“บิ๊กตู่”ขอบคุณโพลหนุนให้อยู่ต่อ แบ่งรับแบ่งสู้ตั้งพรรคการเมือง บอกเป็นเรื่องอนาคต ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประชาชน อ้างปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์-ปฏิรูปฯไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เลขาฯกฤษฎีกาชี้รธน.เปิดช่อง รับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องแล้ว ปชป.-ชพน.จี้เปิดเวทีสาธารณะ เพื่อไทยยื่นประธานกรธ.-สนช.-กกต. เรียกร้องตั้งกรรมาธิการร่วมคลี่ปม “ไพร มารี่โหวต” กกต.โต้”มีชัย” ยันไม่มีใบสั่ง แฉกลับกรธ.เป็นฝ่ายล็อบบี้ให้แย้งความเห็นกมธ. สปท.ยื่นลาออกแล้ว 9 ราย เตรียมลงเลือกตั้ง

“บิ๊กตู่”ตอบไม่เคลียร์-ตั้งพรรค

เวลา 09.00 น. วันที่ 27 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธานการประชุมคสช. และการประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนการประชุม นายกฯ ร่วมประชาสัมพันธ์การจัดงาน ” ESAN EXPO 2017 สินค้าดีวิถีอีสานเชื่อมธุรกิจไทยสู่สากล” ซึ่งจัดที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยเสื้อผ้าไหมที่นายกฯ ใส่วันนี้ จังหวัดอุดรธานีตัดเย็บจากผ้าทอลายยกดอกมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น มามอบให้เป็นพิเศษ นายกฯ ร่วมปรุงลาบเป็ดบ้านเชียง 5,000 ปี ร้านชื่อดังของอุดรฯ โดยตั้งชื่อว่า “ลาบเป็ด 4.0” และขอให้นำขึ้นเสิร์ฟโต๊ะอาหารครม. เป็นมื้อกลางวันด้วย ขณะที่ผู้มาร่วมงานกล่าวให้กำลังใจนายกฯ ขอให้สู้ๆ นายกฯ จึงกล่าวว่า ขอบคุณทุกคน ขอให้ตั้งใจทำต่อไปเพื่อประชาชนโดยนึกถึงประชาชนให้มาก รัฐบาลนี้ไม่เคยลืมประชาชน

เวลา 13.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังประชุมครม.ถึงผลโพลที่ประชาชนสนับสนุนให้ตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจุบันว่า ส่วนตัวยังไม่คิดถึงตรงนั้น คิดเพียงว่าวันนี้จะแก้ไขปัญหาราชการแผ่นดินอย่างไร เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว วันนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และคิดว่าหลายอย่างจะมุ่งเน้นที่เรื่องการเมืองไม่ได้เพราะการเมืองเป็นเรื่องของแม่น้ำ 5 สายที่ต้องช่วยกันทำออกมา ไม่ว่ากฎหมายลูกและกฎหมายต่างๆ และมีองค์กรอิสระอีกมาก ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่จะทำให้ได้รัฐบาลมี ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของกฎหมาย

“อย่ามากังวลกับผมว่าจะอยู่ต่อหรือเปล่า หรือตั้งพรรคหรือเปล่า แต่จะทำวันนี้ให้ผ่านไปก่อน สถานการณ์จะเป็นตัวชี้ชัดต่อไปเองว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต เราต้องคาดหวังแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่ทำได้ ทำสำเร็จ อย่าไปคิดว่าจะต้องทำโน่นทำนี่ให้สมาธิเสีย วันหน้า ก็อยู่ที่ประชาชน เรื่องโพลก็ขอบคุณผู้สนับ สนุน ส่วนผู้ไม่สนับสนุนผมก็ขอบคุณเช่นกัน โดยจะรับฟังความคิดเห็นทั้งสองทาง” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ย้ำยึดโรดแม็ป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงหลายพรรคกังวลระบบไพรมารี่โหวตในพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรค การเมืองว่า กรอบงานของตนคือ ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้โรดแม็ปขยับเขยื้อน ทุกคนต้องทำงานให้ได้ตามนั้น ถ้าหาข้อยุติไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องของตนและไม่ใช่ว่าตนให้สัญญาณเพื่อไม่ให้กฎหมายไม่ผ่าน ต้องไปดูว่ามีการถกแถลงอย่างไรในสภา ทั้งสปท. สนช. และต้องฟังความเห็นของกรรมาธิการทั้งเสียงข้างมากและข้างน้อย ที่สำคัญต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีผลกระทบทำให้การเลือกตั้งช้าลง

ส่วนที่ สปท.และสนช.กว่า 30 คน เตรียมลาออกเพื่อลงเลือกตั้งจะกระทบโรดแม็ปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละคน ไปห้ามไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะลาออกทั้ง หมด เพราะที่เหลือก็ยังทำงานได้ จะลาออกแค่ไม่กี่คนที่มีอนาคตทางการเมือง ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนขออวยพรให้ประสบความสำเร็จ ยืนยันทั้งหมดนี้ไม่กระทบโรดแม็ปแน่นอนจะทำทุกอย่างให้โรดแม็ปเป็นไปตามกำหนด และทำทุกอย่างให้เป็นไปได้ วันนี้รัฐบาลต้อง การแก้ไขปัญหาให้เกิดความยั่งยืน เมื่อมีกฎหมายใหม่ก็ย่อมเกิดผลกระทบแต่สิ่งสำคัญคือจะรับได้หรือไม่ และหากไม่ใช้มาตรา 44 ก็ต้องใช้เวลานานจึงจะแก้ไขได้ ขออย่ากังวลว่ารัฐบาลจะเอื้อประโยชน์กับใคร

กม.ยุทธศาสตร์-ปฏิรูปไม่ขัดรธน.

เมื่อถามว่าบางฝ่ายยื่นเรื่องให้ศาลรัฐ ธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธ ศาสตร์ชาติและร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ขัดรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีการรับฟังความคิดเห็น นายกฯ กล่าวว่า มันไม่ขัดรัฐธรรมนูญตนปรึกษาฝ่ายกฎหมายมาตลอด การทำกฎหมายทุกฉบับมีการรับฟังความคิดเห็นมาตลอด และสปท.เปิดเวทีรับฟังความเห็นตั้งแต่เริ่มร่าง เมื่อถึงเวลาพิจารณาในชั้นสนช.ก็เปิดรับฟังผ่านเว็บไซต์ ยูทูบและสื่อต่างๆ ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว เรื่องเหล่านี้มีคนสนใจมากน้อยเพียงไหน คงมีแต่นักการเมืองและอะไรต่างๆ ที่มาคอยพูดจาให้มันมีปัญหาทุกเรื่อง เพราะเขาไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง ขอให้มองประเด็นนั้นด้วย เขาอาจหวังดีหรือหวังไม่ดีไม่รู้เจตนา ตั้ง แต่รัฐบาลนี้เข้ามามีการสร้างการรับรู้ รับฟังความคิดเห็นมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ อย่าเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตมาไล่ล่ารัฐบาลนี้ ถ้าจะยื่นศาลก็ยื่นไป จะขัดหรือไม่ขัดเป็นเรื่องของศาล ตนไม่ไปละเมิดศาล

“เรื่องอะไรก็ตามที่จะเป็นประเด็นการ เมือง ผมว่าตอนนี้อย่าเพิ่งเลย ให้เขาทำให้จบก่อน ทั้งไพรมารี่โหวตหรืออะไรต่างๆ เดี๋ยวก็ตีกันไปหมด กรธ. สนช. กลายเป็นทะเลาะขัดแย้งกัน จริงๆ เขาไม่ได้ขัดแย้งกัน ผม ถามอาจารย์มีชัย (ฤชุพันธุ์) และนายพรเพชร (วิชิตชลชัย) แล้ว ไม่มีขัดแย้ง เพียงแต่แสดง ความเห็นพูดคุยกันในสภาแต่กลับเอามาเป็นประเด็นกันทั้งหมดเลยไปกันไม่ได้” นายกฯ กล่าว

ยธ.ให้รอดูยึดทรัพย์”ปู”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาตัดสินคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินตามขั้นตอนตามกำหนดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นในเดือนไหนทำไมต้องไปขยายความ ถ้าถึงเวลาเขาไม่ทำค่อยไปถามว่าทำไมถึงไม่ทำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า ตอนนี้อยู่ในกระบวนการของคณะทำงานสืบทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งกรมบังคับคดีมีผู้แทนอยู่ในคณะทำงาน ต้องรอให้ส่วนนี้ดำเนินการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ กรมบังคับคดีจึงจะรับมาดำเนินการต่อ ขอให้รอดู

จี้ตั้งปลัดต้องเสร็จใน 2 สัปดาห์

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.ว่า นายกฯ สั่งในที่ประชุมครม.ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายให้ทุกหน่วยคำนึงถึงความอาวุโสมาก โดยมีความสามารถทำงานที่รับผิดชอบได้ตามหน้าที่ได้ผลดี และกลุ่มที่อาวุโสน้อยแต่มีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ทำงานได้ประสบความสำเร็จและได้รับการชื่นชมก็ต้องมีช่องทางการเจริญเติบโตเหมือนกัน ซึ่งต้องมีสัดส่วนที่ชัดเจนเพื่อให้คนทั้ง 3 กลุ่มเจริญเติบโตได้ หากการแต่งตั้งมองแต่ความอาวุโสอย่างเดียวจะทำให้หน่วยงานไม่มีความกระตือรือร้น เฉื่อยชา ฉะนั้นแต่ละกระทรวง หน่วยงาน จะต้องแบ่งสัดส่วน ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในระดับปลัดกระทรวง นายกฯ ระบุว่าให้การนำเสนอให้เรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ปลัดไปดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับอธิบดีต่อไป

มท.ส่งสรุป 4 คำตอบให้รบ. 30 มิ.ย.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการเสนอแต่งตั้งปลัดมหาดไทยคนใหม่ให้ครม.เห็นชอบว่า วันนี้ยังไม่เสนอวาระดังกล่าว คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า

เมื่อถามถึงการรวบรวมและแยกหมวดหมู่ความเห็นของประชาชนต่อ 4 คำถามของ นายกฯ เพื่อส่งให้รัฐบาลวิเคราะห์และประเมิน ผล พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า หลังครบกำหนดรวบรวมล็อตแรกในวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงขอเวลาอีก 7 วันแยกหมวดหมู่และจัดชุดผลความคิดเห็น ซึ่งจะส่งให้รัฐบาลได้ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้

เพื่อไทยยื่นค้านไพรมารี่โหวต

ที่รัฐสภา พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มอบหมายตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึงประธานกรธ. และประธานสนช. จำนวน 4 หน้า เพื่อขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งกมธ.ร่วม ทบทวนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรค การเมือง ประเด็นการลงคะแนนคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเบื้องต้นหรือไพรมารี่โหวต โดยเห็นด้วยในหลักการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัคร แต่วิธีการต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และต้องไม่กระทบต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

หนังสือชี้ให้เห็นปัญหาที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็นคือ 1.การให้สิทธิเด็ดขาดแก่สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัครนั้น ยังไม่สอดคล้องกับสภาพในทางปฏิบัติ แต่ควรเป็นไปตามระบบที่กรธ.เสนอมาในร่างเดิมที่ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณารับฟังความเห็นจากสมาชิกและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะละเอียดรอบคอบกว่าการปล่อยให้สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเลือกตั้งกันเอง

2.กระบวนการไพรมารี่โหวตใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง ที่สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดทุกแห่งต้องดำเนินการ อาจเกิดปัญหาทำให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ทันกำหนดเวลา

3.บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องยังมีความสับสนทั้งส่วนที่เกี่ยวกับตัวแทนพรรคประจำเขตเลือกตั้งที่มีการบัญญัติว่าเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่อง จากบางช่วงยังไม่มีการกำหนดเขตเลือกตั้งไว้ชัดเจน อีกทั้งเขตเลือกตั้งก็เปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยยังส่งหนังสือดังกล่าวถึง ประธานกกต.ด้วย

หวั่นบล็อกโหวต-ส่งผู้สมัครไม่ทัน

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย เผยว่า พรรคทำหนังสือเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับระบบไพรมารี่โหวตการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคนั้น ทุกครั้งต้องรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกและประชาชนในพื้นที่อยู่แล้วว่ามีความนิยมในตัวผู้สมัครคนใดเหมือนการหยั่งเสียงเบื้องต้น และตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครร่วมกับคณะกรรมการบริหารพรรค จึงรอบคอบและได้ผู้สมัครที่มีความเหมาะสม สอดคล้องร่างของ กรธ.

นายชูศักดิ์กล่าวว่า แต่การคัดเลือกตามร่าง พ.ร.บ.พรรคที่สนช.แก้ไข อาจเกิดปัญหาทั้งการบล็อกโหวต การรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ทั่วถึง เป็นภาระค่าใช้จ่ายของพรรคที่สูงทำให้เกิดปัญหาแตกแยกในพรรค เกิดปัญหากับพรรคขนาดกลางและเล็กได้ และปัญหาการส่งผู้สมัครอาจดำเนินการไม่ทัน อีกทั้งหากมีการร้องเรียนว่ากระบวนการคัดเลือกไม่ถูกต้อง อาจทำให้พรรคต้องเสียโอกาสส่งผู้สมัครในเขต นั้นได้

กกต.แถลงโต้ปมใบสั่ง

ที่สำนักงานกกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. แถลงผลการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต.พิจารณาร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ได้รับจากสนช.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ระบุว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่ากกต.ไม่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปชี้แจงกับกรธ.ว่าสามารถปฏิบัติได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุ เพราะกกต.ไม่มีธงหรือคำสั่งใดๆ โดยเจ้าหน้าที่ตอบจากประ สบการณ์การปฏิบัติ และอิงตามข้อกฎหมาย ซึ่งตอบได้ทุกประเด็น

นายสมชัย กล่าวว่า กรธ.ได้ถามเจ้าหน้าที่ กกต.หลายประเด็น มีคำถามหนึ่งที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตอบไม่ได้คือ ถ้ากกต.ยืนยันว่าทำได้แล้วมีปัญหา กกต.จะรับผิดชอบหรือไม่ ตนขอตอบแทนว่าถ้ากกต.ใหม่ 7 คนมาทำงานแล้วไม่ได้ผลดี หรือผู้ตรวจการเลือกตั้งมาทำ งานแล้วล้มเหลว กรธ.จะรับผิดชอบหรือไม่ พร้อมให้สื่อไปสอบถามโดยตรงกับนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต. ถึงประเด็นที่หารือกับ กรธ. รวมทั้งประเด็นที่มีการล็อบบี้ให้พูดว่าทำไม่ได้ด้วย

นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนที่นายมีชัย ระบุกกต.อาจเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญกรณีจะให้ใบเหลือง-ใบแดง จากการร้องเรียนว่ากระบวน การสรรหาไพรมารี่โหวตไม่ถูกต้องนั้น เป็น การเข้าใจผิด เพราะไม่ใช่เรื่องให้ใบเหลือง-ใบแดง แต่เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติ เหมือนที่กกต.เคยดำเนินการ ถ้าคุณสมบัติไม่ครบถ้วนก็ไม่ประกาศรายชื่อผู้สมัครได้ เช่นเดียวกับไพรมารี่โหวตหากทำไม่ถูกต้อง กกต.ก็ไม่ประกาศรายชื่อ แต่ถ้าไปพบปัญหาหลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว กกต.ก็ส่งศาลให้เพิกถอนผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งได้เพราะคุณ สมบัติไม่ครบ

“การคัดเลือกตัวแทนพรรคประจำจังหวัดดำเนินการได้ทันทีหลังกฎหมายพรรคการ เมืองมีผลบังคับ ไม่ต้องรอการแบ่งเขต เพราะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก จึงวางคนล่วงหน้าได้และเมื่อมีกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมา กกต.ก็มีเวลาอย่างน้อย 5 วันภายใน 20 วันก่อนประกาศรับสมัคร ซึ่งมีช่วงเวลา 15 วันก่อนถึงวันสมัคร เพียงพอที่พรรคจะดำเนินการกระบวนการไพรมารี่โหวตได้”นายสมชัยกล่าว และว่าระบบนี้จะลบคำปรามาสที่ว่าพรรคส่งเสาไฟฟ้าหรือคนขับรถลงสมัครยังไงก็ได้รับเลือกตั้ง เพราะกระบวนการนี้จะทำให้ประชาชนเลือกทั้งคนทั้งพรรค

ร้องศาลรธน.ค้านพรบ.พรรคอีก

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ขอให้วินิจฉัยว่ามาตรา 9(1) ของร่างพ.ร.บ. พรรคการเมือง ที่กำหนดให้คนต่างด้าวที่ได้รับสัญชาติไทยมาไม่น้อยกว่า 5 ปีเป็นสมาชิกพรรคได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 95 ที่กำหนดว่าให้บุคคลที่แปลงสัญชาติและได้สัญชาติไทยมาไม่น้อย 5 ปี เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ที่มาตรา 9 (1) กำหนดบทบัญญัติที่อาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญมาตรา 95 กำหนดไว้ ซึ่งการให้ต่างด้าวที่แปลงสัญชาติมาเป็นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 5 ปีเข้าเป็นสมาชิกพรรคได้เท่ากับเปิดช่องให้ต่อไปสามารถเป็นผู้บริหารพรรคได้ และหากได้รับการเลือกตั้งก็เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ ไทย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ถ้าเป็นผู้มีอิทธิพลและใช้เงื่อนไขดังกล่าวเข้ามาเพื่อมีอำนาจอาจไปเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือเข้าแทรกแซงการบริหารต่างๆ ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ บทบัญญัติมาตรา 9(1) จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ ไม่ควรที่กฎหมายจะเปิดช่องให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามามีสิทธิได้ ตนเตรียมยื่นหนังสือคัดค้านดังกล่าวต่อนายกฯ เพราะก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ นายกฯมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ และจะยื่นหนังสือต่อประธานสนช. ขอให้พิจารณาทบทวนในช่วงที่ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจจะมีการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย

กฤษฎีกายัน 2 พรบ.ไม่ขัดรธน.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธ ศาสตร์ชาติ และร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ขัดมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับทำมาตั้งแต่สปท. แล้ว ที่พูดๆ กันก็เป็นความเห็นทั้งนั้น อีกทั้งในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญ ผู้แทนที่เกี่ยวข้อง และผู้จัดทำร่างยุทธศาสตร์โดยเฉพาะตามคำสั่งนายกฯ มาให้ความเห็น รวมทั้งนำความเห็นของสปท.มาดูทั้งหมด ดังนั้น ที่ถามว่ามีการรับฟังความเห็นหรือไม่นั้นสำหรับตนถือว่าทำแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดรูปแบบการรับฟังเพียงแต่ต้องรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเปิดเวทีสาธารณะ แต่หมายถึงให้รับฟังผู้ที่เกี่ยวข้อง

“ส่วนที่ครม.เห็นชอบกฎหมายดังกล่าวก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้นั้น ข้อเท็จจริงมาตรา 77 ไม่ได้กำหนดว่าต้องให้ทำตอนไหน แต่ขอให้รับฟังความเห็นมา แล้วให้หน่วยงานที่ดูแลด้านกฎหมายนำมาดู เอาง่ายๆ ตัวร่างกฎหมายมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้คือร่างกฎหมายตัวเดิม ไม่ได้หมายความว่าเมื่อรัฐธรรมนูญออกมาแล้วกฎหมายจะเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น ผมจึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหา” นายดิสทัตกล่าว

ปชป.ชี้มี 67 ล้านคนเกี่ยวข้อง

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงพล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ โฆษกกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ สนช. ชี้แจงว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวรับฟังความเห็นประชาชนอย่างรอบคอบแล้วว่า รัฐธรรมนูญตามมาตรา 65 ระบุให้มีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น การรับฟังความเห็นที่กระทำก่อนรัฐธรรมนูญจะถูกบังคับใช้ก็ถือว่าไม่ชอบ อีกทั้งในมาตรา 77 วรรคสอง ระบุว่าการจะออกกฎหมายทุกฉบับต้องรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ เกี่ยวข้องกับคนไทยกว่า 67 ล้านคน เป็นเวลากว่า 20 ปี ดังนั้นจะอ้างว่าได้รับฟังความเห็นแล้วในเว็บไซต์และมีคนมาแสดงความเห็นแค่ 8 คน ตนคิดว่าคงไม่เหมาะสม เพราะมีคนไทยจำนวนมากที่เขาไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้

จี้เปิดเวทีสาธารณะ

“ดังนั้นกระบวนการรับฟังความเห็นจึงควรจัดเป็นเวทีขนาดใหญ่ รับฟังอย่างทั่วถึงทั้งประเทศและรอบด้าน เหมือนที่จัดเวทีรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระบวนการรับฟังความเห็นก็ไม่ใช่แค่รับฟังอย่างเดียว ต้องแถลงให้ประชาชนทราบด้วยว่ารับฟังความเห็นมาแล้วเป็นอย่างไร ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลได้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้ครบทุกกระบวนการ ซึ่งจะส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้เป็นอันตรายอย่างมาก” นายวิรัตน์กล่าว

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติว่า ก่อนที่พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติจะประกาศใช้ต้องผ่านการมีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นและได้รับการยอมรับจากประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียและจะได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง สาระสำคัญของเนื้อหาต้องถูกเขียนให้ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโน โลยีอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้

ตั้งกมธ.ร่วมถกพ.ร.บ.กกต.

เวลา 15.30 น. ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. แถลงหลังประชุมว่า วันที่ 30 มิ.ย.นี้ที่ประชุมสนช.จะตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. เนื่องจากกกต.ได้ส่งความเห็นว่าร่างที่ผ่านสนช.ไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ใน 6 ประเด็น คือ 1.กำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหา และกกต.เกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด 2.การให้อำนาจกกต. สั่งระงับ ยับยั้ง เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้งในแต่ละหน่วย 3.การออกเสียงประชามติที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 4.ให้อำนาจการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ชัดเจน 5.การให้กกต. มอบอำนาจสอบสวนนั้นไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และ 6.การเซ็ตซีโร่กกต.

โฆษกวิปสนช. กล่าวว่า วิปสนช.มีมติเสนอรายชื่อในสัดส่วนของสนช. 5 คน ทำ งานร่วมกับตัวแทนกรธ. 5 คน และประธานกกต. ประชุมนัดแรกวันที่ 3 ก.ค.นี้ มีกรอบทำงาน 15 วัน เมื่อพิจารณาเสร็จจะนำเข้าที่ประชุมสนช.ให้ความเห็นชอบต่อไป ถ้าที่ประชุมไม่เห็นชอบต้องใช้มติมากกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสนช. ซึ่งจะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไป

นพ.เจตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่กรธ.ส่งให้สนช.พิจารณา จะตั้งกมธ. 21 คน เป็นสนช. 17 คน ส่วนใหญ่มาจากคณะกรรมการศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวล่วงหน้ามาแล้ว และจะมีตัวแทน จากกรธ. 2 คน ตัวแทนจากรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมพิจารณา

สปท.ลาออกแล้ว9ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันมีสมาชิก สปท.ยื่นใบลาออก จำนวน 9 คน ส่วนใหญ่เป็นสปท.สายการเมือง ที่เตรียมตัวไปลงสมัคร เลือกตั้งได้แก่ นายนิกร จำนง นายสมพงษ์ สระกวี นายสุชน ชาลีเครือ นายดำรงค์ พิเดช นายชัย ชิดชอบ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร รวมถึงสปท.สายอื่น ได้แก่ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล สปท.สายการปกครองท้องถิ่น นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สปท.สายเศรษฐกิจ โดยให้มีผลในวันที่ 1 ก.ค.นี้ และนายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ ยื่นใบลาออก ให้มีผลในวันที่ 2 ก.ค. เพื่อไปดำรงตำแหน่งเป็นทูตที่ประเทศตุรกี ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้สมาชิก สปท.ที่จะไปลงเลือกตั้งต้องลาออกภายใน 90 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 4 ก.ค.

“ป้อม”ปัด”ตู่”ถกทรัมป์ซื้ออาวุธ

วันที่ 27 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาและพบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐว่า อยู่ระหว่างการประสานความพร้อมของทั้งสองประเทศ จึงยังไม่ยืนยันกำหนดการเดินทางว่าจะไปก.ค.ตามที่มีข่าวหรือไม่ เพราะทราบว่าช่วงดังกล่าวนายทรัมป์จะประชุมกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (จี 20) จึงต้องรอให้พร้อมกันทั้งสองฝ่าย

ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวกรณีสั่งการให้ผบ.เหล่าทัพสำรวจข้อมูลด้านการทหาร เตรียมพร้อมให้นายกฯ หารือกับทรัมป์ ว่า ให้ไปสำรวจว่าที่ผ่านมาเรามีความร่วมมือกับสหรัฐในเรื่องใดบ้าง ไม่มีอะไร ส่วนที่วิจารณ์ว่าการไปพบประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อนำไปสู่การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องจัดซื้อ และยุทโธปกรณ์ของสหรัฐก็มีราคาแพง เมื่อถามว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากจีนบ่อยครั้งสหรัฐจะมีท่าทีเรื่องนี้อย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า คงไม่มีอะไร สหรัฐรู้ว่าไทยไม่มีสตางค์จะไปซื้อ แต่ถ้าเขาให้ความช่วยเหลือก็ต้องดูว่าเราควรพิจารณาอย่างไร เช่น เครื่องบินแบล็กฮอว์กที่เรามีและจำเป็นต้องซื้อให้ครบฝูงก็ต้องซื้อ ส่วนจะมีเงื่อนไขอย่างไรก็ไม่รู้ ที่ผ่านมาก็ไม่มีเงื่อนไขพิเศษกับสหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน