาขัดขวางหรือการต่อต้านการทำประชาพิจารณ์แน่นอน

ซ้ำรอยเวทีสงขลา-เชียงใหม่

เวลา 13.00 น. นายปิยิน ตลับนาค ปลัดจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย พ.ต.อ.จีราวัฒน์ คงกระพันธุ์ รอง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น และ พ.ต.อ.จำลอง สุวลักษณ์ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น พร้อมกำลังตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองรวมกว่า 30 นาย ยังคงวางกำลังโดยรอบห้องประชุม สถานที่ในการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ ผ่านไป 5 ชั่วโมงก็ยังไม่สามารถที่เปิดเวทีประชาพิจารณ์ได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมต่อต้านด้วยการนำป้ายข้อความคัดค้านมาติดตั้งบนเวทีและโดยรอบของสถานที่ แกนนำยังคงสับเปลี่ยนกันปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล และคสช.โดยเฉพาะงานด้านสาธารณสุข และช่วยกันจัดเก็บโต๊ะและเก้าอี้ที่ใช้ในการจัดการทำประชาพิจารณ์ออกจากห้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดเวทีที่จ.ขอนแก่น คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์กำหนดจัดเวทีขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากภาคใต้ที่จ.สงขลา และภาคเหนือที่จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ โดยทั้งสองเวทีก่อนหน้านี้ถูกคัดค้านจากเครือข่ายภาคประชาชนโดยการวอล์กเอาต์ และออกแถลงการณ์คัดค้าน

ถกฝ่ายมั่นคง-สั่งปิดเวที

เวลา 14.30 น. การชุมนุมปิดเวทียืดเยื้อ เข้าสู่ชั่วโมงที่ 6 ขณะที่คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ได้ประชุมร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.ขอนแก่น, กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่ขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้เวลาประชุมร่วมนานกว่า 1 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปให้ยุติการเปิดเวทีประชาพิจารณา โดยทันที เพื่อป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

นพ.มารุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินการประชาพิจารณ์วันนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า คณะอนุกรรมการได้หารือร่วมกับฝ่ายความมั่นคงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนได้ข้อสรุป ในการยุติเวทีนี้โดยเด็ดขาด จากนี้ไปคณะทำงานจะสรุปเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางออก ในการทำประชาพิจารณ์ใหม่อีกครั้ง ส่วนการเปิดเวทีครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายมิ.ย. ที่กรุงเทพฯ จะยังคงดำเนินการไปตามปกติ

“ต้องหารือกันใหม่อีกครั้งเพื่อหาทางออกในเรื่องที่เกิดขึ้น การเปิดเวทีที่ขอนแก่นรุนแรง มากกว่าทุกภูมิภาคจนทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ จึงมีมติในการยกเลิก ซึ่งเป็นเวทีที่ 3 จากทั้งหมด 4 เวที ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดไว้ แต่ยังคงยืนยันในการไม่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน แต่ทุกข้อมูลที่ได้รับจะมีการกลั่นกรองและตรวจสอบในด้านต่างๆ เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการรับฟังในทุกความคิดเห็นเพื่อที่จะนำผลการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ดังกล่าวนี้เข้าสู่ขั้นตอนของการจัดทำเป็นร่างพ.ร.บ.ต่อไป” นพ.มารุตกล่าว

กลุ่มค้านนัดรวมตัวกรุงเทพฯ

นพ.มารุตกล่าวว่า ยังคงมีหลายประเด็นที่คณะกรรมการได้รับฟังและรับทราบถึงความเห็นในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทที่ประชาชนไม่สามารถแสดงความเห็นต่อร่างดังกล่าวได้ ทั้งนี้ 1 คน ต่อ 1 ความเห็น ทุกคนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน หากไม่สามารถเข้าร่วมในการทำประชาพิจารณ์ได้ครบทั้ง 4 ภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทันทีที่กลุ่มเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพฯและกลุ่มผู้ใช้บริการสิทธิบัตรบัตรทองฯ รับทราบถึงการยกเลิกการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ต่างดีใจและออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนจะฉีกทิ้งเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในการคัดค้าน ในนามของภาคประชาชน และนัดรวมตัวกันเพื่อเดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมคัดค้าน ในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายของการรับฟังความคิดเห็นของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย

ไก่อูชี้เอี่ยวการเมือง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุกรณีกลุ่มรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสานและเครือข่ายกลุ่ม ผู้ใช้บริการสิทธิบัตรทองจังหวัดขอนแก่น ล้มเวทีประชาพิจารณา ว่าตนได้ชี้แจงถึงร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ไปหมดแล้ว จึงอยากให้ประชาชนลองศึกษารายละเอียดถึงร่าง ดังกล่าวก่อนว่าเป็นอย่างไร มีส่วนที่สูญเสียสิทธิจากเดิมหรือพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนการที่มีกลุ่มคนไปล้มเวทีประชาพิจารณ์นั้น แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง แต่การกระทำที่บ่งบอกว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นนั้น ก็ไม่สมควรทำเช่นกัน

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า การออกกฎหมายแต่ละฉบับรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และถือเป็นองค์ประกอบหลักในการออกกฎหมาย ดังนั้นประชาชนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และที่ผ่านมามีการเรียกร้องอยากเห็นประชาธิปไตย หัวใจหลักคือการแสดงความเห็นคิด ดังนั้นการใช้กำลังล้มเวทีประชาพิจารณ์ ก็เป็นการบอกว่าไม่ได้เป็นการฟังความคิดเห็นคนอื่นด้วยเหมือนกัน

“ขอให้ดูให้ดีว่ากลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพจริงๆ หรือมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เสียรังวัดว่าของใหม่ดีกว่าของเดิม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ล้ม เวทีประชาพิจารณ์เพราะถือว่ากระทำความผิด”

อ้าง 4 คำตอบชูบิ๊กตู่นายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เวลา 09.00 น. ทางศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เริ่มตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาลงทะเบียนตอบคำถาม 4 ข้อของนายกรัฐมนตรี โดยวันนี้เป็นวันแรกของการให้บริการจุดนี้ ที่บริเวณโซน C ในตลาดของผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการตอบคำถาม

นอกจากนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ได้สรุปจำนวนประชาชนที่เข้ามาแสดงความเห็นต่อ 4 คำถามของนายกรัฐมนตรี ผ่านจุดบริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล บริเวณสำนักงาน ก.พ. ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่ 12 มิ.ย. จนถึง 14 มิ.ย. ที่ผ่านมามีจำนวน 87 คน ส่วนใหญ่คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งหากไม่ได้ก็ขอให้นายกฯ และคสช.ดำรงตำแหน่งต่อไป เพื่อจะได้บริหารงานและปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ และขอให้มีการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมาภิบาลให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง

สำหรับคำถามการเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์ และการปฏิรูปหรือไม่นั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ถูกต้อง และคำถามว่าคิดว่ากลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกจะให้ใครแก้ไขและแก้ไขด้วยวิธีอะไร ต่างเห็นว่าไม่ควร และมีข้อเสนอแนะ อาทิ ไม่เปิดโอกาส หรือตัดสิทธินักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมลงรับสมัครการเลือกตั้งหรือเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตลอดไป ไม่ควรให้มีการเลือกตั้งจนกว่านายกฯ จะปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้านให้แล้วเสร็จ ขอให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งเพื่อบริหารประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนแสดงความเห็นผ่านช่องทางสายด่วนของรัฐบาล 1111 จำนวน 280 คน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.-14 มิ.ย. มีผู้เสนอความคิดเห็นกรณีดังกล่าวจำนวน 280 คน

อ้างเชียร์ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ด้านนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยยอดประชาชนตอบแบบ สอบถามแสดงความคิดเห็น 4 คำถามนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.เป็นต้นมา ว่า สรุปผลประชาชน 87 คน ข้อ 1.การเลือกตั้งครั้ง ต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ มีประชาชนตอบว่าได้ 3 คน ตอบว่าไม่ได้ 30 คน ข้อ 2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ตอบว่าขอให้นายกฯ และคสช.ดำรงตำแหน่งต่อไป เพื่อจะได้บริหารงานและปฏิรูปประเทศ ให้แล้วเสร็จ และขอให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมา ภิบาลให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง

ข้อ 3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศ และเรื่อง อื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ประชาชนตอบว่าถูกต้อง 9 คน ไม่ถูกต้อง 25 คน ขณะที่ข้อ 4 คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรมีโอกาส เข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ ประชาชนตอบว่าไม่ควร 20 คน และควร ไม่มี โดยมีข้อเสนอแนะ คือ 1.ไม่ควรเปิดโอกาสหรือตัดสิทธินักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมลงรับสมัครการเลือกตั้งหรือเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตลอดไป 2.ไม่ควรให้มีการเลือกตั้งจนกว่านายกฯ จะปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน ให้แล้วเสร็จ และ 3. ขอให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งเพื่อบริหารประเทศต่อไป

พท.จวกเลิกไอโอเอาใจนาย

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีรองปลัดสำนักนายกฯ ระบุมีประชาชนแสดงความคิดเห็น 87 คน 30 คน คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ขอให้นายกฯ และคสช.ดำรงตำแหน่งต่อไปเพื่อปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ ว่า ไม่เข้าใจว่ารองปลัดกำลังทำอะไร คิดอะไรอยู่ ถามคนอีก 60 กว่าล้านคนหรือยังว่าเห็นด้วยกับคน 30 คนนั้นหรือไม่ กำลังทำให้คนเข้าใจผิดอะไรหรือไม่ การนำความเห็นของคน 30 คน มาอธิบายราวกับว่าเป็นเสียงของคนทั้งประเทศ สร้างความสับสนและประชาชน ไม่ได้ประโยชน์ จะตีปี๊บหรือปฏิบัติการไอโอ ก็ควรอยู่ในความพอเหมาะพอควร ถามว่าการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารแบบนี้ได้มาตรฐานการ ทำงานหรือไม่ การรับฟังเสียงของประชาชน ที่ดีที่สุดต้องฟังผ่านการเลือกตั้ง ถึงวันนั้นประชาชนจะตอบคำถามเองว่าเขาต้องการให้ใครเข้ามาเป็นตัวแทนของเขาในการบริหารประเทศ

“คำถามเดียวสั้นๆ ไม่ต้องใช้ถึง 4 คำถาม งานของรองปลัดฯและสำนักนายกฯ ที่อยู่ ในความรับผิดชอบได้ดำเนินการครบถ้วนสมบูรณ์ดีหรือไม่ ทำไมถึงต้องออกมาตีปี๊บเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังออกมาปฏิเสธหลายครั้งว่าการให้ประชาชนตอบ 4 คำถาม ไม่เกี่ยว กับการเลื่อนโรดแม็ป เลื่อนการเลือกตั้งหรือต้องการสืบทอดอำนาจ หากรัฐบาลและคสช.ต้องการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจการลงทุนและประชาชน ก็ควรจะเร่งประกาศวันเลือกตั้งและนับถอยหลังสู่การกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล ไม่ใช่ปล่อยให้เครือข่ายออกมาสร้างไอโอเอาอกเอาใจ โดย ไม่ดูตาม้าตาเรือ ซึ่งเป็นผลเสียหายมากกว่า” นายอนุสรณ์กล่าว

ปชป.ติง 4 คำถามย้อนกลับรบ.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ฝาก 50 ประเด็นให้ทุกฝ่ายร่วมกันคิดว่า นายกฯจะทำกี่ข้อก็แล้วแต่นายกฯ แต่นายกฯ ต้องทำเรื่องการสร้างความปรองดองและความสามัคคีของคนในชาติให้กลับมา หัวใจสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จบ และ 50 ประเด็นเยอะเกินไป ความคิดเห็นในบางเรื่องใช่ว่าคนบางกลุ่มจะมีความเห็นได้ และอาจได้คำตอบที่ผิดได้

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ส่วนการสรุปตัวเลขการตอบแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นคำถาม 4 ข้อของนายกฯ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่าแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้ว ก็จะไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลนั้น โจทย์นี้ย้อนกลับไปที่ตัวรัฐบาล เพราะรัฐบาลบริหารประเทศมา 3 ปี ทำไมคำตอบของคนจึงยังมองว่าเลือกตั้งแล้วยังไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ในเมื่อรัฐบาลก็ทำเรื่องปฏิรูป มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลต้องตอบคำถามเรื่องนี้ ว่าที่ทำมาผิดหมดหรือไม่ได้ผลอะไรเลย

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนมองว่านายกฯ มีเจตนาดีไม่มีอะไรเสียหายที่ออกมาฝาก 50 ประเด็นให้ทุกฝ่ายร่วมกันคิดปัญหาต่างๆ ของประเทศ แต่หลายปัญหาที่นายกฯ หยิบยกขึ้นมาหลายเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกฯ ที่ดำเนินการได้ในช่วง 3 ปีให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลาย ซึ่งพบว่าหลายเรื่องไม่ได้คลี่คลาย

มาร์คชี้ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงภาพรวมประชาชนการตอบแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นประเด็น 4 คำถามของนายกฯ ว่า เป็นการสอบถามความคิดเห็นที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของวิทยา ศาสตร์ของการสำรวจความคิดเห็น จึงไม่สามารถตอบเรื่องดังกล่าวได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวกรณี สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ. พรรคการเมืองที่ กมธ.ปรับมาใช้ระบบไพรมารี่ โหวต ในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร ว่า เบื้องต้นพยายามทำความเข้าใจเนื่องจากมีการเพิ่มถ้อยคำเข้าไปในภายหลัง สิ่งที่เป็นอุปสรรคแน่นอนคือเรื่องระบบบัญชีรายชื่อ เพราะเมื่อเราไปทาบทามคนนอกวงการเมืองเขาก็ต้องพอจะทราบว่าเขาอยู่ลำดับเท่าไร หากอยู่ลำดับร้อยกว่าคงไม่มา ฉะนั้นจะเป็นอุปสรรคในการได้คนใหม่ ขณะเดียวกันยังเห็นใจพรรคขนาดเล็กเพราะต้องเร่งตั้งสาขาพรรคและ ผู้แทนประจำจังหวัด จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ แม้มีความตั้งใจและเป็นแนวคิดที่หวังดีแต่ก็ไม่อยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติ จริง และจะส่งผลต่อการสรรหาบุคคลภาย นอกเข้าสู่ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ดังนั้น จึงต้องดูว่าเรื่อง ดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่พรรคการเมืองควรจะมีสิทธิส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และคงเป็นประเด็นที่ กกต.ไปตรวจสอบ ท้ายที่สุดกฎหมาย ออกมาอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แต่จะได้ผลอย่างที่ผู้ร่างตั้งใจหรือไม่นั้นไม่แน่ใจ

จาตุรนต์ชี้ไพรมารี่ก่อปัญหา

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงระบบไพรมารี่โหวตว่า กติกา อย่างที่ สนช.เห็นชอบตาม กมธ.จะทำลายระบบพรรคการเมืองทำให้พรรคทั้งหลายเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน อ่อนแอ ไม่สามารถ ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เว้นพรรคใหญ่ พรรคขนาดเล็กอาจเอาตัวไม่รอด ส่วนพรรคใหม่จะเกิดยากมาก การทำงานของพรรคการเมืองโดยรวมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้

นายจาตุรนต์กล่าวว่า สงสัยว่าวัตถุประสงค์ อีกอย่างหนึ่งของ กมธ.วิสามัญ คือ ต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป และการกำหนดให้พรรคต้องมีสาขาและตัวแทนพรรคในทุกเขตเลือกตั้ง และให้สมาชิกในแต่ละเขต มีอำนาจอย่างมากในการกำหนดตัวผู้สมัคร ได้ ฟังดูเหมือนดีแต่จะเกิดปัญหาการขัดแย้งแก่งแย่งกันหาสมาชิกที่สนับสนุนนักการเมืองเป็นตัวบุคคลมากกว่าสนับสนุนพรรค นักการเมืองที่เคยหาสมาชิกไว้ก่อนจะได้เปรียบ เกิดความขัดแย้งระหว่างสาขาพรรคและสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งต่างๆ กับคณะกรรมการบริหารพรรค สุดท้ายอาจได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเพียง 100 คน ที่จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้น คนที่ประชาชนสนับสนุนอาจไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้ง

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ส่วนการให้ตัวแทนสาขาพรรคและสมาชิกในเขตเลือกตั้งต่างๆ เลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อโดยให้แต่ละคนเลือกผู้สมัครได้ 15 คน จะทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วนตามจังหวัดหรือภูมิภาค นักการเมืองที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศอาจได้เปรียบ อยู่บ้างแต่ก็จะเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะได้ ผู้สมัครที่เหมาะจะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มเล็กๆ อย่างกระจัดกระจายมากกว่าจะเป็นตัวแทนของทั้งประเทศ ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการมีระบบบัญชีรายชื่อ

แนวโน้มเลื่อนเลือกตั้ง

นายจาตุรนต์กล่าวว่า กฎหมายพรรค การเมืองและวัฒนธรรมทางการเมือง รวมทั้งการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายทางการเมืองของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนใหญ่ถึงแม้สนใจการเมืองและพร้อมจะไปออกเสียงเลือกตั้งแต่ก็ไม่อยากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง พรรคก็ไม่ต้องการมีสมาชิกมากๆ เพราะถ้าสมาชิกไปทำผิดกฎหมายพรรคก็จะถูกยุบ แนวโน้มพรรคส่วนใหญ่จึงจะมีสมาชิกน้อย หลายพรรคอาจหาสมาชิกให้ได้ทั่วทุกเขต ไม่ได้ด้วยซ้ำ การเอาระบบที่ให้สมาชิกจำนวนน้อยมากำหนดตัวผู้สมัครจึงไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน และจะสร้างปัญหาทำให้พรรคการเมืองต่างๆ อยู่ในสภาพพิกลพิการกันไปหมด

นายจาตุรนต์กล่าวว่า หากกติกาออกมาเช่นนี้พรรคการเมืองจำนวนมากโดยเฉพาะพรรคใหม่ๆ จะทำตามกติกานี้ไม่ทัน เพราะต้องใช้เวลามากและอาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกนาน ซึ่งอาจเป็นวัตถุประสงค์ของ กมธ.วิสามัญมาตั้งแต่ต้นก็ได้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการตั้งกรรมาธิการร่วม ซึ่งจะเกิด การแก้ไขให้ดีขึ้นหรือไม่ก็ยังไม่แน่ แต่ไม่ว่าแบบไหนก็จะเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ใหญ่หลวงกว่าการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็คือการทำลายระบบพรรคการเมือง ที่จะทำให้การเลือกตั้งลดความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนน้อยลง

หนุนใช้แบบที่กรธ.เสนอ

นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงระบบไพรมารี่โหวตว่า ไม่เห็นด้วยกับกระบวนไพรมารี่โหวต ที่ สนช. ปรับแก้ให้หัวหน้าสาขาพรรคและตัวแทนประจำจังหวัดร่วมกันเสนอรายชื่อผู้ที่เห็นควรให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในรายเขต ก่อนให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาเพราะมันยุ่งยาก ซับซ้อนและไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา หากต้องการจะบล็อกพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่าไม่เกิดผลอะไร ทั้งสองพรรคมีฐานสมาชิกจำนวนมากกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่พรรคใหม่และพรรคเล็กที่ต้องหาสมาชิกเพิ่มและสมาชิกใหม่จะเกิดปัญหาทันที

นายสมคิดกล่าวว่า แต่ในบทเฉพาะกาลที่ สนช.ปรับแก้ให้พรรคใหม่ส่งผู้สมัครได้ โดยไม่ต้องมีจำนวนสมาชิกสูงเหมือนเกณฑ์ของพรรคเก่า ก็ชัดเจนว่าพรรคใหม่จะได้เปรียบพรรคเก่า ไม่มีกติกาที่ยุ่งยากให้ต้องทำตาม กติกาหลายขั้นตอนแบบพรรคเก่า ไม่ขัดข้องหากจะนำระบบนี้มาใช้ แต่ควรรอสัก 5 ปีค่อยนำมาใช้ เพื่อให้ทุกพรรคมีโอกาสเตรียมตัวแล้วใช้กติกาบนบรรทัดฐานเดียวกัน เห็นด้วยถ้า กรธ.จะทำความเห็นแย้งกับสนช. เพื่อตั้ง กมธ.ร่วม แล้วปรับแก้กฎหมายพรรคการเมืองให้กลับไปใช้ตามที่ กรธ.เสนอ ไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้ของ สนช.ที่มีพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต 40 ส.ว.เป็นผู้เสนอ เพราะเขาไม่เคยลงเลือกตั้ง

“เทือก”พลิก-โต้วางมือการเมือง

ที่มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมปท. กล่าวว่า ตนได้ประกาศว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกแล้วและจะไม่รับ ตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลไหนอีก ตรงนี้ชัด แต่ก็มีคนไปตีความว่าตนจะไม่เล่นการเมือง ตรงนี้ ไม่ใช่ การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน ฉะนั้นตรงนี้ชัดเจนตนยังรับผิดชอบต่อบ้านเมือง

ไม่เข้าใจว่าทำไมคนมองกันว่าตนจะเป็นตัวแปรทางการเมือง และพูดเลยไปว่าจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล อย่าคิดไกลกันไป และไม่เหนียมอายไม่ลังเลที่จะประกาศแทนประชาชน ว่าเราสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ และเลือกตั้งคราวหน้าประชาชนอย่างพวกตนอยากเห็นพล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นตนยังเกี่ยวกับการเมืองอยู่

ประกาศชัดหนุนบิ๊กตู่นายกฯ

เมื่อถามว่าก่อนจะมีการเลือกตั้งอาจมีสถานการณ์ต่างๆ ทำให้การเลือกตั้งสะดุดต้องเลื่อนไม่ตรงกับโรดแม็ป นายสุเทพ กล่าวว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีอะไรสะดุด แต่แน่นอนหากยังมีระเบิดตามที่ต่างๆ ประชาชนจะเป็นคนที่ลุกขึ้นเรียกร้องว่าอย่ามีเลือกตั้ง ตนก็จะเป็นคนหนึ่งที่ลุกขึ้นเรียกร้อง

ส่วนที่กล่าวกันว่าส่งแกนนำกปปส.เพื่อไปยึดพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า “จะไปยึดทำไม อย่าว่าจะไปช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาจากนายอภิสิทธิ์เลย มีแต่อภิสิทธิ์ มายกมือไหว้ บอกว่าช่วยมาเป็นหัวหน้าพรรคแทนที ก็ยังไม่เอาเลย เพราะไม่กลับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว และไม่รู้จะไปจัดการอย่างไรกับคนที่อยู่ในพรรคหลายคนที่รู้สึกว่าน่ากังวลใจ แต่ถ้าเพื่อนๆ พี่น้อง 7-8 คนที่กลับพรรคไปพร้อมกับแนวความคิดใหม่ที่ได้เรียนรู้จากเวลา 204 วัน แล้วเอาไปเผยแพร่ในพรรคจนทำให้คนในพรรคมีแนวความคิดใหม่ๆตามไปด้วย ไม่ใช่การยึดพรรค แต่เป็น การปรับแนวความคิด

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ เลือกตั้งครั้งใหม่ หัวหน้าพรรคอย่างนายอภิสิทธิ์ ควรเปลี่ยนหรือไม่ เพราะการเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นนายกฯต้องเสนอก่อนมีเลือกตั้ง นายสุเทพ กล่าวว่า มองและบอกไม่ได้ว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ควรเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน แต่ถ้าถามในฐานะประชาชนก็จะบอกว่าเราประชาชนประกาศท่าทีชัดเจนว่าเราสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง เพราะช่วงนี้เป็นของการเปลี่ยนผ่าน เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ งานปฏิรูปประเทศต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 4-5 ปี ถึงจะสมบูรณ์ ถ้าเป็นนักการเมืองเก่าประชาชน กังวลใจว่าคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศได้ พล.อ.ประยุทธ์ คนกลางๆ แต่ก็จะมีปัญหาถ้าพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ประกาศว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จะทำประชาชนหนักใจเหมือนกัน ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนั้นก็อาจมีพรรคใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยการรวมตัวของประชาชน

“ไอลอว์”จี้เปิดรายงานผลสอบ7สนช.

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวถึงผลสอบ 7 สมาชิกสนช.ที่ขาดการ ลงมติเกิน 1 ใน 3 ตามข้อบังคับการประชุม สนช.ตามที่ไอลอว์ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ไม่ติดใจ ถ้าผลสอบของคณะกรรมการจริยธรรม สนช.บอกว่าการยื่นใบลาของ สนช.ทั้ง 7 คนถูกต้อง จึงไม่ผิดจริยธรรมและไม่ขาดสมาชิกสภาพ แต่สิ่งที่ติดใจก็คือ สนช.ไม่ยอมเปิดเผยรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมให้สังคมได้รับทราบ ซึ่งไอลอว์ได้ติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สนช.เพื่อสอบถามแล้ว แต่ได้รับคำตอบ กลับมาว่าเอกสารเป็นความลับจึงเปิดเผย ไม่ได้ สนช.ควรเปิดเผยโดยให้ประชาชนดาวน์โหลด จากเว็บไซต์ของ สนช.ได้เช่นเดียวกับรายงานฉบับอื่นๆ ที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช. ส่วนการแก้ไขข้อบังคับการประชุม สนช.ใหม่ โดยตัดเรื่องการบังคับใช้สนช.ต้องแสดงตนเพื่อลงมติ 1 ใน 3 ในรอบระยะเวลา 90 วันออกนั้นที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ระบุว่าเป็นการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ไม่ผิด แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสะท้อนให้สังคมได้เห็น และตั้งคำถามว่าสิ่งที่สนช.ทำว่าชอบธรรม แค่ไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน