เวทีประชาพิจารณ์บัตรทองในกทม.หวิดล่ม ภาคประชาชนฮือเปิดเวทีคู่ขนานตำรวจระดมกำลังตรึงเข้ม กรรมการเตรียมสรุปความเห็น 4 ภาคส่ง “หมอปิยะสกล” 18 ก.ค. “ไก่อู” เชื่อฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลังล้มเวทีขอนแก่น เพื่อไทยจวกกลับข้อมูลมั่ว “สมชัย” อัด “เทพเทือก” ออกมาระบุบ้านเมืองยังมีระเบิด ก็ไม่ควรมีเลือกตั้ง ถือเป็นตรรกะพาชาติพินาศ 2 โพลระบุประชาชนอยากเลือกตั้งโดยเร็ว เผยกรธ.ยื้อชงกฎหมายเป็นเหตุยืดเลือกตั้งไปต.ค.61 เปิดเบี้ยประชุม “มีชัย” ฟันแล้วเกือบ 3 ล้าน กรธ.เฉียด 2 ล้าน เล็งขอเพิ่ม 9 เดือนอีก 68 ล้าน “ดวงฤทธิ์” สถาปนิกชื่อดัง โพสต์อีกขอคนไทยมีส่วนร่วมสร้างรถไฟฟ้ากทม.-โคราช เตือนครม.อย่าทำงานมักง่าย

“บิ๊กเจี๊ยบ”ยันโรดแม็ปเหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงโรดแม็ปการเลือกตั้งของคสช.ว่า ยังเป็นไปตามโรดแม็ป อย่าไปกังวลมาก และสำคัญอยู่ที่ทุกคนจะต้องช่วยกันโดยเฉพาะคำพูดกับการให้ข้อมูล มั่นใจว่าสื่อมวลชนก็ช่วยนำเสนอสิ่งที่ดี ประชาชนจึงมีความมั่นใจ ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯกำลังนำประเทศไปสู่โรดแม็ปอยู่แล้ว ถ้าใครทำนอกกติกา หรือถ้าสื่อได้เขียนออกไปจะทำให้ทุกคนไม่มั่นใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้จะกระทบต่อโรดแม็ปของคสช.หรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงไม่มีผล กระทบ โรดแม็ปยังเป็นโรดแม็ปอยู่ ทั้งโลกมีสถานการณ์อยู่เช่นกัน ในขณะที่ของเราทุกอย่างน่าจะจบแล้ว อย่างที่ตนพูดอยู่เสมอว่าหากสื่อมวลชนช่วยกันเสนอข่าวที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นขณะนี้เมื่อสื่อมวลชนให้ความร่วมมือที่ดีสถานการณ์ก็ดี ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีการเสนอภาพข่าวเหตุการณ์ซ้ำวนไปวนมา ผู้คนก็มักจะคิดว่าเกิดเหตุซ้ำซ้อน

เหน็บนักการเมืองเคลื่อนไหวโชว์ตัว

พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนมีหน้าที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบสิ่งผิดปกติหรือไม่แน่ใจก็ช่วยแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยทหาร ตำรวจ เพราะถึงแม้ว่าจะมายืนคุมพื้นที่อยู่แค่ไหนก็ไม่พอ ตอนนี้ประเทศไทยกำลังก้าวไปด้วยดี ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงนี้มีกลุ่มนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหว พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าตนจะยืมคำพูดของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯก็ต้องบอกว่า ทุกคนต้องการแสดงตัวว่ายังอยู่ และพร้อมที่จะก้าวเข้ามาเล่นการเมือง แต่ที่สุดแล้วคิดว่าทุกคนมีความปรารถนาดีต่อประเทศไทย ไม่น่าจะมีอะไรแอบแฝงดังนั้นถ้าร่วมมือกันทุกอย่างน่าจะไปด้วยดี

เมื่อถามว่า นักการเมืองสามารถแสดงตนได้แต่ห้ามจับกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองใช่หรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า กติกาเขาว่ากันอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามช่วงเวลา อย่างเช่นช่วงเวลานี้คงไม่เหมาะ ซึ่งทุกคนรู้ความเหมาะสม มีความรับผิดชอบ ยึดหลักกฎหมาย ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ทุกอย่างก็ไปด้วยดี

“สมเจตน์”แจงกม.พรรคการเมือง

ด้านพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การ เมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า จากนี้ไปขั้นตอนการพิจารณากฎหมายพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาร่วมกันอย่างไร โดยต้องดูว่ากฎหมายตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่ง กมธ.ยืนยันว่า พิจารณา กฎหมายตามขั้นตอนและกระบวนการ ยึดถือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาตามใจตัวเอง ตอนนี้หากถามว่าจะให้ไปปรับแก้ประเด็นไหนก็ตามที่ถูกวิจารณ์ โดยเฉพาะเรื่องไพรมารี่โหวตนั้น คงต้องเป็นหน้าที่ของ กรธ.และกกต.ที่จะพิจารณา

“ถ้าเห็นว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์คงต้องมานั่งคุยกันว่ามันไม่ตรงกันอย่างไร เราไม่ได้ร่างตามใจตัวเอง วิธีการมันต่างกัน ในทางปฏิบัติ ถ้าผมบอกว่า ผมจะไปสนามหลวง ผมก็มีทางเลือกของผมว่าจะไปรถเมล์ หรือปั่นจักรยานไปเอง บางครั้งการไปสู่เป้าหมายเราต้องการเวลา ใช้วิธีทางในการปฏิบัติ กฎหมายพรรคการเมืองก็เช่นกัน การจะปฏิบัติก็ต้องใช้เวลา” พล.อ.สมเจตน์กล่าว

“จ้อน”มั่นใจระบบไพรมารี่ดี

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ระบบไพรมารี่คือการเลือกตั้งขั้นต้นผู้สมัคร ส.ส.โดยให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคมีบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบโดยตรงร่วมกับคณะกรรมการบริหารพรรคในการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.อย่างเปิดกว้าง เสมอภาคและโปร่งใส เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ถือเป็นแนว ทางหนึ่งในการปฏิรูปการเมืองที่วางหลักการสำคัญ คือพรรคการเมืองต้องเป็นของสมาชิกทุกคน ไม่ใช่ของคนใด ตระกูลใด กลุ่มใด ไม่ว่ากลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพลระดับชาติและท้องถิ่น

ส่วนที่พรรคการเมืองกังวลว่าจะทำได้ยาก หรืออาจเกิดความขัดแย้งในการคัดเลือก ผู้สมัคร หรือทาบทามผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือจะเกิดระบบเครือญาติและกลุ่มทุนครอบ งำพรรคนั้น โดยความจริงสิ่งที่กังวลทั้ง 4 ประการ คือปัญหาที่เกิดในทุกพรรคการเมืองจากอดีตถึงปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเพราะระบบไพรมารี่ ในทางตรงข้ามระบบไพรมารี่กลับจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริง ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนแปลงบ้าง ยังคิดยังทำเหมือนเดิม เสนออะไรใหม่ๆ ก็ไม่เอาแถมยังบิดเบือนเป็นเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง ถ้าคิดได้แค่นี้แล้วการปฏิรูปทางการเมืองจะสำเร็จได้อย่างไร

เพื่อไทยติงฝันเกินจริง

“ผมเป็นคนเสนอให้นำระบบไพรมารี่ มาใช้เป็นเครื่องมือการปฏิรูปพรรคประชา ธิปัตย์สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรค โดยทดลองระบบไพรมารี่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มั่นใจว่าถ้านำมาใช้จะเกิดการพัฒนา เปลี่ยน แปลงพรรคการเมืองไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน จึงได้เสนอให้บรรจุในแผนปฏิรูปการเมืองของสภาปฏิรูปแห่งชาติตั้งแต่ปลายปี 2557 สืบต่อมาจนถึงยุคของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและเห็นด้วย ที่สนช.บัญญัติไว้ในร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง” นายอลงกรณ์กล่าว

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระบบ ไพรมารี่โหวตทำให้พรรคที่จะเกิดขึ้นใหม่ลำบาก เพราะคนที่คิดอยากจะตั้งพรรคด้วยอุดมการณ์และพัฒนาต่อไปตามกำลังจะทำไม่ได้ เหมือนบังคับให้มีสมาชิกต้องกระจายทุกจังหวัด ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ กฎกติกาที่เพิ่มมาหยุมหยิมทำให้ กกต.ต้องไปตรวจสอบทุกขั้นตอน และคงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ คนเขียนกฎหมายฝันเกินความเป็นจริง ดูทั้งองค์รวมแล้วไม่น่าจะเป็นประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาพรรคการ เมือง จะยิ่งทำให้พรรคการเมืองแคบลง ยังไม่รวมถึงการเก็บค่าสมาชิกพรรค คงไม่มีใครอยากเข้ามาเป็น หรือมาเป็นแล้วไม่มีเงินจ่ายติดต่อ 2 ปีก็หมดสมาชิกภาพ พรรคการเมืองมีแต่จะหดลงๆ ไม่มีพัฒนาขึ้น

“สมชัย”อัด”สุเทพ”ชี้นำทางผิด

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ให้สัมภาษณ์ว่า การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย อดีตแกนนำ กปปส.บอกว่าหากบ้านเมืองยังไม่สงบ มีระเบิด ก็ยังไม่ควรมีเลือกตั้ง ถ้ามีจะออกมาคัดค้านนั้น เป็นการชี้นำในทางผิดอย่างชัดเจน ตรรกะเช่นนี้ นำไปสู่การส่งเสริมคนไม่อยากเลือกตั้งจะสร้างสถานการณ์ระเบิดเสียเอง เป็นตรรกะพาชาติบ้านเมืองพินาศ เมื่อมีระเบิดก็ควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในการหาคน ร้ายมาลงโทษ และหามาตรการป้องกันมิให้เกิด หากใช้ตรรกะนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่มีการเลือกตั้งเป็นสิบๆ ปี

ส่วนที่นายสุเทพ บอกให้ตนเลิกเห็นแก่ตัว และยอมรับการเซ็ตซีโร่เพื่อผลในการปฏิรูปการเมืองนั้น ตนไม่ได้เป็นกกต. ตลอดชีวิต ตามที่นายสุเทพพูด เป็นการดำรงตำแหน่ง ตามวาระ ซึ่งการเขียนกฎหมายลูกเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่สามารถเขียนได้ทั้งให้อยู่ต่อไปจนครบวาระ หรือคนที่มีคุณสมบัติครบอยู่ต่อหรือเซ็ตซีโร่ไปทั้งคณะ

ลั่นไม่เคยยึดติดตำแหน่ง

นายสมชัย กล่าวว่า ประเด็นที่ตนทักท้วงคือการให้เหตุผลต่อสาธารณะต้องรับฟังได้ ไม่ใช่กลิ้งไปเรื่อยๆ เช่น เรื่องคุณสมบัติบ้าง ปลาสองน้ำบ้าง โครงสร้างบ้าง และยังขาดการใช้หลักการเดียวกันกับทุกองค์กร เป็นสองมาตรฐาน และอาจนำไปสู่การเข้ามาครอบงำองค์กรอิสระ เกิดความไม่เป็นธรรมในการจัดการเลือกตั้งในอนาคต ซึ่งความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ อาจบานปลายเป็นสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในอนาคต

“ผมมิได้ติดยึดกับตำแหน่ง แต่หากสิ่งใดเป็นการดำเนินการที่ขาดเหตุผลย่อมจำเป็นต้องทักท้วง เช่นเดียวกับการชี้นำในทางที่ผิด ไม่ว่าคนนั้นจะชื่ออะไร สุเทพหรือไม่สุเทพก็ต้องทักท้วง” นายสมชัยกล่าว

เผยเหตุยืดวันเลือกตั้ง

รายงานข่าวจากรัฐสภาเปิดเผยว่า เหตุที่การเลือกตั้งถูกขยายออกไปจนการเลือกตั้งอาจจะมีขึ้นในเดือนต.ค. 2561 หรืออีก 1 ปี 4 เดือนข้างหน้า เป็นความประสงค์ของกรธ. โดยกรธ.กำหนดจะเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ต่อสนช.ในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ ทั้งๆที่สามารถเสนอได้เร็วกว่านี้เพื่อให้เลือกตั้งได้เร็วขึ้น แต่กลับเสนอในระยะที่ใกล้จะครบ 240 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามเงื่อนเวลาที่กำหนดให้กรธ.ต้องเสนอร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับต่อสนช.ภายในไม่เกิน 240 วันซึ่งจะครบกำหนดไม่เกินวันที่ 3 ธ.ค.2560

เมื่อร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับถูกส่งไปให้สนช.ปลายเดือนพ.ย. ทางสนช.จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันซึ่งจะอยู่ในช่วงต้นเดือนก.พ.2561 แต่การเลือกตั้งยังทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดเลือกตั้งหลังประกาศใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับใน 150 วันหรือ 5 เดือน จากนั้นรอการโปรดเกล้าฯลงมาแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเปิดสมัครรับเลือกตั้งและกำหนดวันเลือกตั้งน่าจะอยู่ช่วงเดือนต.ค.2561 ซึ่งรวมแล้วคสช.อยู่ในอำนาจประมาณ 4 ปีครึ่งนับจากวันรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ถึงวันเลือกตั้งและวันที่มีรัฐบาลชุดใหม่

กรธ.ฟันเบี้ยประชุมอื้อ-ชงเพิ่มอีก

สำหรับการประชุมของกรธ.ซึ่งดำเนินมา 332 ครั้ง โดยนัดประชุมทุกวัน กรธ.ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 6,000 บาท หากไม่ขาดประชุมเลย จะได้คนละ 1,992,000 บาท ส่วนประธานได้เบี้ยประชุมครั้งละ 9,000 บาท หากไม่ขาดประชุมจะได้เงินทั้งสิ้น 2,988,000 บาท กว่าร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะผ่านวาระสามของสนช. กรธ.ต้องประชุมอีกหลายครั้ง เบี้ยประชุมจะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนกว่าจะหมดวาระ

นอกจากนี้พบว่า สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยังได้ของบประมาณปี 2561 เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ตั้งไว้ในส่วนของกรธ.เป็นเวลา 3 เดือน จำนวน 8,620,300 บาท โดยให้เหตุผลว่าอาจไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ เนื่อง จากต้องทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพิ่มอีก 10 ฉบับ ภายใน 240 วัน (3 ธ.ค.2560) และหลังจากส่งให้สนช.พิจารณากฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 60 วัน รวมทั้งหากต้องตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย กรณีกฎหมายไม่ตรงต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องใช้เวลาทำงานเพิ่มอีก ประกอบกับยังได้กำหนดให้กรธ.พ้นตำแหน่งไปไม่ช้ากว่าสนช. ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาคาดว่าจะขอเสนอแปรญัตติเพิ่ม 9 เดือน เป็นเงิน 68,498,200 บาท รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ กรธ.ปีงบประมาณ 2561 เป็นเงิน 77,118,500 บาท ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตเดิมการของบประมาณ 3 เดือนใช้งบเพียง 8,620,300 บาท ดังนั้น 9 เดือน ควรใช้ 24 ล้านบาทเท่านั้น

คนไทย28.29%อยากเลือกตั้งเร็ว

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไร? กับ “การเลือกตั้ง” โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,237 คน ระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย. ดังนี้ เมื่อถามว่าประชาชนต้องการให้มีเลือกตั้งส.ส. ในช่วงใด อันดับ 1 โดยเร็ว ร้อยละ 28.29 เพราะอยากเห็นบ้านเมืองก้าวหน้า ปัญหาต่างๆ คลี่ คลาย การเลือกตั้งมีผลต่อการพัฒนาประเทศ อันดับ 2 ตามโรดแม็ปของนายกฯ ที่ยังไม่ได้กำหนดเวลา ร้อยละ 26.19 เพราะจะได้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ ควรมีความพร้อมทุกๆ ด้าน อยากให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

อันดับ 3 ภายในปี พ.ศ.2561 ร้อยละ 21.75 เพราะมีความเป็นไปได้มากที่สุด เป็นเวลาที่เหมาะสม ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมความพร้อมได้มากขึ้น อันดับ 4 ภายในปี พ.ศ.2560 ร้อยละ 15.52 เพราะนายกฯ เคยประกาศไว้ว่าจะเลือกตั้งในปี 2560 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ควรจะมีการเลือกตั้งได้แล้ว และอันดับ 5 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 8.25

เชื่อรธน.ใหม่ทำให้ได้ส.ส.ดีขึ้น

ส่วนคำถามว่า สิ่งที่ประชาชนตั้งใจสำหรับ การเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ พบว่าอันดับ 1 ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รักษาสิทธิของตนเอง ร้อยละ 88.20 อันดับ 2 เลือกคนดี คนที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน ร้อยละ 76.96 อันดับ 3 อยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัว ร้อยละ 66.21 อันดับ 4 ไม่ขายเสียง ไม่ชี้นำ/การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ร้อยละ 65.72 อันดับ 5 ติดตามข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งให้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ร้อยละ 46.81

ต่อประเด็นคำถามว่า ประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้น่าจะได้ ส.ส.เข้าสภาแบบใด พบว่าอันดับ 1 ดีขึ้นกว่าทุกครั้ง ร้อยละ 47.62 เพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้ได้นักการเมืองที่ดีเข้ามาทำงาน คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและมีความตื่นตัวกับการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ อันดับ 2 เหมือนเดิม ร้อยละ 46.80 เพราะพฤติกรรมนักการเมืองเปลี่ยน แปลงยาก ยังคงมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก น่าจะเป็นคนกลุ่มเดิม หน้าเดิม ที่เข้ามา อันดับ 3 แย่กว่าทุกครั้ง ร้อยละ 5.58 เพราะการ เมืองเป็นเรื่องของอำนาจและ ผลประโยชน์ อาจเกิดความขัดแย้งมากขึ้น กฎ หมายเลือกตั้งบางข้อ ยังเป็นประเด็น และไม่ได้รับการยอมรับ

หนุนอีก 1 ปีจัดเลือกตั้ง

นายนพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความปรองดองที่ยั่งยืน กับทาง ออกประเทศไทยในสายตาสาธารณชน” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ 1,480 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 14-17 มิ.ย. โดยเมื่อถามถึง “แนวทางสู่ความปรองดองที่ยั่งยืนของคนในชาติ” ใน 10 ลำดับ ดังนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 91.8 ระบุว่า เป็นความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ของผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่รัฐ คือแนวทางสู่ความปรองดอง ความสงบสุข อันดับ 2 ร้อยละ 90.7 ระบุ ให้อิสระสื่อ มวลชน ตรวจสอบรัฐบาลและผู้มีอำนาจรัฐได้มากขึ้น อันดับ 3 ร้อยละ 90.5 ระบุ กระบวน การยุติธรรมต้องมีมาตรฐานเดียว ไม่หลายมาตรฐาน อันดับ 4 ร้อยละ 89.9 ระบุ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ลดความไม่เป็นธรรมให้ประชาชน อันดับ 5 ร้อยละ 89.7 ระบุ ปฏิรูปตำรวจ ต้นตอกระบวนการยุติธรรม เพื่อประชาชนทั้งประเทศแท้จริง

ส่วนประเด็นถามว่า ความขัดแย้ง รุนแรง ของคนในชาติเป็นอย่างไร ถ้าเลือกตั้งวันนี้ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 60.7 คิดว่า ความขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติจะเหมือนเดิม ถ้ามีการเลือกตั้งวันนี้ ในขณะที่ร้อยละ 39.3 คิดว่า ไม่เหมือนเดิม โดยกลุ่มตัวอย่าง เกินครึ่ง หรือร้อยละ 54.9 ระบุ ระยะเวลาที่เหมาะสมจัดการเลือกตั้งคือ มากกว่า 1 ปี ขึ้นไป ในขณะที่ร้อยละ 45.1 ระบุ จัดการเลือกตั้งในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ตามลำดับ

“ดวงฤทธิ์”โพสต์ไม่คิดขวางรถไฟฟ้า

จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 เรื่องการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นคร ราชสีมา ซึ่งเปิดช่องทางให้จีนเข้ามาดำเนินโครงการนั้น นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง ระบุว่าตนไม่เคยคิดขวางการสร้างรถไฟ แต่ขอให้ภาครัฐทำงานรอบคอบ อย่ามักง่าย ยืนยันไม่เคยเกลียดประเทศจีน อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว คนไทยควรได้มีส่วนร่วม เนื้อหามีดังต่อไปนี้

อยากจะกราบเรียนท่านนายกฯที่เคารพว่า ไม่เคยคิดจะขวางเรื่องรถไฟความเร็วสูงปานกลางของท่านเลยนะครับ แต่จะทำทั้งที ก็ต้องให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ท่านจะลงทุนกันทั้งทีใช้เงินหลายแสนล้านบาท ครม.ก็อย่าทำงานกันแบบข้าราชการชุ่ย ต้องคิดกันให้รอบคอบจากประสบการณ์

รถไฟเส้นนี้และทุกเส้น ต้องเป็น “เครื่อง จักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ครับ การขนส่งจากต้นทางไปปลายทาง ต้องคิดเลยว่าจะขน “ใคร” และ “อะไร” บ้างที่จะทำให้เศรษฐกิจเราดีขึ้น การยกที่ดินสองข้างทางรถไฟให้ทางจีนไปพัฒนา เป็นการตกลงที่ขาดสำนึกเรื่องเศรษฐกิจ โดยสิ้นเชิง แทนที่คนไทยจะทำมาหากินจากเส้นทางเศรษฐกิจนี้ได้ กลับต้องยกดินแดนให้ต่างชาติไปทำมาหากิน มันเรื่องอะไร เสียเงินให้เขาทำรถไฟ แล้วยังมาเสียดินแดนให้เขาไปอีก เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง

ขอคนไทยมีส่วนร่วม

เงินที่ลงทุนทำรถไฟ ก็ไม่ควรมาจากประเทศไทยอย่างเดียว ควรจะเป็นการร่วมลงทุนกัน และไม่ใช่การให้สิทธิผูกขาดในการดำเนินการของบริษัทจีนยาวนานถึง 30 ปี เงินที่ประเทศเราลงไป ไม่มีทางได้คืนมาเลยใน 30 ปีนั้น ผมไม่ได้เกลียดอะไรประเทศจีนเลยนะครับ ผมว่าประเทศเขายอดเยี่ยมมาก มีเงินเยอะ และโครงการแบบนี้สมควรที่เขาจะช่วยเอาเงินมาลงกับเราบ้าง เพื่อแบ่งเบาภาระของประเทศเล็กๆ ที่ยากจนอย่างเราบ้าง

การดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง จริงอยู่ที่เราทำระบบรถไฟไม่เก่ง แต่เรื่องอาคารและโครงสร้างที่รองรับระบบ ผมเชื่อว่าสถาปนิก วิศวกรไทยไม่แพ้ชาติไหนในโลก ควรจะให้งานออกแบบก่อสร้างแยกเป็นสองส่วน ส่วนไหนเราทำไม่เป็นก็ให้เขาทำไป ส่วน ไหนเราทำได้ ก็ใช้กรอบ Local Collaboration ที่สภาสถาปนิกมีอยู่แล้วกับ ASEAN เข้ามาประยุกต์ใช้ก็ได้ ก็สามารถจะทำงานร่วมกับสถาปนิกจีนได้โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่จีนใช้พัฒนาประเทศเขาเช่นกัน สามารถทำได้ทันทีไม่ต้องมาสอบอะไร

อย่าทำงานแบบมักง่าย

หรือจะให้สถาปนิกจีน เข้ามาเปิดบริษัทสถาปนิกในไทยเลยก็ได้ พ.ร.บ.สถาปนิก เปิดช่องให้สถาปนิกจากทุกชาติเข้ามาทำงานในไทยได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องสอบอะไรเลย แค่เข้ามาเปิดบริษัทในไทย ร่วมงานกับคนไทย ซึ่งถ้าเขาจะมาบริหารระบบรถไฟฟ้านี้ไปอีก 30 ปี วิธีนี้ก็น่าจะเหมาะสมดี ถ้าไม่อยากเข้ามาขอรับใบอนุญาตแบบ “ภาคีสถาปนิกพิเศษ” แบบที่ผมเคยบอกไป และคนไทยเองก็ได้การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ว่านี้ไปพร้อมกัน เราจะได้ออกแบบทำกันได้เองซักวันนึง

จะลงทุนจ่ายค่าแบบเขาเป็นหมื่นล้าน ก็น่าจะทำให้มันได้ประโยชน์กลับมาที่คนไทยบ้างนะครับ

ท่านนายกฯ อย่าอนุญาตให้ ครม.ของท่านทำงานโดยมักง่ายกับประเทศนี้ โดยใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคสช.ของท่านสั่งการ โดยการฉีกกฎหมาย ข้อตกลงต่างๆ ที่มีการเจรจาเพื่อผลประโยชน์คนไทยทั้งประเทศมายาวนานหลายปี เพราะคนที่อยู่รอบตัวของท่านโง่ ชุ่ย และขี้เกียจ อีกต่อไปเลยนะครับ เพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นท่านนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบการกระทำทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น

“วัฒนา”จวกรบ.ละเมิดกฎหมาย

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา คือตัวอย่างของการละเมิดธรรมาภิบาลจากเจ้าของคำถาม 4 ข้อ ที่เพิ่งตั้งคำถามคนอื่นและยังไม่หมดเวลาตอบ เพราะการออกคำสั่งให้สถาปนิกและวิศวกรจีนทำงานโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต คือการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพที่มีขึ้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน อันถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม

การออกคำสั่งให้สภาวิชาชีพทั้งสองจัดหลักสูตรและอบรมให้กับคนต่างชาติ เท่ากับรัฐกำลังแทรกแซงและมีอำนาจเหนือสภาวิชาชีพ ส่วนการออกคำสั่งให้ยกเว้นการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง คือการขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมและขัดต่อหลักความรับผิดชอบที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ คำสั่งดังกล่าวคือการไม่เคารพกฎหมายของตัวเองทั้งยังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศตามนโยบายเปิดเสรีทาง การค้าและบริการของดับบลิวทีโอ

“ผมเชื่อว่าคนไทยยอมรับได้ว่าบางโครง การที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สถาปนิกหรือวิศวกรต่างชาติ เพราะมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์โดยตรงมากกว่า แต่ทุกอย่างสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยยึดหลักธรรมาภิบาลแบบที่ชอบอ้างได้” นายวัฒนาระบุ

เวทีบัตรทองในกทม.หวิดล่ม

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือกฎหมายบัตรทอง จัดเวทีประชาพิจารณ์เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ..ซึ่งเป็นเวทีประชาพิจารณ์ภาคกลางครั้งที่ 4 หลังจากจัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปรากฏว่าเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคัดค้าน แสดงออกทั้งการวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม และล่าสุดภาคอีสาน ที่ จ.ขอนแก่น ได้ยึดเวทีประชาพิจารณ์ จนทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพกว่า 200 คน เดินทางมายังบริเวณหน้าห้องประชุมเวทีประชาพิจารณ์ และถือป้ายคัดค้าน ไม่เอาแก้กฎหมายบัตรทอง โดยมี นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัด ส่วน ภาคประชาชน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตส.ว.สมุทรสงคราม นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย ฯลฯ โดยตำรวจจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 2 กองร้อยมาดูแลความสงบ

ประชาชนขอเปิดเวทีคู่ขนาน

จากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้ขอเปิดเวทีคู่ขนานกับเวทีประชาพิจารณ์ แต่ไม่ขอเข้าร่วมภายในการประชุม ต่อมานายนิมิตร์ได้โต้เถียงกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณี เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียง จนทำให้เครือข่ายฯเข้าใจผิดว่า ตำรวจมีการยึดของ เกิดการลุกฮือ ร้องตะโกนไม่พอใจ “ตำรวจรังแกประชาชน” จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาระงับเหตุ และแจ้งเหตุผลว่าไม่มีการยึดของ และเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งได้นำตัวชายไม่ทราบชื่อที่แย่งป้ายคัดค้าน ออกจากที่ประชุม เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดเรื่องบานปลาย

น.ส.สารีกล่าวว่า การมาเข้าร่วมครั้งนี้ ต้องการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายครั้งนี้ เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเป็นการแก้กฎหมายที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน ดังนั้น หากยังเดินหน้าแก้กฎหมายต่อ พวกเราจะคัดค้าน และจะไปหานายกฯแน่นอน

ตำรวจจัดกองร้อยคุมฝูงชน

พ.ต.ท.ปริญญา กลิ่นเกษร ผบ.ร้อยควบคุมฝูงชน บช.น.2 กล่าวว่า การจัดกองร้อยควบคุมฝูงชนมาในงานประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ เพราะทราบมาว่า การจัดเวทีที่ผ่านมาในภาคอื่นมีการล้มเวทีการประชุมหลายครั้ง จึงเกรงว่าจะมีการเกิดขึ้นอีก จึงนำกองกำลังมาคอยดูแลเพื่อให้การจัดประชุมลุล่วง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยืนยันว่า ไม่มีการใช้กำลังกับประชาชนแต่อย่างใด

ส่วนที่มีการควบคุมตัวบุคคลหนึ่งเมื่อช่วงเช้า เพราะเกิดความวุ่นวายขึ้น เกรงว่าจะมีการใช้ความรุนแรงระหว่างกันระหว่างกลุ่มผู้จัดประชุมและกลุ่มผู้คัดค้าน จึงมีการแยกตัวกันเท่านั้น ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงใดๆ การมาดูแลในครั้งนี้เราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแน่นอน เพียงแต่มาดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งได้มีการขอความร่วมมือกับกลุ่มผู้คัดค้านว่า ในช่วงระหว่างการประชุมอย่าใช้เครื่องขยายเสียงหรือชูป้ายที่เสี่ยงหรือหมิ่นเหม่ว่าจะล้มการประชุม ซึ่งทางกลุ่มผู้คัดค้านก็เข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และทางตำรวจไม่ได้มีการยึดป้ายหรือยึดเครื่องเสียง เพียงแต่ขอความร่วมมือให้เก็บในระหว่างที่ดำเนินการประชุมเท่านั้น

กลุ่มค้านแถลงการณ์เหตุผล

เวลา 11.00 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. โดยนายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ อ่านแถลงการณ์เหตุผลที่คัดค้านเวทีประชาพิจารณ์ ว่า จากเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ขอแสดงจุดยืนคัดค้านไม่สนับสนุนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เนื่องจากไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพิ่มสิทธิประชาชน มีแนวโน้มร่วมจ่าย ทั้งมองบุคคลแค่เลข 13 หลัก ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่สมดุล ประชาชน ไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

ที่สำคัญไม่มีคำตอบ ว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะหลักการและเหตุผลของการแก้กฎ หมายเจาะจงว่าจะแก้มาตราไหนอย่างไรบ้าง ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะรับฟังความคิดเห็นรายมาตรา เรียกร้องให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มกระบวนการแก้กฎหมายใหม่ที่สมดุล และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

นายพงษภัทร กล่าวว่า จากการศึกษาร่างกฎหมายที่แก้ไข ไม่มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เช่น 1.การแก้ไขกฎหมายควรยึดหลักการ แก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง เช่น ต้องแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน และบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ

2.ยกเลิกการร่วมจ่าย เพราะการแก้ไขไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกัน คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จากกำไร ในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน คนชั้นกลางก็มีสิทธิล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง

กก.สรุปข้อมูลส่งรมว.สธ.18ก.ค.

ต่อมา รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณายก (ร่าง) พ.ร.บ. หลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … แถลงข่าวว่า การจัดเวทีประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาทั้ง 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ภาคประชาชนบางส่วนจะมีการวอล์กเอาต์ และการจัดเวทีภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น จะมีการยึดเวทีก็ตาม ส่วนตัวมองว่าไม่ถือว่าล่ม หรือล้มเหลว เพราะการแสดงความคิดเห็นมีหลายช่องทาง คือ ผ่านทางออนไลน์ เวทีประชาพิจารณ์ และเวทีปรึกษาสาธารณะ แต่จากการแสดงความไม่เห็นด้วยของภาคประชาชน และเหตุการณ์ที่เวที จ.ขอนแก่น คณะอนุกรรมการดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ฯ จึงกำลังพิจารณาว่าจะเลื่อนการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ ซึ่งเดิมทีกำหนดวันที่ 20-21 มิ.ย.นี้ ออกไปก่อนหรือไม่

แม้การจัดประชาพิจารณ์ทั้ง 4 เวที จะมีการวอล์กเอาต์ การไม่เข้าร่วมประชุม แต่ยืนยันว่า สามารถรวบรวมข้อคิดเห็นแต่ละช่องทางของประชาชนได้ โดยหลังจากคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ฯ รวบรวมความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายเสร็จสิ้นและเสนอมายังคณะกรรมการยกร่างฯ จะรวบรวมข้อมูลส่งให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) ภายในวันที่ 18 ก.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอต่อครม.พิจารณา เพื่อเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอต่อสนช. ตั้งคณะกรรมการพิจารณา 3 วาระต่อไป ซึ่งกระบวนการพิจารณาของ สนช.ยังสามารถเสนอความคิดเห็นต่างๆ ได้อีก ดังนั้น การแก้กฎหมายในครั้งนี้และการทำประชาพิจารณ์ ถือเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ยันทุกความเห็นนำมาปรับปรุง

ด้านนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ฯ กล่าวว่า การจัดเวทีปรึกษาสาธารณะในวันที่ 20-21 มิ.ย.นี้ อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยขอให้เสร็จสิ้นการประชุมประชาพิจารณ์ในครั้งที่ 4 ก่อนเพื่อพิจารณาว่าจะมีการจัดต่อหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการยั่วยุ เพราะทางกลุ่มต่างๆ ไม่ต้องการให้มีการจัดลักษณะนี้อีก แต่หากพิจารณาการจัดเวทีในวันนี้ไม่มีปัญหาจะจัดเวทีปรึกษาสาธารณะต่อไป ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดให้ผู้แทนของผู้เกี่ยวข้อง สามารถเสนอความคิดเห็นแนวทางต่างๆ ได้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการเปิดความคิดเห็นลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม จากการระดมความคิดเห็นทั้งหมด ทั้งออนไลน์ ซึ่งเปิดตั้งแต่วันที่ 2-19 มิ.ย. ทั้งเวทีประชาพิจารณ์ 4 เวที และเวทีปรึกษาสาธารณะ ทั้งหมดจะมีการประมวลความคิดเห็นออกเป็นหมวดหมู่ และเสนอ ต่อคณะกรรมการพิจารณายกร่างฯ ที่มี รศ. วรากรณ์ เป็นประธาน ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ พร้อมนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่า ทุกความคิดเห็นที่ส่งมาได้นำมาปรับปรุงจริง

4 ภาคมียอดรวม 2 พันคน

นพ.พลเดช กล่าวว่า สำหรับเวทีประชาพิจารณ์ จ.ขอนแก่น แม้จะไม่มีการพูดแสดงความคิดเห็น แต่มีการเขียนแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 120 กว่าความคิดเห็น เนื่อง จากเครือข่ายภาคประชาชนมีการยึดเวที ซึ่งการทำเช่นนี้ถือว่าเป็นละเมิดสิทธิของผู้คนที่จะมาฟังและพูด แต่ยังสามารถแสดงความคิดเห็นมาได้อยู่ โดยรวมแล้ว 4 ภาค มีผู้มาลงทะเบียนและแสดงตัวตนประมาณ 2,000 กว่าคน และแสดงความคิดเห็นมากกว่าพันความคิดเห็น โดยย้ำว่าทุกความเห็นของภาคประชาชน และการออกแถลงการณ์ต่างๆ นำเข้ามารวมเป็นความคิดเห็นของการประชาพิจารณ์ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออกและกทม. ขอให้ยุติและเริ่มต้นร่างกฎหมายใหม่ จะดำเนินการตามหรือไม่ รศ.วรากรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบหลายต่อหลายครั้ง มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องสอบถามต่างๆ มากมาย รวมถึงศึกษาข้อมูลกฎหมายเดิม และความคิดเห็นต่างๆ ตั้งแต่สมัยร่างกฎหมายเมื่อ 15 ปีก่อน คงไม่มีเหตุผลที่จะเริ่มต้นใหม่ เพราะจะเป็นการเสียเวลา แต่คณะกรรมการยินดีรับฟังความคิดเห็นจึงเปิดเวทีประชาพิจารณ์ต่างๆ เพื่อเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เข้ามาใหม่ได้ ซึ่งอยากให้เข้ามาเสนอแก้เป็นข้อๆ มากกว่า

“ไก่อู”ฉะคนล้มเวที

ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเวทีทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นแก้ไขร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ หลายจังหวัด ถูกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเข้าคัดค้าน จนส่งผลบางเวทีล่ม ว่า ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่โดยหลักการตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การออกกฎ หมายอะไรต้องเปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชน หรือรับฟังข้อมูลจากหน่วยราชการ เพื่อนำไปวิเคราะห์ปรับปรุงแก้ไข ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร ทุกฝ่ายต้องแสดงความคิดเห็นในมุมของตัวเอง และเก็บข้อมูลทุกอย่าง

แต่ถ้าคนใดคนหนึ่งมีความรู้สึกว่าความคิดเห็นไม่ตรงกับเราห้ามเขาจัด แล้วขึ้นไปล้มเวทีถือว่าไม่ค่อยดี เราเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เราไม่ฟังเสียงคนอื่นเขาเลย เอาแต่อารมณ์เป็นที่ตั้ง มันไม่งดงาม ซึ่งเป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลไปตามกระบวนการกฎ หมาย” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

อาจมีการเมืองหนุนหลัง

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า จริงๆ แล้วตนไม่อยากมองเป็นเรื่องของสีเสื้อ เพราะปัจจุบันน่าจะเลยจุดคนไทยเลิกแบ่งสีแบ่งฝ่ายกันได้แล้ว แต่จะมีภาคการเมืองหนุนหลังหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่ปกติเวลากฎหมายจะออกแล้วเห็นไม่ตรงหรือมีอะไรแตกต่างจากกฎหมายเดิมไป และแสดงอาการแบบนั้น สามารถตั้งข้อสังเกตได้หลายกรณี จะเป็นการเมืองหรือเปล่า หรือความคิดเห็นกลุ่มคนที่ไม่ฟังใคร สุดแต่มุมมองของแต่ละคน แต่สุดท้ายแล้วเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดูแลในเรื่องนี้ เพราะการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นขั้นตอนตามกระบวนการกฎหมาย ใครจะมาทำให้ดูเสียหายไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับการที่รัฐบาลยืนยันมาตลอดไม่ล้มบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ยังคงมีข่าวรัฐบาลเตรียมล้มอย่างต่อเนื่อง พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรู้ให้เท่าทัน รัฐบาลยืนยันมาตลอดบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นสิ่งที่ดี ไม่มีการยกเลิกอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับปรุงคุณภาพให้ดีด้วยซ้ำ ฉะนั้นใครก็ตามที่ให้ข้อมูลบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรครัฐบาลนี้กำลังจะยกเลิก พี่น้องประชาชนควรแยกแยะออกว่าเขาต้องการอะไร ต้องการให้บ้านเมืองสับสนวุ่นวายหรือเปล่า เพราะเรายืนยันมาตลอดว่าไม่ยกเลิก เมื่อเรารู้เท่าทันอย่างนี้ บุคคลแบบนั้นถ้าจะมาเล่าเรื่องอื่นๆ ให้ฟังในกรณีอื่นๆ อีก ก็ขอให้รู้ว่า เมื่อเคยโกหกได้ครั้งหนึ่งก็พร้อมโกหกได้อีก ต้องรู้เท่าทัน

เพื่อไทยจวกกลับ-ข้อมูลมั่ว

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.ท. สรรเสริญ ระบุว่าอาจมีการเมืองเข้าไปเกี่ยว ข้องกรณีประชาชนล้มเวทีประชาพิจารณ์ที่ จ.ขอนแก่นว่า ไม่เข้าใจว่าที่ พล.ท.สรรเสริญบอกว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังเรื่องดังกล่าวนั้นหมายถึงใคร เพราะถ้าหมายถึงพรรค เพื่อไทยเราขอปฏิเสธ เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันการเมืองที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เข้าใจว่า พล.ท.สรรเสริญอาจได้รับรายงานจากในพื้นที่แบบไม่ครบถ้วน จึงให้สัมภาษณ์ในลักษณะดังกล่าว และก่อนหน้านี้หลายเรื่อง พล.ท.สรรเสริญก็ให้สัมภาษณ์ในแนวทางที่ไม่ถูกต้องหลายครั้ง จึงอยากให้ท่านพิจารณาข้อมูลให้ดีๆ ก่อนให้สัมภาษณ์

เท่าที่ดูประชาชนก็ไม่ได้ต่อต้าน เพียงแต่อยากให้ภาครัฐฟังเสียงของประชาชนให้มาก กว่านี้ เพราะหากร่างพ.ร.บ.ผ่านความเห็นชอบ ไปโดยไม่รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน อาจจะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ตรงจุด ตรงตามความต้องการของประชาชน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน อยากให้รัฐบาลมองปรากฏการณ์นี้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เอะอะก็ว่าเป็นเรื่องของการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน