คุมเข้ม”24 มิ.ย.” นปช.รำลึก 85 ปีปชต.ผ่าน โซเชี่ยล “บิ๊กตู่”แจง 17 ข้อ เร่งรถไฟเร็วสูง วิษณุชี้ถ้าไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์มีติดคุก เพื่อไทยชี้วางกรอบให้เดินตาม แล้วมีคนคอยจับผิดยิ่งทำให้วุ่น ปึ้งติงขั้นตอนออกกม.ยุทธศาสตร์ส่อ ขัดรธน. มติสนช.ผ่านร่างศาลปกครองแล้ว มหาดไทยขอ 7 วันสรุป 4 คำถามล็อตแรก

บิ๊กตู่ลั่นทำได้ทุกเรื่อง-ผลงานอื้อ

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า ที่ตนเคยยกเอา 4 คำถามกับ 50 ประเด็น มากล่าวในรายการนั้น ไม่ใช่ว่า ไม่มั่นใจในการ ทำงานของรัฐบาลและคสช. แต่ในทางกลับกัน ตนมั่นใจว่าเราทำได้ทุกเรื่อง ซึ่งบางประเด็น สำเร็จแล้ว บางอย่างต้องเริ่มต้นทำต่อ บางอย่าง ต้องอาศัยทั้งเวลาและความร่วมมือ ข้อกฎหมาย ก็ต้องไปแก้ไขปัญหากัน ขอไปช่วยกันคิดว่าเราจะร่วมมือกันได้อย่างไร ตามบทบาท หน้าที่ และศักยภาพของแต่ละคนแต่ละฝ่าย อย่าคิดอะไรที่มันขัดแย้งกันจนเกินไป บ้านเมือง จะไปข้างหน้าไม่ได้ ลูกหลานก็ไม่มีความสุข

“รัฐบาลนี้ไม่อยากให้ใครไปบิดเบือนว่า รัฐบาลกลัวจะไม่มีผลงาน ยืนยันว่าไม่กลัวเพราะผมรู้ดีว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง หลายอย่างอาจไม่มีผลมาสู่รายบุคคล แต่มีผลในการทำงานระยะยาวของผู้ร่วมรัฐบาล อย่ามาพูดเรื่องสืบทอดอำนาจ หรือต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง ไม่เคยคิดอย่างนั้น ผมพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ตลอดมา” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

แจงยิบรถไฟเร็วสูง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กรณีรถไฟไทย-จีน ขอให้ทำความเข้าใจอีกครั้ง อย่าสับสน กับข้อมูล เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ร่วมมือกันมาหลายรัฐบาลแล้ว รัฐบาลนี้เอามาสานต่อให้เกิด ผลสัมฤทธิ์ เพื่อเป็นการลงทุนในอนาคต เชื่อมโยงกันกับหลายประเทศ เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ดังนั้นมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ 1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และระบบควบคุมการเดินรถ อาณัติสัญญาณ คือทั้งระบบ ทั้งเส้นต้องทำทั้ง 3 อย่าง ซึ่งฝ่ายไทยได้ ตัดสินใจจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีกรอบการเจรจา วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท มีการต่อรองมาตลอด โดยเจรจาทั้งหมด 18 ครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า 2.การร่วมลงทุน ของจีนในลักษณะนี้ อาจเรียกได้ว่า จีนยัง ไม่เคยทำกับประเทศใด อันนี้เป็นการรับจ้างก่อสร้าง เราพิจารณาแล้วมีความเหมาะสมมากกว่า ส่วนมาตรฐานของจีนนั้น ได้รับการยอมรับเนื่องจากนำเทคโนโลยีของจีนไปใช้ก่อสร้างในหลายประเทศแล้ว ฝ่ายไทยได้เลือกลงทุนเอง ไม่ได้กำหนดมาจากฝ่ายจีน หากเป็นระบบสัมปทาน ฝ่ายจีนจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ทั้งหมด เช่นที่ทำอยู่ในหลายประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 3.หากฝ่ายไทยเป็นเจ้าของ จะมีกิจการเป็นผู้พัฒนา 2 ข้างทางเอง เพื่อดูในการสร้างเมืองใหม่, พัฒนาเป็นพื้นที่ประกอบการทางธุรกิจน้อยใหญ่ ที่พักอาศัยของชุมชน หรืออื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต วันนี้ สั่งการไปยังกระทรวงคมนาคม, สนข. ไปคิดแผนเหล่านี้ออกมาควบคู่ด้วยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่สำคัญจะเกิดผลตอบแทนเชิงธุรกิจสูงมาก ดีกว่าเลือกระบบสัมปทาน

เปิดประมูลไทยสร้างมีจีนคุม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า 4.การแก้กฎหมาย นั้น จำเป็นต้องดูตรงนี้อีก การใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในเชิงพาณิชย์ ตามกฎหมายทำไม่ได้ 5.เราจำเป็นต้องมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่อไทย ลาว จีน ปากีสถาน ยุโรปตะวันออก ซึ่งเขาเชื่อมโยงกันแล้ว เราจำเป็นต้องเชื่อมโยงไปด้วยคู่ขนานกับทางรถยนต์ ในกรอบ One Belt, One Road (OBOR) 6.เราจำเป็นต้องปรับและจัดทำกฎหมายหลายฉบับ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม และคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่เฉพาะไทย-จีน รวมทั้งอีก 64 ประเทศในกรอบ OBOR ควบคู่ไปด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า 7.การจัดการประมูล ในส่วนที่ฝ่ายไทยลงทุนเอง เราจะดำเนินการเองทั้งหมด ใช้บริษัทก่อสร้างไทย, แรงงานไทย, วัสดุในท้องถิ่นของไทยให้มากที่สุด ใช้แต่วิศวกรจีนมาเป็นผู้ออกแบบ ควบคุม แล้วก่อสร้างภายใต้การทำงานของบริษัทก่อสร้างของเรา

ชี้ 1.7แสนล.ลดลงจากที่เสนอมาก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า 8.การพิจารณาความคุ้มทุน อย่ามองเฉพาะจำนวนผู้โดยสารเท่านั้น ทุกประเทศที่ตนไปไม่ว่าเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แรกๆ ขาดทุน แต่วันนี้มหาศาลเพราะมันเกิดผลประโยชน์สองข้างทางตามมาโดยทันที 9.การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการก่อสร้าง โดยวิศวกรของไทยอยู่ร่วมในการวางแผนก่อสร้าง ควบคุมงานและอื่นๆ ด้วย ซึ่งมัน อยู่ในสัญญาที่ต้องไปพูดคุยเจรจากันต่อไป 10.ในส่วนประสบการณ์ แม้เราไม่เคยทำมาก่อน แต่เชื่อมั่นในศักยภาพของวิศวกรไทยว่าสามารถเปิดรับเทคนิคและประสบการณ์ใหม่ๆ จากเส้นทางนี้ได้มาก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า 11.เส้นทางอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ เส้นทางเหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งต้องพิจารณาอีกครั้ง เราต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันจากหลายประเทศที่มีศักยภาพ 12.เทคนิคการก่อสร้าง ต้องตามมาตรฐานสากล อย่าไปห่วงกังวล 13.การกำหนดราคา ได้ผ่านการเจรจา ต่อรอง เอารายละเอียดมาดูกัน ราคาค่าก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ มาเทียบกันหมดแล้ว สรุปกันได้ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งลดจากฝ่ายจีนเสนอมามากพอสมควร

ยันห้ามมีทุจริต

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 14.การทำพันธสัญญาความร่วมมือในลักษณะจีทูจีนั้น ฝ่ายไทย ดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคม การรถไฟไทย ฝ่ายจีนเป็นไปตามหลักการทำธุรกิจของจีนคือ ให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบ ได้แก่ สภาเศรษฐกิจรับรองบริษัทที่จะมาก่อสร้างกับไทยเท่านั้น ไม่ใช่ว่าบริษัทอะไรก็ได้ เขาต้องรับผิดชอบ รับรองด้วย

15.อยากขอร้องให้ทุกภาคส่วนมองในภาพกว้าง นึกถึงผลประโยชน์ในอนาคต ด้วยตนเคารพในความคิดเห็นของทุกคนเสมอ 16.การป้องกันการทุจริต จะต้องโปร่งใสทั้งใน ส่วนราชการ ข้าราชการ บริษัทก่อสร้าง นักธุรกิจไทยต้องทำงานโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน 17.เรื่องรถไฟความเร็วสูง เป็นเพียงหนึ่งในความร่วมมือไทย-จีน ที่มีความสัมพันธ์ อันดีมายาวนาน

“ขอให้ทุกคนช่วยกันบูรณาการในทุกระดับ ทั้งรัฐบาล คสช. กระทรวงคมนาคม หน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนอีกมากที่มีส่วนร่วมเจรจา จนมีความก้าวหน้า ซึ่งรัฐบาลและคสช.จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ มาตรา 44 เพื่อให้เริ่มดำเนินการได้ จากผลการเจรจาเกือบ 20 ครั้ง มันมีความคืบหน้าแต่มันติดอยู่ 3-4 อันตรงนี้ก็ต้องแก้ไข ถ้าช้าเกินไปเราก็เสียโอกาสการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ขอให้ทุกคนพยายามศึกษาทำความเข้าใจเห็นถึงเหตุผลและความจำเป็น ใครทุจริตต้องถูกลงโทษตามกฎหมายโดยทันที ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

มท.ขอ7วันสรุป4คำถามล็อตแรก

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการรวบรวมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรมต่อคำถาม 4 ข้อของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งครบกำหนด 10 วันแรกว่า เบื้องต้นในส่วนภูมิภาคศูนย์ดำรงธรรมอำเภอจะส่งข้อมูลให้จังหวัดจัดทำสรุป แบ่งเป็นส่วนที่แสดงความคิดเห็น เพื่อสามารถแยกเป็นประเด็นย่อได้ และส่วนที่ให้เลือกคำตอบว่าใช่หรือไม่ ก่อนส่ง มายังกระทรวงมหาดไทย ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ กระทรวงมหาดไทยจะทำข้อสรุปทั้งหมด คาดว่ากระบวนการกลั่นกรองข้อมูลก่อนส่งให้สำนักนายกฯ จะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 7 วัน

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวต่อว่า พอใจภาพรวมที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ซึ่งคงไม่สามารถใช้จำนวนมาเป็นตัวชี้วัดได้ เพราะประชาชนต้องเดินทางมาด้วยตนเอง ไม่เหมือน การใช้ช่องทางโซเชี่ยลมีเดียที่มีความสะดวกกว่า แต่เป็นช่องทางที่ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคล ซึ่งอาจเกิดกรณีใช้เลขบัตรประชาชนบุคคลอื่นมากรอก จะทำให้ข้อมูลนั้นนำมาใช้ไม่ได้ และขณะนี้ยังไม่มีกำหนดในการปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะนายกฯ เห็นว่าหาก สิ่งใดเป็นประโยชน์ก็จะได้นำมาพิจารณา

พล.อ.อนุพงษ์ยังกล่าวถึงการเสนอชื่อบุคคล ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย แทนนายกฤษฎา บุญราช ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่าง การพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สำหรับตำแหน่งรองปลัด กระทรวงและอธิบดีนั้น นายกฤษฎาจะเป็น ผู้พิจารณาเสนอรายชื่อ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้าย ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดรอบแรกจะใช้แนวทางการขยับผู้ว่าราชการจังหวัดเล็กไปยังจังหวัดที่ต้องเกษียณอายุราชการ ขณะที่ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เพราะต้องผ่านกระบวนการสอบและแสดงวิสัยทัศน์ตามขั้นตอน

ตร.ย้ำ 24มิ.ย.เข้มพระรูปทรงม้า

พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองผบช.น. ดูแลงานด้านความมั่นคง เปิดเผยถึงการดูแลพื้นที่ลานพระรูปทรงม้าในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ว่า จะมีกลุ่มเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ประมาณ 5 กลุ่ม โดยนักวิชาการและนักศึกษาหลายฝ่ายจะจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันปรีดี พนมยงค์ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ช่วงวันที่ 23-25 มิ.ย. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย

พล.ต.ต.ภาณุรัตน์กล่าวต่อว่า ส่วนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 24 มิ.ย. ช่วงเช้าจะทำความสะอาด และจัดแสดงดนตรีในช่วงเย็น โดยกิจกรรมที่ทำได้ อาทิ การถวายสักการะ ออกกำลังกายปั่นจักรยาน แต่ห้ามทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง หากเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมืองก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ทั้งนี้ การจัดกำลังดูแลความปลอดภัยบริเวณโดยรอบลานพระบรมรูปทรงม้า จะจัดกำลังตามปกติ 1 กองร้อย ทั้งนี้ ยังไม่มีการข่าวแจ้งเตือนว่าจะมีกลุ่มใดเข้ามาเคลื่อนไหวการเมือง

นปช.รำลึก85ปีปชต.ผ่านโซเชี่ยล

วันเดียวกัน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองครบ 85 ปี วันที่ 24 มิ.ย.ว่า กลุ่ม นปช.คงจะใช้ช่องทางการสื่อสารโซเชี่ยลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือผ่านรายการโทรทัศน์ที่แต่ละคนดำเนินรายการอยู่ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและแสดงความคิดเห็นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยไม่จัดงานหรือกิจกรรม ใดๆ เหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดปัญหากับทางคสช.ที่มีเรื่องการพิจารณาถอนประกันแกนนำมาเป็นเงื่อนไข ห้ามแกนนำเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมทาง การเมือง ดังนั้น แต่ละคนก็จะใช้ช่องทางข้างต้น ในการสื่อสารแทน

ปริญญาชี้มีช่อง”คสช.”อยู่ยาว

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “85 ปี ประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหนดี” นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 85 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีงานวิชาการชิ้นไหนยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ ตั้งมั่นแต่เป็นระบอบรูปผสม คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่สำเร็จ ช่วงของการ เปลี่ยนผ่านมีการออกจากประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา ความสำเร็จการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมี 5 มิติ คือ 1.การผนึกกำลังกัน ของฝ่ายค้าน หมายถึงฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กันทางความคิด จากรัฐธรรมนูญที่ร่างให้มีนายกฯ คนนอกได้หลังเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย จะร่วมมือกันโหวตต้านเสียงของส.ว.แต่งตั้งได้หรือไม่ ต้องละเลยความบาดหมาง เปิดใจกว้างมองอนาคตการเมือง 2.บทบาทของผู้นำทางการเมือง เป็นตัวแปรหลักของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย 3.การยอมรับในรัฐธรรมนูญ 4.กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และ 5.เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองต้องจัดเลือกตั้งในเวลาอันรวด เร็ว ภายใน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 13 เดือน

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าหากรัฐบาลคสช.ต้องการจะอยู่ยาวก็ทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรองรับให้รัฐบาลอยู่บริหารจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ และถ้าพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวไม่ผ่านความเห็นชอบจากสนช. ก็อาจเป็นจุดที่นำไปสู่การอยู่ยาวได้ และตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล 4 รูปแบบ 1.ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.เลือกจะให้พรรคใดเข้าร่วมรัฐบาล 2.คสช.เป็นรัฐบาลโดยดึงพรรคขนาดใหญ่เข้าร่วม แต่เชื่อว่าเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ไม่มีทางเข้าร่วม 3.พรรคใหญ่ 2 พรรค รวมกันตั้งรัฐบาล หรือ 4.คสช.ปล่อยให้ส.ว.ลงมติเลือกนายกฯโดยอิสระ ตนสนับสนุนให้ใช้ทางเลือกที่ 4 ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต้องปฏิรูปตนเอง

เสวนา”85 ปีปชต.”ห้ามแตะคสช.

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว กลุ่มศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมประชาธิปไตย หรือ วายพีดี จัดเสวนาครบรอบปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 ในหัวข้อ “85 ปี ประชาธิปไตยปัก…ที่ไหนก็ได้” นำโดย นายชัชพงศ์ แกดำ เลขาธิการ นายสุระ แก้วเกาะสะบ้า นายพอใจ ยินดี กรรมการกลุ่มวายพีดี โดยทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ประชาธิปไตยเกิดได้ทุกที่โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบ แต่ละประเทศอาจมีมุมมองในประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน แต่สังคมไทยฝากความหวังกับผู้นำประเทศมากเกินไป แล้วต้องผิดหวังจากผู้นำประเทศ เพราะตั้งแต่พ.ศ.2475-2560 ไม่มีรัฐบาลชุดใดทำประชาธิปไตยให้ประชาชนกินได้ เนื่องจากประชาธิปไตยที่ผ่านมายังกระจุกตัวอยู่กับผู้มีอำนาจ ไม่ได้กระจายถึงประชาชนที่แท้จริง

ที่ประชุมยังระบุด้วยว่า อีกทั้งประชาธิปไตย ถูกหยุดและทำลายเพราะการใช้มาตรา 44 ของ รัฐบาล คสช. โดยรัฐบาลชุดนี้เข้ามาปฏิวัติประชาธิปไตยที่กำลังเดินหน้า อีกทั้งมาตรา 44 เปรียบเหมือนนโยบายประชานิยม ที่แก้ปัญหาได้แค่ระยะสั้นแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ และอย่าไปหวังเรื่องประชาธิปไตย ที่มีคุณธรรม เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่นี้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหรือไม่ เช่น การออกมาตรา 44 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงยังมีนักเคลื่อนไหวนักกิจกรรมติดคุกมากที่สุด อำนาจอยู่ในมือทหารมากกว่าพลเรือน ทั้งนี้ กลุ่มวายพีดีเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายได้คือ การกระจายอำนาจของประชาธิปไตย ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทำกฎหมาย ให้เป็นธรรม ประชาชนจับต้องได้ ไม่ใช่การใช้อำนาจจากกระบอกปืนอย่างปัจจุบัน

สำหรับบรรยากาศการจัดเสวนา มีตำรวจ ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์ และบันทึกภาพ โดยมีข้อตกลงร่วมกัน หากนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมหรือพาดพิงคสช. เจ้าหน้าที่จะขอให้ยุติการจัดเสวนาทันที ซึ่งการ เสวนาเป็นไปอย่างเรียบร้อย

ป.ป.ช.ปัดไม่มีคลังบี้ยึดทรัพย์”ปู”

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากโครงการรับจำนำข้าวว่า ไม่ทราบ แต่คนที่สืบทรัพย์เขาก็สืบอยู่ ส่วนการยึดทรัพย์เป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดี โดยต้องมีคนนำยึด ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรอบเวลาเป็นไปตามอายุความบังคับคดีที่มี 10 ปี ถ้าปีที่ 11 มีทรัพย์งอกขึ้นมาก็ไปทำอะไรไม่ได้ ส่วนการเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป 1.76 หมื่นล้านบาท จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังอยู่ในช่วงเวลาที่จะพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งมีระยะเวลาพิจารณายาว เมื่อชี้ขาดอุทธรณ์แล้วจะเข้าสู่กระบวนการ ยึดทรัพย์ จากนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการศาล จะร้องอะไรก็ว่ากันไป ระหว่างนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์ไปพลางก่อนได้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังส่งหนังสือถึงสำนักงานป.ป.ช. เพื่อขอเอกสารบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมเอกสารประกอบทั้งหมด เพื่อนำไปตรวจสอบรายละเอียดและนำประกอบสำนวนการตรวจสอบกรณีความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง ก่อนจะส่งให้กรมบังคับคดีนั้น ทางสำนักงานป.ป.ช.ยังไม่ได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลัง

นิกรเห็นด้วยไพรมารี่ขัดรธน.

ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงระบบไพรมารี่โหวตว่า ผู้ใหญ่ของพรรคการ เมืองต่างๆ ล้วนไม่เห็นด้วย เพราะจะสร้างปัญหา อย่างมากในทางปฏิบัติจริง ปัญหาจะอยู่ที่พรรค แม้ กกต.จะตอบว่าทำได้ แต่ควรถามผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติอย่างเลขาธิการกกต.ก่อนหรือไม่ เพราะปัญหาการปฏิบัติไม่ได้อยู่ที่กกต. แต่อยู่ที่พรรค ถ้าถามกกต.เขาก็ตอบว่าไม่มีปัญหา เขาไม่สามารถตอบได้ว่าเขามีปัญหาเพราะเขาเป็นภาคราชการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่พรรคการเมืองต่างหากที่จะมี ปัญหา ปฏิบัติไม่ได้

“ประเด็นไพรมารี่โหวต ผมเห็นว่าน่าจะขัด รัฐธรรมนูญจริง ตามความเห็นของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ให้ไว้ ทำให้พรรคเสียสิทธิในการกำหนดตัว ผู้สมัคร ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคเป็นคนคัดตัวผู้สมัคร หน่วยคัดกรองไปอยู่ที่สาขาพรรค ถือว่าถูกหลักกระจายอำนาจ แต่การรับผิดชอบในนามพรรคยังต้องมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ หากเกิดความผิดพลาดพรรคต้องรับผิดชอบ ในกรณีพิจารณาผู้สมัครหากไม่เห็นด้วยแล้วส่งกลับไปที่พรรค ในการเลือกตั้งนั้นทำไม่ทัน” นายนิกรกล่าว

ยันค้านมาตั้งแต่ชั้น”สปท.”

นายนิกรกล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหาทั้ง 3 มิติ คือกระทบต่อสิทธิพื้นฐานประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้ง กระทบต่อสิทธิของพรรคที่มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กระทบต่อระบบการเมืองโดยรวม ดังนั้น หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาจะทำหนังสือส่งถึงประธานกรธ. ในวันที่ 26 มิ.ย.นี้

นายนิกรกล่าวว่า ส่วนที่สมาชิกสนช.ที่ผลักดันการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรค การเมือง ให้ใช้ระบบไพรมารี่โหวตระบุหากไม่พร้อมก็ไม่ต้องเลือกตั้งนั้น ในฐานะสมาชิกสปท. และเป็นกมธ.ด้านการเมือง ที่เป็นนักการเมืองโดยแท้จริงกับสปท.จากพรรคทวงคืนผืนป่า ได้แสดงความเห็นแย้งไว้เพื่อให้มีการบันทึกที่ประชุมไว้แล้วเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว สนช.ที่มาอ้างว่า สปท.เสนอมาเราเอาตามเขา ออกมาพูดเช่นนั้นได้อย่างไร อย่างนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะในสปท. การเมือง ก็มีฝ่ายที่เป็นตัวแทนพรรคกับจากพรรคทวงคืนผืนป่าเท่านั้น และได้แสดงความเห็นแย้งไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

วิษณุเผยฝืนยุทธศาสตร์มีติดคุก

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณี สนช. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่า หลังจากพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มีผลบังคับใช้ จะต้องตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน จากนั้นตั้งคณะกรรม การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จะมีชุดเดียวหรือหลายชุดก็ได้ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จภายใน 120 วัน เพื่อส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาเพื่อเสนอครม. และส่งให้สนช.พิจารณา โดยคณะกรรมการชุดนี้จะติดตามหรือมอนิเตอร์ไปด้วยเป็นเวลา 5 ปีว่า ใครไม่ปฏิบัติตามจะได้ฟ้องหรือรายงานมา ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าฝ่าฝืน ทำผิดหรือขัดแย้ง เรื่องจะไปถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขั้น ติดคุก ต้องถอดถอนกัน

รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องปฏิรูปเป็นอีก เรื่องหนึ่ง จะไม่มีซูเปอร์บอร์ดเหมือนยุทธศาสตร์ ชาติ แต่จะตั้งเป็นการปฏิรูป 11 ด้าน มี 11 คณะ คณะละกว่า 10 คน มาทำหน้าที่แทนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งจะมีเวทีกลางที่ประธานแต่ละคณะมาประชุมกัน ตกลง กติกาบางอย่าง แต่ไม่ได้มาจัดทำแผนปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อเรียบร้อยแล้วให้เสนอครม. เมื่อพิจารณาเสร็จจึงประกาศใช้ แผนปฏิรูปจะยืด หยุ่นคล่องตัวกว่า ปรับเปลี่ยนอะไรกันได้ง่ายกว่า แต่ยุทธศาสตร์ชาตินั้นปรับได้แต่ปรับยาก

ขอฟังมาร์คแจงปมไพรมารี่

นายวิษณุยังกล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ กังวลเรื่องไพรมารี่โหวตว่า ระบบไพรมารี่เป็นเรื่องของพรรค ส่วนกกต. มีหน้าที่ให้ความรู้ ซึ่งพรรคเป็นคนทำ หากพรรคไหนจะไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่ต้องทำไพรมารี่ ส่วนที่ นายอภิสิทธิ์ระบุพรรคประชาธิปัตย์เคยทดลอง ใช้แล้วแต่ไม่พอใจนั้น อยากให้ช่วยเอามาเล่าหน่อยว่าเป็นอย่างไร จะได้รู้กันทั่วและตอนนี้ ยังชี้แจงทัน เนื่องจากต้องตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วมอยู่แล้ว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงคณะกรรมการเพื่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง เตรียมจัดทำข้อสรุปที่ได้จากความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทำเป็นร่างเอกสารร่วมและร่างสัญญาประชาคม เพื่อให้พรรคการเมืองร่วมลงนามเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองว่า ความสำเร็จ ต้องวัดกันที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่มองว่าเมื่อมีพรรคมาลงนามแล้วทุกอย่างก็จบ เพราะหากเลือกตั้งและยังมีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีก ก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ ยืนยันว่าทุกคนไม่มีใครอยากเห็นความขัดแย้ง และไม่มีใครต้องการเป็นตัวปัญหา การร่วมลงนามในสัญญาประชาคมไม่ได้เป็นหลักประกันและข้อผูกพันในระยะยาวว่า จะไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ซึ่งเคยให้ข้อสังเกตกับป.ย.ป.ไปก่อนหน้านี้แล้ว

พท.ย้ำกม.ยุทธศาสตร์ยิ่งทำวุ่น

วันเดียวกัน นายสามารถ แก้วมีชัย คณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายวิษณุระบุหากไม่ปฏิบัติตามร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ อาจถึงขั้นติดคุกว่า ตรงนี้เป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญวางกรอบไว้ให้พรรคหรือฝ่ายการเมืองต้องอยู่ในกรอบ จะไปคิดนโยบายเองโดยไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้ โดยบัญญัติบทลงโทษไว้ด้วย ก็ห่วงว่าสิ่งที่บัญญัตินี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองทำได้ไม่คล่องตัว และการใช้นโยบายลงไปหาเสียงนั้นจะทำได้ยาก รวมถึงการแก้ปัญหาให้บ้านเมืองและประชาชน ด้วยนโยบายก็ไม่สามารถทำได้

“เหมือนวันนี้ผู้มีอำนาจวางทุกอย่างไว้ให้เดินหมดแล้ว ฝ่ายการเมืองไม่ว่าใครเข้ามา ก็ต้องเดินตามกรอบที่เขาวางไว้ หากเป็นแบบนี้ จะมีฝ่ายหนึ่งที่คอยจับผิด หากเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว เพราะอาจถูกนำไปร้องเอาผิด เกิดความยุ่งยากวุ่นวายตลอด แบบนี้จะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำงานไม่ได้เลย” นายสามารถกล่าว

ปึ้งติงยุทธศาสตร์ส่อขัดรธน.

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ พ.ศ. … และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนดำเนินการปฏิรูป พ.ศ. … ว่า รู้สึกเป็นห่วง เพราะการที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ระบุว่า ครม.มีมติและส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ มาให้ สนช.พิจารณาภายหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วนั้น กล่าวคือรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 แต่จากหลักฐานที่มี ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของระเบียบวาระและรายงานการประชุมของ สนช. ปรากฏว่าหนังสือที่สำนักนายกฯ ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.มีไปถึงประธานสนช. ที่ได้แนบจัดส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ลงวันที่ 4 เม.ย.60

อีกทั้งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการลงรับหนังสือของ พล.อ.ประยุทธ์เอาไว้ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2560 เลขรับที่ 3451 เวลา 15.58 น. และเลขรับที่ 3450 เวลา 15.57 น. ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามีการส่งร่าง พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ชาติฯ และพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปให้ สนช.พิจารณาก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ ถือได้ว่าเป็น การกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี”60 มาตรา 275 ประกอบ มาตรา 65 และมาตรา 259 หรือไม่ ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ได้หลังจากที่รัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับแล้ว จึงขอให้นายพรเพชร พล.อ. ประยุทธ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะมือกฎหมายของรัฐบาลชุดนี้ รีบแก้ไขในเรื่องนี้ให้ถูกต้องด้วย เพราะหากประกาศใช้ กฎหมายที่สำคัญทั้ง 2 ฉบับนี้ออกไปโดยมิชอบ อาจทำความเสียหายต่อรัฐตามมาก็เป็นได้

สนช.ผ่านร่างศาลปค.แล้ว

ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ในวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุมพิจารณาประเด็นการนับวาระดำรงตำแหน่งของประธาน ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งตามกฎหมายเดิมสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึง 70 ปี แต่ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่ง 4 ปี เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ จากการแก้ไขดังกล่าวทำให้การดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ของประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ถูกนับรวม โดยสมาชิกได้อภิปรายกันในหลายประเด็น

จากนั้นที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบยืนตามที่กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 140 ต่อ 32 งดออกเสียง 8 เสียง ทั้งนี้ ที่ประชุมลงมติในวาระ 3 มีมติเอกฉันท์ด้วยคะแนน 173 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน