สนช.โหวตท่วม ผ่านวาระ 3 กม.ยุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูปฯ2 ฉบับรวด “บิ๊กตู่”ระบุช่วยพัฒนาประเทศ ยั่งยืน “มาร์ค”ชี้ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม เพิ่มภาระ รัฐบาลในอนาคต “ไก่อู”เผยนายกฯ เล็งขยายพื้นที่ ครม.สัญจรพบประชาชน 18 กลุ่มจว. โต้ไม่ได้หาเสียง “วิษณุ”ชี้ช่องกมธ.สนช.ปลดล็อกไพรมารี่โหวต ยังไม่ต้องใช้กับเลือกตั้งครั้งหน้า “อภิสิทธิ์”เหน็บไม่เคยเห็นใช้ ม.44 ช่วยชาวบ้าน มีแต่ช่วยรัฐกันเอง แฟนคลับแห่มอบดอกไม้ให้กำลังใจ “ยิ่งลักษณ์” ถึงบ้าน ปลอบให้สู้ๆ อย่าร้องไห้ ทนายเผยไต่สวนพยานคดีจำนำข้าวนัดสุดท้าย 21 ก.ค.นี้ เพื่อไทยขู่ฟ้องเด็กปชป.แขวะอดีตนายกฯ หลั่งน้ำตาวันเกิด

“บิ๊กตู่”ชูโมเดล 4.0 ก้าวสู่อนาคต

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 22 มิ.ย. ที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาผู้ลงทุนสถาบันในตลาดทุนระดับนานาชาติ “Thailand”s Big Strategic Move” โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ร่วมงาน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแนวทางพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สร้างฐานในการพัฒนาโดยใช้โมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อก้าวสู่อนาคต เน้นการสร้างคุณค่าและการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งการผลักดันประเทศไปข้างหน้า ไม่สามารถทำได้ด้วยการสั่งการของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ต้องทำแบบบูรณาการทุกภาคส่วนตามโครงการประชารัฐ

ยืนยันว่าทุกรัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไป และทุกภาคส่วนต้องช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบบูรณาการ ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฎหมายจำนวนมากให้เป็นสากล โดยเฉพาะกฎหมายที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พัฒนาด้านความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม เห็นได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3-3.8 ดีขึ้นจากอัตราร้อยละ 3.2 ในปี 2559

เร่งส่งมอบงานตามโรดแม็ป

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ภารกิจของรัฐบาลในระยะนี้คือการเตรียม ส่งมอบ ส่วนจะส่งมอบเมื่อไรก็เป็นไปตามนั้น โดยจะทำให้เร็วที่สุด ให้มีความยั่งยืนเพื่อให้รัฐบาลต่อไปดำเนินงานได้ทันที ขออย่ากังวลเรื่องเหล่านี้ ตอนนี้เรามีการปฏิรูปไปแล้วทุกด้าน เริ่มปฏิรูป 130 กว่าเรื่อง ตนก็เดินไปเรื่อย โลกมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน เราต้องปฏิรูปทุกวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเชิงกระเซ้าช่วงหนึ่งว่า “เวลาผมไปพูด พูดไปพูดมาก็เหนื่อย บางทีมีเอกสาร 150 หน้า แต่ก็อยากอธิบาย ถ้าไม่อธิบายไม่ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่องกันทุกวัน ดังนั้นเราต้อง มีความคิดพื้นฐานที่เป็นตรรกะ มีเหตุผล วิเคราะห์ได้ รวมถึงระบบการเรียนการสอนและการพัฒนาคน ต้องสอนให้คนมีกระบวน การคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่เอาแต่คิด แล้วก็พูดแต่ไม่ทำ ซึ่งสร้างปัญหาวุ่นวาย เราจึงต้องสอนให้คนคิดเป็น วิเคราะห์เป็น และทำงานเป็น”

เล็งสัญจร 18 กลุ่มจังหวัด

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าแนวคิดการฟื้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือครม.สัญจรว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้มีการประชุมครม.สัญจร ซึ่งสอดคล้องกับที่สั่งการให้รัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่ ซึ่งเน้นย้ำว่าการลงพื้นที่ไม่ใช่ไปสร้างคะแนนเสียงเพราะเราไม่ได้ต้องการเล่นการเมืองในอนาคต แต่ต้องการลงไปรับฟังทุกข์สุขประชาชนของกลุ่มในพื้นที่จากปากของเขาเอง และต้องการให้เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายลงไปพูดคุยกับข้าราชการในสังกัดของตนเองในพื้นที่ว่านโยบายจากส่วนกลางที่ลงไปนั้นตรงกันหรือไม่

เบื้องต้นกำหนดไว้ใน 6 พื้นที่ 6 ภูมิภาคคือ เหนือ กลาง อีสาน ใต้ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างไรก็ตาม ถ้ามีช่วงโอกาสและจังหวะเวลาที่เหมาะสมก็อาจขยายไปในส่วนของ 18 กลุ่มจังหวัดด้วย ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเป็นเรื่องดี

ออกตัวอาจไม่ค้างคืน

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า สำหรับโอกาส ที่นายกฯจะค้างคืนในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น ในกิจกรรมต่างๆ ที่ลงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่จ.เชียงใหม่ หรือประจวบคีรีขันธ์ จะต้องมีคณะทำงานทั้งจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องและส่วนกลางเดินทางไปลงพื้นที่ล่วงหน้าก่อนเพื่อพบปะกับประชาชนและชุมชน ซึ่งการประชุมครม.สัญจรจะแยกคนละส่วนกับการลงพื้นที่ของนายกฯในแต่ละเดือน แต่ต้องมีการประสานสอดคล้องกัน

“นายกฯเคยปรารภว่าการลงไปพื้นที่ต่างๆนั้นอยากได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่อยากไปเพียงแค่กิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เพราะทุกเรื่องต้องมีความเชื่อมโยงกัน การไปต่างจังหวัดแล้วค้างคืนก็อาจตอบโจทย์ได้ ขณะเดียวกัน ไม่ต้องการให้ในพื้นที่ระส่ำระสายได้รับผล กระทบ เพราะการที่ ครม.จะลงไปในพื้นที่ใดก็จะต้องมีคณะที่ติดตามลงไปด้วยจำนวนมาก ทั้งในส่วนของผู้ติดตาม ผู้เตรียมข้อมูล รวมทั้งเป็นห่วงในเรื่องของโรงแรมที่พักที่เกรงว่าอาจกระทบกับผู้อื่นที่จองล่วงหน้าไว้ก่อน ก็ต้องดูให้เหมาะสม” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ทบ.แจงค้นบ้านกลุ่มดาวดิน

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกกล่าวถึงกรณีพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านดาวดิน ที่จ.ขอนแก่น ในช่วงที่นายกฯลงพื้นที่จ.ขอนแก่นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เรื่องดังกล่าวทำถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องมีหมายศาลหรือหมายค้นใดๆ เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปตรวจค้นเพื่อความสงบเรียบร้อย โดยอาศัยคำสั่ง คสช.ที่ 13/2559 ในนามของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) โดยครั้งนี้ไปในนามของ กกล.รส. มณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23)

พล.ท.วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า การเข้าตรวจค้นไม่ได้ขอหมายศาล เนื่อง จากใช้อำนาจตามคำสั่งคสช. เพื่อให้ระหว่างการลงพื้นที่ของนายกฯเกิดความเรียบร้อย นอกจากนี้ ยังติดตามกลุ่มน่าสงสัย เช่นกรณีคำว่าสหพันธรัฐไทยใหม่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ภาคอีสาน การเมือง และข้ามไปประเทศ เพื่อนบ้าน ซึ่งการข่าวประเมินว่าจะเป็นการลดเครดิตรัฐบาลและลดเครดิตนายกฯ ให้เกิดความไม่เรียบร้อย จึงใช้อำนาจหน้าที่ทางทหารที่ดูแลพื้นที่เข้าตรวจค้น ยืนยันว่าไม่ได้ใช้อำนาจเกินเลย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบข้อมูลว่านายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดานายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน และตัวไผ่ ดาวดิน เกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธ รัฐไทยใหม่

จ่อเปิดเวทีร่างสัญญาปรองดอง

พล.ท.วิชัยกล่าวถึงการเตรียมตั้งเวทีสร้างการรับรู้เรื่องสัญญาประชาคม จ.นครราชสีมา ในวันที่ 7 ก.ค.ว่า ในพื้นที่อีสานมีความพร้อมทุกจังหวัด เพราะภาคอีสานถือเป็นต้นแบบดำเนินการมาก่อนหน้านั้น ตั้งแต่การเสนอความคิดเห็นในกลุ่มย่อย ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความร่วมมืออย่างดีโดยเฉพาะกลุ่มพรรค การเมืองและประชาชน ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่นั้น เกิดจากแต่ละฝ่ายนำอุดมการณ์ความคิดมาใส่ให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนที่เสียผลประโยชน์ ซึ่งพื้นฐานของคนอีสานเชื่อคนง่ายและมีความจริงใจ

“อย่างกรณีพล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่จ.ขอน แก่นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประชาชนมาต้อนรับและถามว่าลุงตู่จะอยู่ต่อหรือ ซึ่งเขาถามด้วยความบริสุทธิ์ใจ ส่วนเรามีหน้าที่ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง แม้จะมีกลุ่มคนพยายามบิดเบือนข้อมูลก็ตาม โดยเฉพาะ 4 คำถามของนายกฯ ทหารลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจ ไม่ให้ประชาชนเชื่อในสิ่งที่ผิด ยืนยันไม่ได้ไปชี้นำในการตอบคำถาม แต่มีอดีตส.ส.ในพื้นที่ไปให้ข่าวว่าทหารไปบังคับ ซึ่งเราต้องทำงานหนักมากขึ้น” พล.ท.วิชัยกล่าว

เอ็นดีเอ็มจัดกิจกรรมรำลึกไผ่

เวลา 18.00 น. ที่บนสกายวอล์ก ราชประสงค์ บีทีเอส ชิดลม ขบวนการประชา ธิปไตยใหม่ (NDM) ร่วมกับกลุ่มเพื่อนไผ่ จัดกิจกรรม “ไผ่ต้านลม : 6 เดือนแห่งการจองจำ” เพื่อรำลึกวันเวลาแห่งการต่อสู้กับความอยุติธรรมของไผ่ ดาวดิน หรือนาย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่ถูกคุมขังในเรือนจำขอนแก่น โดยมีนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่, นายรังสิมันต์ โรม แนวร่วมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มเพื่อนประมาณ 30 คน ร่วมงาน และมีนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และทนายความสิทธิมนุษยชน ร่วมสังเกตการณ์ โดยมีกำลังตำรวจ ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมากตรึงกำลังสังเกตการณ์

สำหรับกิจกรรมมีการนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นตาราง (คุก) แล้วให้ผู้ร่วมกิจกรรมใส่หน้ากากของไผ่ ยืนเกาะคุก เพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่าไผ่ ถูกจองจำในเรือนจำมาแล้ว 183 วัน จากนั้นกลุ่มเพื่อนสลับกันขึ้นมาอ่านบทกวีถึงความรู้สึกที่มีต่อไผ่ และความ อยุติธรรมที่เกิดขึ้น ก่อนที่นายวิบูลย์ จะอ่านจดหมายที่เขียนจากความรู้สึกถึงลูกชาย และเป่าแคนเพลงฝากรักจากเจ้าผีเสื้อ ให้ผู้ร่วมกิจกรรมร่วมร้องเพลงถึงไผ่ ก่อนที่ทั้งหมดจะพากันแยกย้ายกันกลับ

นายวิบูลย์ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดงานครั้งนี้เนื่องจากครบ 6 เดือนที่ลูกชายถูกจองจำ งานครั้งนี้ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เพียงสื่อให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการกฎหมายของไทยที่กำลังจะแย่ลง ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่เข้าไปเยี่ยมไผ่ ในเรือนจำนั้น เขาบอกกับตนว่ารัฐบาลต้องการสร้างความปรองดอง แต่การที่ทำกับคนเห็นต่างนั้น มันไม่มีทางที่ความปรองดองจะเกิดขึ้น

สนช.ฉลุยกม.ยุทธศาสตร์ชาติ

เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช.พิจารณา ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 218 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน เห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธ ศาสตร์ชาติได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย

สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวคือการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชา การทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคาร ไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 17 คน

มีหน้าที่และอำนาจจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอครม. เสนอความเห็นต่อรัฐสภาหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธ ศาสตร์ชาติ

วางกรอบทำร่างใน 120 วัน

สำหรับกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นมาตรา 16 กำหนดให้คณะกรรมการยุทธ ศาสตร์ชาติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธ ศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ

มาตรา 28 บัญญัติให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและส่งให้คณะกรรมการยุทธ ศาสตร์ชาติ จากนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาและเสนอต่อ ครม.ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยครม.ต้องส่งร่างยุทธศาสตร์ชาติให้ สนช.ภายใน 30 วัน สนช.ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากครม. และเมื่อ สนช.ให้ความเห็นชอบแล้วให้นายกฯ นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากสนช.

ผ่านกม.ปฏิรูปประเทศ

จากนั้นที่ประชุม สนช.มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน พิจารณาร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และ 3 ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 216 คะแนน งดออกเสียง 4 คะแนน เห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ตามขั้นตอนนายกฯ ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะมีผลให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องพ้นจากตำแหน่งตามที่รัฐธรรม นูญพ.ศ.2560 กำหนด

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การกำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน จำนวน 11 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการเมือง 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3.ด้านกฎหมาย 4.ด้านกระบวนการยุติธรรม 5.ด้านการศึกษา 6.ด้านเศรษฐกิจ 7.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8.ด้านสาธารณสุข 9.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 10.ด้านสังคม และ 11.ด้านอื่นตามที่ ครม.กำหนด โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านมีจำนวนไม่เกิน 13 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่ง ครม.แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านที่จะดำเนินการปฏิรูป โดยคำนึงถึงความหลากหลายของผู้มีประสบการณ์ในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

ส่วนการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ มาตรา 11 บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วันแล้วเสนอให้ที่ประชุมร่วมกันของคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะพิจารณา นอกจากนี้ ต้องเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพิจารณาว่าร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างแผนการปฏิรูปประเทศก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป

“พรเพชร”ยันทั้งสองฉบับไม่ขัดรธน.

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณี สนช.มีมติเอกฉันท์ผ่านร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธ ศาสตร์ชาติ และร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ในวาระ 3 ทั้งที่ ครม.มีมติเสนอร่างกฎหมายทั้งสองฉบับก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมญปี 2560 นั้น เรื่องนี้ปล่อยไม่ได้เพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนและจะมีผลกระทบต่อไปอย่างไม่สมควร ดังนั้น ตนจะส่งหนังสือทางอีเอ็มเอสถึงนายกฯ เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (2) ให้เสร็จก่อนว่าเป็นการตราร่างกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่อยากให้ผลที่ตามมาเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข เช่นเดียวกับร่างกฎหมายที่ สนช.ชุดเก่าเคยทำไว้กว่า 200 ฉบับ

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า ยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธ ศาสตร์ชาติและร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ สนช.พิจารณาหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับแล้ว

อุบปมร้อนกม.พรรคการเมือง

นายพรเพชรยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรม การร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นห่วงเรื่องระบบไพรมารี่โหวตในร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติต่อพรรคการเมืองเตรียมผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ทันว่า กรธ.กังวลในทางปฏิบัติว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งกรธ.ต้องไปคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ้ามีข้อโต้แย้งว่าไม่เป็นไปตามเจตนา รมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายมาพิจารณา แต่ข้อโต้แย้งต้องไม่ใช่เรื่องปลีกย่อยหรือเรื่องเล็กน้อย

ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องไพรมารี่โหวตที่อาจเป็น ปัญหาในทางปฏิบัติถือเป็นข้อโต้แย้งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่าไม่ทราบ ขอดูรายละเอียดในข้อโต้แย้งก่อน อย่าเพิ่งสมมติ ส่วนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.นั้น ถ้ากกต.จะมีข้อโต้แย้งต้องส่งเรื่องมาเพื่อตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายภายในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ จากนั้น จะตั้งตัวแทนกรธ. 5 คน สนช. 5 คน และประธาน กกต. 1 คน ซึ่งในส่วนตัวแทนสนช.5 คน จะประชุมพิจารณาคัดเลือกในวันที่ 27 มิ.ย.

“วิษณุ”ชี้ช่องปลดล็อกไพรมารี่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีพรรคการเมืองห่วงว่าการหาผู้สมัครตามระบบไพรมารี่โหวต หากพรรคทำไม่ทันกับกำหนด การเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบได้ว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ แต่ในทางปฏิบัติหากพรรคจัดไพรมารี่ไม่ทัน อาจเสียสิทธิการส่งผู้สมัครได้ เว้นแต่คณะกรรมาธิการจะเขียนข้อยกเว้นไว้ให้ ซึ่งสังคมมีการพูดกันว่าหากจะเริ่มใช้ระบบไพร มารี่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คงต้องผ่อนปรนสำหรับความไม่พร้อม คนที่คิดเรื่องนี้ก็ต้องคิดต่อว่าถ้าเกิดปัญหาแล้วจะแก้ไขอย่างไร

ทั้งนี้ ตนตอบไม่ถูกและไม่แน่ใจว่าระบบการส่งผู้สมัครแบบนี้จะเหมาะกับการเลือกตั้งของไทยหรือไม่ เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ และไม่ขอตอบว่าควรนำระบบนี้มาทดลอง ใช้ก่อนหรือไม่ เดี๋ยวสื่อจะบอกว่ารัฐบาลสนับสนุนหรือคัดค้านอีก ถามเรื่องที่ตนรู้จะตอบได้ เรื่องที่เป็นความเห็นไม่อยากไปตอบ

“มาร์ค”ลุ้นตั้งกมธ.ร่วม

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องดูว่าจะมีการตั้งกมธ.ร่วมหรือไม่ ซึ่งคงพิจารณา ได้เฉพาะประเด็นที่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ประเด็นระบบเลือกตั้งใหม่ ที่เพิ่มเงื่อนไขว่า ถ้าพรรคไหนไม่มีสมาชิกจัดตัวแทนจังหวัดหรือสาขาได้ก็ไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กลายเป็นว่าใครที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสมาชิกพรรคที่ตัวเองนิยมก็ไม่มีสิทธิเลือกตัวแทนของพรรคนั้น ซึ่งเมื่อก่อนไม่เป็นไร แต่ในระบบของรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกคะแนนมีความหมายในการคำนวณ ส.ส. ในสภา

ขณะที่ประเด็นที่ให้การเรียงลำดับผู้สมัครบัญชีรายชื่อกลายเป็นเรื่องไพรมารี่ น่าจะสวนทางกับเจตนารมณ์ของการมีบัญชีรายชื่อตั้งแต่ต้นที่ต้องการให้พรรคจัดคนอีกกลุ่มหนึ่งมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำงานให้พรรคโดยไม่ผูกพันเรื่องการมีคะแนนเสียงในพื้นที่ต่างๆ โดยหวังว่าจะดึงคนนอกวงการเมืองเข้ามาได้มากขึ้น

เหน็บไม่เคยเห็นม.44 ช่วยชาวบ้าน

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 ปลดล็อกใช้ที่ดินส.ป.ก.ว่า เข้าใจว่าพยายามจะแก้ปัญหาที่ดิน แต่อยากให้มีกติกาการใช้ที่ดินให้ชัดเจนเป็นระบบ ไม่ว่าเรื่องพลังงานทดแทน เหมืองแร่ ปิโตรเลียม ถ้ามีความจำเป็นต้องสำรวจ ก็ควรมีกฎหมายของแต่ละเรื่อง ทั้งขั้นตอนการขออนุญาต การใช้ที่ดินที่มีหลายประเภท แต่ทั้งสองเรื่องมีข้อคิดว่ามาตรา 44 กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ภาครัฐไม่ต้องทำตามกฎหมาย เหตุผลที่ให้มักระบุว่าที่ดำเนินการไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมายต่างๆ เยอะไปหมด กลายเป็นว่าถ้าเราเสพติดกับวิธีการแบบนี้ ข้าราชการหรือรัฐบาลทำผิดกฎหมาย มาตรา 44 ก็ยกเว้นได้หมด

“เมื่อเทียบกับกรณีชาวบ้าน วันนี้ที่พวกเขาอยู่ริมน้ำ ชายทะเลหรือหมู่บ้านชาวประมง มาเจอกฎหมายที่ระบุว่าพวกเขาเป็นผู้รุกล้ำลำน้ำ เราไม่เคยเห็นมีมาตรา 44 ช่วยพวกเขาเลย หรือชาวไทยม้งที่ภูทับเบิก เขาร้องเรียนว่าอยู่ที่นั่นด้วยข้อตกลงกับรัฐบาลหลายๆ สมัยที่ผ่านมา บางช่วงทางจังหวัดบอกว่าเขาควรส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม หรือทำโฮมสเตย์ แต่มาตรา 44 ไปรื้อของเขา ทำให้รู้สึกว่าออกมาตรา 44 เพื่อช่วยรัฐ หรือคนบางกลุ่มที่ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ผมอยากให้การแก้ปัญหามีระบบ คำนึงถึงความเป็นจริงของสังคม ผมไม่ได้ปกป้องนายทุน ถ้าพวกเขาทำผิดก็จัดการได้ แต่ถ้ามีผลกระทบกับประชาชนที่มีความจำเป็น หรือมีที่มาที่ไป เราจะดูแลเขาอย่างไร”นายอภิสิทธิ์กล่าว

ติงกม.ยุทธศาสตร์เพิ่มภาระรบ.ใหม่

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงสนช. มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติว่า น่าเสียดายที่กฎหมาย ดังกล่าววางหลักการแนวทางปฏิบัติที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยจำกัดแค่ให้ สนช.หรือส.ว.ในอนาคต พิจารณาให้ความเห็นชอบแทนที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาด้วย และมองว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นการเพิ่มภาระให้กับรัฐบาลในอนาคต ทำให้การทำงานยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งแนวทางที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเกิดความชัดเจนและเห็นผล คือการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับประชาชนและสังคม และสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

ส่วนร่างสัญญาประชาคมที่ให้พรรคการ เมืองร่วมลงนามเพื่อลดความขัดแย้งนั้น ความสำเร็จต้องวัดกันที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่มองว่าเมื่อมีพรรคมาลงนามทุกอย่างก็จบ เพราะหากมีการเลือกตั้งแล้ว ยังมีความวุ่นวายเกิดขึ้นก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ ตนเห็นว่าการร่วมลงนามในสัญญาประชาคมไม่ได้เป็นหลักประกันและข้อผูกพันในระยะยาวว่าจะไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น เพราะในอนาคตยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างและไม่มีใครตอบได้ เพราะต้องดูเนื้อหาของสถานการณ์จริงที่จะเกิดขึ้นในห้วงนั้นด้วย

สปท.จ่อพ้นเก้าอี้ต้นส.ค.นี้

นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิปสปท.) แถลงภายหลังประชุมวิปสปท.ว่า ในการประชุมสปท.วันที่ 26 มิ.ย. มีสาระสำคัญคือ พิจารณารายงานการปฏิรูปของกมธ.ด้านการศึกษา เรื่องแผนการปฏิรูปการอุดมศึกษา มีข้อเสนอสำคัญคือการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา เพื่อกำกับดูแลการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นการเฉพาะ

ส่วนการประชุมวันที่ 27 มิ.ย. มีวาระสำคัญคือ พิจารณารายงานการปฏิรูปของ กมธ.ด้านเศรษฐกิจ เรื่องการปฏิรูปการมีส่วนร่วมด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบ และรายงานการปฏิรูปของกมธ.ด้านการเมือง เรื่องการปฏิรูปการปฏิบัติงานในรัฐสภา เพื่อให้การปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภา ในด้านนิติ บัญญัติมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ทั้งนี้ สปท.ด้านต่างๆ ได้ทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดย กมธ.แต่ละคณะกำลังเก็บรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ เพื่อที่สปท.จะส่งมอบให้กับนายกฯและครม. ก่อนพ้นวาระ

ต้นเดือนส.ค.นี้ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีสมาชิกสปท.คนใดลาออกเพื่อไปรับสมัครเลือกตั้งส.ส.บ้าง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปลายเดือนมิ.ย.นี้ เนื่องจากจะครบกำหนด 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าสมาชิก สปท.และสนช.ที่จะลาออกไปลงสมัคร ส.ส. จะต้องลาออกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว 90 วัน

เผยยึดทรัพย์”ปู”ยังไม่คืบ

ส่วนความคืบหน้าการยึดทรัพย์น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากโครงการรับจำนำข้าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า คดีอาญาอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ส่วนคดีแพ่งอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งจำเลยต้องร้องขอคัดค้านการยึดทรัพย์ไปยังศาลปกครองอยู่แล้ว เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอนคำสั่ง ผู้สื่อข่าวถามว่ากรมบังคับคดีจะยึดทรัพย์ไม่ได้จนกว่าศาลปกครอง จะมีคำสั่งออกมาใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ แต่ที่หยุดไว้เพราะยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ที่ไหน เหมือนกับคดีอื่นที่ศาลตัดสินว่าคนนั้นแพ้คดี แล้วให้ไปยึดทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็หาทรัพย์ แต่เมื่อหาทรัพย์ไม่เจอก็หยุดไว้ก่อน เข้าใจว่าเวลานี้ยังไม่ถูกเบรกจากศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว ทำให้กรมบังคับคดีเดินหน้าไปได้ แต่ยังไม่ไปยึด เพราะไม่เจอว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์มีอะไร

รวมถึงคดีขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ด้วย ที่ดำเนินการเช่นเดียวกัน แต่นายบุญทรงยังมีคดีข้าวล็อตอื่นที่อยู่ในสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นคดีใหม่ที่ตามมาอีก ส่วนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เรื่องข้าวกว่า 800 คดีนั้น เป็นส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ไปดำเนินการ ซึ่งได้รับรายงานมาบ้างแล้ว แต่ยังตอบไม่ถูกเพราะมีหลายประเภท

คลังตั้งทีมนำสืบ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะทำงานสืบทรัพย์เพื่อติดตามสืบหาทรัพย์สิน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมที่ดิน เพื่อสืบหาว่ามีสินทรัพย์เท่าไร รวมถึงตรวจดูรายการที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.

จากนั้นจะนำมาสรุปจำนวนทรัพย์สิน เพื่อส่งให้กรมบังคับคดี ดำเนินการติดตามยึดทรัพย์ต่อไป แต่ยังระบุเวลาไม่ได้ว่าจะทำเสร็จเมื่อไร เพราะเป็นเรื่องของคณะทำงานที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และยึดหลักดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ทนายปูเผยไต่สวนคดีข้าวอีก 3 นัด

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้คดีอยู่ในช่วงการไต่สวนพยานจำเลย ซึ่งเหลืออีก 3 นัด คือวันที่ 29 มิ.ย. ไต่สวนพยานจำเลย 3 ปาก, วันที่ 7 ก.ค. ไต่สวนพยานจำเลย 8 ปาก และนัดสุดท้ายวันที่ 21 ก.ค. ไต่สวนพยานจำเลย 8 ปากสุดท้าย

ขณะนี้ยังไม่มีการขอไต่สวนพยานเพิ่มเพราะต้องไต่สวนพยานที่ยื่นบัญชีไว้ให้หมดก่อน จึงจะพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ หากไต่สวนพยานนัดสุดท้ายวันที่ 21 ก.ค.เสร็จสิ้น ศาลคงให้โอกาสคู่ความแถลงการณ์ปิดคดี ซึ่งขึ้นอยู่กับคู่ความว่าจะแถลงด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร โดยในวันไต่สวนพยานปากสุดท้ายศาลจะแจ้งว่าจะให้แถลงปิดคดีภายในกี่วัน และนัดฟังคำพิพากษาวันที่เท่าไร เมื่อถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะแถลงปิดคดีด้วยวาจาด้วยตนเองหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้วิธีใดในการแถลงปิดคดี

แฟนคลับให้กำลังใจถึงบ้านพัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปทำบุญวันคล้ายวันเกิดที่วัดสระเกศ และถูกตั้งคำถามจากสื่อเรื่องคดีจำนำข้าว จนเกิดความสะเทือนใจถึงกับหลั่งน้ำตา ต่อมาวันที่ 22 มิ.ย. มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมามอบดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจ ที่บ้านพักซอยโยธินพัฒนา 3 พร้อมคำปลอบใจ “นายกฯไม่ต้องร้องไห้ สู้ๆๆๆ นะ” ขณะที่ประชาชนที่มามอบดอกไม้กลับร้องไห้เสียเอง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนางมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กพาดพิงน.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่หลั่งน้ำตาขณะให้สัมภาษณ์สื่อในวันคล้ายวันเกิดว่า การฉวยโอกาสกระแหนะกระแหนและบิดเบือนข้อมูลหลายเรื่องต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ถือว่าไม่เหมาะสม แม้แต่คนที่ไม่ชอบพอกันเขาก็ไม่กระทำการอันไม่เป็นมงคลในวันคล้ายวันเกิดของบุคคลอื่น แล้วอย่างนี้จะปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้งได้อย่างไร

ฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาว่าการพูดแบบนี้เข้าข่ายขัดคำสั่งศาลที่ห้ามพูดในลักษณะที่อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดในรูปคดี หรือเข้าข่ายการชี้นำคดีในเนื้อหาสาระที่เกี่ยวเนื่องกับคดีหรือไม่ ซึ่งศาลได้ออกข้อกำหนดห้ามคู่ความ รวมถึงบุคคลภายนอกและสื่อให้ข่าว แสดงความเห็นหรือวิเคราะห์เรื่องเกี่ยวกับคดีที่อาจชี้นำสังคม หากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หวังว่านอกจากนางมัลลิกาแล้วไม่ควรมีใคร ไม่ว่าพรรคใด ฝ่ายใด ออกมาสร้างกระแสที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดคำสั่งหรือละเมิดอำนาจศาล

จับตาสนช.ถกกม.ศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุม สนช.วันที่ 23 มิ.ย. มีการพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่…) พ.ศ. … วาระ 2 และ 3 โดยแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มี 40 มาตรา โดยในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างฯ ที่มีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นประธาน กมธ.เสียงข้างมากได้ตัดมาตรา 38 ว่าด้วยการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของประธานศาลปกครองสูงสุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับ ทำให้ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของประธานศาลปกครองคนปัจจุบันที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านี้ไม่ถูกนับรวมกับระยะเวลาดำรงตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ ตามมาตรา 15/2 ที่ให้มีวาระ 4 ปี นับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ทั้งนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายตวง อันทะไชย ขอแปรญัตติเสนอ ยกเว้นไม่ให้นำมาตรา 15/2 วรรคหนึ่ง มาบังคับใช้แก่ประธานศาลปกครองสูงสุดคนปัจจุบัน และให้ พ้นจากตำแหน่งเมื่อครบ 4 ปี นับแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ โดยให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ประธานศาลปกครองคนปัจจุบันได้รับการโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.2559 จะครบ 4 ปีในวันที่ 2 มี.ค.2563 แต่การที่ กมธ.เสียงข้างมาก ตัดมาตรา 38 ออกและยกเว้นมาตรา 15/2 ทำให้ประธานศาลปกครองสูงสุดมีวาระยาวยิ่งขึ้น ซึ่งหลักการออกกฎหมายทั่วไปไม่ควรรอนสิทธิ์ผู้ใด เดิมประธานศาลปกครองสูงสุดอยู่ได้ถึง 70 ปี แต่มีข้อยกเว้นว่ากฎหมายที่สุจริตและไม่รอนสิทธิ์ต้องเป็นคนอื่นออกกฎหมายให้คนคนนั้น อย่างไรก็ตาม การเริ่มแก้ไขกฎหมายให้ดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ทำตั้งแต่ประธานศาลปกครองคนปัจจุบันยังเป็นรองประธานศาลปกครอง และเขาเป็นคนเสนอเอง ทำเอง ถ้า สนช.ไปแก้ไขจะทำให้ประธานศาลปกครองไม่สง่างาม

ด้านนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุก.ต.) ว่า อนุก.ต.ทั้ง 21 คนร่วมพิจารณารายชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรเสนอรายชื่อเป็นประธานศาลฎีกา โดยมีการเสนอรายชื่อนายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ที่มีอาวุโสสูงสุด แต่การประชุมเพื่อพิจารณายังไม่ได้ข้อสรุป อนุก.ต.จึงต้องประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 26 มิ.ย.เวลา 09.00 น.เพื่อให้ได้ข้อสรุปและเสนอบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่มีกำหนดนัดประชุมเพื่อสรรหาประธานศาลฎีกาในวันที่ 3 ก.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน