กมธ.โอนงบฯเดือด แฉทหารแทรกแซง เก็บเอกสารลับกลางที่ประชุม มุบมิบข้อมูล 1.7 หมื่นล้าน จี้เชิญ บิ๊กตู่ แจงเอง ในฐานะเป็นผู้เอางบไปใช้

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย 63 เป็นการพิจารณางบจากส่วนราชการกลับเข้าสู่งบกลาง เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดยกรรมาธิการฯ จากซีกพรรคฝ่ายค้านวอล์กเอาต์จากห้องประชุม ออกมาแถลงถึงปัญหาและอุปสรรคการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่ไม่สามารถพิจารณาปรับลดงบประมาณ ในวงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาทได้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ แถลงตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาของกรรมาธิการฯ เราพบว่าหลังจากเชิญผู้ถูกตัดงบฯ มาชี้แจง มีหลายหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลตั้งเกณฑ์ว่าถ้าทำไม่ทันให้ตัดงบมาหมดเลย แทนที่จะไปเอางบที่มีความสำคัญน้อย ปรากฏว่ามีการตัดงบหลายโครงการที่จำเป็นมาไว้ที่งบกลาง ไม่สามารถนำงบประมาณจากพ.ร.ก.กู้เงินมาทดแทนได้

ประกอบกับงบประมาณที่โอนกลับมาให้รัฐบาล ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นผลประโยชน์คนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทั้งที่ยังมีปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และปัญหาด้านเศรษฐกิจที่จะต้องเร่งฟื้นฟู ประกอบกับในรายละเอียดของงบประมาณก็ไม่ชัดเจน มีเพียงเอกสาร 2 แผ่นที่มาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังความเห็น ปรับโอนงบประมาณจากโครงการที่จำเป็น

นายวรวัจน์ กล่าวต่อว่า ปัญหาในการพิจารณางบประมาณที่มีการโอนกลับจากกระทรวงกลาโหม กว่า 17,000 หมื่นล้านบาทนั้น ระหว่างการชี้แจงจากผู้แทนกระทรวงกลาโหม มีเอกสารที่หัวเอกสารระบุเป็นเอกสารลับ และระหว่างพิจารณาไม่นาน ก็มีนายทหารเดินมาเก็บเอกสารกลับคืนทั้งหมด จึงเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ เพราะข้อมูลเหล่านี้มีความจำเป็นและไม่น่าจะอยู่ในชั้นความลับ เพราะเป็นงบประมาณที่ถูกปรับโอนไว้ ประกอบกับเป็นสิทธิของกรรมาธิการฯ ตามรัฐธรรมนูญที่สามารถเรียกข้อมูลดังกล่าวได้ แต่ประธานกรรมาธิการฯ ก็ไม่อนุญาตให้เรียกเอกสารจากกระทรวงกลาโหมอีก ถือเป็นการปิดกั้นการทำหน้าที่อย่างมาก

ขณะที่น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การพิจารณางบของกระทรวงกลาโหม ไม่มีรายละเอียดเปิดเผยชัดเจน ตนรู้สึกว่าเป็นงบประมาณที่ไม่สามารถแตะต้องได้ มีการอ้างว่าเป็นชั้นความลับมาก ต้องเซ็นลายมือชื่อทุกครั้งที่รับ และเก็บเอกสารคืนในระยะเวลาที่รวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้ครบถ้วน

รวมถึงข้อมูลการโอนงบประมาณส่วนอื่นๆ ก็ไม่มีการระบุรายละเอียดที่ชัดเจนเช่นกัน ทำให้ต้องมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อขอเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มาชี้แจงรายรายละเอียดด้วยตัวเองแทน แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากประธานกรรมาธิการฯ

ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการฯ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การให้เจ้าหน้าที่ทหารมาเรียกเก็บเอกสารกลางที่ประชุม เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ จึงขอฝากติงถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงกลาโหมว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการพิจารณาของกรรมาธิการฯ จะต้องเขียนรายงานข้อสังเกต จึงจำเป็นต้องมีเอกสารรายละเอียดมาประกอบการพิจารณา เพื่อดูว่าเหตุใดหน่วยรับงบประมาณยอมตัดงบประมาณคืนกลับมาที่งบกลาง ทั้งที่งบประมาณบางส่วนก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะงบด้านบุคลากรทางการแพทย์ งบประมาณด้านสาธารณสุข จึงอยากให้นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ในฐานะผู้ที่จะนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้

แต่ในกรรมาธิการฯ โดยนายวราเทพ รัตนากร รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม พยายามบ่ายเบี่ยง อ้างว่าการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณปกติจะไม่เชิญคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาชี้แจง ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่กฎหมายปกติ และเพิ่งมีการตั้งคณะกรรมาธิการฯเป็นฉบับแรก เพราะพ.ร.บ.โอนงบประมาณ 4 ฉบับที่ผ่านมา ผ่านการลงมติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุคเผด็จการ จึงไม่มีการตั้งกรรมาธิการ

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า จากปัญหาทั้งหมด จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้คณะกรรมาธิการฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ต้องรอว่ากระทรวงกลาโหมจะส่งเอกสารมาให้กรรมาธิการฯ อีกครั้งหรือไม่ หรือนายกรัฐมนตรี จะมาชี้แจงด้วยตัวเองได้หรือไม่ ถ้าที่ประชุมมีมติไม่ให้เรียกเอกสารจากกระทรวงกลาโหม รวมถึงไม่ให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจง ฝ่ายค้านจะขอให้ทำข้อสังเกตแนบท้ายในรายงานที่จะเสนอต่อที่ปะชุมสภาฯ วาระ 2 และ 3 ว่าการประชุมของกรรมาธิการฯ เป็นการประชุมที่ขาดอิสระ ถูกจำกัดขอบเขต ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน