วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล แนะ 5 แนวทาง ฟื้นประเทศหลังวิกฤตโควิด มุ่งพัฒนาทุกระดับ ชี้ควรเยียวยาทั่วถึง เพียงพอ ลดข้อจำกัด

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) และกรรมาธิการงบประมาณในส่วนของพรรคพท. กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูประเทศไทย หลังวิกฤตโควิด-19 ว่า

1.ควรเยียวยาทั่วถึง เพียงพอ ลดข้อจำกัด ดูแลระดับครัวเรือน ระดับกิจการ ระดับอุตสาหกรรมและระดับองค์กร

2.ด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิตและภูมิคุ้มกัน ต้องกำหนดมาตรการสุขอนามัยนำกิจกรรม มีมาตรการดูแลระดับบุคคล ระดับครอบครัว ระดับชุมชนและระดับองค์กร รวมถึงให้มีการสร้างภูมิต้านทานโรคโควิด-19 โดยส่งเสริมการทานอาหารตามกรุ๊ปเลือดทำให้ร่างกายแข็งแรง ลดภูมิแพ้ ส่งเสริมการทานเพิ่มปริมาณวิตามิน C D E Zn จากพืชผักผลไม้ ใช้งบประมาณมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนกลุ่มน้อยมากขึ้น ผ่อนคลายประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ สร้างเครื่องหมายประจำตัวบุคคลที่ปลอดภัยเช่น บัตรประจำตัว QR Code ในโทรศัพท์ เข็มกลัด ให้การรับรองสถานที่ปลอดภัยตามสุขอนามัย

3.ด้านเศรษฐกิจ ควรคำนึงถึงรูปแบบการผลักดันเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนหลังการหยุดชะงัก ดูแลเศรษฐกิจระดับครัวเรือน ระดับองค์กร ระดับอุตสาหกรรม และดูแลเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งแนวทางการใช้งบประมาณ ควรมุ่งเน้นการใช้งบประมาณไปที่เศรษฐกิจเพื่ออนาคต เช่น การใช้เทคโนโลยีใหม่ เสริมเศรษฐกิจ AI Blockchain และระบบการเงินหมุนเวียน เช่น กองทุนหมู่บ้านเพื่อให้เศรษฐกิจระดับชุมชนขับเคลื่อนให้ได้ ส่งเสริมธุรกิจอาหารสร้างภูมิและพืชผักผลไม้ที่ให้วิตามินที่เริ่มขาดแคลนในต่างประเทศ ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจของใช้ส่วนตัวที่เป็นของเหลวที่ไวรัสอยู่ได้นานเช่น เครื่องสำอาง และสนับสนุนงบประมาณในการปรับระบบธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถสร้างมาตรการสุขอนามัยร่วมกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นและสร้างแรงจูงใจ

4.ด้านสังคม ควรกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมให้ชัดเจน อาทิ การใช้ชีวิตประจำวันในครัวเรือน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าสังคม งานประเพณี งานแต่งงาน การร่วมงานขาวดำ มาตรการความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยวและบริการ มาตรการสุขอนามัยในโรงงาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้าว่าปลอดภัยจากโควิด-19 การสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยี social distancing ในการทำงาน การประชุม การทำการค้า การศึกษาเช่น AI AR VR 3D และการส่งเสริมสังคมผู้สูงวัย โดยกระจายอำนาจงบประมาณ ให้ท้องถิ่นที่ใกล้ชิดดูแลได้เพิ่มขึ้น

และ 5.อนาคตประเทศไทย ควรปรับรูปแบบโดยคำนึงถึงสุขอนามัยนำอุตสาหกรรมศักยภาพ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร World food for health ทดแทนการปิดโรงงานด้านอาหารในต่างประเทศที่ปิดตัวไป อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ การผลิตบุคลากร การเป็น Medical hub อุตสาหกรรมด้านไอทีเทคโนโลยีใหม่ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที 5G Cloud computing AI AR VR 3D รองรับ social distancing การทำงาน การประชุม การทำการค้า เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน