อดีตรองนายกฯ ซัดเยียวยาโควิดช้า-ล้มเหลว หลายสิบล้านคนเดือดร้อนหนัก

วันที่ 5 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการเยียวยาทั้งระบบล่าช้ามาก ในสัปดาห์นี้จะมีการจ่ายเงินเพิ่มอีกประมาณ 3 ล้านคน รวมแล้วก็จะเป็นประมาณ 11 ล้านคน หมายความว่า ผู้ที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาอีกประมาณ 5 ล้านคนต้องอยู่กันโดยไม่มีรายได้อะไรเลย รวมทั้งสิ้นจะนานถึง 2 เดือน

ส่วนอีกประมาณ 5-6 ล้านที่ไม่เดือดร้อนแต่ไม่เข้าข่ายก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะดูแลอย่างไรและเมื่อใด ผู้ประกันตนกว่าครึ่งยังไม่ได้รับเงินและเกษตรกร 10 ล้านคนก็ยังไม่ได้รับเงิน ที่ล่าช้าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน หรือหาเงินไม่ได้แล้ว

แต่เป็นเพราะการบริหารจัดการที่ล้มเหลว ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ขณะที่มีการวางระบบที่ผิดทำให้มีปัญหาทางธุรการมากไปโดยไม่จำเป็น ผู้ที่รับผิดชอบตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลลงมาไม่เข้าใจว่านี่เป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเหมือนไฟไหม้หรือน้ำท่วมที่ต้องการให้ความช่วยเหลือทันที

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ทางออกในเรื่องนี้มีอยู่ทางเดียว คืออะไรที่จ่ายได้ให้จ่ายไปก่อน รัฐบาลน่าจะนึกย้อนหลังไปถึงตอนที่ทั้งแจก ทั้งแถม ให้คนมีเงินอยู่แล้วไปเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังทำได้ เวลานี้คนเดือดร้อนกันทั้งนั้น ทำไมจึงจ่ายยากจ่ายเย็น ผมอยากเสนอให้รัฐบาลเชิญคนหาเช้ากินค่ำ หรือตัวแทนองค์กรที่ทำงานกับคนยากจนมาให้คำปรึกษาจะได้ช่วยให้ผู้รับผิดชอบที่มีรายได้ประจำเข้าใจความรู้สึกของคนที่ไม่มีจะกินว่าเป็นอย่างไร

ในส่วนของการคลายล็อกให้เปิดกิจการทำกิจกรรมได้มากขึ้นนั้น เนื่องจากขาดการวางแผนล่วงหน้า ผู้ประกอบการและคนทำมาค้าขายจำนวนมากไม่กล้าเตรียมการล่วงหน้า ทำให้ไม่มีความพร้อม ยังเปิดกิจการหรือเริ่มทำมาค้าขายไม่ได้ แม้สั่งคลายล็อกแล้ว แต่เพิ่งมีคู่มือปฏิบัติการต่างๆ ออกมา การปิดหรือเปิดก็ลักลั่น กิจการหลายอย่างยังถูกห้ามอยู่ทั้งๆ ที่สามารถเปิดได้โดยมีมาตรการทางสาธารณสุขที่เหมาะสม

รัฐทำราวกับว่าเห็นการเปิดกิจการและการทำมาค้าขายเป็นพิษเป็นภัย มากกว่าจะเห็นว่าเป็นความจำเป็นและเป็นประโยชน์ แทนที่จะหาทางช่วยเหลือ สำรวจว่าเขามีปัญหาอะไร ต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร กลับเน้นแต่การขู่คาดโทษ ทำให้จังหวัดต่างๆ แข่งกันใช้มาตรการเข้มเกินจำเป็น ภาคเอกชนและคนทำมาค้าขายไม่กล้าวางแผนลงทุน” นายจาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กิจการที่เปิดจำนวนมากก็กำลังประสบปัญหา ไม่มีผู้ซื้อหรือไม่มีวัตถุดิบมาส่ง เพราะกิจการหลายอย่างถูกปิดหรืออยู่ไม่ได้มานาน รัฐบาลและกลไกราชการทั้งหลายไม่มีการถามว่าภาคเอกชนต้องการให้ช่วยเหลืออะไรอย่างไร

มีแต่ขู่อยู่ตลอดว่าถ้าอย่างนั้นจะสั่งปิดอย่างนี้จะให้หยุด หารู้ไม่ว่าต่อไปจะพบว่าธุรกิจจำนวนมากนั้น ถึงเวลาอยากให้เขาเปิด เขาก็เปิดกันไม่ได้ ขณะนี้คนจำนวนมากยังกลับมาทำงานไม่ได้และคนตกงานหยุดงานยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินเยียวยาทั้งหมดประมาณ 4 แสนล้าน ซึ่งพอบรรเทาความเดือดร้อนของคนหลายสิบล้านคนได้บ้างเท่านั้น เพราะเงิน 5,000 บาทต่อเดือนนั้นมากว่าค่าแรงขั้นต่ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่าลืมว่าวงเงินที่ใช้สำหรับการเยียวยาตาม พ.ร.ก.มีไม่ถึง 6 แสนล้าน หากยังเดินกันไปอย่างนี้กิจการต่างๆ จะล้มอีกมาก และคนจะตกงานเดือดร้อนมากขึ้น ไม่ถึงเดือนกันยายน รัฐบาลก็จะไม่มีงบประมาณที่จะใช้สำหรับการเยียวยา จะกลายเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจสังคมที่ใหญ่มาก

“การเน้นแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว ไม่ให้ความสนใจกับประชาชนที่กำลังไม่มีจะกินทำให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับแก้ปัญหาเศรษฐกิจน้อยเกินไป รัฐบาลจึงควรหาความสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างการรับมือการแพร่ระบาดกับการดูแลเศรษฐกิจ และคนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนให้ได้” นายจาตุรนต์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน