เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์หัวข้อ”ในวันที่ทำการเมืองนอกสภา” ผ่านเฟซบุ๊กเดอะอีสานเรคคอร์ด ในระหว่างลงพื้นที่จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยตอนหนึ่งนายปิยบุตร กล่าวถึงแนวทางในการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกล ระบุว่า
จะรณรงค์ต่อในนามของคณะก้าวหน้า โดยคืนอำนาจให้ท้องถิ่น เรามีกฎหมายแผนการกระจายอำนาจออกมาในปี 2542 บอกว่าจะต้องเพิ่มงบฯเข้าไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้เวลาเอางบฯไปให้ท้องถิ่น 35 เปอร์เซ็นต์ แต่อปท.กลายเป็นเพียงท่อผ่านงบ เอาเงินไปให้แต่ไปสั่งเขาว่าต้องเอาไปแจกโน่นแจกนี่โดยเขาไม่มีโอกาสเอางบฯก้อนนี้ไปตัดสินใจเองว่าจะทำโครงการอะไร
“ทั้งนี้ เราต้องรณรงค์รื้อมายาคติเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วได้มาเฟียท้องถิ่น ต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้หมายความว่าคอร์รัปชั่น การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะหมายความว่าทำเรื่องสิ่งดีๆ ให้กับพื้นที่ที่เขาต้องการได้เอง ดังนั้น คณะก้าวหน้าเลยตั้งใจรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น เรื่องนายก อบจ. เราจะส่งแข่งในนามคณะก้าวหน้า” นายปิยบุตร กล่าว
“ก้าวไกล” หลีกทาง
ด้านนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ระบุว่าคณะก้าวหน้าจะส่งคนลงชิงเลือกตั้งท้องถิ่น
ซึ่งหากพรรคก้าวไกลส่งผู้สมัครเช่นกันจะเป็นการแย่งฐานคะแนนกันหรือไม่ ว่า พรรคก้าวไกลกับ คณะก้าวหน้าก็คืออดีตพรรคอนาคตใหม่ด้วยกัน ซึ่งงานในสภาเป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลเราจะเน้นการทำงานในสภาเป็นหลัก พรรคก้าวไกลจะไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น
ในส่วนของคณะก้าวหน้าก็คงเป็นการลงสมัครในนามอิสระของคณะก้าวหน้า เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ต้องสังกัดพรรค แต่อาจมีอดีตผู้สมัครที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคอนาคตใหม่ที่ลงสมัครเหมือนกัน
นายปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนระหว่างการเลือกตั้งใหญ่กับการเลือกตั้งท้องถิ่น ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน
และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงความคืบหน้ากรณีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ เพราะที่ผ่านมาได้เชิญทุกหน่วยงานมาชี้แจงหมดแล้ว
ซึ่งกฎหมายให้อำนาจ ครม.ในเรื่องนี้ แต่การตอบคำถามของคนในรัฐบาลไม่เป็นเอกภาพและเป็นไปคนละทิศคนละทาง ดังนั้นคำตอบจึงอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริงหรือไม่