วันที่ 28 พ.ค. ที่รัฐสภา นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ในส่วนของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้ ในขณะที่เราหยุดระบบสังคมเศรษฐกิจ การปฏิสัมพันธ์ หรือล็อกดาวน์อย่างกะทันหัน สร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากหยุดชะงักหมด ผู้คนกำลังจะขาดอาหาร แรงงานในประเทศและต่างประเทศได้รับความเดือดร้อน

เมื่อรัฐบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีมาตรการจำกัดสิทธิ ละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐ ที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและเยียวยาให้ประชาชน เป็นสิทธิโดยชอบโดยกฎหมาย

จึงขอฝากว่าหากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้ เกี่ยวกับโควิด-19 ที่ทุกคนบอกว่าไม่มีความสุขเลย ลำบากมาก จึงขอฝากรัฐบาลต่อยอด ช่วยยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะชาวบ้านไม่อยากให้มี

สำหรับประเด็นเยียวยาช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ เงินประมาณ 5 แสนล้านบาท เงินส่วนนี้มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ คัดกรองมากยิ่งหลุดมาก ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม ขอเสนอให้เยียวยากลุ่มคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด

โดยเฉพาะพี่น้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลับจากมาเลเซียตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. จนถึงวันนี้มากกว่า 8 พันคน ยังไม่ได้รับการดูแล และแนวโน้มจะมีเข้ามาอีกประมาณ 200-300 ฅน เขาตกงาน ต้องเข้าไปดูแล เยียวยา และกลุ่มเกษตรกร กรณีข้าราชการ ซึ่งไม่ได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกัน

ประเด็นสุดท้าย การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขอเสนอให้โอนเงินสู่ตำบลเป็นผู้ตัดสินใจในการทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และอาชีพระดับตำบล อาจใช้ฐานคิดการจัดสรรงบประมาณระดับตำบลเป็น 2 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 ตามขนาดของตำบล ตำบลขนาดเล็กไม่เกิน 6 หมู่บ้าน ตำบลขนาดกลาง ไม่เกิน 12 หมู่บ้าน ตำบลขนาดใหญ่ 13 หมู่บ้านขึ้นไป

ลักษณะที่ 2 แบ่งตามขนาดของชุมชนเมือง โดยคิดจากจำนวนชุมชนในเขตตำบลนั้นๆ อาจแบ่งเป็น 2 ระดับ เพื่อวางระบบการพัฒนา มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ด้วยวิธีการส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับตำบล ให้คณะกรรมการมู่บ้านได้ร่วมกันคิด

หัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือ การจัดสรรงบประมาณลงหมู่บ้านโดยตรง ไม่ผ่านนายอำเภอ และจังหวัด และเป็นโครงการที่ประชาชนคิดเอง พิจารณาเอง และดำเนินการเอง เพื่อสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน