เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ…. ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นการพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 โดยที่ประชุมมติเอกฉันท์ 218 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน เห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว คือการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมาย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 17 คน

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอความเห็นต่อรัฐสภา หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นมาตรา 16 กำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ

ส่วนมาตรา 28 บัญญัติให้คณะกรรมจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาและเสนอต่อ ครม.ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ต่อมาครม.ต้องส่งร่างยุทธศาสตร์ชาติให้สนช.ภายใน 30 วัน โดยสนช.ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากครม. และเมื่อสนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกฯนำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากสนช.

จากนั้นที่ประชุมสนช.มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธารสนช.คนที่ 1 เป็นประธาน พิจารณาร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ… ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 และวาระ 3 โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 216 คะแนน งดออกเสียง 4 คะแนน เห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยตามขั้นตอนนายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะมีผลให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องพ้นจากตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 กำหนด

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การกำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน จำนวน 11 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการเมือง 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3.ด้านกฎหมาย 4.ด้านกระบวนการยุติธรรม 5.ด้านการศึกษา 6.ด้านเศรษฐกิจ 7.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8.ด้านสาธารณสุข 9.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 10.ด้านสังคม และ 11.ด้านอื่นตามที่ครม.กำหนด โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านจะมีจำนวนไม่เกิน 13 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งครม.รีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านที่จะดำเนินการปฏิรูป โดยคำนึงถึงความหลากหลายของผู้มีประสบการณ์ในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

ส่วนการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ มาตรา 11 บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วันแล้วเสนอให้ที่ประชุมร่วมกันของคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะพิจารณา นอกจากนี้ ต้องเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพิจารณาว่าร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างแผนการปฏิรูปประเทศก่อนเสนอให้ครม.เห็นชอบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน